พอยท์นีโม คืออะไร?
ชื่อของ “Point Nemo” ไม่ได้มาจากปลานีโมแต่อย่างใด แต่มาจากกัปตันนีโม (Captain Nemo) ตัวละครในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (20,000 Leagues Under the Sea)
นอกจากนี้คำว่า “Nemo” ในภาษาละตินแปลว่า “ไม่มีผู้ใด” …แม้แต่การค้นพบพอยท์นีโม ในปี พ.ศ. 2535 ก็เป็นการใช้คอมพิเตอร์ ซึ่งเป็น ฮโวเย ลูคาเตลา (Hrvoje Lukatela) วิศวกรสำรวจชาวโครเอเชีย-แคนาดา เขาได้สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณหาพิกัดที่แน่นอนของจุดที่ไกลที่สุดจากแผ่นดิน
จนสุดท้ายก็ได้พิกัดของพอยท์นีโม (45°52’36.0″S 123°23’36.0″W) จึงเป็นไปได้ว่าในตอนนั้นอาจยังไม่เคยมีมนุษย์คนใดที่ไปถึงบริเวณนั้นเลย และแม้จะเป็นตอนนี้ก็อาจมีนักท่องเที่ยวเพียงหยิบมือที่ไปถึง
พอยท์นีโม มีความลึกอยู่ที่ประมาณ 4,000 เมตร โดยเรือลำแรกที่แล่นไปถึงพอยท์นีโม คือเรือวิจัยของสเปนที่ชื่อว่าเฮสเปอริเดส (Hespérides) ในปี พ.ศ. 2542 …ซึ่งเป็น 7 ปี หลังจากระบุพิกัดได้
แผ่นดินที่อยู่ใกล้พอยท์นีโมที่สุด ก็คือเกาะดูซี (Ducie Island) ซึ่งห่างไปทางเหนือ 2,688 กิโลเมตร แต่เกาะแห่งนี้ไม่มีคนอยู่อาศัย แผ่นดินที่มีคนอยู่อาศัยที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไป 3,090 กิโลเมตร ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครอยู่รอบๆ พอยท์นีโม ในพื้นที่ 22 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 40 เท่า
พอยท์นีโม ถูกใช้เป็นจุดทิ้งขยะอวกาศ
หากมองผิวเผิน พอยท์นีโมก็เหมือนเป็นเพียงแค่ทะเลที่ไม่มีอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วที่แห่งนี้มีความสำคัญ เพราะสถานที่อันห่างไกลและไร้ผู้คนแห่งนี้ถูกใช้เป็น “สุสานยานอวกาศ”
เนื่องจากยานอวกาศส่วนใหญ่ เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก มันจะต้องพังทลาย และเมื่อมันตกกระแทกพื้น เศษซากจะกระจายไปไกลหลายกิโลเมตร นักวิจัยจึงต้องเลือกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อไม่ให้เศษของยานส่งผลกระทบต่อมนุษย์ พอยท์นีโมจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะอยู่ห่างไกลมนุษย์ที่สุดแล้ว ปริมาณสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นก็ยังน้อยอีกด้วย
ปัจจุบันมียานอวกาศ สถานีอวกาศ และดาวเทียมที่ปลดประจำการ ตกสู่พื้นโลกในบริเวณนี้ มากกว่า 263 ลำ รวมถึงสถานีอวกาศนานาชาติ ISS (International Space Station: ISS) ที่มีน้ำหนักมากถึง 420 ตัน ซึ่งเป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังลอยอยู่บนอวกาศ ในตอนนี้ถูกวางแผนให้ตกลงบริเวณพอยท์นีโมเมื่อครบอายุการใช้งานในปี พ.ศ.2574
แม้พอยท์นีโมจะห่างไกลอารยธรรมมนุษย์มาก แต่ก็ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวที่กล้าเดินทางไปแถวนั้น แต่มันก็ไม่ง่าย เพราะมันจะเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและดูไม่คุ้มค่าเมื่อคิดว่าไปตั้งไกลเพื่อดูทะเลที่ไม่มีอะไรเลย
การเดินทางมาที่แห่งนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นคณะสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ที่ศึกษากระแสน้ำในมหาสมุทร และชีวพลศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพอยท์นีโม
เขตมหาสมุทรที่เหมือนตายแล้ว
พอยท์นีโม อยู่ตรงกลางของ South Pacific Gyre ซึ่งเป็นระบบหมุนเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรขนาดใหญ่ ของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ที่จะหมุนรอบจุดศูนย์กลางในมหาสมุทร และเพราะพอยท์นีโมอยู่ห่างจากแผ่นดินมากๆ น้ำทะเลแถวนั้นจึงแทบไม่มีฝุ่นละอองหรือการไหลของอะไรก็ตามจากแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้น้ำจึงมีสารอาหารที่ต่ำมากๆ
เพราะมีสารอาหารต่ำ พื้นที่อันกว้างใหญ่ของพอยท์นีโม จึงเป็นดังทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในมหาสมุทร ไม่มีปลาฉลาม ไม่มีปลาขนาดใหญ่ ปลาขนาดทั่วไปก็เกือบจะไม่มี แพลงก์ตอนพืช สาหร่ายขนาดเล็กที่อยู่ด้านล่างสุดของห่วงโซ่อาหารในทะเล จะพบได้ที่ระดับความลึกมากกว่าหนึ่งร้อยเมตรเท่านั้น
แต่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลและไม่มีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ในทะเล แต่ South Pacific Gyre ก็มีแบคทีเรียและจุลินทรีย์อื่นๆ จำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อวัฏจักรชีวธรณีเคมีทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบปูขนาดเล็กใกล้กับปากปล่องภูเขาไฟ บนพื้นทะเลใกล้กับพอยต์นีโมอีกด้วย
หากจะมีสิ่งใดที่พอยน์นีโมไม่ขาดแคลน สิ่งนั้นก็คือน้ำ ส่วนสิ่งที่มีมากเป็นอันดับสองน่าจะเป็นพลาสติก เนื่องจากพบอนุภาคไมโครพลาสติก มากถึง 26 อนุภาคต่อลูกบาศก์เมตร ในตัวอย่างน้ำทะเลที่เก็บได้ในบริเวณพอยต์นีโม นี่แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นดินแดนที่ห่างไกลอารยธรรมมนุษย์มากที่สุดในโลก มลพิษก็ยังเข้าถึงได้ แต่หากเทียบกับทะเลเขตอื่นก็ยังถือว่าน้อยมาก เพราะทะเลจีนใต้ซึ่งมีอนุภาคพลาสติกประมาณ 350 อนุภาคต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ถือว่าเยอะจริงๆ ..จบ!