เอาจริงๆ นะเรื่องนี้ ในชีวิตการ ตกปลา จนถึงตอนนี้ผมเองก็ยังแยกเหยื่อปลอมไม่ค่อยถูกเหมือนกัน เลยรู้แค่ไอ้นี่เหยื่อยาง ปลายาง หนอนยาง ส่วนพวกเหยื่อปลั๊ก (Plugs) ถ้าให้บอกว่ามันเป็นปลั๊กหรือเปล่า หรือปลั๊กแบบไหน บอกเลยว่าไม่ค่อยจะมั่นใจ
คราวนี้เลยขอจัดแบบสรุปคร่าวๆ ถึงการจำแนกเหยื่อผิวน้ำ Plugs กับ Crankbaits เลยดีกว่า จะได้ตกปลากันได้สนุกขึ้นด้วยและจะรวมเหยื่อแบบอื่นๆ ไปอีกนิดหน่อยนะครับ
คำว่าเหยื่อ “Plugs” ของการตกปลาด้วยเหยื่อปลอม มันไม่ได้หมายความว่า “ปลั๊กไฟ” นะครับ มันเป็นคำที่ถูกใช้มานานมากแล้ว โดยแต่ก่อนเหยื่อ Plugs จะทำด้วยไม้เท่านั้น แต่สมัยนี้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เหยื่อ Plugs ส่วนใหญ่จะถูกทำด้วยพลาสติก
แน่นอนว่าด้วยเหตุผลที่ว่าผลิตได้ง่ายกว่าไม้มากๆ และราคาถูกกว่าด้วย แต่เหยื่อที่ถูกทำจากไม้ก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ส่วนใหญ่จะกลายเป็นเหยื่อปลอมคุณภาพสูงและมีราคาแพงกว่าแบบพลาสติกมาก
เราสามารถจำแนกเหยื่อออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
ถึงแม้ว่าเหยื่อปลอมหลายพันชนิด แต่หากจะให้แบ่งให้เป็นประเภทใหญ่ที่สุดคือ Surface และ Subsurface เท่านั้นเอง
- Surface : ผิวน้ำ หรือ Topwater
- Subsurface : ดำน้ำ หรือ Diving
เกี่ยวกับเหยื่อผิวน้ำ
เถียงไม่ได้แน่นอนว่า ไม่มีการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมแบบไหนที่สนุก และตื่นเต้นเท่ากับการตกด้วยเหยื่อผิวน้ำอีกแล้ว และยิ่งบริเวณน้ำตื้นใสๆ ยิ่งสนุก เพราะมีโอกาสได้เห็นปลาแบบเต็มตา ว่ายเข้าหาเหยื่อ และมันอาจจะทะยานขึ้นมาบนผิวน้ำดังตูม รับประกันว่าถ้าลองได้เห็นแบบนี้ หัวใจเต้นแรงทุกคน
ตามตำรา(ต่างประเทศ) เขาว่าสีที่ทำงานได้ดีบนผิวน้ำคือพวก สีส้ม เหลือง ขาว น้ำเงิน หรือสีโคม พวกสีโทนสว่างนั่นเอง เดี๋ยวเรามาดูชื่อเรียกเหยื่อผิวน้ำแต่ละแบบกัน อาจจะไม่ครบทั้งหมด แต่ก็น่าจะทำให้มองเห็นภาพมากขึ้น
Crawlers
ถ้าเป็นเหยื่อแบบนี้มักจะเป็นของเก่าแล้ว เพราะเป็นเหยื่อที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมสักเท่าไร โดยเฉพาะในไทย แทบจะไม่เคยเจอคนใช้แล้ว เลยทำให้ผู้ผลิตหยุดออกรุ่นใหม่ๆ มา เป็นเหยื่อผิวน้ำที่เหมาะสำหรับหมายที่น้ำสงบมากๆ ยิ่งใช้กับน้ำตื้นๆ ยิ่งดี ถ้ามาอยู่ในกล่อง ก็ลองหยิบมาตีดูบ้างครับ
Chugger
ชื่อนี้เป็นการเรียกเหยื่อผิวน้ำ ที่มีลักษณะ “ปากบาน” เหยื่อที่เรียกกันว่า “ป็อปเปอร์” ก็จัดอยู่ในเหยื่อปลอมกลุ่มนี้ครับ จุดเด่นของเหยื่อตัวนี้อยู่ที่การสร้างเสียงและฟองน้ำบริเวณหัวเหยื่อ และหากพูดถึง Chugger แบบเต็มปากในสมัยนี้จะเป็นเหยื่อที่มีหัวที่ปากปานและมีขนยาวๆ ตลอดลำตัว
Center Rotating Blade
เคยเป็นเหยื่อผิวน้ำที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะปลากินค่อนข้างดี ลักษณะเด่นของเหยื่อแบบนี้คือ การมีใบพัดหรือใบสปิน อยู่บริเวณกลางลำตัว ซึ่งเป็นจุดที่เรียกร้องความสนใจจากปลาได้ดี
Rotating Tail
เหยื่อแบบนี้หาค่อนข้างยากเป็นเหยื่อผิวน้ำแบบ 2 ท่อน ที่ส่วนหางจะหมุนได้ ซึ่งเป็นการออกแบบที่แหวกมาก แน่นอนว่าเพื่อให้หมุนได้ดี ตัวเหยื่อจะกลมและยาว มันใช้ได้ดีในหมายที่น้ำนิ่งๆ
Surface Wobbler
เป็นเหยื่อผิวน้ำ Jointed ที่มีหางเป็นใบพัดและมีลิ้น เพื่อให้ตัวเหยื่อสร้างเสียงและฟองน้ำที่ปลายหาง เป็นเหยื่อมีทั้งท่อนเดียวและหลายท่อน ด้วยความที่มีลิ้น จึงทำให้เหยื่อส่ายไปมา เหยื่อแบบนี้มีทำขายกันในเหยื่อสมัยใหม่และอาจจะไม่มีใบพัดข้างหลัง
Propeller
เหยื่อแบบนี้น่าจะได้เห็นกันบ่อย เพราะ Rapala ก็ยังทำขายอยู่เหมือนกัน จะมีใบพัด ใบสปิน ติดอยู่ที่ส่วนหัวและท้ายตัวเหยื่อ หรืออาจจะติดอยู่ที่ท้ายหรือหัวเพียงด้านเดียว ตัวเหยื่อส่วนใหญ่จะกลม เรียบๆ เพื่อให้เหยื่อวิ่งได้ตรง หากลากกับมาเฉยๆ และมันจะสร้างฟองน้ำจำนวนมาก พร้อมเสียงที่ดังได้
Stickbait
ถ้านึกไม่ออกว่า Stickbait เป็นยังไง ก็ลองนึกถึงเหยื่อปลอมชื่อดังของ Lucky Craft Sammy ก็ได้ครับ โดยลักษณะเด่นของเหยื่อแบบนี้คือ แอคชั่นโยกๆ ที่หัวขึ้นลง ซ้ายขวา ประมาณนี้ หลายๆ ตัวจะมีเขียนแอคชั่นว่า Walk the Dog ด้วย แต่บางชนิดอาจจะมีแอคชั่นต่างออกไป แต่ก็เป็นเหยี่อที่ใช้ง่าย และสนุกดี
Flaptail
สำหรับ Flaptail บอกตรงๆ ไม่เคยใช้ครับ แต่เท่าที่ทราบคือ เป็นเหยื่อที่มีใบสปินติดอยู่ที่ปลายหางของเหยื่อ และที่หัวเหยื่อไม่มีลิ้นด้วย แอคชั่นจะต้องดึงมาช้าๆ ไม่งั้นใบสปินจะทำงานได้ไม่ดีเท่าไร
สรุป: เหยื่อผิวน้ำใช้ง่ายตกสนุก
เอาละขอจบเนื้อหาของเหยื่อผิวน้ำเอาไว้เท่านี้ก่อน เอาไว้ว่างๆ มาต่อเหยื่อแบบใต้น้ำกันนะครับ และบอกได้เลยว่าความรู้เน้นๆ อ่านแล้วได้ประโยชน์แน่นอน สำหรับใครที่ชอบใช้เหยื่อผิวน้ำก็ทดลองกันหลายๆ แบบครับ ยังไงก็สู้ๆ และ ตกปลาให้สนุกครับ ผิดถูกประการใดต้องขออภัยด้วยครับ
สำหรับใครอยากได้เทคนิคเพิ่มเติมสำหรับการใช้เหยื่อผิวน้ำ ไปดูต่อกันที่ 6 เคล็ดลับเพื่อทำให้คุณใช้เหยื่อผิวน้ำได้ดีขึ้น