สัตว์ป่าคุ้มครอง ‘ประเภทปลา’ 14 ชนิดที่คุณควรรู้จักกันเอาไว้

รู้หรือไม่ว่าในประเทศ มีสัตว์ที่อยู่ในรายชื่อ "สัตว์ป่าคุ้มครอง" มากกว่า 1,300 ชนิด ในนั้นมีปลาเพียงแค่ 14 ชนิดที่ได้รับการคุ้มครอง และนกคือสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองมากที่สุด ต่อไปเรามาทำความรู้จักปลา 14 ชนิดที่ว่านี้กัน

ชนิดที่ 1 – ปลาจาดถ้ำ (Poropuntius speleops)

Advertisements

ปลาจาดถ้ำ (Cave Poropuntius) เป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย ที่พบได้ในลำธารใต้ถ้ำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ปลาจาดถ้ำ (Cave Poropuntius) / Poropuntius speleops

โดยปลาจาดถ้ำจะแตกต่างจากปลาจาดที่อยู่ภายนอกมาก แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับปลาถ้ำชนิดอื่นๆ คือพวกมันไม่มีดวงตา ลำตัวมีชมพูหรือเผือก และถึงจะเป็นปลาจาด แต่พวกมันเกือบจะไม่มีเกล็ดเหลืออยู่เลย สำหรับขนาดของปลาชนิดนี้จะอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง

ชนิดที่ 2 – ปลาพลวงถ้ำ (Neolissochilus subterraneus)

ปลาพลวงถ้ำ เป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย ซึ่งพบได้แห่งเดียวในโลกคือ ที่ถ้ำพระวังแดง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก เป็นปลาที่มีรูปร่างคล้ายกับปลาพลวง (N. stracheyi) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่จะมีตาที่เล็กและมีหนังบางๆ คลุมอยู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่และยังบางกว่าปลาพลวง ลำตัวมีสีขาวซีดอมชมพู ในปลาขนาดเล็กจะตาโตกว่าและมีลำตัวสีเงินจาง

ปลาพลวงถ้ำ / Neolissochilus subterraneus

ปลาขนาดเล็กจะชอบหากินอยู่บริเวณปากถ้ำ ในขณะที่ปลาใหญ่จะเข้าไปลึกกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อกินอินทรียสารจากมูลค้างคาว เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นปลาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่อาจต้องโดยแย่งตำแหน่งไปโดยปลาถ้ำที่เพิ่งพบในถ้ำอุมลาดอว์ (Um Ladaw Cave) ประเทศอินเดีย เพราะตัวนั้นยาวมากกว่า 1 ฟุต … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง

ชนิดที่ 3 – ปลาผีเสื้อถ้ำ (Cryptotora thamicola)

ปลาผีเสื้อถ้ำ (Waterfall climbing cave fish) เป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในถ้ำบางแห่งในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นปลามีพฤติกรรมเกาะติดอยู่กับหิน บริเวณแก่งหรือน้ำตกที่ไหลแรง จนดูเหมือนมันจะชอบปีนกำแพง

ปลาผีเสื้อถ้ำ (Waterfall climbing cave fish) / Cryptotora thamicola
Advertisements

ปลาผีเสื้อถ้ำเป็นปลาขนาดเล็ก ที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร มันไม่มีดวงตา ลำตัวสีชมพูหรือขาวและมีครีบที่ใหญ่มาก จะอาศัยอยู่ในส่วนลึกของถ้ำ อย่างน้อย 500 เมตรจากทางเข้า ชอบอยู่ในบริเวณที่น้ำไหลแรง อาศัยกินจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ของถ้ำ … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง

ชนิดที่ 4 – ปลาค้อถ้ำ (Nemacheilus troglocataractus)

Advertisements

ปลาค้อถ้ำ หรือ ปลาค้อถ้ำวังบาดาล (Blind cave loach) เป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในลำธารภายในถ้ำวังบาดาล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เพียงแห่งเดียว พวกมันไม่มีดวงตาลำตัวไม่มีสี และยาวได้ประมาณ 7 เซนติเมตร … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต

ปลาค้อถ้ำ หรือ ปลาค้อถ้ำวังบาดาล (Blind cave loach) / Nemacheilus troglocataractus

ชนิดที่ 5 – ปลาค้อตาบอด (Schistura oedipus)

ปลาค้อตาบอด เป็นปลาน้ำจืดและเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร พบในระบบถ้ำในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นหนึ่งในปลาถ้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย

ปลาค้อตาบอด (Schistura oedipus) / cr.Nonn Panitvong
Advertisements

เป็นปลาที่ไม่มีดวงตาและไม่มีสี ชอบอาศัยอยู่ในลำธารถ้ำที่น้ำไหลเร็วมาก ซึ่งจะค่อยกินจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ เป็นปลาที่มีความไวต่อการรบกวนสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง

ชนิดที่ 6 – ปลาค้อจารุธานินธร์ (Schistura jaruthanini)

ปลาค้อจารุธานินธร์ เป็นปลาน้ำจืดที่มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบที่ถ้ำคลองงู อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นปลาที่ถูกพบโดยคุณกิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักสำรวจ นักกฎหมาย และนักเลี้ยงปลาสวยงามที่มีชื่อเสียงชาวไทย …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต

ปลาค้อจารุธานินธร์ / Schistura jaruthanini / cr.Nonn Panitvong

ชนิดที่ 7 – ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura spiesi)

Advertisements

ปลาค้อถ้ำพระวังแดง เป็นปลาน้ำจืดที่ยาวได้ประมาณ 13 เซนติเมตร ลักษณะลำตัวค่อนข้างป้อม สีเนื้ออมชมพูและเหลืองอ่อน มีดวงตาที่เล็กมากและมีปากที่หนา เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบในถ้ำพระวังแดง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจะอาศัยอยู่ในส่วนลึกของถ้ำ ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง

ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura spiesi) / cr.Nonn Panitvong

ชนิดที่ 8 – ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti)

ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Smart’s Blind Cave Loach) เป็นปลาน้ำจืดที่ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบในถ้ำพระไทรงาม อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ปลาค้อตาบอด / Schistura deansmarti / cr.Nonn Panitvong
Advertisements

ปลามีลักษณะคล้ายกับปลาค้อทั่วไป แต่จะมีลำตัวสีชมพูเทาๆ และดูโปร่งแสงจนเกือบจะเห็นอวัยวะภายใน มีปากที่เล็ก ปากบนและปากล่างจะมีหนวดอย่างละ 2 เส้น ตาเล็กมากและจมอยู่ภายในหัว ชอบอาศัยอยู่ตามซอกหิน ซึ่งจะคอยจับแพลงก์ตอนหรือปรสิตที่อยู่ในถ้ำกิน …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต

ชนิดที่ 9 – ปลาชะโอนถ้ำ (Pterocryptis buccata)

ปลาชะโอนถ้ำ (Cave sheatfish) เป็นปลาน้ำจืดที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย อาศัยอยู่ในถ้ำวังบาดาล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งลักษณะของปากถ้ำจะเป็นช่องเขาขนาดเล็กที่อยู่บนเขา และวนลึกลงไปจนถึงระดับน้ำด้านล่าง ซึ่งเป็นแอ่งน้ำขนาดเท่าสนามเทนนิส

ปลาชะโอนถ้ำ (Cave sheatfish) / Pterocryptis buccata

ปลาชะโอนถ้ำมีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวมีสีขาวเผือก ดวงตามีขนาดเล็กและเป็นสีแดง เป็นปลาที่หายากมาก ตามข้อมูล ในปี 2002 ได้มีคณะสำรวจชาวไทยเข้าไปสำรวจ และจับปลากลับมาได้ประมาณ 10 ตัว จากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบปลาชนิดนี้อีก แม้จะมีการสำรวจอีกหลายครั้งก็ตาม …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะข้อมูลไม่เพียงพอ

ชนิดที่ 10 – ปลาตะพัด หรือ ปลาอโรวาน่า (Scleropages formosus)

ปลาตะพัด หรือ ปลาอโรวาน่า (arowana) เป็นหนึ่งในปลาที่มีราคาแพงที่สุดในโลก จัดได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตชนิดหนึ่ง และเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ โดยเฉพาะตะพัดสายพันธุ์ไทยนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว

ปลาตะพัด หรือ ปลาอโรวาน่า (arowana) / Scleropages formosus

ในอดีตปลาชนิดนี้ อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีสภาพใสสะอาด มีนิสัยค่อนก้าวร้าว ขี้ตกใจ ยาวได้ประมาณ 90 เซนติเมตร พบได้ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และปลาในแต่ละแหล่งน้ำจะมีสีสันแตกต่างหลากหลายกันออกไป …แต่ในปัจจุบันพบพวกมันได้ในฟาร์มและในตู้ปลาทั่วโลก และสำหรับคนที่อยากรู้ว่าทำไมปลาชนิดนี้จึงแพงจัด

ชนิดที่ 11 – ปลาติดหิน หรือ ปลาค้างคาว (Oreoglanis siamensis)

ปลาติดหิน หรือ ปลาค้างคาว และชนิดที่เรารู้จักกันดีก็คือ ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Siamese freshwater batfish) เป็นปลาน้ำจืดเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ที่พบได้เฉพาะในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น และจะพบได้ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตรขึ้นไป

โดยปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาต้นแบบ ของปลาในสกุลปลาค้างคาว หรือ ปลาติดหิน ที่เรียกว่า Oreoglanis (/ออ-รี-โอ-แกลน-อิส/) โดยปลาในสกุลนี้ที่พบในไทยมีอย่างน้อย 8 ชนิด

ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Siamese freshwater batfish) / Oreoglanis siamensis

เป็นปลาความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปลาหนังชนิดอื่น ตรงที่ครีบหลังและครีบอกไม่มีก้านแข็ง ลำตัวเรียวยาวหัวและอกแบนราบ มีหนวด 4 คู่ ปากมีขนาดเล็กอยู่ด้านล่าง ครีบอกและริมฝีปากมีลักษณะคล้ายถ้วยดูด ใช้สำหรับดูดเกาะติดกับกรวดหินในน้ำ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ชนิดที่ 12 – ปลาเสือตอ หรือ ปลาเสือ (Datnioides pulcher)

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า ปลาเสือตอลายใหญ่ (Siamese tigerfish) ซึ่งเคยพบอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้สูญพันธุ์โดยสมบรูณ์แล้ว และไม่มีแม้แต่ในตู้ปลา ในตอนนี้ปลาเสือตอทั้งหมดที่เห็นในตลาดปลาสวยงาม เป็นปลาที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน …สรุปคือปลาเสือตอลายใหญ่ ไม่มีอีกแล้ว แต่หากต้องการเห็นชนิดอื่นสามารถไปหาดูได้ในตลาดปลาสวยงาม

ปลาเสือตอลายใหญ่ (Siamese tigerfish) / Datnioides pulcher

ชนิดที่ 13 – ปลาหมูอารีย์ (Ambastaia sidthimunki)

ปลาหมูอารีย์ เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีลักษณะแบนข้าง ลำตัวเรียวยาวเล็กน้อย มีสีเหลืองสด หลังและกลางลำตัวมีแถบสีดำพาด และมีบั้งสีดำพาดลงมาจากสันหลังถึงด้านท้อง มีหนวด 3 คู่ มีความยาวเต็มที่ไม่เกิน 10 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปยาวแค่ 3 เซนติเมตร

ปลาหมูอารีย์ / Ambastaia sidthimunki

ถูกพบที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรีจนถึงรอยต่อจังหวัดกาญจนบุรี โดยปลาหมูอารีย์เป็นปลาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปลาหมูชนิดที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด และมันก็เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน แต่โชคยังดีที่ในตอนนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว แน่นอนว่าพบพวกมันได้ในตลาดปลาสวยงาม

ชนิดที่ 14 – ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus)

ปลาฉลามวาฬ (whale shark) คือปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากปลาชนิดนี้จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว ยังเป็น 1 ใน 20 สัตว์ป่าสงวนของไทยอีกด้วย

ปลาฉลามวาฬ (whale shark) / Rhincodon typus

โดยปลาฉลามวาฬ เป็นปลาฉลามเคลื่อนที่ช้า ที่กินอาหารด้วยวิธีกรองกิน มันยาวได้ถึง 12.65 เมตร หนัก 21.5 ตัน ยังไม่มีรายงานการพบตัวที่ใหญ่กว่านี้ ในไทยพบได้บ่อยที่ เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , เกาะห้า จังหวัดกระบี่ และ หินแดง หินม่วง จังหวัดกระบี่ ซึ่งว่ากันว่ามีโอกาสเจอปลาชนิดนี้บ่อยที่สุดในโลก …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ถึงท้ายเรื่องแล้ว ขอสรุปเรื่องนี้เล็กน้อย … พอรู้ว่ามีปลาเพียง 14 ชนิด จากสัตว์ป่าคุ้มครองมากกว่า 1,300 ชนิด มันทำให้รู้สึกน้อยใจแทนปลาอยู่เหมือนกัน และปลาส่วนใหญ่ที่ได้รับการคุ้มครองจะอยู่ในถ้ำ หลายชนิดกลายเป็นปลาสวยงาม หลายชนิดเกือบจะสูญพันธุ์อยู่แล้ว สุดท้ายก็หวังว่า จะมีปลาอีกหลายชนิดที่จะได้รับการคุ้มครองเพิ่มเติม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements