ใครที่ชอบตกปลาธรรมชาติ มาเรียนรู้ธรรมชาติของ น้ำ อากาศ ลม กันให้มากขึ้นจากบทความ กระแสน้ำ กระแสลมและนิสัยปลา
มาดูกันว่าปลาน้ำจืดในบ้านเรานั้นมีความเป็นอยู่อย่างไร อาหารการกินของมันเป็นอย่างไร ซึ่งพอจะแยกประเภทและชนิดของปลาดังต่อไปนี้
ปลาน้ำจืดแบ่งประเภทจากอะไรบ้าง ดูกันได้ที่หมวดหมู่นี้เลย
- ชนิดของปลาน้ำจืด
- แหล่งที่อยู่อาศัยของปลา
- ปลามีหนวดไว้ทำไม
- ปลาใช้ประสาทในการรับรู้อะไรบ้าง?
- อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมของน้ำที่มีต่อปลา
ชนิดของปลาน้ำจืด
การสังเกตชนิดของปลา นิยมแบ่งออกตามรูปลักษณะของปลาน้ำจืดในบ้านเราได้ดังนี้
- ปลาหนัง อาทิเช่น ปลาบึก สวาย เทโพ เทพา ดุก กด สายยู อุบ เค้า ไหล เนื้ออ่อน แดง น้ำเงิน สังกะวาด คางเบือนและแขยง
- ปลาเกล็ด อาทิเช่น ปลาตะเพียน ตะพาก ตะโกก กา เพี้ย กระมัง กระแห กระสูบ ช่อน ชะโด ล่อนม กระสง กระโห้ นิล ยี่สก นวลจันทร์ ซ่งฮื้อ แรด ฉลาด กรายและกระทิง
แบ่งชนิดของปลาจากพฤติกรรมการกินอาหารแบ่งได้ดังนี้
- ปลากินพืช อาทิเช่น ปลายี่สก ปลาสลิด ปลาซ่ง กระมัง กระแห
- ปลากินเนื้อ อาทิเช่น ปลาช่อน ชะโด กระสูบ
- ปลากินทั้งเนื้อและพืช อาทิเช่น ปลาสวาย แรด ตะเพียน
แต่สำหรับปัจจุบันนี้ พฤติกรรมการกินอาหารของปลาค่อนข้างเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและชุมชน เช่น ปลาสวายบริเวณชุมชนบ้านเรือนจะกินอาหารที่มาจากเศษอาหารของคนในถิ่นนั้นๆ นักตกปลาที่ช่างสังเกตก็สามารถจะหาเหยื่อมาถูกปากปลา
โอกาสที่จะได้ตัวก็มากกว่าผู้อื่น แต่ปลาสวายบางแห่งที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนอาจจะมีพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกันไปเช่น เหยื่อหมัก ไส้ไก่สด หรือผลไม้สุก เป็นต้น
แหล่งที่อยู่อาศัยของปลา
- แหล่งน้ำไหลตามธรรมชาติประเภทแม่น้ำ ลำคลอง ธารน้ำ เช่น ปลากด ปลากระทิง ปลาสวาย
- แหล่งน้ำนิ่งประเภทบ่อขุด เขื่อนหรือ่างกักเก็บน้ำ อาทิเช่น ปลาแรด ปลาซ่ง ปลาช่อน ปลาชะโด
แต่ก็มีข้อยกเว้นอีกเช่นกัน ปลาบางชนิดปรับสภาพได้ (ตามความจำเป็นของมัน) เช่น ปลาสวาย ปลาบึก ปลายี่สก ซึ่งมันสามารถอยู่ในน้ำนิ่ง (ไม่มีการไหลของกระแสน้ำ) อย่างเช่นฟิชชิ่งปาร์ค
ปลามีหนวดไว้ทำไม
แล้วเคยสงสัยบ้างไหมว่า ปลาบางตัวมีหนวดยาว บางตัวมีหนวดสั้นหรือบางตัวไม่มีหนวดเลย ปลามีหนวดไว้ทำไม
หนวดเหล่านี้แหละเป็นตัวเซ็นเซอร์ของมัน ปลาแต่ละชนิดสามารถปรับสภาพร่างกายของตัวมันให้รับรู้สัญญาณจากภายนอกได้ ทำให้ปรับระบบร่างกายให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศหรือแหล่งอาศัยของมัน
ปลาใช้ประสาทในการรับรู้อะไรบ้าง?
เริ่มจากที่เราเห็นกันชัดๆ ก่อน
ลูกนัยน์ตา : ปลานั้นมีลูกนัยน์ตาอยู่ด้านข้าง มันจึงสามารถมองได้กว้างเป็นพิเศษ ปลาที่อยู่ในสภาพน้ำใสตามเขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำจะสามารถมองเห็นได้ดีกว่าปลาที่อยู่ตามสภาพน้ำขุ่นอย่างแม่น้ำ คลอง บึง
นอกจากนี้มันสามารถจำแนกสีต่างๆ ได้ซึ่งจุดนี้เองทำให้มนุษย์ผู้มีสมองอย่างเราๆ ท่านๆ นำไปสร้างเหยื่อปลอมขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับเหยื่อตามธรรมชาติของมัน แต่การมองเห็นของปลามีระยะจำกัด จากการทดลองของผู้เชี่ยวชาญท่านว่าไม่เกิน 30 เมตร แต่ถ้าคิดกันให้ดีแล้วมันก็น่าจะเพียงพอสำหรับมัน
การรับรู้เรื่องเสียง : ปลาได้ยินเสียงด้วยหรือ? จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์เขาว่ามันสามารถรับรู้ได้จริง ปลาสามารถส่งเสียงซึ่งแปลงเป็นคลื่นความถี่ติดต่อกันได้เช่น ปลาโลมา ปลาวาฬ
ดังนั้นเสียงเดินของเราที่เหยียบย่ำอยู่บนฝั่ง บนพื้นเรือหรือโป๊ะ ล้วนแต่ทำให้มันตื่นตระหนกได้ทั้งสิ้น แต่ก็มีข้อยกเว้นอีกนั่นแหละ
การดมกลิ่น : ซึ่งได้รับการทดสอบดูแล้วประสาทสัมผัสในการรับรู้เรื่องกันนี้นับเป็นส่วนที่ดีที่สุดของปลาเลยก็ว่าได้ จึงไม่แปลกเลยที่เราจะตกปลาได้ด้วยการปรุงแต่งเหยื่อก่อนจะนำไปตก เช่น ขนมปังแผ่นผสมหัวเชื้อกลิ่นนม เนย เพื่อนำไปตกปลาสวาย สายยู ตะโกก เหยื่อหมัก เอาไปตกปลากด ปลาเทโพ เป็นต้น
การสั่นสะเทือนทางผิวหนัง : ปลาจะมีเส้นประสาทในการรับรู้ที่แตกต่างกันไป เช่น ปลาบางชนิดจะมีเส้นประสาทข้างลำตัวทั้งสองด้าน เพื่อรับรู้แรงสั่นสะเทือนของวัตถุที่เข้ามาใกล้มัน
ปลาบางตัวมีหนวดเป็นตัวรับความรู้สึก ซึ่งปลาพวกนี้มักจะอยู่ในแหล่งน้ำขุ่น เช่น ปลาดุก ปลาเค้า ปลากด อีกทั้งยังใช้หนวดนี้ในการคลำหาเหยื่อด้วย
การรับรู้เรื่องรสชาติ : นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการรับรู้รสของปลาทำให้ได้ผลออกมาว่า ในโพรงปากของปลานั้น ไม่มีต่อมรับรู้เรื่องรสชาติของอาหาร
แต่มันกลับมีต่อมที่คล้ายกับการรับรู้รสชาติภายนอกโพรงปาก เช่นตามตัว ตามหาง หรือตามหนวดอย่างเช่นตัวอย่างปลากดที่ได้ยกตัวอย่างในเบื้องต้นไปแล้ว
สัมผัสพิเศษ : อันนี้คงอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทั้งมวล ปลาสามารถรับรู้ด้วยสัญชาตญาณพิเศษ เช่นเส้นประสาทด้านข้างลำตัว สามารถแบ่งแยกสภาพพื้นผิวใต้น้ำได้ ทำให้มันไม่ว่ายชนสิ่งกีดขวางใต้น้ำที่มีสภาพขุ่นมัวได้ ปลาบางชนิดสามรถขับเมือกออกมาเพื่อเป็นการเตือนภัยได้
อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมของน้ำที่มีต่อปลา
อุณหภูมิของน้ำ นับว่ามีความสำคัญต่อการกินเหยื่อของปลา อย่างเช่น ในฤดูหนาว ระดับน้ำที่ลึกลงไปจะเย็นจัดปลาจะขึ้นมาหากินในระดับน้ำที่สูงขึ้น เช่น ผิวน้ำหรือระดับกลางน้ำ
ซึ่งระดับน้ำในช่วงนี้จะเป็นระดับความเย็นที่พอเหมาะ และปลาจะเข้ามาหากินใกล้ฝั่งมากขึ้นซึ่งในทางกลับกัน หากเป็นฤดูร้อนมันก็จะพากันกลับลงไปหากินในระดับน้ำที่ลึกลงไป
ปลาบางประเภทชอบหากินในบางเวลากลางคืน และปลาบางประเภทก็ชอบหากินในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน ปลาบางชนิดกินเหยื่อถี่ในช่วงหลังฝนตก เช่น ปลากระแก ปลากระมัง ปลาบางชนิดชอบหากินในช่วงเช้าถึงสาย บ่ายๆ ถึงเย็น เช่น ปลากระสูบ ปลาชะโด เป็นต้น
ซึ่งอุณหภูมิของน้ำนั้นก็มีผลต่อการกินเหยื่อของปลา แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นมาตรฐานเสมอไป เพราะบางทีอุณหภูมิดีแต่มลภาวะของน้ำเสียก็มีผลต่อการกินเหยื่อของปลาอีก
ฉะนั้น นักตกปลาต้องเป็นคนที่ช่างสังเกตช่างจดจำถึงสภาพดินฟ้าอากาศด้วย ว่าวันที่เราได้ปลามานั้นปลากินช่วงเวลาใด สภาพน้ำขึ้น น้ำลงหรือทรงตัว น้ำใสสะอาดหรือขุ่น ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในการตกปลาครั้งต่อๆ ไปครับ
สรุป: เลือกให้ถูกว่าจะตกปลาอะไร
เมื่อได้รู้นิสัยใจคอของปลาชนิดต่างๆ แล้ว น้าๆ ก็จะมีเป้าหมายว่าจะไปตกปลาอะไร ที่ไหนดี เมื่อพร้อมออกไปตกปลา ก็จะเตรียมเหยื่อเพื่อไปตกปลาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้นและยิ่งทำให้ตกปลาได้อย่างที่ตั้งใจไว้นะครับ
เรียนรู้ลักษณะนิสัยของปลากันไปแล้ว ถ้าใครอยากรู้ว่าตกปลาแบบมือโปรต้องทำอย่างไร ติดตามกันต่อได้ที่ ตกปลา ยังไงให้ได้แบบมือโปร