ประวัติการพบ ‘กูปรี’ ฝูงสุดท้ายที่หายไปจากป่าไทยหรือจากโลก

กูปรี หรือ โคไพร เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าหลายๆ ชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยหรืออาจจากโลกใบนี้ มันเป็นสัตว์จำพวกกระทิงและวัวป่า หากเทียบกับวัวป่า มันจะใหญ่กว่าเล็กน้อยและกูปรีก็เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างที่สุด นั้นเพราะไม่มีใครเคยเห็นพวกมันในธรรมชาติมานานมากๆ แล้ว แม้แต่ในสวนสัตว์หรือในสภาพจองจำอื่นๆ ก็ไม่มีกูปรีเหลืออยู่แม้แต่ตัวเดียว ...และนี่คือเรื่องราวของกูปรี กับประวัติการพบในช่วงเวลาที่ผ่านมา

กูปรี หรือ โคไพร

กูปรี คืออะไร?

Advertisements

กูปรี หรือ โคไพร (Kouprey) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos sauveli (บอส ซาเวลี) อยู่ในวงศ์วัวและควาย เป็นสัตว์กีบคู่ ตัวโต โคนขาใหญ่ ปลายหางเป็นพู่ขน ตัวผู้ มีขนสีดำ สูงประมาณ 170 – 190 เซนติเมตร ลำตัวยาวประมาณ 210 – 220 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 700 – 900 กิโลกรัม

ตัวผู้จะมีเขาที่โค้งเป็นวงกว้าง แล้วตีวงโค้งไปข้างหน้า ปลายเขาแตกออกเป็นพู่คล้ายเส้นไม้กวาดแข็ง ขาทั้ง 4 ข้างมีถุงเท้าสีขาวเช่นเดียวกับกระทิง (B. gaurus) ที่พบในไทย ในตัวผู้ที่มีอายุมากจะมีเหนียงใต้คอยาวห้อยลงมาจนเกือบจะถึงดิน เชื่อกันว่าใช้ในการระบายความร้อน

ตัวเมียที่ตัวเล็กกว่า จะมีขนสีเทา มีเขาตีวงแคบแล้วม้วนขึ้นด้านบน ไม่มีพู่ที่ปลายเขา มีเขากลวงแบบแตรขนาดเท่ากัน โคนเขาใหญ่ ปลายเขาแหลม ไม่มีการแตกกิ่ง และยาวประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้ตัวอย่างที่อาจเป็นกูปรีที่ถูกกักขังตัวสุดของโลก อยู่ในสวนสัตว์ปารีสในปี พ.ศ. 2480 จากนั้นมันก็ตายลงในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพของกูปรี เพียงหนึ่งเดียว ในสวนสัตว์ปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2480

สำหรับถิ่นอาศัยเดิมของกูปรีจะอยู่ที่ กัมพูชา ลาว ภาคตะวันออกของไทยและเวียดนาม พวกมันเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ที่มีป่าไม้บางส่วน ชอบกินหญ้าเป็นหลัก คาดว่ากูปรีจะชอบรวมกันเป็นฝูงประมาณ 20 ตัว และมักจะมีผู้นำฝูงเป็นตัวเมียเพียงตัวเดียว และยังพบว่ากูปรีชอบอยู่ปะปนกับฝูงควายป่าหรือแม้แต่กับกระทิง …ปัจจุบันกูปรีอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

ประวัติการพบ ‘กูปรี’ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่เดิมเราเคยพบฝูงกูปรีได้ในพื้นที่แถบอีสานใต้ ซึ่งตามบันทึกของ นพ.บุญส่ง เลขะกุล ผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย ได้พบร่องรอยของกูปรี แถบเทือกเขาพนมดงรักชายแดนประเทศไทย – กัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. 2488 จากนั้นก็มีรายงานการพบที่ป่าดงอีจาน อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2492 ….หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบอีกเลย

จนเวลาผ่านไป 20 กว่าปี ในช่วงปี พ.ศ 2517 ได้มีรายงานการพบฝูงกูปรีเข้ามาหากินบริเวณป่าชายแดน จ.สุรินทร์ ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงฤดูฝน จนในปี พ.ศ. 2518 มีรายการพบฝูงกูปรีบริเวณชายแดน จ.ศรีสะเกษ จํานวน 20 ตัว ซึ่งในตอนนั้น กรมป่าไม้ทราบก็ข่าวนี้เช่นกัน แต่ถึงอย่างงั้นก็ไม่มีการยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้

จนในปี พ.ศ. 2525 มีข่าวการพบฝูงกูปรี จํานวน 5 ตัว ซึ่งเป็นการยืนยันจากพรานท้องถิ่น เขาบรรยายลักษณะรูปร่างได้ถูกต้อง ตรงกับลักษณะของกูปรี โดยพรานท้องถิ่นแจ้งว่าพบเห็นในบริเวณป่า “นาจราง” อ.ขุขันธ์ ชายแดน จ.ศรีสะเกษ …แต่ก็ไม่มีใครพบเห็นฝูงกูปรีอยู่แถวนั้น

แล้วก็ผ่านมาอีก 20 กว่าปี ก็ไม่มีรายงานเกี่ยวกับกูปรีในไทยอีกเลย จนในปี พ.ศ. 2549 ในช่วงที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ออกลาดตะเวนบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ใกล้รอยต่อประเทศกัมพูชา และ ส.ป.ป.ลาว พวกเขาได้พบกับสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายกระทิง จำนวน 3 ตัว มันมีรูปร่างแปลกและสูงใหญ่กว่ากระทิง

แต่เพราะรายงานของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกูปรีจริงหรือไม่ เนื่องจากกูปรีเองก็มีความคล้ายกระทิงและวัวแดง และจากการที่ นพ.บุญส่ง พบว่าสัตว์พวกนี้ชอบอยู่ปนกับฝูงวัวแดงอีกด้วย

อะไรที่ทำให้กูปรีหายไปอย่างรวดเร็ว?

ในปี พ.ศ. 2491 เคยประมาณกันว่า มีกูปรีหลงเหลืออยู่บนโลกประมาณ 2,000 ตัว มากกว่า 800 ตัว อยู่ในกัมพูชา แต่ในช่วงสงครามเวียดนามที่ลุกลามไปทั่วอินโดจีน จนทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชา

ซึ่งเป็นช่วงปี พ.ศ 2518 – 2522 กูปรีและสัตว์ป่าอีกหลายชนิดถูกล่าอย่างหนัก ทั้งเพื่อความสนุก และเพื่อนำเนื้อมาประกอบอาหาร รวมถึงขายเขากูปรีเป็นสินค้า และในตอนนั้นก็มีกับระเบิดติดตั้งอยู่ในป่ามากมาย และสัตว์ป่าก็ตายเพราะสิ่งนี้เป็นจำนวนมาก

ไม่มีการรายงานการพบกูปรีมานานมากแล้ว จนครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ปัจจุบันเชื่อว่าอาจจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ในชายแดนไทยและกัมพูชาแถบจังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงบริเวณชายแดนระหว่างลาวตอนใต้และเวียดนามด้วย เพราะมักจะมีข่าวว่าพบสัตว์ลักษณะคล้ายกูปรีอยู่บ่อยๆ แต่ถึงอย่างงั้นมันก็เป็นเพียงคำเล่าลือเท่านั้น ….สุดท้ายก็หวังว่าพวกมันจะยังคงมีชีวิตอยู่ในป่าลึกที่ไหนสักแห่ง

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements