ปลา ‘ตูหนา – สะแงะ’ ต่างกันตรงไหน?

หลังจากค้นข้อมูลมาได้บ้าง สิ่งที่ผมเห็นคือมีการเข้าใจกันว่า ปลาตูหนา ก็คือปลาสะแงะ ซึ่งก็ทำเอาผมเกือบหลงไปเลยเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว ปลาทั้ง 2 เป็นคนละชนิดกัน แต่อย่างว่าก็พี่เล่นเหมือนกันอย่างกับแฝด เป็นธรรมดาที่ต้องคิดว่าตัวเดียวกัน เอาล่ะผมได้รวบรวมเรื่องราวเล็กๆ เกี่ยวกับปลา 2 ตัวนี่มาให้น้าๆ ได้อ่านกัน มันคงช่วยให้เข้าใจมากขึ้นอีกนิด

ปลาตูหนา และ ปลาสะแงะ ต่างกันยังไง..?

Advertisements

ขอเข้าประเด็นก่อนเลย ผมเองก็พยายามหาข้อมูล และรูปมาแสดงให้ดู ถ้าผิดพลาดอะไรน้าๆ สามารถบอกกันได้ เพื่อให้ผมตรวจสอบและแก้ไขต่อไป ..ขอเริ่มจากภาพวาดก่อน

ปลาตูหนา
ปลาตูหนา หรือ ปลาไหลหูดำ (Shortfin eel) มีข้อมูลว่ามันมี มีรูปร่างอ้วนป้อม ลักษณะโดยทั่วไปเหมือน “ปลาสะแงะ” แต่ปลาตูหนามีรูปร่างที่เล็กกว่า ครีบอกของปลาตูหนามีสีคล้ำ ในปลาโตเต็มวัยครีบหลังและครีบก้นมีสีคล้ำด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “ปลาไหลหูดำ” ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนไม่มีลวดลาย
ปลาสะแงะ (Bengal freshwater eel) เป็นปลาในวงศ์ปลาตูหนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย โตได้ถึง 1.5 เมตร ในตัวเต็มวัยครีบอกมีสีจาง ครีบหลังอยู่ค่อนไปทางด้านท้ายของลำตัว ลำตัวด้านหลังมีสีเทาคล้ำอมเหลืองและมีประสีจางและคล้ำผสมกันคล้ายกับลายหินอ่อน ท้องมีสีน้ำตาลอมเหลือง

จากที่ผมเขียนเอาไว้ น้าๆ เห็นความแตกต่างอะไรบ้าง..? เอาง่ายๆ เลยแบบยังไม่ต้องดูขนาดตัว “ลาย” ลายที่ตัวแตกต่างกันมาก เพราะ “ปลาสะแงะ มีลายอย่างชัดเจน” ส่วนตูหนาไม่มี และ “ปลาสะแงะไม่ใช่ปลาไหลหูดำ แต่เป็นปลาตูหนา”

รูปนี่น่าจะเห็นได้ชัดขึ้นถึงหัว – ผิวของปลาตูหนา ปลาสะแงะ โดยปลาสะแงะจะออกเหลืองและมีลาย แต่ปลาตูหนาจะดำกว่าและไม่มีลาย
Advertisements

ข้อมูลเพิ่มเติมปลาตูหนา

ปลาตูหนา หรือ ปลาไหลหูดำ (Shortfin eel, Level-finned eel) ชื่อวิทยาศาสตร์ Anguilla bicolor เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตูหนา (Anguilidae) มีรูปร่างอ้วนป้อม ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนปลาสะแงะ ซึ่งอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน แต่ปลาตูหนามีรูปร่างที่เล็กกว่า ครีบอกของปลาตูหนามีสีคล้ำ ในปลาโตเต็มวัยครีบหลังและครีบก้นมีสีคล้ำด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “ปลาไหลหูดำ” ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนไม่มีลวดลาย ใต้ท้องสีขาว ขนาดโตเต็มที่ได้ 1.5 เมตร

ในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกแถบริมชายฝั่งอันดามัน เรื่อยไปจนถึงประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย และในภาคตะวันตกในชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า เช่น จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยชาวกะเหรี่ยงเรียกปลาชนิดนี้ว่า “หย่าที” ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกพบได้ตั้งแต่พม่า บังกลาเทศ จนถึงอินเดีย โดยปลาที่พบในประเทศแถบนี้จะเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ

ปลาตูหนามีพฤติกรรมจะกลับไปผสมพันธุ์และวางไข่แถบป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำ ลูกปลาแรกเกิดมีลำตัวใสเหมือนวุ้นเส้น มีสีแดงเรื่อ จากนั้นเมื่อโตขึ้นจะค่อยอพยพว่ายทวนน้ำมาสู่แหล่งน้ำจืด ซึ่งบางครั้งอาจพบได้ไกลถึงลำธารน้ำตกบนภูเขา

ปลาชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนในแถบจังหวัดระนองหรือตรัง ถือเป็นเมนูราคาแพง สามารถนำไปปรุงได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ ย่าง หรือทำน้ำแดง ในต่างประเทศที่นิยมบริโภคได้แก่จีนและญี่ปุ่น โดยหน่วยงานประมงของประเทศเหล่านี้ได้มีการส่งเสริมให้เป็นปลาเศรษฐกิจ มีการทำฟาร์มเพาะขยายพันธุ์ แต่ว่าเนื้อมีกลิ่นคาวมาก จึงนิยมปลาตูหนาญี่ปุ่น

ข้อมูลเพิ่มเติมปลาสะแงะ

ปลาสะแงะ (Bengal freshwater eel) ชื่อวิทยาศาสตร์ Anguilla bengalensis เป็นปลาจัดอยู่ในวงศ์ปลาตูหนา (Anguillidae) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในไทย โดยสามารถยาวได้ถึง 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร ในตัวเต็มวัยครีบอกมีสีจาง ครีบหลังอยู่ค่อนไปทางด้านท้ายของลำตัว ลำตัวด้านหลังมีสีเทาคล้ำอมเหลืองและมีประสีจางและคล้ำผสมกันคล้ายกับลายหินอ่อน ท้องมีสีน้ำตาลอมเหลือง

พบมากในแม่น้ำสาละวินและสาขาในจังหวัดตาก และ แม่ฮ่องสอน และยังสามารถพบได้เป็นครั้งคราวในแม่น้ำของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ต่างประเทศพบได้ในบริเวณแม่น้ำชายฝั่งของประเทศอินเดีย, พม่า และทวีปแอฟริกาแถบตะวันออก

ปลาสะแงะ มีบันทึกว่าพบครั้งแรกและสร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็น คือ มีผู้จับได้ในคลองบางกะปิที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2469 ด้วยความใหญ่โตของลำตัว ทำให้บางคนเชื่อว่า เป็นปลาไหลไฟฟ้าบ้าง บางคนก็คิดว่าเป็นพญานาค หรือมังกร โดยปลาตัวนั้นมีขนาดความยาว 65 เซนติเมตร

“ว่ากันว่า ปลาชนิดนี้สามารถส่งเสียงร้องคล้ายเสียงเด็กทารกได้ด้วยในเวลากลางคืน”

ในประเทศไทยพบเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกและแถบภาคตะวันตกไปจนถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีชื่อพื้นเมืองภาษากะเหรี่ยงว่า “หย่าที” เป็นปลาที่พบน้อย หายาก เนื้อมีรสชาติอร่อย ราคาแพง และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

เอาล่ะเท่านี่ก็น่าจะแยกกันได้แล้วว่าปลาตูหนา ปลาสะแงะ ต่างกันยังไง หลังจากนี่แม้แต่ตัวผมเองเวลาได้มีโอกาสเจอปลาพวกนี่ก็คงมองไม่พลาดแล้ว เอาไว้เจอกันเรื่องต่อไป อย่าลืมแชร์ให้น้าๆ ท่านอื่นอ่านกันนะ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements