ปลาหยก คือปลาอะไรกันแน่ ปลาที่ประมงประกาศห้ามเลี้ยงแต่ซีพีเลี้ยง

เมื่อหลายปีก่อน มีปลาที่ชื่อว่า "ปลาเก๋าหยก" เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แน่นอนว่าชื่อปลาเก๋าหยก ไม่ใช่ชื่อที่แท้จริงของปลาชนิดนี้ แต่มันเป็นชื่อที่ซีพีเจ้าเก่าเป็นผู้ตั้งให้ ความจริงปลาชนิดนี้มีชื่อว่า บาโคกรันซ์เตอร์ (Barcoo grunter) หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า เจดเพิร์ช (Jade perch) แน่นอนว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปลาเก๋าเลย แล้วในปี 2023 มันก็กลายเป็นปลาหยก โดยเอาคำว่าเก๋าออกไป ...เดี๋ยวมาดูเรื่องของปลาชนิดนี้กัน

หนึ่งใน 13 ปลาห้ามเลี้ยงที่กรมประมงเพิ่งประกาศ

Advertisements

เรื่องเริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2018 กรมประมงประกาศห้ามเลี้ยงปลาหมอ 3 ชนิด นั้นคือ ปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ ต่อมาในปี 2021 กรมประมงได้ออกประกาศปลาห้ามเลี้ยงเพิ่มเติมอีกเป็น 13 ชนิด โดยให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นที่หายาก หรือป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ และหนึ่งในปลาที่ห้ามเลี้ยงก็คือ “ปลาเก๋าหยก” นั้นเอง …อ่านเรื่องปลา 13 ชนิดห้ามเลี้ยง

แล้วปลาหยกคืออะไร?

ปลาหยก มีชื่อเดิมว่า “ปลาเก๋าหยก” ซึ่งถูกใช้ในการทำตลาดเมื่อนานมาแล้ว และก็เป็นชื่อที่ทางกรมประมงใช้ประกาศห้ามเลี้ยงด้วย ต่อมาในปีนี้ซีพีก็เอาคำว่า “เก๋า” ออกไป อาจเพราะปลาเก๋าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปลาชนิดนี้เลยก็เป็นได้ จนสุดท้ายมันก็เลยกลายเป็น “ปลาหยก” อย่างที่เห็น

โดยปลาหยกเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ก่อนหน้านั้นก็ไม่รู้ว่าซีพีคิดอะไร ถึงได้ตั้งชื่อว่า “ปลาเก๋าหยก” ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกัน หน้าตาก็ไม่เหมือน เนื้อยิ่งไม่ใช่ผมว่ามันคล้ายปลาหมอผสมกระพงมากกว่า …แต่ก็ดีแล้วที่เหลือแค่ปลาหยก

จริงๆ แล้วปลาชนิดนี้มีชื่อเดิมว่า บาโคกรันซ์เตอร์ (Barcoo grunter) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สกอร์ตัมบาโค (Scortum barcoo) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อแม่น้ำบาโค (Barcoo River) ที่อยู่ทางตะวันตกของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และบางทีปลาชนิดนี้ก็ถูกเรียกอีกชื่อว่า ปลาเจดเพิร์ช (Jade perch) และก็ตามสไตล์ไทย ชื่อเดิมไม่น่ากิน ก็เลยเปลี่ยนชื่อให้เป็นปลาเก๋าหยก ก่อนที่จะเหลือแต่ “ปลาหยก” ในเวลาต่อมา

ในสมัยก่อนโน่น มันไม่ได้เป็นปลาที่ดีสำหรับการเลี้ยงในฟาร์ม จนในช่วงศตวรรษที่ 20 มันก็กลายเป็นปลาน้ำจืดหายากในออสเตรเลีย ต่อมาในปี 2001 ได้มีการนำปลาชนิดนี้เข้าสู่ประเทศจีน หลังจากทำการวิจัยในจีนอยู่หลายปี ในที่สุดนักวิจัยของจีน ในสถาบันวิจัยประมงแม่น้ำแยงซี ก็สามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้สำเร็จ หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นปลาที่ถูกเลี้ยงในหลายภูมิภาค โดยในตอนนั้นจะเลี้ยงในบ่อปูน กระชัง และบ่อดิน

ปลาเก๋าหยกเป็นปลาที่มีรูปร่างหนาโค้งมน มีหัวขนาดเล็ก หัวและหลังโค้ง ท้องมีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนกลม มีเกล็ดค่อนข้างละเอียด ครีบหางสั้นและเว้าเล็กน้อย ทั้งสองด้านหรือด้านใดด้านหนึ่งจะมีจุดรูปวงรีสีดำ 1 – 2 จุด หรืออาจมากกว่านั้น

สำหรับอาหารที่ปลาชนิดนี้กินได้คือ …กินเกือบทุกอย่าง กินไม่เลือก ในธรรมชาติพวกมันกินแพลงก์ตอนได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรติเฟอร์ (Rotifer) คลาโดเซอแรน (Cladocera) โคพีพอด (Copepods ) หรือจะเป็นสาหร่าย (algae) มันก็กินได้ นอกจากนี้ยังกินปลาและกุ้งขนาดเล็กได้ หนอนน้ำ ไส้เดือน ขนมปัง เหยื่อสด อะไรมันก็กิน ยิ่งเป็นปลาที่เกิดในฟาร์มยิ่งกินง่ายเข้าไปใหญ่

อุณหภูมิน้ำที่ปลาชนิดอยู่ได้คือ 13 – 38 องศาเซลเซียส และเติบโตได้ดีสุดคือ 21 – 25 องศาเซลเซียส ช่วง pH ที่เหมาะสมคือ 7.0 – 8.5 แต่จะอยู่ได้ตั้งแต่ 5.5 – 8.5 และยังสามารถทนความเค็มได้ถึง 16

โดยปลาหยกจัดเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาข้างตะเภา (Terapontidae) ซึ่งก็ถือว่าเป็นญาติพี่น้องกับปลากระพง โดยปลาในวงศ์นี้จะประกอบไปด้วย 15 สกุล และตัวที่เราน่าจะรู้จักกันดีก็คงจะเป็น ปลาข้างตะเภาลายโค้ง (Terapon jarbua) ที่ในวงการปลาสวยงามจะเรียกว่า “ปลามงกุฎ”

ปลาข้างตะเภาลายโค้ง (Terapon jarbua)

ตามข้อมูลระบุว่า เนื้อของปลาหยกค่อนข้างแน่นและเป็นขุยเล็กน้อย มีรสหวาน มีก้างค่อนข้างน้อย แถมจากการศึกษาที่จัดทำโดย องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งความมั่งคั่งร่วมกันของออสเตรเลีย (CSIRO) ในปี 1998 ระบุว่า ในบรรดาอาหารทะเล 200 สายพันธุ์ที่ทดสอบ ปลาเก๋าหยกมีโอเมก้า 3 ในระดับสูงสุด …ซึ่งดูดีมากทีเดียว

นอกจากนี้ มันยังเป็นปลาที่เติบโตได้เร็ว ในภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนถึงเขตร้อนปานกลาง ภายใต้เงื่อนไขการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พวกมันจะสามารถเติบโตจนพร้อมขายได้ภายใน 6-10 เดือน จริงๆ แล้วปลาชนิดนี้ เมื่อเกิดมามันก็พร้อมผสมพันธุ์ได้ภายในปีเดียวกันเลย ..เรียกว่าโตได้เร็วมาก

เอาล่ะขอสรุปเลยก็แล้วกับ เพราะปลาชนิดนี้มีข้อมูลค่อนข้างน้อย …โดยเริ่มแรกปลาหยก ถูกนำเข้ามาโดยซีพีเจ้าเก่า และไม่รู้เหมือนกันว่าจริงๆ แล้วนำเข้ามาจากประเทศอะไร แล้วก็เอามาทำตลาดในไทย โดยแรกเริ่มก็ใช้ชื่อปลาเก๋าหยก และขายในราคาค่อนข้างแพง แพงกว่าปลาแซลมอนเลยด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังเริ่มเงียบเหงา แล้วมันก็เงียบหายไม่ทำตลาดมากนัก

จนในปี 2021 กรมประมงได้ออกมาประกาศว่า “ปลาเก๋าหยก” ห้ามเลี้ยงกันนะทุกคน! พร้อมกับปลาชนิดอื่นๆ อีกสิบกว่าชนิด แต่ก็รู้กันอยู่ว่าซีพียังคงเลี้ยงได้ หรือซีพีอาจจะเลี้ยงที่ต่างประเทศ? อันนี้ผมก็ยังไม่ทราบ และตอนนี้ได้เอาชื่อ “เก๋า” ออกไป หรืออาจลืมเอามาใส่ก็ไม่รู้ได้ จากนั้นก็เริ่มนำกลับมาทำตลาดอีกครั้งในปี 2023 …จบ

ถ้าขี้เกรียจอ่าน กดดูคลิปได้ …ถ้าชอบอย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่งกันนะครับ

สนใจปลาคาร์ป ปลาทอง ปลาสวยงาม คลิ๊ก https://koi360.com/

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements