สมัยก่อนผมเคยไปตกเจ้ากะมงเนียล่ะ โดยไปที่กำพวน จังหวัดระนอง ไปมา 3 – 4 ครั้ง ปลาส่วนใหญ่ที่ตกได้ก็เป็นปลากะมงพร้าว แต่ตัวมันก็ไม่ใหญ่เท่าไร อย่างดีก็ 4 กิโล ใหญ่กว่านั้นเอาขึ้นมาไม่ได้ ในตอนนั้นอุปกรณ์ที่ผมใช้ก็ที่เอาไว้ตกชะโดนั้นล่ะ
วิธีตกตอนนั้นก็ให้เรือวิ่งลอยลำเรียบเกาะ โดยไม่ดับเครื่องนะ แล้วก็ตีเข้าเกาะ ตามโขดหิน ตอนนั้นผมก็ใช้เหยื่ออะไรก็ได้ ขอให้ตีวิ่งๆ ไกลๆ ลอยบ้าง จมบ้าง ถ้ามีตัวก็โดน จริงๆ เป็นปลาที่กินง่าย ว่ายน้ำเร็วมาก บางจังหวะเก็บสายไวๆ จะเอาเหยื่อขึ้นเรือ มันว่ายมาโฉบแล้วเผ่นแน่บไปก็มี ..ส่วนตัวใหญ่ๆ ไซต์ประตูในไทยมีนะครับ เห็นชอบไปตกกันที่ทับละมุง ..ส่วนตัวผม ตกไม่ไหวหลอก 555+
มาดูข้อมูลกะมงพร้าว
ปลากะมงพร้าว (Giant trevally) ชื่อวิทยาศาสตร์ Caranx ignobilis ปลาทะเลขนาดใหญ่ในวงษ์ปลาหางแข็ง มีส่วนหัวโค้งลาด ปากกว้าง ลำตัวแบนข้าง ครีบหางเว้าลึก ข้างลำตัวและโคนหางมีเส้นแข็งสีคล้ำ ลำตัวสีเทาเงินหรืออมเหลือง ครีบอกสีเหลือง ครีบหลังยาวและมีแต้มสีขาวที่ตอนปลาย ครีบอื่นสีคล้ำ ในปลาขนาดใหญ่อาจมีจุดประสีคล้ำที่ข้างลำตัว
ตอนที่มีขนาดเล็กจะอยู่รวมเป็นฝูง อาจรวมฝูงปะปนกับปลากะมงชนิดอื่น เช่น ปลากะมงตาโต หรือว่ายคู่กับปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลามวาฬ แต่เมื่อโตขึ้นจะแยกตัวอยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว หรือเป็นฝูงเล็กๆ แค่ 2 หรือ 3 ตัว
เป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร ไล่ล่าปลาขนาดเล็กทุกอย่างที่มันกินได้ หรือแม้แต่ปลากะมงด้วยกันก็กิน บ่อยครั้งที่พบเห็นออกล่าเหยื่อแถบน้ำตื้นด้านข้างของเกาะหรือใกล้หาดทรายมีรายงานว่าที่เกาะห่างไกลเคยไล่โฉบนกทะเลที่บริเวณผิวน้ำอีกด้วย
เป็นปลาที่แพร่กระจายไปในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ฮาวาย, ญี่ปุ่น, ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก จนถึงออสเตรเลีย ในน่านน้ำไทยสามารถพบได้ทั้ง 2 ฟากฝั่งทะเล จัดเป็นปลาที่พบได้บ่อย
1 ใน 3 ปลาเกมที่นิยมมากที่สุด
กะมงเป็นปลาขนาดใหญ่ที่นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา ถือเป็นปลาเกมที่เป็นปลาทะเล 1 ใน 3 ชนิดที่นิยมตกกัน โดยเฉพาะที่คิริบาสหรือหมู่เกาะเซเชลส์ มีชาวตะวันตกที่ชื่นชอบการตกปลายินดีที่จ่ายเงินหลักแสนต่อคน เพื่อที่ขึ้นเรือไปในทะเลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพียงเพื่อที่จะตกปลาชนิดนี้ โดยเมื่อตกได้ จะไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อปลา จะเพียงแค่ถ่ายรูปหรือบันทึกสถิติ จากนั้นจึงจะปล่อยลงทะเลไป
เคยมีรายงานว่าในหลายพื้นที่ได้พบปลากะมงพร้าวขนาดกลางหรือค่อนไปทางใหญ่ในแหล่งน้ำจืด เช่น ในเหมืองร้างแห่งหนึ่ง ในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และที่จังหวัดชุมพร สันนิษฐานว่าคงเป็นปลาที่ผลัดหลงมาจากเหตุการณ์สึนามิในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งปลามีน้ำหนักประมาณ 2-10 กิโลกรัม