อะไรคือปลาช่อนแม่ลา?
คำนิยามของปลาช่อนแม่ลา (Pla Chon Mae La) หมายถึงปลาช่อนที่ได้จากลำน้ำแม่ลา หรือบริเวณที่กำหนด เป็นปลาช่อนที่มีลักษณะหัวหลิมหรือหัวเล็กกว่าลำตัว ลำตัวอ้วนกลม เกล็ดนิ่ม มีสีขาวปนเทา ไม่มีลายพาดเฉียง ท้องป่องมีสีขาวมันวาว ครีบมีสีส้ม ชมพูหรือแดง หางมนคล้ายรูปใบโพธิ์หรือตาลปัตร
สำหรับเนื้อปลาช่อนแม่ลาจะมีไขมันแทรกมากกว่าปลาช่อนทั่วไป และเป็นปลาที่นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นปลาช่อนสด ปลาช่อนตัดแต่ง และปลาช่อนแดดเดียว ที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี … ซึ่งโดยปกติผู้เพาะเลี้ยงในท้องถิ่นก็จะบอกกันประมาณนี้
แต่แท้จริงแล้วปลาช่อนแม่ลาคือ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” มันไม่ใช่ปลาช่อนชนิดใหม่ อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ความจริงหากมองในมุมมองทางวิทยาศาสตร์และทางอนุกรมวิธาน “ปลาช่อนแม่ลา” ยังคงใช้ชื่อเดียวกับ “ปลาช่อนธรรมดา” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ Channa striata (ชานนา สไตรอาตา) ชื่อสามัญอังกฤษว่า Striped snakehead (สไทรพฺ สเนคเฮด) เพียงแต่ทั้งสองถูกอธิบายไว้ต่างกัน ซึ่งก็คล้ายๆ กับกรณีที่ปลาสวาย กับ ปลาสวายเนื้อขาว ที่คุยว่าต่างกัน แต่ถึงอย่างงั้นมันก็เป็นชนิดเดียวกันอยู่ดี
สำหรับคำนิยามและลักษณะที่พูดไปก่อนหน้านี้แสดงอยู่ใน ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปลาช่อนแม่ลา ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560
แหล่งเพาะพันธุ์ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของปลาช่อนแม่ลา
ตามบันทึกระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ปลาช่อนแม่ลา ต้อง!! มีการเพาะเลี้ยงและเติบโตในลำน้ำแม่ลา ลำการ้อง และพื้นที่โดยรอบจากลำน้ำแม่ลาระยะห่างไม่เกิน 4 กิโลเมตร ดังนี้
- อำเภออินทร์บุรี ได้แก่ ตำบลทับยา ตำบลน้ำตาล ตำบลประศุก ตำบลห้วยชัน ตำบลอินทร์บุรี
- อำเภอบางระจัน ได้แก่ ตำบลสระแจง ตำบลแม่ลา ตำบลสิงห์ ตำบลโพชนไก่ ตำบลไม้ดัด
- อำเภอเมือง ได้แก่ ตำบลจักรสีห์ ตำบลต้นโพธิ์ ตำบลบางกระบือ ตำบลบางพุทธา ตำบลบางมัญ ตำบลโพกรวม
- อำเภคค่ายบางระจัน ได้แก่ ตำบลท่าข้าม ตำบลโพสังโฆ
แต่! ในตอนนี้ ปลาช่อนแม่ลาส่วนใหญ่จะได้จากการเพาะเลี้ยง รวมทั้งการขยายพันธุ์ด้วยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ให้ได้ลักษณะตรงตามที่ระบุ แน่นอนว่ามีการเลี้ยงไว้ในบ่อดิน และปกติจะจับขายเมื่ออายุได้ 5 เดือน หรือเมื่อมีน้ำหนักประมาณ 700 กรัมต่อตัว
แล้วสรุปว่าเป็นปลาคนละชนิดหรือไม่?
สำหรับคำตอบเรื่องนี้ ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ หากใครไม่เห็นด้วยก็สามารถคอมเมนท์แสดงความคิดเห็นกันได้ แต่ห้ามดุด่ากันนะครับ ขอแบบมีเหตุผล….เรื่องที่ว่าปลาช่อนแม่ลากับปลาช่อนนาต่างชนิดกันหรือไม่?
จากมุมมองของผมในฐานะที่ไม่ใช่คนเลี้ยงปลาช่อน แต่ก็ค่อนข้างจะเห็นหน้ามันบ่อย เพราะเป็นปลาที่ผมตกได้บ่อยที่สุด ผมว่าเรื่องที่ปลาช่อนแม่ลา มีครีบมีสีส้ม ชมพูหรือแดง ปลาช่อนที่อื่นผมก็เคยเจอบ่อยอยู่ แต่ผมคิดว่าแหล่งน้ำอาหารมีผลทำให้ลักษณะหรือเนื้อปลาต่างออกไป และหากถามว่าปลาช่อนแม่ลามีครีบสีส้มชมพูทุกตัวหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ทุกตัว
และผมเองเคยดูอยู่คลิปนึง พอจะสรุปได้ว่า ถ้าคุณเลี้ยงปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นจังหวัดสิงห์บุรี แต่เมื่อถามกลับไปว่าถ้าเอาปลาช่อนในบ่อนี้ไปเลี้ยงจังหวัดอื่น มันจะเป็นปลาช่อนแม่ลาหรือไม่? …คำตอบคือ มันก็ไม่ใช่ปลาช่อนแม่ลา เพราะปลาช่อนแม่ลาแท้ต้องเลี้ยงในพื้นที่ๆ กำหนดไว้เท่านั้น
ซึ่งตรงนี้ก็สมเหตุสมผล เพราะจากประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ชี้ชัดแล้วว่าต้องเลี้ยงในตำบลอะไรจึงจะใช้ชื่อปลาช่อนแม่ลาได้ หากเลี้ยงที่อื่นแล้วใช้ชื่อนี้ ก็คือว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ถ้าให้พูดถึงตามวิทยาศาสตร์และทางอนุกรมวิธาน ยังไงมันก็เป็นชนิดเดียวกันอยู่ดี เพราะยังไม่มีการอธิบายใหม่เกี่ยวกับปลาช่อนแม่ลา แม้จะมีการอธิบายลักษณะที่ต่างกันเล็กน้อยก็ตาม เพราะสิ่งนี้อาจเกิดจากวิธีเลี้ยงและแหล่งอาศัย …แต่อนาคตอาจมีการอธิบายใหม่ เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่เคยมีมาก็เป็นได้
ตำนานความอร่อยของปลาช่อนแม่ลา
ตำนานของปลาช่อนแม่ลา เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสต้นและประทับแรมที่เมืองอินทร์ ตามบันทึกการเสด็จฯ พระองค์ทรงประทับแรมที่วัดประศุก ปลาช่อนแม่ลาก็เป็นหนึ่งในพระยาหาร เมื่อพระองค์เสวยแล้วทรงตรัสว่า “ปลาของลำน้ำแม่ลามีรสชาติดีกว่าที่อื่น”
ว่ากันว่าสาเหตุของความอร่อยที่แตกต่างจากที่อื่นนั้นเพราะลำน้ำแม่ลา อยู่ตรงกลางระหว่างแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา และชาวบ้านแทบทุกบ้าน เลี้ยงเป็ด ไก่ วัว ควาย ช่วงฤดูน้ำหลาก ก็ชะล้างมูลสัตว์ และน้ำจากทั้งสองแม่น้ำ ไหลแม่ยังลำแม่ลาก่อให้เกิดแร่ธาตุ และความอุดมสมบูรณ์ที่หลากหลาย