“ปลาบึก (Mekong giant catfish) เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดตัวเต็มวัยยาวประมาณ 3 เมตร มีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม แต่เดิมเป็นปลาเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่พบเฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น”
เป็นเรื่องจริงที่จำนวนปลาบึก เหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมากๆ และอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) โดย ปัจจุบันสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ จัดปลาบึกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered) และติดอยู่ในบัญชี ไซเตส กลุ่ม 1
ปลาบึกเมื่อโต ฟันจะหลุด..?
ปลาบึกไม่มีฟันและเกือบจะไม่มีหนวดด้วยซ้ำ โดยที่ปลาวัยอ่อนจะมีฟันและกินปลาอื่นเป็นอาหารได้ แต่เมื่อโตขึ้นฟันจะหลุดไป และตาซึ่งจะอยู่ต่ำกว่ามุมปากเมื่อมองจากด้านหน้าตรงๆ จะไม่เห็น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้หากินตามพื้นน้ำ และปลามีซี่กรองเหงือกเล็กกว่า และปลายถุงลมจะลงถึงบริเวณช่วงท้องไม่เกินครีบก้น อีกทั้งความกว้างของปากและส่วนหัวของปลาบึกก็มีมากกว่า
อาหารของปลาบึก
ปกติแล้วปลาบึกในธรรมชาติ จะกินพวกพืชอย่าง ตะไคร่น้ำ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงจะสามารถรับอาหารชนิดอื่นได้เช่นกัน ภายใน 5 ปี พวกมันโตได้ถึง 3 เมตร และหนัก 150–200 กิโลกรัม ปลาที่หนักที่สุดเท่าที่เคยจับได้เป็นตัวเมีย (บางรายงานระบุผิดว่าเป็นตัวผู้) ยาว 2.7 เมตร และหนัก 293 กิโลกรัม (646 ปอนด์) เจ้าหน้าที่กรมประมงสามารถรีดไข่ได้สำเร็จแต่ปลาตัวนี้ก็ตายก่อนที่จะปล่อยกลับธรรมชาติ
การสืบพันธุ์ในธรรมชาติของปลาบึก ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด
แม้ปลาบึกจะเป็นที่รู้จักกันมาก แต่ปลาบึกที่ว่ายมาถึงไทยนั้นยังมีความลับอยู่มากมาย เช่น พวกมันสืบพันธุ์กันยังไง.? ปลาบึกผสมพันธุ์ในช่วงเวลาใดของปี ลูกปลาบึกไปอยู่ที่ไหน..?
แต่เชื่อว่าฤดูวางไข่จะอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ทางตอนเหนือไทย บริเวณหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นบริเวณร่องน้ำลึก ที่มีเกาะแก่งเหมาะแก่การผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูน้ำหลาก ฝูงปลาจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง
จับปลาบึกด้วยวิธีโบราณ
การเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อดินโดยกรมประมง
ในสมัยที่ปลาบึกใกล้หมดไปจากธรรมชาติ ทางกรมประมงก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการทดลองในการเพราะพันธุ์ปลาบึกขึ้น จนในปี 2526 กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง
แล้วนำไปเลี้ยงในบ่อดินเพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา จนมีความสมบูรณ์เพศ นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2543 จึงได้ทำการทดลองเพาะพันธุ์ ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ..แต่ไข่ปลาที่ได้รับการผสมจาก น้ำเชื้อพัฒนาไปได้ระดับหนึ่งเท่านั้น และไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวปลาได้..
จนปี 2544 จึงสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกได้ จำนวน 3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544 แม่ปลาน้ำหนัก 54 กิโลกรัม และพ่อปลาน้ำหนัก 41 กิโลกรัม ได้ลูกปลาบึกรุ่นแรก จำนวน 9 ตัว ขณะนี้เหลือรอดเพียง 1 ตัว ถือว่าเป็นปลาบึกตัวแรกที่เพาะพันธุ์ได้สำเร็จ (ปลาบึกรุ่นหลาน F2) โดยใช้เวลารอคอยนานถึง 18 ปี
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 แม่ปลามีน้ำหนัก 54 กิโลกรัม พ่อปลาน้ำหนัก 60 กิโลกรัม รีดไข่จากแม่ปลาได้ไข่น้ำหนัก 1,200 กรัม น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 656 ฟอง ได้ไข่ปลา 787,200 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 558,940 ฟอง เหลือลูกปลาจำนวน 330,250 ตัว
- ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 แม่ปลามีน้ำหนัก 47 กิโลกรัม พ่อปลาหนัก 40 กิโลกรัม ทำการเพาะพันธุ์และรีดไข่ได้ 743 กรัม น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 506 ฟอง ได้ไข่ปลา 375,958 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 242,004 ฟอง เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วัน เหลือลูกปลาจำนวน 70,000 ตัว
ยุคของปลาบึกเชิงพาณิชย์
เมื่อเพาะพันธุ์ได้สำเร็จเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง กรมประมงได้สั่งการให้กระจายลูกปลาไป 4 ภาค ทั้งประเทศ เพื่อปล่อยแหล่งน้ำและจำหน่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง และนี่คือจุดเริ่มต้นของปลาบึกเชิงพานิช แต่ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อย ที่จะเลี้ยงให้เป็นปลาเศรษฐกิจ นั้นเพราะปลาบึกมีขนาดใหญ่ จึงต้องใช้พื้นที่การเลี้ยง และเวลาที่มากตามไปด้วย
ยุคของปลาบึกฟิชชิ่งปาร์ค
ผมว่าการมาถึงของปลาบึกที่กรมประมงส่งออกมา ผู้ที่ได้รับผลดีอย่างเห็นได้ชัดดูเหมือนจะเป็น “ฟิชชิ่งปาร์ค” ผมจำได้เมื่อหลายสิบปีก่อน แม้แต่บึงสำราญ ปลาส่วนใหญ่ที่มีให้ตกคือปลาสวาย มันยากมากๆ ที่จะตกปลาบึกได้ เพราะมันมีจำนวนน้อยมากๆ
ในยุคนี่เราสามารถเห็นปลาบึกได้ทั่วไป โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำ เขื่อน หรือในแม่น้ำก็มีรายงานว่าจับมันได้ แต่เกือบทั้งหมดไม่ใช่ปลาบึกธรรมชาติ และยังมีข่าวปี 2020 ที่มีการทดลองปลาสวายออกลูกเป็นปลาบึกได้สำเร็จแล้วเป็นครั้งแรก …กดอ่านปลาสวายออกลูกเป็นปลาบึก