ความตายของอินทรีหัวขาว
ในปี 1994 มนุษย์อย่างเราเริ่มรับรู้ถึงความตายของ “อินทรีหัวขาว” เป็นจำนวนมากในรัฐอาร์คันซอ พวกเขาพบกว่าก่อนที่นกจะตาย มันจะสูญเสียทักษะการนำทาง บินชนต้นไม้ ไม่สามารถบินได้ จนในที่สุดก็ตาย
เมื่อนักวิทยาศาสตร์นำศพของนกมาตรวจสอบ พวกเขาพบว่าสมองของพวกมันมีรอยโรคและรูที่ชัดเจนอยู่ภายใน มันดูเหมือนสมองจะถูกกิน และเมื่อพิจารณาดูก็พบว่าความเจ็บป่วยของอินทรีหัวขาวมันคล้ายกับนกน้ำ ที่มักจะแสดงอาการคล้ายคลึงกันก่อนตาย อาการนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Avian vacuolar myelinopathy (AVM)
แม้ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์สงสัยว่า AVM ติดเชื้อในทางใดทางหนึ่งมาจากพืชน้ำ แต่ผู้กระทำผิดที่แน่นอนยังคงไม่ทราบมานานหลายปี ระหว่างนั้นมีการระบาดของ AVM เพิ่มขึ้นทั่วภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ใกล้กับทะเลสาบและแหล่งน้ำจืดอื่นๆ
จนในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างการแพร่กระจายของพืชน้ำที่รุกรานชื่อ Hydrilla verticillata (สาหร่ายหางกระรอก) และ AVM
จนในปี 2015 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียได้ให้หลักฐานว่า “ไซยาโนแบคทีเรีย” บางชนิดเป็นแบคทีเรียที่สังเคราะห์แสง ซึ่งเติบโตในพืชชนิดนี้ มีส่วนรับผิดชอบต่อ AVM พวกเขาตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า Aetokthonos hydrillicola ซึ่งแปลจากภาษากรีกและลาตินว่า “นักฆ่านกอินทรีที่อาศัยอยู่บนไฮดริลลา”
“Hydrilla verticillata เข้ามาในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1960 พวกมันเติบโตอย่างรวดเร็ว จนส่งผลเสียต่อการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากขัดขวางเส้นทางน้ำ รวมทั้งคุณภาพน้ำก็แย่ลง จนในปี 1994 เพียงปีเดียว มีอินทรีหัวขาวตายอย่างน้อย 100 ตัว และเป็นที่มาของการวิจัยหาต้นตอที่แท้จริง”
ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) เรียกอีกอย่างว่าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน มักเป็นอันตรายต่อสัตว์ รวมทั้งคน เนื่องจากสารพิษที่พวกมันผลิตได้ แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียและที่อื่นๆ พยายามที่จะศึกษา Hydrilla verticillata โดยแยกพวกมันออกจากกัน (แยกเอาไซยาโนแบคทีเรียออกจากสาหร่าย)
“ผลที่ได้กลับทำให้งุนงงขึ้นไปอีก เพราะแบคทีเรียที่เติบโตในห้องทดลองกลับไม่เป็นอันตรายต่อนก ดูเหมือนแบคทีเรียจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อเติบโตบนสหร่ายเท่านั้น”
ในการศึกษาใหม่ของปี 2021 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากเยอรมนีและสาธารณรัฐเช็กเพื่อไขปริศนา AVM โดยงานของพวกเขาระบุว่าตัวอย่าง A. hydrillicola ผลิตสารพิษที่ทำให้เกิด AVM ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ใกล้ โบรไมด์ (bromide) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีประจุลบ
เมื่อพวกเขาค้นพบความเชื่อมโยงนี้ ในที่สุดนักวิจัยก็สามารถกระตุ้นสารพิษนี้จากตัวอย่างที่เพาะในห้องปฏิบัติการของพวกเขาได้ และยังพบว่ามันสามารถฆ่านกได้แบบเดียวกับที่ AVM ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของแบคทีเรียยังเผยให้เห็นส่วนเล็กๆ ของ DNA ที่ทำให้มันสร้างสารพิษได้ จนในที่สุดพวกเขาตั้งชื่อการค้นพบใหม่ว่า Aetokthonotoxin (AETX) ซึ่งแปลว่า “พิษที่ฆ่านกอินทรี”
แม้ตอนนี้พวกเขาจะรู้แล้วว่า AVM เกิดจากสาหร่ายหางกระรอก (Hydrilla verticillata) ที่อยู่ในธรรมชาติเท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรที่กระตุ้นพวกมันในธรรมชาติ และทำไม AVM จึงเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องค้นหากันต่อไป