ซาวลา ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย สัตว์ที่ไม่สามารถกักขังได้

หลายคนที่กดเข้ามาดู คงสงสัยกันว่ามันคือตัวอะไรหว่า แต่ก็ไม่แปลกหากจะไม่รู้จัก เพราะ "ซาวลา" เป็นหนึ่งในสัตว์ที่เหมือนไม่มีอยู่จริง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่หายากมากจนถึงยากมากที่สุด แต่ยังไงซะ! ข้อมูลที่เกี่ยวกับซาวลา ก็ยังมีมากกว่า "กระทิงวัว" หรือแม้แต่ "กูปรี" อยู่ดี เพราะอย่างน้อยก็ทิ้งถ่ายเอาไว้หลายภาพ โดยซาวลาจัดเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากที่สุดในโลก ...และนี่คือเรื่องราวของมัน

ซาวลา คืออะไร?

Advertisements

ซาวลา (Saola) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซูโดริกซ์ เนงตินเฮนซิส (Pseudoryx nghetinhensis) เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในสกุล และอยู่ในวงศ์เดียวกับวัวและควาย (Bovidae) โดยซาวลามีถิ่นกำเนิดในเทือกเขาอันนัม (Annamite Range) ซึ่งเป็นเทือกเขาในภูมิภาคอินโดจีน มีความยาวประมาณ 1,100 กิโลเมตร เป็นชายแดนตลอดแนวทิศตะวันตกของประเทศเวียดนามต่อกับลาวและทางตอนเหนือของกัมพูชา โดยซาวลาพบเป็นครั้งแรกในเขตเวียดนาม

เคยมีการอธิบายเอาไว้ในปี พ.ศ.2535 (1992) ต่อมามีรายงานการจับซาวลามาขังอีกหลายครั้ง แต่ก็ทำได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากซาวลาทั้งหมดที่ถูกขังจะตายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ …ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถกักขังได้ …และเพราะมันเป็นสัตว์ที่หายากมาก จึงไม่มีตัวอย่างที่มีชีวิตเพื่อให้หาวิธีขังที่เหมาะสม

การค้นพบซาวลา

รายงานการพบซาวลาครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535 (1992) โดย โดทูก (Do Tuoc) นักนิเวศวิทยา ป่าไม้ และเพื่อนร่วมงานของเขา มันเป็นวันที่ 21 พฤษภาคม ทีมงานได้ซื้อหัวกะโหลกที่มีเขาแหลมยาวแปลกๆ จากนายพรานท้องถิ่น หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็พบหัวกระโหลกที่คล้ายกันในเทือกเขาอันนัม

นักวิจัยไม่รอช้า พวกเขาวิเคราะห์จากกระโหลกที่พบ แล้วกำหนดให้อยู่ในวงศ์กระทิงและวัว (Bovidae) และเรียกมันว่า ซาวลา ส่วนเหตุที่เร่งตั้งชื่อก็เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า เซโร (Serow) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งประกาศการค้นพบไปเมื่อ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 (1993)

ลักษณะทางกายภาพของซาวลา

แม้ว่าซาวลาจะถูกจับมาขังอยู่หลายครั้ง แต่ก็มีภาพและคลิปของสัตว์ชนิดนี้น้อยมากๆ โดยลักษณะทางกายภาพของซาวลาได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2541 (1998) บางข้อมูลบอก พ.ศ. 2539 (1996) โดย วิลเลียม จี.โรบิโชด์ (William G. Robichaud) เขาได้บันทึกการวัดขนาดทางกายภาพของ ซาวลาที่ถูกเรียกว่า มาร์ธา (Martha) มันถูกขังเอาไว้ในประเทศลาว และมีชีวิตอยู่ได้ 15 วัน ก่อนที่จะตายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

Advertisements

มาร์ธา เป็นซาวลาตัวเมีย มีความสูง 84 เซนติเมตร ซึ่งเป็นการวัดจากเท้าถึงไหล่ ด้านหลังยกขึ้นเล็กน้อยซึ่งสูงกว่าความสูงของหัวไหล่ประมาณ 10 เซนติเมตร ความยาวบันทึกไว้ที่ 150 เซนติเมตร ซึ่งวัดจากศีรษะรวมลำตัว และมีหนัก 80 – 100 กิโลกรัม มีขนสีน้ำตาลช็อคโกแลต มีปื้นสีขาวบนใบหน้า ลำคอ และด้านข้างของลำคอ คอและท้องมีแถบสีดำ มีเขาคู่ยาวซึ่งตั้งตรงอยู่บนศีรษะ

นอกจากนี้ยังสังเกตุได้ว่า ซาวลามีขนที่ตรง นุ่มและบาง โดยขนยาว 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าผิดปกติสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ และยังมีหนังที่หนาถึง 2 มิลลิเมตร บางตำแหน่งหนา 5 มิลลิเมตร โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอยและที่ไหล่ด้านบนจะหนาเป็นพิเศษ เชื่อกันว่า เป็นการปรับตัวเพื่อป้องกันทั้งผู้ล่าและเขาของคู่แข่งในระหว่างการต่อสู้

ถิ่นอาศัยของซาวลา

Advertisements

ซาวลาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นหรือป่าผลัดใบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชอบอาศัยอยู่ตามหุบเขาริมแม่น้ำ ที่ผ่านมามีรายงานการพบเห็นตามหุบเขาแม่น้ำสูงชันที่ระดับความสูง 300 – 1,800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทั้งในเวียดนามและลาว ครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร ในเทือกเขาอันนัม และ อุทยานแห่งชาติหวูกว่าง

มีรายงานจากคนท้องถิ่นว่า ซาวลาออกหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่มีงานวิจัยระบุว่า ซาวลาตัวเมีย มักจะออกหากินในช่วงเวลากลางคืนมากกว่าตัวผู้ ส่วนอาหารของซาวลาในธรรมชาติคาดว่าจะเป็นพืช ส่วนตัวที่ถูกกักขังซึ่งเป็นตัวอย่างตัวเดียวกับที่ได้รับการบันทึกลักษณะทางกายภาพ จะกินพืชทุกชนิดและกินเกือบตลอดเวลา …น่าแปลกที่มันตายไปเฉยๆ หลังถูกกักขังได้ไม่นาน ทั้งๆ ที่กินอาหารได้ปกติ

สุดท้ายสถานะของซาวลาในตอนนี้ ถือว่าเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ไม่มีการพบเห็นมานานมากแล้ว เคยมีความพยายามโคลนนิ่งซาวลา โดยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements