R.i.P Granddad fish ปลาตัวนี้เป็น “ปลาปอด” ที่ชื่อว่า Granddad fish มันเป็นหนึ่งในปลาโบราณที่มีอายุมากกว่า 400 ล้านปี และเจ้า Granddad ตัวนี้ก็มีอายุมากกว่า 90 ปีแล้ว มันถูกนำมาอยู่ใน เชดด์ อควาเรียม เมืองชิคาโก้ สหรัฐฯ ทำการุณยฆาต “คุณปู่” ปลาปอดอายุมากกว่า 90 ปี เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยจากอายุที่มากเกินไป ..โดย Granddad เป็นปลาปอดจากประเทศออสเตรีย
ปลาปอดออสเตรเลีย
ปลาปอดออสเตรเลีย หรือ ปลาปอดควีนส์แลนด์ (อังกฤษ: Australian lungfish, Queensland lungfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Neoceratodus forsteri) เป็นปลากระดูกแข็งในชั้นปลาปอด (Dipnoi) ที่อยู่ในวงศ์ Ceratodontidae และในอันดับ Ceratodontiformes เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ยังคงสืบสายพันธุ์มาจนถึงยุคปัจจุบันนี้
ซึ่งปลาปอดที่อยู่ในวงศ์นี้และอันดับนี้ มีความแตกต่างไปจากปลาปอดชนิดที่พบในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ที่อยู่ในอันดับ Lepidosireniformes พอสมควร เนื่องจากมีลักษณะใกล้เคียงกับปลาปอดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 100 ล้านปีก่อน มากกว่า ซึ่งในอดีตมีปลาปอดที่อยู่ในวงศ์นี้มากถึง 7 ชนิด
แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ซึ่งปลาปอดออสเตรเลียมีความแตกต่างจากปลาปอดในอันดับ Lepidosireniformes กล่าวคือ มีครีบอกและครีบบริเวณท้อง มีรูปทรงคล้ายใบพาย มีถุงลมที่ใช้ช่วยในว่ายน้ำและพยุงตัว 1 ถุง ซึ่งถุงลมนี้มีความสามารถที่จะแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับออกซิเจนได้ แต่ไม่มีความสามารถที่จะสร้างเมือกมาปกคลุมลำตัวเพื่อช่วยในการจำศีลในฤดูแล้งได้ และอวัยวะที่ช่วยในการหายใจที่ทำหน้าที่คล้ายกับปอดของสัตว์บกก็มีเพียงชิ้นเดียว
อีกทั้งยังมีรูปร่างที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ มีดวงตาที่กลมโตเห็นได้ชัดเจน เกล็ดมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน เป็นแบบ Cosmoid คือ เกล็ดลื่น ลักษณะเรียบ และมีขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ปรากฏแล้วในปลาชนิดอื่นในปัจจุบัน
ปลาปอดออสเตรเลีย ไม่สามารถที่อาศัยอยู่ใต้น้ำได้เป็นระยะเวลานานเท่าปลาปอดจำพวกอื่น โดยจะขึ้นมาฮุบอากาศหายใจเป็นระยะ ๆ ในช่วงฤดูแล้งที่แหล่งน้ำที่อาศัยแห้งขอด ปลาปอดออสเตรเลียจะอยู่นิ่ง ๆ ขึ้นมาฮุบอากาศหายใจเพียงครั้งละ 1-2 ครั้งต่อชั่วโมงเท่านั้น
พบกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นพื้นที่ ๆ มีคุณภาพน้ำในเกณฑ์ดี มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูง สภาพกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ พบในรัฐควีนส์แลนด์และนิวเซาท์เวลส์ในประเทศออสเตรเลียเพียงที่เดียวในโลกเท่านั้น กินอาหารจำพวกกบ, ลูกอ๊อด, ปลา, กุ้ง, ไส้เดือน, หอย, พืชน้ำ รวมถึงผลไม้ที่ตกลงมาจากต้นด้วย
อีกทั้งยังสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าแบบอ่อน ๆ เพื่อค้นหาอาหารที่ซุกซ่อนอยู่ตามซอกหินได้อีกด้วย ขนาดลำตัวเมื่อโตเต็มที่ยาวได้มากกว่า 1.2 เมตร น้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม และเชื่อว่ามีอายุได้มากกว่า 70 ปี
สถานะปัจจุบันของปลาปอดออสเตรเลีย นับว่าใกล้สูญพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติมากแล้ว ได้รับการอนุรักษ์ตามกฎหมายของออสเตรเลีย อีกทั้งยังบมีชื่อติดอยู่ในบัญชีรายชื่อหมายเลข 2 (Appendix II) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ที่จะมีการค้าขายหรือครอบครองต้องได้รับการอนุญาตจากทางการเสียก่อน โดยได้รับการขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1975
แต่ปัจจุบัน ได้มีการเพาะขยายพันธุ์ปลาปอดออสเตรเลียในบ่อเพาะเลี้ยงได้แล้ว ทำให้ปลาปอดออสเตรเลียกลายเป็นปลาสวยงามอีกชนิดหนึ่งของผู้ที่ชื่นชอบการเลี้ยงปลาตู้ แต่ทว่ามีราคาซื้อขายที่แพงมาก อีกทั้งลูกปลาเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ได้ระยะหนึ่ง จะทำการฝังชิพเพื่อระบุถึงตัวปลาด้วย
และเมื่อมีการซื้อขายกันก็ต้องมีหนังสืออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปลาปอดออสเตรเลียมีนิสัยไม่ดุร้ายก้าวร้าวเหมือนเช่นปลาปอดที่พบในทวีปแอฟริกา ซึ่งผู้เลี้ยงสามารถให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ โดยลูกปลาปอดออสเตรเลียที่เกิดใหม่จะไม่มีพู่เหงือกพิเศษเหมือนปลาปอดจำพวกอื่น และมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมากในขวบปีแรก จากนั้นจะค่อย ๆ โตช้าลง
อ่านเรื่อง : พบปลาปอด ชนิดใหม่ของโลก จากแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย กาฬสินธุ์