คำถาม? ‘ปลาชะโด’ เป็นปลาที่ควรกำจัดออกจากแหล่งน้ำไทยหรือไม่?

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปลาชะโดคือหนึ่งในปลาน้ำจืดกินเนื้อที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก มันไม่ใช่แค่ตัวใหญ่ เขี้ยวแหลมหรือดุร้าย แต่ชะโดมีพลังในการเอาชีวิตรอดที่สูงมาก ความจริงในเรื่องความถึกทนลูกเยอะ ปลาชะโดเกือบจะเทียบได้กับปลาช่อนนาเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เลยมีคนถามผมว่า ปลาชะโดเนียจำเป็นต่อระบบนิเวศของไทยเปล่า? เพราะดูทรงแล้ว ในตอนนี้ในหลายแหล่งน้ำ ที่ไหนมีชะโดเยอะ ปลาขนาดเล็กหลายชนิดก็จะหลายหัวไปเลย ...วันนี้ผมเลยมาขอพูดถึงเรื่องนี้ให้ฟังก็แล้วกัน ...และคำตอบของเรื่องนี้ เกิดจากมุมมองของผมเท่านั้นนะ

ปลาชะโดคืออะไร?

Advertisements

มารู้จักปลาชะโดกันเล็กน้อย ปลาชะโด (Giant Snakehead) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa micropeltes อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ มันยาวได้ถึง 1 เมตร หรืออาจถึง 1.5 เมตร

มีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว พื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว มีลายประสีดำกระจายทั่วตัว ภายในปากมีฟันแหลมคม เมื่อยังเป็นปลาขนาดเล็กจะมีสีลำตัวเป็นสีน้ำตาลและมีแถบสีดำ, ส้ม และเหลืองพาดตามความยาวลำตัว 2 แถบ บริเวณหางสีแดงสด เมื่อเริ่มโตขึ้นสีและลายจะเริ่มจางหายไป กลายเป็นสีเขียวอมน้ำตาลคล้ายสีของเปลือกหอยแมลงภู่แทน

ปลาชะโด Giant Snakehead / Channa micropeltes

และการที่สีของปลาเปลี่ยนไปตามวัยและถิ่นอาศัยนี้ ปลาชะโดจึงมีชื่อเรียกต่างออกไปที่หลากหลาย เมื่อยังเป็นลูกปลาที่รวมเป็นฝูงจะถูกเรียกว่า “ลูกครอก” หากโตมาหน่อยและเพิ่งแยกออกจากฝูงจะเรียก “ชะโดป๊อก” เมื่อโตเต็มที่แล้วสีสดจะถูกเรียกว่า “แมลงภู่” ซึ่งเป็นไปตามสีของลำตัว หากสีดำจะเรียกว่า “ชะโดถ่าน”

นอกจากจะเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ ยังมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในวงศ์ปลาช่อนอีกด้วย และยังมีอุปนิสัยดุร้ายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูผสมพันธุ์ ปลาตัวผู้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลไข่และตัวอ่อน จะกัดและทำร้ายสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาใกล้รัง ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์ จึงมักมีผู้ถูกปลาชะโดอยู่กัดบ่อยๆ ในช่วงเวลานี้

และเพราะปลาชะโดเป็นปลากินเนื้อ มันอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เมื่อโตเต็มวัย มันจะกินปลาชนิดอื่นเป็นอาหาร บางทีก็กัดและกินเพียงครึ่ง และหากถามว่า มันจำเป็นต่อระบบนิเวศของไทยหรือไม่? มันก็ต้องจำเป็นอยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยปลาชะโดจะกินปลาขนาดกลาง ช่วยป้องกันไม่ให้ปลาพวกนี้มีมากเกินไป จนไปส่งผลกระทบต่อปลาขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นฐานของระบบนิเวศ …แต่ถึงอย่างงั้น หากชะโดมีมากเกินไป ก็ไม่ดีเช่นกัน

แล้วเราควรพยายามกำจัดปลาชะโด จากแหล่งน้ำไทยหรือไม่?

คำตอบของคำถามนี้ สำหรับผมคือ “ไม่จำเป็นต้องพยายาม” เหตุผลแรกคือ ปลาชะโดคือปลาท้องถิ่นไทย เหตุผลที่สองคือ คนไทยก็กินปลาชะโด เหตุผลที่สามคือ ปลาชะโด ไม่ได้มีมากมายอย่างที่คิด

ในฐานะที่ผมบ้าตกปลา ต้องบอกว่า! ผมตกปลาชะโดไม่ค่อยจะได้ หลายคนอาจคิดว่าปลาชะโดอยู่ในน้ำจืดได้ทุกที่ แต่คุณคิดผิด! มันยากที่คุณจะได้เจอปลาชะโดในแม่น้ำอย่างเจ้าพระยาโดยเฉพาะในบริเวณน้ำแรง คุณจะเจอน้อยในลำธารน้ำไหล แหล่งน้ำที่ตื่นจนเกินไปก็อาจจะได้เจอชะโดตัวเปี๊ยกๆ …คุณจะเจอปลาชะโดมากในเขื่อน ในบ่อ หนองน้ำ คลองที่น้ำไหลไม่แรง …นี่แสดงให้เห็นว่าปลาชะโดไม่ได้มีอยู่ในทุกแหล่งน้ำ

แต่ปลาชะโดจะมีเยอะมากๆ หากเป็นแหล่งน้ำที่ปิดที่ไม่อนุญาติให้จับปลา หรือก็คือหากเป็นแหล่งน้ำเปิดที่ไม่มีกฎห้ามจับปลา ปลาชะโดไม่ได้มีเยอะเลย เพราะมันจะถูกจับอยู่ตลอดเวลา ความจริงปลาชะโดถูกตั้งค่าหัวตั้งแต่เป็นลูกครอกแล้ว ลูกปลาชะโดจะถูกช้อนไปขายให้กับฟาร์มเลี้ยงชะโดปีละนับล้านตัว

คุณต้องไม่ลืมว่าสำหรับปลาชะโดแล้ว หากมีพ่อแม่ชะโดในแหล่งน้ำที่ห้ามจับปลา เพียง 2 คู่ โดยที่ภายในบ่อมีปลาเล็กปลาน้อยอยู่มากมาย พวกมันสามารถเพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อยที่สุด 100 คู่ ภายในเวลาเพียง 1 – 2 ปี และหากคุณปิดบ่อเป็นเวลา 5 ปี นั้นหมายความว่า จะมีปลาชะโดนับพันคู่อยู่ในนั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเหยื่อที่มีในบ่อ และด้วยเหตุนี้ ปลาเล็กปลาน้อยก็จะไม่เหลือ …และมันก็ได้สร้างความแค้นให้กับเจ้าของบ่อเป็นอย่างมาก

ในทางกลับกัน หากเป็นแหล่งน้ำที่เปิดให้จับปลา คงต้องบอกว่า ปลาชะโดจะไม่มีเต็มบ่อแน่นอน แต่! หากเปิดให้จับโดยไม่มีกฎอะไร และด้วยลักษณะนิสัยของคนไทยบางกลุ่ม หรือคนจากประเทศเพื่อนบ้าน หากมีเวลามากพอพวกเขาสามารถจับปลาในบ่อจนเหลือแต่แพลงตอนพืชได้ …ซึ่งเจ้าของบ่อไม่แฮปปี้แน่นอน

และหลายอาจคิดว่า การกำจัดปลาชะโดออกจากบ่อนั้นยาก แต่! ความจริงแล้ว วิธีกำจัดปลาชะโดนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่คุณอัญเชิญคนที่ตกปลาชะโดเป็น มาหลายคนหน่อย คนพวกนี้มีวิธีจับให้ได้เฉพาะปลาชะโด แถมยังยินดีมาจับปลาชะโดให้คุณฟรี ดีไม่ดีคุณเก็บเงินค่าตกยังยอม รับประกันว่าปลาชะโดในบ่อจะหายไปภายในไม่กี่วัน …วิธีนี้สะอาด ประหยัดปลอดภัย …ส่วนวิธีอัญเชิญก็แค่ไปประกาศในเฟสบุคกลุ่มตกปลา โดยกำหนดเฉพาะตกด้วยวิธีตีเหยื่อปลอมเท่านั้น เท่านี้คุณก็จะได้แรงงานมากำจัดปลาชะโดแบบฟรีๆ แล้ว

สรุปคือ … ปลาชะโดไม่ใช่ปลาที่ควรกำจัดจากแหล่งน้ำไทย แต่ก็ไม่ใช่ปลาที่ต้องอนุรักษ์เช่นกัน เพราะปลาพวกนี้ขยายพันธุ์ง่าย เยอะและยังเกือบจะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ พวกมันจึงพร้อมที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่ในแหล่งน้ำเปิดปลาพวกนี้อาจถูกจับตั้งแต่เป็นลูกครอก ส่วนในแหล่งน้ำปิดที่ห้ามจับปลา แล้วมาบ่นว่าชะโดเยอะกินปลาจนหมด นี่ถือเป็นปัญหาของคนห้ามที่ไม่รู้วิธีแก้ไขมากกว่า …. คิดเห็นกันยังไงก็คอมเมนท์กันนะครับ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements