19 ปลาน้ำจืดไทย ที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

จริงๆ แล้วปลาน้ำจืดไทย ไม่ใช่มีแค่ในบทความนี่เท่านั้นที่ใกล้สูญพันธุ์ เพราะมันมีเยอะมาก และบางสายพันธุ์ก็สูญพันธุ์ หรือไม่ก็หาไม่ได้แล้ว อย่างเสือตอไทย, ปลาหางไหม้ หรือที่เริ่มหายาก อย่างช่อนข้าหลวง บทความนี่ทำเอามาให้ดูกัน เกิดถ้าน้าๆ จับหรือตกพวกมันได้ อาจจะช่วยอนุรักษ์กันได้บ้าง

1 : ปลาฝักพร้า / ปลาดาบลาว

Advertisements

มีลักษณะลำตัวยาวและแบนข้างคล้ายมีดดาบ ท้องเป็นสันแคบ ตาโต ปากกว้างเฉียงขึ้นด้านบน ปลายปากล่างโค้งเข้าเล็กน้อยคล้ายตะขอ ลำตัวสีเงินวาว ครีบใส ครีบอกใหญ่และยาวแหลม ครีบท้องและครีบหลังเล็ก แต่ครีบก้นมีฐานครีบยาว ครีบหางเว้าลึกและปลายมน โคนครีบหางมีแต้มสีคล้ำ

ปลาฝักพร้า ปลาดาบลาว

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macrochirichthys macrochirus
  • วงศ์ : Cyprinidae
  • ขนาด : 20-60 ซ.ม.
  • อาหาร : ปลาขนาดเล็กและแมลง
  • พฤติกรรม : มักล่าเหยื่อใกล้ผิวน้ำ ว่ายน้ำได้เร็วมาก
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำและแหล่งน้ำหลาก ปัจจุบันพบน้อย
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์

2. ปลาสะนากยักษ์ / ปลาสะนากปากเบี้ยว

รูปร่างเรียวยาวทรงกระบอก ปากกว้าง ขากรรไกรโค้งคล้ายกรรไกรตัดหมาก ตามีเยื่อไขมันคลุม เกล็ดเล็กมาก ลำตัวสีเงินวาวเหลือบเหลืองทอง ครีบสีส้มเรือ ๆ

ปลาสะนากยักษ์ ปลาสะนากปากเบี้ยว

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aaptosyax grypus
  • วงศ์ : Cyprinidae
  • ขนาด : 60-100 ซ.ม.
  • อาหาร : ปลาที่อยู่ตามผิวน้ำ
  • พฤติกรรม : ผสมพันธุ์ในฤดูแล้ง ลูกปลาเลี้ยงตัวในลำธารแม่น้ำสาขา
  • ถิ่นอาศัย : เฉพาะในแม่น้ำโขงและสาขาที่เป็นแก่งหิน
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต

3. ปลากระเบนลาว / ปลากระเบนแม่น้ำโขง

มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน

ปลากระเบนลาว ปลากระเบนแม่น้ำโขง

Advertisements

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dasyatis laosensis
  • วงศ์ : Dasyatidae
  • ขนาด : 40-80 ซ.ม.
  • อาหาร : ปลาและลูกกุ้งที่อยู่ตามผิวน้ำ
  • พฤติกรรม : มักอาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องน้ำ บางครั้งว่ายขึ้นมาหากินบนผิวน้ำ
  • ถิ่นอาศัย : พบเฉพาะในแม่น้ำโขง
  • สถานภาพ : มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

4. ปลากระเบนธง / ปลากระเบนหางวัว

Advertisements

ลักษณะเด่นของปลากระเบนในกลุ่มนี้ คือ ที่บริเวณโคนหรือกึ่งกลางหางจะมีเงี่ยงแหลมยาว 1-2 ชิ้น ที่ใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงศัตรูที่มารังควาญได้

ปลากระเบนธง ปลากระเบนหางวัว

โดยอาจมีความยาวได้ถึง 35 เซนติเมตร (14 นิ้ว) และมีสารเคมีที่มีความเป็นพิษเคลือบอยู่ ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารโปรตีน ที่มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้ผู้ที่โดนแทงเกิดความเจ็บปวด ในปลากระเบนขนาดใหญ่จะออกฤทธิ์คล้ายพิษของงูกะปะ ซึ่งหากโดนแทงเข้าอย่างจังหรือโดนจุดสำคัญ อาจทำให้เสียชีวิตได้

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pasinachus sephen
  • วงศ์ : Dasyatidae
  • ขนาด : 180 ซ.ม.
  • อาหาร : ปลา กุ้ง และปู
  • พฤติกรรม : ออกลูกเป็นไข่
  • ถิ่นอาศัย : ทะเลสาบสงขลาตอนใน
  • สถานภาพ : พบน้อย

5. ปลาสะตือ / ปลาตองแหล่

มีรูปร่างคล้ายปลาชนิดอื่นในสกุลเดียวกันนี้ทั่วไป แต่มีท้ายทอยเว้าลึกและลำตัวมีเกล็ดละเอียดกว่า โคนครีบอกมีแต้มคล้ำ และข้างลำตัวมีจุดประสีคล้ำเล็ก ๆ มีขนาดลำตัวประมาณ 60 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุดได้ถึง 1.5 เมตร

ปลาสะตือ ปลาตองแหล่

Advertisements

นับเป็นปลาชนิดที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้เป็นอันดับสองรองจากปลากรายอินเดีย (C. chitala) โดยสถานที่ค้นพบครั้งแรก คือ กรุงจาการ์ตา บนเกาะชวา ในอินโดนีเซีย และชื่อวิทยาศาสตร์ lopis เป็นชื่อสามัญที่เรียกกันในท้องถิ่นของเมืองเซอมารัง อินโดนีเซีย

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chitala lopis
  • วงศ์ : Notopteridae
  • ความยาว : 50-150 ซ.ม.
  • อาหาร : ปลา กุ้ง แมลงน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆ
  • พฤติกรรม : ชอบอาศัยอยู่บริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพรรณพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น
  • ถิ่นอาศัย : ลำธารและแม่น้ำในป่า
  • สถานภาพ : หายาก
  • กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม เรื่องของปลาสะตือ

6. ปลาหมากผาง

มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวกว้าง แบนข้างมาก ปากกว้าง กรามล่างยื่นยาวกว่ากรามบน ตามีเยื่อคลุม เกล็ดใหญ่แต่หลุดร่วงง่าย ลำตัวสีเงิน ด้านข้างมีแต้มสีน้ำเงินอมม่วงสด มีขนาดลำตัวโตเต็มที่ประมาณ 1 ฟุต

ปลาหมากผาง

พบอาศัยอยู่เฉพาะแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาที่เดียวเท่านั้น มีพฤติกรรมอพยพขึ้นลงในแม่น้ำเพื่อวางไข่และหากิน โดยอาหารจะกินได้เพียง แพลงก์ตอนและอินทรียสารเท่านั้น

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tenualosa thibaudeaui
  • วงศ์ : Clupeidae
  • ขนาด : 20-25 ซ.ม.
  • ตามีเยื่อคลุม เกล็ดใหญ่แต่หลุดร่วงง่าย ลำตัวสีเงิน ด้านข้างมีแต้มสีน้ำเงินอมม่วงสด
  • อาหาร : แพลงก์ตอนและอินทรีสาร
  • พฤติกรรม : มีการอพยพขึ้นลงในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเพื่อวางไข่และหากิน
  • ถิ่นอาศัย : พบเฉพาะในลุ่มน้ำแม่โขง
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์

7. ปลาซิวใบไผ่แม่แตง

Advertisements

มีลักษณะลำตัวแบนข้าง ส่วนหางเรียวยาว มีหนวดสั้น ๆ ที่มุมปาก ตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์มีสีสันสดใส โดยท้องและครีบก้นมีสีแดงอมส้ม แต้มบนลำตัวจะเห็นเด่นชัดขึ้น

ปลาซิวใบไผ่แม่แตง

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Devario maetaengensis
  • วงศ์ : Cyprinidae
  • ขนาด : 4-5 ซ.ม.
  • อาหาร : แพลงก์ตอนและแมลงน้ำ
  • พฤติกรรม : อยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ใกล้พื้นท้องน้ำ วางไข่ติดกับใบไม้ร่วง
  • ถิ่นอาศัย : ลำธารที่มีป่าปกคลุมเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำแตงและพื้นที่รอบดอยหลวงเชียงดาว จ. เชียงใหม่
  • สถานภาพ : เป็นปลาถิ่นเดียวของไทย

8. ปลาซิวหัวตะกั่วสุโขทัย / ปลาท้องพลุ

มีรูปร่างค่อนข้างกว้าง ลำตัวแบนข้างมาก ส่วนท้องเป็นสัน เส้นข้างลำตัวโค้งลงเห็นชัดเจน และขนานกับริมท้อง ครีบอกแหลมยาว ก้านครีบของครีบท้องยื่นยาวเป็นเส้นเดี่ยว ที่หัวและบนหลังตอนหน้าครีบหลังมีจุดสีน้ำเงินเข้ม บนลำตัวหลังช่องเหงือกมีจุดสีดำขนาดใหญ่ 1 จุด และเหนือครีบอกมีจุดสีดำ 4-9 จุด สีของลำตัวทั่วไปเป็นสีขาวอมเขียวแวววาว

ปลาซิวหัวตะกั่วสุโขทัย ปลาท้องพลุ

Advertisements

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Laubuka caeruleostigmata
  • วงศ์ : Cyprinidae
  • ขนาด : 5-7 ซ.ม.
  • อาหาร : แมลงขนาดเล็ก
  • พฤติกรรม : อยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ชอบว่ายน้ำอยู่ใกล้ผิวน้ำ กระโดดได้สูง
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำสายหลักและสาขาที่มีพรรณไม้ชายฝั่ง
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์ จากการสูญเสียถิ่นอาศัย

9. ปลาจาดแถบดำ

มีลักษณะลำตัวแบนข้างเล็กน้อย หัวสั้น ปากเรียวเล็ก ริมฝีปากล่างเป็นขอบแข็งและคม ลำตัวสีเงินแวววาว ด้านบนสีคล้ำหรืออมม่วง ครีบมีสีแดงเรื่อ ๆ ครีบหางเว้าลึกมีขอบด้านบนสีคล้ำหรือสีแดงส้ม ครีบหลังสูง

ปลาจาดแถบดำ

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Poropuntius melanogrammus
  • วงศ์ : Cyprinidae
  • ขนาด : 20 ซ.ม.
  • อาหาร : พืชน้ำและตะไคร่น้ำตามหินและไม้ใต้น้ำ
  • พฤติกรรม : อยู่เป็นฝูงเล็กในบริเวณที่มีน้ำแรง
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำแม่กลองและสาขาในบริเวณที่มีป่าปกครุม
  • สถานภาพ : เป็นปลาถิ่นเดียวของไทย

10. ปลาซิวตาเขียว

มีลำตัวสั้นและแบนข้างมากกว่าปลาซิวทั่ว ๆ ไป ตามีขนาดกลมโต ไม่มีหนวด เกล็ดมีขนาดเล็กสีเงินแววาวอมเหลืองอ่อน ตามีสีเหลือบเขียวอ่อน ลำตัวค่อนข้างใส ครีบใส ครีบหางมีขอบสีคล้ำ

ปลาซิวตาเขียว

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microrasbora kubotai
  • วงศ์ : Cyprinidae
  • ขนาด : 2-3 ซ.ม.
  • อาหาร : แพลงก์ตอนสัตว์
  • พฤติกรรม : มักว่ายน้ำอยู่ใกล้ผิวน้ำเป็นฝูงเล็กๆ
  • ถิ่นอาศัย : ลำธารในป่า บริเวณที่เป็นคุ้งน้ำใส
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์ เป็นปลาถิ่นเดียวของไทย

11. ปลาตะโกกหน้าสั้น

มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาตะโกก แต่มีส่วนหน้าที่สั้น หัวเล็ก ตาโต ปากเล็กสั้นมน ลำตัวสีเงินวาวอมเหลือง ครีบสีเหลือง ครีบหลังสั้น ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้นเล็ก ครีบหางเว้าลึกสีส้มหรือสีแดง และมีขอบสีคล้ำ กินอาหารได้แก่ อินทรียสารหรือสัตว์หน้าดินขนาดเล็ก

ปลาตะโกกหน้าสั้น

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albulichthys albuloides
  • วงศ์ : Cyprinidae
  • ขนาด : 15-35 ซ.ม.
  • อาหาร : อินทรียสารและสัตว์หน้าดินขนาดเล็ก
  • พฤติกรรม : อยู่เป็นฝูงใหญ่ในระดับกลางน้ำ
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำสายหลักในภาคกลาง
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์

12. ปลานวลจันทร์น้ำจืด / ปลาพอน

มีรูปร่างลำตัวเรียวยาวทรงกระบอก หัวโต ปากและตาเล็ก เกล็ดเล็ก ปลาในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีหัวและลำตัวสีเงินอมเหลืองทอง ส่วนปลาในลุ่มน้ำโขงจะเป็นสีชมพู ครีบหลังยกสูง ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นเล็ก อาหารได้แก่ อินทรียสาร สัตว์หน้าดินขนาดเล็ก แพลงก์ตอน และแมลงต่างๆ

ปลานวลจันทร์น้ำจืด ปลาพอน

ปลานวลจันทร์น้ำจืดมีพฤติกรรมวางไข่ในแหล่งน้ำหลากและเลี้ยงตัวอ่อนจนน้ำลดลงจึงอพยพลงสู่แม่น้ำ ปัจจุบันเป็นปลาที่หายาก เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา และยังพบได้บ้างที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำแม่กลอง

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cirrhinus microlepis
  • วงศ์ : Cyprinidae
  • ขนาด : 46-69 ซ.ม.
  • ลักษณะ : ลำตัวเรียวยาวทรงกระบอก หัวโต ปากและตาเล็ก เกล็ดเล็ก หัวและลำตัวสีเงินอมเหลืองทอง (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) หรือชมพู (ลุ่มน้ำโขง) ครีบหลังยกสูง ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นเล็ก
  • อาหาร : อินทรียสาร สัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอน และแมลง
  • พฤติกรรม : วางไข่ในแหล่งน้ำหลากและเลี้ยงตัวจนน้ำลดจึงกลับลงสู่แม่น้ำ
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำสายหลักและน้ำหลาก
  • สถานภาพ : หายาก ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา
  • กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม เรื่องของปลานวลจันทร์น้ำจืด

13. ค้อปลาไหล / ปลาหลดหางแฉก

ลำตัวเรียวยาวคล้ายปลาไหลและแบนข้างเล็กน้อย ตาเล็กมาก หัวเล็กมีหนวดสั้น ๆ 3 คู่ เกล็ดเล็กมาก ครีบลหังยาวมากเกือบตลอดความยาวลำตัว ครีบท้องอันเล็ก ครีบก้นยาวกว่าสกุลอื่น ๆ ของปลาค้อ และมีแถบสีจางตลอดกลางหลัง

ค้อปลาไหล ปลาหลดหางแฉก

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vaillantella massi
  • วงศ์ : Balitoridae
  • ขนาด : 10-15 ซ.ม.
  • อาหาร : ตัวอ่อนของแมลงน้ำขนาดเล็ก
  • พฤติกรรม : ซุกตัวตามซอกไม้และพืชน้ำ
  • ถิ่นอาศัย : ลำธรน้ำไหลแรง
  • สถานภาพ : พบน้อยมาก

14. ปลาหมูน่าน / ปลาหมูอารีย์ปลอม

มีรูปร่างและสีสันคล้ายคลึงปลาหมูอารีย์ (A. sidthimunki) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ว่าปลาหมูน่านลายจะเป็นแถบยาว เมื่อปลาใหญ่ขึ้นมาลายตามยาวจะขาดเป็นท่อน ๆ และจะเกิดลายขวางเพิ่มมากขึ้น โดยที่ลายแถบของปลาหมูน่านจะมีราว 8-10 แถบ ในขณะที่ปลาหมูอารีย์ ซึ่งจะมีแค่ 5-8 แถบ

ปลาหมูน่าน ปลาหมูอารีย์ปลอม

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ambastaia nigrolineata
  • วงศ์ : Botiidae
  • ขนาด : 7-10 ซ.ม.
  • อาหาร : ตัวอ่อนแมลงน้ำและสัตว์หน้าดินขนาดเล็ก
  • พฤติกรรม : ว่ายวนตามซอกหินในระดับใกล้พื้นท้องน้ำ
  • ถิ่นอาศัย : ลำธารและต้นน้ำของแม่น้ำว้าและลุ่มน้ำโขง
  • สถานภาพ : พบน้อยและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

15. ปลาแขยงหนู / ปลาแขยงทราย

เป็นปลาแขยงที่มีตาโตและหัวโต ปากเล็ก หางเรียวและมีครีบไขมันยาว ลำตัวสีเทาอ่อน มีแถบสีคล้ำพาดกลางลำตัวตามแนวยาวไปถึงโคนหาง ครีบใสสีคล้ำ ท้องสีจาง

ปลาแขยงหนู ปลาแขยงทราย

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mystus rhegma
  • วงศ์ : Bagridae
  • ขนาด : 7-10 ซ.ม.
  • อาหาร : แมลงน้ำและสัตว์หน้าดินขนาดเล็ก
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำหลาก
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์

16. ปลาสายยู / ปลาหวีเกศ

เป็นปลาไม่มีเกล็ด หัวเล็กมีสีแดงเรื่อ ๆ ปากเล็กอยู่ด้านล่าง มีหนวดสั้นเป็นติ่งขอใกล้จมูก คล้ายสายยูแม่กุญแจ อันเป็นที่มาของชื่อ ตาเล็กมาก ลำตัวแบนข้างมีสีชมพูหรือสีนวล ครีบมีขอบสีคล้ำ ครีบก้นยาวมาก

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceratoglanis pachynema
  • วงศ์ : Siluridae
  • ขนาด : 25-40 ซ.ม.
  • อาหาร : สัตว์หน้าดิน กุ้งและแมลง
  • พฤติกรรม : กระดิกหนวดอย่างเร็วในขณะว่ายน้ำ
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำบางปะกง
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต

17. ปลาแค้งู / ปลาแค้หัวแบน

คล้ายปลาแค้ทั่วไป แต่มีสีลำตัวอ่อนกว่า และมีส่วนหัวแบนราบกว่า สันหลังมีสันเป็นหยัก ลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองหรือเทานวล มีจุดสีดำหรือคล้ำประทั่วตัว

ปลาแค้งู ปลาแค้หัวแบน

เป็นปลาแค้ชนิดที่พบได้น้อย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาสูง และมีชื่ออื่นอีกว่า “ปลาแค้หัวแบน”

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bagarius suchus
  • วงศ์ : Sissoridae
  • ขนาด : 50-70 ซ.ม.
  • ลักษณะ :
  • อาหาร : ปลาและซากสัตว์
  • พฤติกรรม : คล้ายปลาแค้ควาย แต่พบในบริเวณหน้าดินมากกว่า
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำสายหลัก
  • สถานภาพ : พบไม่บ่อยนัก

18. ปลาหลดม้าลาย

มีรูปร่างลักษณะเหมือนปลาหลดทั่วไป แต่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย จะงอยปากยื่นแหลมกว่า มีลำตัวสีน้ำตาลแกมเขียว มีจุดเด่นคือ มีลายเป็นบั้ง ๆ สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ เป็นเส้นลายริ้วตลอดทั้งตัว

ปลาหลดม้าลาย

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macrognathus zebrinus
  • วงศ์ : Mastacembelidae
  • ขนาด : 10-20 ซ.ม.
  • อาหาร : กุ้งขนาดเล็กและแมลงน้ำ
  • พฤติกรรม : ซุกตามพืชน้ำหรือซอกโพรงโม้หรือใต้ก้อนหิน
  • ถิ่นอาศัย : ลำธารและหนองบึงของลุ่มน้ำสาละวิน
  • สถานภาพ : หายาก

19. ปลาปักเป้าขน

มีลักษณะหัวโต ตาเล็กกว่าปลาปักเป้าชนิดอื่น ๆ หัวและลำตัวมีติ่งขนสั้น ๆ ที่แตกปลายตลอดคล้ายขน เป็นที่มาของชื่อ สีลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือกากีคล้ำ มีจุดประสีจาง ครีบหางสีน้ำตาลอมเหลือง และมีประสีคล้ำ โดยปลาที่อยู่ตามแก่งน้ำที่ไหลแรงจะมีติ่งหนังมากกว่าที่อยู่น้ำไหลช้า หรือบางตัวไม่มีเลย

ปลาปักเป้าขน

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monotrete baileyi
  • วงศ์ : Tetraodontidae
  • ขนาด : 7-10 ซ.ม.
  • พฤติกรรม : ไม่ทราบแน่ชัด
  • ถิ่นอาศัย : แม่น้ำโขงบริเวณที่เป็นแก่งหิน
  • สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements