16 ปลาหลด-ปลากระทิง ที่พบในไทย พวกมันต่างกันเช่นไร?

หลายคนอาจคิดว่าปลาหลดมีเพียงชนิดเดียว และปลากระทิงก็อาจจะมีเพียงแค่ ปลากระทิงไฟ และ ปลากระทิงธรรมดา แต่จริงๆ แล้วปลาพวกนี้มีมากมายหลายชนิด หากนับรวมกัน ในประเทศไทยก็มีปลาหลดมากถึง 9 ชนิด และ ปลากระทิงอีก 7 ชนิด หลายชนิดมีข้อมูลน้อยมากๆ และเกือบหาไม่เจอในอินเตอร์เนต ด้วยเหตุนี้ข้อมูลจำนวนมาก จึงอ้างอิงจากหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ หากสนใจหนังสือดีๆ เล่มนี้ สามารถสั่งซื้อได้ในเพจ หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ปลาหลด – ปลากระทิง ต่างกันเช่นไร?

Advertisements

หลายคนน่าจะสงสัยกันว่า ปลาหลด และ ปลากระทิง ต่างกันตรงไหน และผมเองก็เคยเห็นหลายคนบอกว่า ปลาหลดมันก็คือปลากระทิงนั้นล่ะ ซึ่งก็ไม่แปลกหากจะคิดเช่นนั้น เพราะหากมองผ่านๆ พวกมันก็คล้ายกันมาก แถมยังอยู่ในวงศ์เดียวกันด้วย แต่! จริงๆ แล้ว ทั้งปลาหลดและปลากระทินั้นค่อนข้างต่างกัน แต่ก่อนที่ผมจะบอกว่าพวกมันต่างกันตรงไหน เรามาดูกันก่อนว่าลักษณะทางกายภาพของปลาหลดเป็นเช่นไร และของปลากระทิงเป็นเช่นไร?

ขอเริ่มจาก “ปลาหลด” ก่อนก็แล้วกัน … ปลาหลด ที่พบในไทยมีอยู่ 2 สกุล สกุลที่ 1 คือ เชาเดรีย (Chaudhria) ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด และพบในไทย 1 ชนิด นั้นก็คือ ปลาหลดแคระ (Chaudhuria caudata) โดยชนิดนี้ผมจะไม่อธิบายเอาไว้ตรงนี้ ส่วนสกุลที่ 2 คือ มาโครเนททัส (Macrognathus) ซึ่งบนโลกนี้มีอยู่ 25 ชนิด พบในไทย 8 ชนิด

ปลาหลดในสกุลมาโครเนททัส จะมีปากและลำตัวที่เรียวยาว มีรูปร่างแบนข้างกว่าปลาไหลส่วนใหญ่ หางมีลักษณะกลม และยังแยกออกมาจากครีบหลังและครีบท้อง มีหนามแหลมก่อนครีบหลัง จะงอยปากบนยาวกว่าจะงอยปากล่างอย่างชัดเจน ปลาหลดชอบอาศัยอยู่ตามลำธารต้นน้ำและแม่น้ำขนาดใหญ่ ชอบมุดไปอยู่ใต้กรวดหรือทราย กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร

ปลาหลดหางมนแยกจากครีบหลังและท้อง

ต่อไปมาดูคำอธิบายลักษณะของ “ปลากระทิง” กันต่อ! สำหรับปลากระทิง มีอยู่สกุลเดียว นั้นก็คือ มาสตาเซมเบลอัส (Mastacembelus) ซึ่งทั่วโลกพบแล้วอย่างน้อย 61 ชนิด ในไทยพบเพียง 7 ชนิด ปลากระทิงจะมีลำตัวยาว แบนข้างเล็กน้อย จะงอยปากบนยาวกว่าจะงอยปากล่าง ครีบหลัง ท้องและหางเชื่อมต่อกัน บริเวณหลังก่อนถึงครีบหลังจะมีหนามแหลม พบปลากระทิงได้ในแหล่งน้ำจืดและกร่อย ชอบหลบซ่อนตามโพรงหรือวัสดุใต้น้ำ กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร

ปลากระทิงครีบท้อง-ครีบหลัง-เชื่อมต่อกัน

กลับมาที่คำถาม ปลาหลดและปลากระทิงต่างกันเช่นไร? ก็อย่างที่เห็น เราสามารถแยกปลาทั้งสองชนิดนี้ได้ง่ายๆ จากครีบ! ถ้าครีบหลัง ท้องและหางเชื่อมต่อกัน มันคือปลากระทิง ถ้าไม่เชื่อมมันคือปลาหลด และปลากระทิงก็ดูเรียวยาวกว่าปลาหลดด้วย เพียงเท่านี้เราก็แยกปลาทั้งสองได้แล้ว ต่อไปมาทำความรู้จักปลาหลดและปลากระทิงที่พบได้ในไทยกัน

1. ปลาหลดลายแถบเฉียง – Macrognathus tapirus

ปลาหลดลายแถบเฉียง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปลาหลดที่หายากมากชนิดหนึ่งของไทย ข้อมูลเกี่ยวกับปลาชนิดนี้จึงน้อยมาก แถมบางข้อมูลก็เรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาหลดพรุ โดยปลาจะมีลำตัวแบนข้าง มีแถบลายเฉียงสีดำอยู่บนลำตัว 13 – 14 แถบ ซึ่งนี่ถือเป็นลักษณะเด่นของปลาหลดลายแถบเฉียง นอกจากนี้ยังมีจุดสีดำขนาดค่อนค้างใหญ่อยู่ที่ฐานของครีบหลัง

ในประเทศไทยพบปลาหลดลายแถบเฉียง ได้แถวๆ ภาคใต้และภาคตะวันออก บริเวณลำธารพื้นที่ราบและในแม่น้ำบริเวณที่มีน้ำไหลค่อนข้างแรง

2. ปลาหลดม้าลาย – Macrognathus zebrinus

ปลาหลดม้าลาย มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวยาว พื้นลำตัวสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีดำพาดยาวตั้งแต่ส่วนหลังลงมาจนเกือบถึงส่วนท้อง จัดเป็นปลาเนื้อดีและพบได้ค่อนข้างมากในพื้นที่เหมาะสม ในธรรมชาติของประเทศไทย พบปลาชนิดนี้ได้ในพื้นที่ไม่กี่แห่ง นั้นคือ ลุ่มแม่น้ำสาละวิน และยังพบในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และแม่น้ำเพชรบุรี เป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมอีกชนิด

ปลาหลดม้าลาย – Macrognathus zebrinus
Advertisements

3. ปลาหลดภูเขา – Macrognathus circumcincus

Advertisements

ปลาหลดภูเขา มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีเหลืองน้ำตาล ด้านข้างลำตัวจะมีลายแถบเฉียงสีน้ำตาลเข้มประมาณ 18 – 22 แถบ ซึ่งคล้ายกับปลาหลดลายแถบเฉียง เพียงแต่แถบของปลาหลดภูเขาจะมีขนาดเล็กและสีอ่อนกว่า ในประเทศไทยพบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ภาคใต้ และภาคตะวันออก ชอบอาศัยอยู่ตามซอกหินขนาดใหญ่ตามลำธาร โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำไหลแรง

ปลาหลดภูเขา – Macrognathus circumcincus

4. ปลาหลดพรุ – Macrognathus maculatus

ปลาหลดพรุ มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับปลาหลดภูเขา ต่างกันตรงที่ลายบนตัวจะไม่เป็นแถบ แต่จะเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อนและไม่เป็นระเบียบกระจายอยู่บนลำตัวสีน้ำตาล ในประเทศไทยพบที่ภาคใต้ บริเวณลำธารในป่าพรุ จัดเป็นปลาที่พบได้ค่อนข้างยากแม้จะเป็นถิ่นอาศัยที่เหมาะสมก็ตาม

ปลาหลดพรุ – Macrognathus maculatus
Advertisements

5. ปลาหลดแม่กลอง – Macrognathus meklongensis

ปลาหลดแม่กลอง มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร อาจเป็นปลาหลดชนิดที่หาได้ยากที่สุดในประเทศไทย มีลำตัวที่ยาวและมีแถบสีดำพาดอยู่ใกล้กับแนวสันหลัง ที่ฐานครีบหลังมีจุดสีดำขนาดค่อนข้างใหญ่ ในประเทศไทยพบในบริเวณต้นน้ำแม่กลอง แม่น้ำกษัตริย์และสุริยะ มักพบบริเวณที่น้ำไหลไม่แรงมากนัก

ปลาหลดแม่กลอง – Macrognathus meklongensis / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

6. ปลาหลดทราย – Macrognathus semiocellatus

Advertisements

ปลาหลดทราย หรือ ปลาหลดครึ่งวงกลม มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำตัวยาว พื้นลำตัวสีน้ำตาลอ่อนหรือเขียวมะกอก ลายบนตัวจะเป็นลายแถบสีน้ำตาลดูไม่เป็นระเบียบ บริเวณสันหลังและฐานครีบหลังมีลายทรงกลม ในไทยพบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำโขง แม่กลอง ชอบอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่ เป็นปลาที่พบได้น้อย

ปลาหลดทราย – Macrognathus semiocellatus / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

7. ปลาหลดจุด – Macrognathus siamensis

ปลาหลดจุด อาจเป็นปลาหลดที่หาได้ง่ายที่สุดในประเทศไทย และตัวอย่างแรกก็พบในไทยเช่นกัน เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร มีลำตัวยาว พื้นลำตัวสีเหลืองอมเทา บริเวณฐานครีบหลังมีลายจุดสีดำขอบขาว โดยจำนวนจุดของแต่ละตัวจะต่างกัน เป็นปลาที่พบได้เกือบทั่วประเทศไทย ยกเว้นลุ่มน้ำสาละวิน และทางภาคตะวันออก

ปลาหลดจุด – Macrognathus siamensis
Advertisements

8. ปลาหลดจุดงวง – Macrognathus sp.

ปลาหลดจุดงวง จัดเป็นปลาหลดที่หาได้ยาก มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาหลดจุด แต่จะงอยปากจะยืนยาวกว่า มีโคนหางสั้นกว่า ในไทยพบอาศัยที่ลุ่มแม่น้ำโขง เป็นปลาที่มักถูกจับมาพร้อมๆ กับปลาหลดจุด แต่จะมีจำนวนน้อยกว่ามากๆ

ปลาหลดจุดงวง – Macrognathus sp. / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

9. ปลาหลดแคระ – Chaudhuria caudata

ปลาหลดแคระเป็นปลาหลดชนิดเดียว ที่แยกออกมาจากปลาหลด 8 ชนิดที่พูดถึงไป มันอยู่ในสกุล เชาเดรีย (Chaudhria) ซึ่งพบเพียงชนิดเดียวในประเทศไทย แล้วก็สมชื่อปลาหลดแคระ เพราะยาวได้เพียง 4 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลักษณะคล้ายกับลูกปลาไหลนา เป็นปลาที่ไม่มีครีบอก แต่จะมีครีบหลังและก้นที่ใสจนเห็นก้านครีบชัดเจน มีหางที่กลม

ปลาหลดแคระ – Chaudhuria caudata / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำโขง แม่กลอง และภาคใต้ของไทย ชอบอาศัยอยู่ตามกอต้นไม้ริมน้ำ เคยเป็นปลาที่หาได้ไม่ยาก แต่ประชากรลดลงเป็นอย่างมากเนื่องจากการจับปลา แม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลักแต่ก็ถูกจับโดยบังเอิญอยู่บ่อยครั้ง นานๆ จะพบในตลาดปลาสวยงาม

10. ปลากระทิงไฟ – Mastacembelus erythrotaenia

ปลากระทิงไฟ (Fire spiny eel) มีความยาวได้ประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นปลากระทิงขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่สวยมากชนิดหนึ่ง และยังเป็นปลาพื้นเมืองของไทย มีลักษณะเด่นตรงที่ลำตัวมีสีเทาเข้มจนถึงสีดำ มีแถบและจุดสีแดงสดพาดตามแนวยาวบริเวณส่วนล่างของลำตัว

ปลาที่ยังเล็กจะมีสีน้ำตาลอมส้มหรือเหลือง เมื่อปลาโตขึ้นจุดและแถบลายกับสีก็จะเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีแดงหรือสีแดงอมส้มในที่สุด แต่ปลาส่วนใหญ่สีแดงสดจะเข้มจัดเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางหัว ส่วนลายที่อยู่ค่อนไปทางหางส่วนใหญ่จะเป็นสีแดงส้มหรือสีน้ำตาลส้ม พบน้อยมากที่จะมีลายสีแดงเพลิงทั้งตัว

ปลากระทิงไฟชอบอาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำ บริเวณภาคกลางและภาคใต้ แน่นอนว่าในน้ำจืดบางจังหวัดก็พบได้เช่นกัน เป็นปลาที่คนท้องถิ่นมักจับมากินและยังเป็นปลาสวยงามที่มีราคาค่อนข้างแพง จัดเป็นปลาเลี้ยงที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

และเพราะแบบนี้ประชากรของปลากระไฟในธรรมชาติจึงลดลงไปอย่างมาก และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติอีกด้วย … โชคยังดีที่ในตอนนี้กรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ได้แล้ว โดยเริ่มปล่อยปลาลงสู่แห่งน้ำธรรมชาติไปเมื่อปี พ.ศ. 2563

11. ปลากระทิงลาย – Mastacembelus favus

ปลากระทิงลาย ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นปลากระทิงที่แยกได้ค่อนข้างยาก นั้นเพราะมีลายที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะมีลายเป็นตาข่ายสีน้ำตาลเข้มบนพื้นลำตัวที่เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมเหลือง เป็นปลาที่พบได้ทั่วประเทศไทย ยกเว้นในลุ่มแม่น้ำสาละวิน ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ซอกหลืบ อย่างซากไม้จมน้ำ ตามตลิ่งที่มีก้อนหินขนาดใหญ่

ปลากระทิงลาย – Mastacembelus favus

12. ปลากระทิงลายดอกไม้ – Mastacembelus sp.flower

ปลากระทิงลายดอกไม้ ยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร จากข้อมูลในหนังสือปลาน้ำจืดไทยระบุว่า เป็นปลาที่มีลำตัวเพียวยาวและมีขนาดค่อนข้างใหญ่ พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนและมีจุดบนลำตัวจำนวนมาก พบเฉพาะในลำธารและแม่น้ำสายสั้นๆ ในจังหวัดระนองเท่านั้น

ปลากระทิงลายดอกไม้ – Mastacembelus sp.flower

13. ปลากระทิงจุดขาว – Mastacembelus alboguttatus

ปลากระทิงจุดขาว หรือ ปลากระทิงจุด มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร มีลายเป็นจุดทั้งสีดำและสีขาวกระจายอยู่ทั่วตัว เป็นปลากระทิงเพียงชนิดเดียวที่มีแผ่นหางกลมและแยกออกมาจากครีบหลังและครีบก้น ด้วยเหตุนี้มันจึงมีลักษณะของปลาหลด ในประเทศไทย พบในแม่น้ำสาละวิน ชอบอาศัยอยู่ตามเศษซากวัสดุใต้น้ำ บริเวณอ่าวหรือที่ๆ น้ำไหลไม่แรงมากนัก

ปลากระทิงจุดขาว – Mastacembelus alboguttatus / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

14. ปลากระทิงลายตรง – Mastacembelus sp.strait line

ปลากระทิงลายตรง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร จัดเป็นปลากระทิงขนาดเล็ก มีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ลายบนลำตัวจะออกสีดำและเป็นแนวนอนค่อนข้างตรง ในประเทศไทยพบที่ภาคใต้ ชอบอาศัยในลำธารและแม่น้ำสายสั้นๆ

ปลากระทิงลายตรง – Mastacembelus sp.strait line

15. ปลากระทิงลายภูเขา – Mastacembelus armatus

ปลากระทิงลายภูเขา มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับปลากระทิงลาย แต่ลำตัวจะเพรียวยาวกว่า ลายที่อยู่บนลำตัวจะเป็นเส้นแนวนอนสีดำจางๆ บนพื้นลำตัวสีน้ำตาลออนจนถึงเหลือง มีส่วนหางที่แคบ ในประเทศไทย พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำโขง แม่กลอง สาละวิน ชอบอาศัยอยู่ในลำธารที่น้ำไหลค่อนข้างแรง โดยเฉพาะที่ๆ มีก้อนหินขนาดใหญ่หรือซอกหลืบที่ปลาสามารถหลบได้

ปลากระทิงลายภูเขา – Mastacembelus armatus

16. ปลากระทิงเพชรบุรี – Mastacembelus sp.Phetchaburi

ปลากระทิงเพชรบุรี เป็นปลาที่หาได้ยากและพบครั้งแรกในแม่น้ำเพชรบุรี โดยคุณพฤทธิ์ โพธิ์สิทธิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2561 คาดว่ายังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่แน่นอน เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเหลือง มีลายสีดำที่เป็นจุดใหญ่รูปร่างคล้ายสีเหลี่ยมผสมกับทรงกลม ซึ่งจะกระจายตลอดลำตัว และเป็นปลาที่หาได้ยาก

ปลากระทิงเพชรบุรี – Mastacembelus sp.Phetchaburi / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

แล้วก็เป็นอย่างที่เห็น ปลาหลดและปลากระทิงนั้นมีความคล้ายกัน ความต่างของพวกมัน นอกจากจะที่หางแล้วก็เป็นเรื่องของขนาดตัว ซึ่งปลาหลดยาวได้ถึง 40 เซนติเมตรก็เก่งแล้ว ในขณะที่ปลากระทิงตัวใหญ่ที่สุดอาจยาวได้ถึง 90 เซนติเมตร…ในเรื่องชนิดไหนอร่อยเนื้อเยอะ อันนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจ ใครเคยกินมาแล้วหลายชนิด ก็ลองบอกกันได้ในคอมเมนท์

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements