8 ปลาช่อน’สกุลชานนา’ ที่เป็นปลาท้องถิ่นของไทย

ความจริงเรื่องของปลาช่อน 8 ชนิดนี้ ผมเคยพูดถึงไปแล้ว แต่คิดว่ามันไม่ดีเท่าไร และข้อมูลก็มีความผิดพลาดอยู่บ้าง เลยขอเอากลับมาแก้ไขมากหน่อย โดยปลาที่อยู่ในสกุลปลาช่อน หรือ ชานนา (Channa) จะมีอยู่บนโลกนี้มีอยู่อย่างน้อย 35 ชนิด แต่หากเป็นปลาช่อนชนิดที่ถือว่าเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ชนิด และนี่คือเรื่องราวของปลาช่อนที่พบในธรรมชาติไทย ... ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่งกันนะครับ

ปลาในสกุลปลาช่อนคืออะไร?

Advertisements

อย่างที่บอกเอาไว้ในตอนต้นว่า ปลาช่อนนั้นอยู่ในสกุล ชานนา (Channa) โดยปลาในสกุลนี้ทั้งหมดเป็นปลานักล่า ที่จะกินสัตว์ขนาดเล็กเกือบทุกชนิด บางชนิดก็สามารถกินสัตว์ขนาดใหญ่ได้ เช่น ปลาชะโด ที่อาศัยฟันคมๆ ในการฉีกร่างของเหยื่อที่ตัวใหญ่กว่าได้ ทั้งนี้ปลาช่อนเกือบทุกชนิด ถือเป็นปลาที่ทนทาน หรือ อย่างน้อยก็มีพลังในการเพิ่มประชากรที่สูง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นปลาที่พบได้มากมายในธรรมชาติ โดยเฉพาะ ช่อนนา และ ปลาชะโด

ตัวนี้คือปลากะสง เป็นปลาในวงศ์ปลาช่อน ที่พบได้บ่อยรองจากปลาช่อน และมีความคล้ายปลาช่อนเหนือ (ปลาช่อนเหนือตัวใหญ่กว่าและอยู่น้ำเย็นกว่า ในไทยไม่มี) ..กดเพื่ออ่านปลาช่อนเหนือ

โดยทั่วไปปลาช่อนพวกนี้ สามารถอยู่ได้ในแหล่งน้ำที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลำธารต้นน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ ป่าพรุ บางทีอาจได้ไปเจอแถวๆ ปากแม่น้ำเลยด้วยซ้ำ …แต่ถึงอย่างงั้นปลาช่อนก็ชอบอยู่ในแหล่งน้ำที่นิ่งมากกว่าน้ำไหล

ปลาช่อนที่พบได้มากที่สุดในไทย Channa striata (C. straita) เจอได้เกือบทุกที่

ลูกปลาช่อนจะถูกเรียกว่า “ลูกครอก” พวกมันจะว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูง ซึ่งปกติจะมีหลายพันตัว พวกมันจะมีพ่อแม่คอยดูแล โดยในช่วงเวลาที่พ่อแม่ปลาต้องดูแลลูก ถือเป็นช่วงเวลาอันตรายของพวกมัน เนื่องจากลูกๆ ต้องขึ้นมาหายในบริเวณผิวน้ำบ่อยๆ จึงสังเกตุได้ง่าย จนมีโอกาสถูกมนุษย์จับไป หากพ่อแม่โดนจับไปทั้งคู่ ลูกๆ จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ในกรณีที่ลูกๆ โดนจับไปทั้งหมด พ่อแม่ก็มีชีวิตต่อไปได้ แต่ก็คงเศร้า ต่อไปเป็นเรื่องของปลาช่อนทั้ง 8 ชนิด

1. ปลาช่อน (Channa striata)

ปลาช่อน หรือ ปลาช่อนนา เป็นปลาที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุดชนิดหนึ่ง อาจเป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่สามารถเทียบได้กับปลานิล ในแง่ของความนิยมบริโภคและจำนวนที่พบในตลาด ตามร้านอาหารอีสาน หรือ แม้แต่ร้านอาหารที่คล้ายๆ กัน จะต้องมี เมนูปลาช่อน ปลานิลขายแน่นอน

ปลาช่อนชนิดนี้ จะยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ภายในปากมีฟันเขี้ยวแหลมๆ ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำจางๆ ตลอดลำตัว 6-7 เส้น ส่วนท้องมีสีขาว ลูกครอกของปลาช่อนจะมีสีแดง หรือ ส้ม เมื่อโตขึ้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

ในธรรมชาติสามารถพบปลาช่อนชนิดนี้ได้ทั่วประเทศ ตามแม่น้ำ หนอง คลอง บึง เขื่อน ชอบอยู่แถวๆ ชายน้ำที่มีพืชน้ำขึ้นอุดมสมบรูณ์ เป็นปลาที่อยู่ได้แม้ในน้ำคุณภาพไม่ดี มีชีวิตอยู่ได้นานมากแม้จะมีน้ำเพียงเล็กน้อย อาจอยู่ได้เกินเดือนหากมีน้ำถึงครึ่งตัวปลา เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญมากที่สุดชนิดหนึ่งของไทย

นอกจากปลาช่อนนาที่พูดถึงไปแล้ว ยังมี “ปลาช่อนแม่ลา” โดยปลาช่อนแม่ลา (Pla Chon Mae La) จะหมายถึงปลาช่อนที่ได้จากลำน้ำแม่ลา หรือบริเวณที่กำหนด เป็นปลาช่อนที่มีลักษณะหัวหลิมหรือหัวเล็กกว่าลำตัว มีลำตัวอ้วนกลม เกล็ดนิ่ม มีสีขาวปนเทา ท้องป่องมีสีขาวมันวาว ครีบมีสีส้ม ชมพูหรือแดง หางมนคล้ายรูปใบโพธิ์

ตามคำโฆษณาเล่าเอาไว้ว่า เนื้อปลาช่อนแม่ลาจะมีไขมันแทรกมากกว่าปลาช่อนทั่วไป เป็นปลาที่นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นปลาช่อนสด ปลาช่อนตัดแต่ง และปลาช่อนแดดเดียว ซึ่งจะผลิตในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี … ซึ่งโดยปกติผู้เพาะเลี้ยงในท้องถิ่นก็จะบอกกันประมาณนี้

แต่ถึงแม้ปลาช่อนแม่ลา จะมีความต่างจากปลาช่อนนา แต่แท้จริงแล้วปลาช่อนแม่ลาคือ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” มันไม่ใช่ปลาช่อนชนิดใหม่ อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ความจริงหากมองในมุมมองทางวิทยาศาสตร์และทางอนุกรมวิธาน “ปลาช่อนแม่ลา” ยังคงใช้ชื่อเดียวกับ “ปลาช่อนนา” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ ชานนา สไตรอาตา (Channa striata) เพียงแต่ทั้งสองถูกอธิบายไว้ต่างกัน

2. ปลากะสง (Channa lucius)

ปลากระสง หรือ ปลาช่อนไช เมื่อเทียบกับปลาช่อนนาแล้ว ถือว่าพบได้ยากกว่าพอสมควร ไม่ใช่ปลาที่พบได้ง่ายๆ ในตลาด ในร้านอาหารทั่วไปก็ไม่ค่อยเจอ และก็ไม่ใช่ปลาที่นิยมเลี้ยงเพื่อบริโภคด้วย ความจริงในมุมมองของผมที่ตกปลาช่อนนาได้มาหลายร้อยตัว ผมเคยได้ปลากระสงแค่ตัวเดียว อาจเพราะที่ๆ ผมไปตก ไม่มีปลากระสงหรือไม่ก็มีน้อยมากๆ

ปลากะสง

ปลากระสง จะยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ลูกปลาแรกเกินจะมีสีน้ำตาลอมส้ม และมีแถบสีดำขนาดเล็กคาดอยู่จำนวน 4 เส้น ในปลาขนาดใหญ่จะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลและลายสีดำ หรือ สีน้ำตาลเทาทั่วตัว ที่ข้างแก้มมีแต้มสีคล้ำใหญ่ดูคล้ายดวงตา มีแถบสีคล้ำตามแนวยาว พาดตั้งแต่หน้าลูกตาไปถึงกลางลำตัวบนตัวมีลายประดำด่างตลอด

เป็นปลาที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชอบอยู่บริเวณน้ำนิ่ง มักจะปะปนอยู่กับปลาช่อนชนิดอื่น และเพราะเป็นปลาที่มีลายสวยแบบดิบๆ จึงถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอีกด้วย

3. ปลากั้ง (Channa limbata)

Advertisements

ปลากั้ง หรือ ปลาก้าง จัดเป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย สมัยก่อนปลากั้งเป็นปลาที่ขึ้นชื่อในเรื่องความหาง่าย พบได้ทั่วประเทศและในแหล่งน้ำแทบทุกแห่ง เป็นปลาที่ตะกละมากๆ หากคุณโยนเหยื่อลงไป ปลากั้งจะเป็นปลาตัวแรกที่เข้ามากินเหยื่อ แต่มาถึงยุคนี้ ปลากั้งถือเป็นปลาที่หายากขึ้น ซึ่งจะพบได้เฉพาะในแหล่งน้ำที่สะอาด ซึ่งปกติจะเจอในป่า หรือ ใกล้ป่า แอ้งน้ำ ลำธาร แม่น้ำสาขาย่อยขนาดเล็ก หรือบริเวณที่น้ำสะอาดรอบๆ ภูเขา เป็นปลาช่อนเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถอยู่บริเวณแก่งน้ำที่มีกระแสน้ำแรงจัดได้

ปลากั้งก็เหมือนปลาช่อนทั่วไป พวกมันมีลูกครอก ซึ่งลูกๆ จะมีสีน้ำตาลอ่อนและมีแถบสีดำบนลำตัว เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและมีจุดประสีดำเล็กๆ ทั่วตัว เมื่อโตเต็มวัย สีของปลาจะเข้มชัดขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแหล่งอาศัย สีลำตัวมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีดำเข้ม ในปลาเพศผู้จะมีครีบที่ใหญ่และสีสดกว่าปลาเพศเมีย อาจเป็นสีฟ้าหรืออาจเป็นสีส้ม ขึ้นอยู่กับแหล่งอาศัยเช่นกัน

แม้ปลากั้งจะมีน้อยกว่าปลาช่อนนามาก แต่ก็ยังถือเป็นปลาเศรษฐกิจของไทย มักจะถูกจับไปขายเป็นปลาสวยงาม นอกจากนี้ปลากั้งเป็นวัตถุดิบทำยาให้ไก่ชนกิน เชื่อว่าจะทำให้ไก่ชนมีน้ำอดน้ำทนมากขึ้น ในบางท้องที่มีความเชื่อว่า หากใครกินปลากั้ง จะทำให้เมาจนหัวสั่นหัวคอน จึงไม่นิยมนำมาบริโภค

4. ปลาชะโด (Channa micropeltes)

ปลาชะโด เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลปลาช่อน อาจยาวได้ถึง 150 เซนติเมตร ในไทยไม่ค่อยนิยมนำมาประกอบอาหาร แต่เป็นที่นิยมในเกมกีฬาตกปลาเป็นอย่างมาก และปลาชะโดค่อนข้างพิเศษ เพราะมันเป็นปลาที่มีชื่อเรียกที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกเรียกตามวัยและรูปลักษณ์ของมัน และเพราะเรื่องนี้จึงทำให้คนเข้าใจผิดกันว่า เป็นปลาคนละชนิดกัน แต่จริงๆ มันเป็นระยะที่ต่างกันของปลาชะโด ซึ่งมีดังนี้

ปลาชะโด

– ระยะแรก! เรียกว่าลูกครอก ความหมายคือ ลูกปลาชะโดที่ยังรวมฝูง เกาะติดกับพ่อแม่ ที่เราเห็นขึ้นกับเป็นฟองๆ ตัวแดงๆ ส้มๆ นั้นล่ะคือลูกครอก

– ระยะที่สอง ที่เรียกกันว่าไอ้ป๊อก หรือ ชะโดป๊อก เป็นลูกปลาชะโดใกล้จะแยกออกจากพ่อแม่ หรือแยกออกมาได้สักพักแล้ว ปกติชะโดป๊อกจะแยกมาอยู่ด้วยกันไม่กี่ตัว ขนาดของชะโดป๊อกจะยาวราวๆ 15 เซนติเมตร ลักษณะชะโดป๊อกจะดูง่ายๆ คือสีลำตัวเป็นสีน้ำตาลและมีแถบสีดำส้มและเหลืองพาดตามความยาวลำตัว บริเวณหางจะมีสีแดงสด

– ระยะที่สาม ที่เรียกได้ว่าเป็นปลาชะโด เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็ถือว่าเป็นปลาชะโดที่โตแล้ว มันจะมีรูปร่างเหมือนปลาชะโดทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษ อาจยาว 25 เซนติเมตรขึ้นไป ลำตัวจะมีสีเขียวๆ ดำๆ และลายที่เหมือนปลาชะโดทั่วไป แน่นอนว่าลายเส้นยาวๆ ในวัยเด็กก็หายไปเช่นกัน ในระยะนี้อาจยาวได้ถึง 1 เมตร

– ระยะพิเศษ ที่เรียกว่า ไอ้ภู่ หรือ แมลงภู่ จริงๆ ความหมายของคำเรียกนี้ คือการยกระดับของชะโด ให้มันดูเท่ ดูยิ่งใหญ่ แต่ชะโดที่จะถูกเรียกแบบนี้ ไม่ใช่แค่เป็นชะโดที่ตัวใหญ่ แต่ต้องมีสีและลายที่สดใสเป็นประกายเหมือนแมลงภู่ ซึ่งเป็นที่มาของ “ไอ้ภู่” นั้นเอง และไอ้ภู่เนียละ ที่บางคนบอกว่ามันไม่ใช่ชะโด

– ระยะพิเศษ ที่เรียกว่า ชะโดถ่าน มันเป็นคำเรียกพิเศษอีกชื่อของปลาชะโด แต่จะต่างจากคำเรียกไอ้ภู่ เพราะอาจใช้เรียกชะโดระยะที่สามเลยก็ได้ หากมันตัวดำก็ถือว่าใช่ได้ แต่! ชะโดที่ตัวเล็กและดำนั้นหาได้ค่อนข้างยาก ปกติมักเจอกับพวกที่หนักเกิน 3 กิโล และเมื่อมันดำมันก็จะถูกเรียกชะโดถ่านนั้นละ

ปลาชะโดที่พบในไทยตอนนี้ยาวได้ถึง 80 เซนติเมตรก็เก่งแล้ว เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำเกือบทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ คลอง แม่น้ำ จัดเป็นปลานักล่าที่อยู่ระดับบนของห่วงโซ่อาหาร เป็นปลาที่สามารถไล่ล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ ชะโดขนาดใหญ่อาจกัดปลาค้าวขาดครึ่งด้วยการกัดเพียงครั้งเดียว และเพราะความดุดัน ตัวใหญ่ สีสวย จึงทำให้ในบางประเทศนิยมนำปลาชะโดไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยข้อดีของปลาชะโดอย่างหนึ่งคือ พวกมันไม่ค่อยจะตีกันเอง แม้จะถูกเลี้ยงรวมกันหลายตัวก็ตาม

5. ปลาก๊วน (Channa auroflammea)

ปลาก๊วน หรือ ปลาช่อนงูเห่าแม่น้ำโขง ยาวได้ประมาณ 80 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับปลาช่อนงูเห่า ชานนา ออโรลิเนทัส (Channa aurolineatus) และ ปลาช่อนงูเห่า ชานนา มารูเลียส (Channa marulius) แต่จะต่างกันตรงที่ส่วนท้องจะเป็นสีเหลืองจนโตเต็มวัย พบกระจายพันธุ์ เฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขง

สมัยนี้ปลาช่อนงูเห่าแม่น้ำโขง พบได้ค่อนยากมากในไทย แต่อาจจะหาได้ง่ายกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน มักถูกจับส่งขายเป็นปลาสวยงาม แต่ราคาก็ค่อนข้างแพง หากอยากเลี้ยงควรศึกษาให้ดีก่อน

6. ปลาช่อนงูเห่า (Channa aurolineata)

Advertisements

จริงๆ แล้วปลาช่อนงูเห่า เป็นปลาช่อนชนิดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เนื่องจากเป็นปลาที่มีลักษณะต่างกันตามแหล่งอาศัย และยังมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยในแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ในช่วงแรกๆ จะให้ปลาช่อนงูเห่าที่พบในไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชานนา มารูเลียส (Channa marulius) และยังรวมเอา ปลาก๊วน หรือ ปลาช่อนงูเห่าแม่น้ำโขง และ ปลาช่อนงูเห่าอินเดียเข้าไปด้วย

แต่หากอ้างอิงจากข้อมูลในหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ด.ร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้ให้ปลาช่อนงูเห่าที่พบใน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่กลอง สาละวิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชานนา ออโรไลน์อตา (Channa aurolineata) ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นชนิดเดียวกับที่รุกรานอยู่ในฟลอริดา …ด้วยเหตุนี้มันจึงมาเยอะมากๆ ในฟลอริดา

สำหรับปลาช่อนงูเห่าชนิดนี้ มีความยาวประมาณ 80 เซนติเมตร มีลำตัวกลมยาวกว่าปลาช่อนนาอย่างเห็นได้ชัด ในปลาขนาดเล็กลำตัวจะมีสีน้ำตาลและมีแถบสีดำอยู่ที่ด้านข้าง มีจุดขนาดใหญ่อยู่ที่โคนหางซึ่งจะเรียกว่า “ดอกจัน” แต่จุดจะจางลงเรื่อยๆ ตามอายุของปลา ในปลาขนาดกลางท้องจะเป็นสีเหลือง มีจุดประสีขาวบริเวณครีบ ในปลาขนาดใหญ่ท้องจะเป็นสีดำ ในประชากรปลาช่อนงูเห่าที่พบในแม่น้ำสาละวิน จะมีลายบนตัวมากกว่าประชากรที่พบในแม่น้ำแม่กลองและเจ้าพระยา …ส่วนปลาช่อนงูเห่าที่พบในเขื่อนจะเหมือนกับชนิดที่พบในเจ้าพระยา

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่า ปลาช่อนชนิดนี้ผสมกับงูเห่า บางความเชื่อก็บอกมีพิษร้ายแรงกว่างูเห่าทั่วไปซะอีก แต่ความเป็นจริงแล้ว ปลาช่อนงูเห่าไม่ได้มีพิษแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะปลาชนิดนี้มีหัวที่เล็ก ตัวยาวแลดูคล้ายงูเห่า จึงเป็นที่มาของชื่อ “ปลาช่อนงูเห่า” เมื่อชาวบ้านจับปลาชนิดนี้ได้ บางคนไม่กล้ากินเนื่องจากกลัวตาย ปัจจุบันปลาช่อนชนิดนี้ พบเจอได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ในธรรมชาติของไทย แม้พวกมันจะมีอยู่มากมายในที่อื่นก็ตาม

7. ปลาช่อนข้าหลวง (Channa maruloides)

ปลาช่อนข้าหลวง หรือ ปลาช่อนทอง เป็นปลาช่อนราคาแพงและสวยที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับปลาช่อนงูเห่า แต่รูปร่างจะป้อมสั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด มีความยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร เมื่อยังเป็นลูกปลาตัวเล็กๆ ลำตัวจะมีสีน้ำตาลและมีแถบสีส้มอยู่ที่ข้างลำตัว ในปลาโตเต็มวัยท้องจะมีสีเหลือง มีแถบลายเฉียง ซึ่งประกอบไปด้วยเกล็ดสีดำและเทา

cr. Nonn Panitvong (ดร.นณณ์)

ในประเทศไทยพบปลาช่อนชนิดนี้ เฉพาะใน “ภาคใต้เท่านั้น” มันเป็นปลาช่อนที่พบได้ใน “เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” รวมถึงในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่แถบนั้น และเช่นเดียวกับปลาช่อนงูเห่า ปลาพวกนี้มีสีสันและลวดลายที่ต่างกันตามแห่งอาศัย โดยปลาที่พบที่เขื่อนรัชชประภาของไทย จะมีสีเหลืองที่สดสวยกว่าปลาช่อนข้าหลวงชนิดที่พบได้มากในประเทศมาเลเซีย

8. ปลาช่อนดำ (Channa melasoma)

ปลาช่อนดำ จัดเป็นปลาช่อนที่หาได้ยากมาก ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีรูปร่างเหมือนปลาช่อนนา แต่ลำตัวผอมเพรียวกว่า หัวโต ตาสีดำ แม้จะชื่อว่าปลาช่อนดำ แต่ก็ไม่เสมอไปที่มันจะตัวสีดำเหมือนชื่อ เพราะสีลำตัวค่อนข้างแปรปรวนตั้งแต่สีน้ำตาลซีดจนถึงน้ำตาลเข้ม น้ำตาลอมเขียวหรือเกือบดำ จุดสังเกตุสำคัญของปลาช่อนชนิดนี้ที่ทำให้แยกออกจากปลาช่อนนาอีกอย่างคือ ที่ขอบของครีบจะเป็นสีขาว

ปลาช่อนดำ เมื่อเทียบกับปลาช่อนนา ถือว่าเล็กกว่าพอสมควร เพราะมันโตที่สุดแค่ 30 เซนติเมตร แต่โดยปกติอยู่ประมาณ 20 เซนติเมตร พบได้น้อยในประเทศไทย เพราะในธรรมชาติของไทยจะ สามารถพบได้เฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และแม่น้ำโกลก เท่านั้น

ปลาช่อนดำเป็นปลาที่ก้าวร้าว หรือก็คือดุร้ายพอสมควร หากจะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม มันมีแนวโน้มสูงที่จะโจมตีปลาตัวอื่น จึงเป็นปลาที่ควรเลี้ยงเพียงตัวเดียว หรือเป็นคู่ที่เป็นปลาชนิดเดียวกัน แต่เพราะปลาชนิดนี้ไม่ได้สวยเป็นพิเศษ แถมยังเลี้ยงค่อนข้างยาก จึงไม่ค่อยนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements