เมื่อเกิดฟ้าผ่าลงดินหรือทราย มันจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ฟูลกูไรต์ (Fulgurites)” มันเป็นผลึกที่หายาก ที่บางทีถึงขนาดเรียก “ซากดึกดำบรรพ์” มันเป็นผลมาจากการฟาดฟันด้วยพลังงานมหาศาลที่ทำให้ดินกลายเป็นหิน โดยฟูลกูไรต์บางทีจะประกอบด้วยแร่หลากหลายชนิด
แต่ใช่ว่าฟ้าผ่าลงดินหรือทรายแล้วจะเกิดฟูลกูไรต์ มันมีเงื่อนไขอยู่ว่า สายฟ้าต้องมีอุณหภูมิอย่างน้อย 1,800 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งความจริงไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เพราะสายฟ้าทั่วไปสามารถทำให้อากาศรอบๆ ร้อนกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์ถึงห้าเท่า
ฟูลกูไรต์ 5 ประเภท
ตัวอย่างฟูลกูไรต์ที่เกิดจากฟ้าผ่าลงบนพื้น จะที่มีองค์ประกอบเป็นซิลิกา ซึ่งแหล่งข้อมูลหลายแหล่งจะนับเอาฟูลกูไรต์เป็นชนิดของแร่ Lechatelierite ซึ่งเป็นแร่ซิลิกาที่เกิดในสภาวะอุณหภูมิสูงและไม่มีรูปผลึก แต่ในหลายกรณี สายฟ้าก็อาจไปผ่าในบริเวณที่ไม่มีซิลิกาได้เช่นกัน
ซึ่งจากการศึกษาในปี 2012 โดย แมทธิว ปาเซค (Matthew Pasek) นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น ฟลอริดา ได้แบ่งประเภทเอาไว้ 5 ประเภท
- ชนิดที่ 1 : ฟูลกูไรต์ที่เกิดจากทรายที่มีโครงสร้างที่ผิวเป็นตุ่ม แกนกลางของมัน ส่วนใหญ่จะกลวง
- ชนิดที่ 2 : ฟูลกูไรต์แบบดิน เป็นเนื้อแก้วที่เกิดจากซิลิกาที่เต็มไปด้วยรูปแบบที่หลากหลายภายในเนื้อ ตามลักษณะของดินในแต่ละพื้นที่ เช่น ดินที่เต็มไปด้วยกรวด ดินที่มีโคลนตม ฯลฯ จึงทำให้รูปร่างของฟูลกูไรต์ผิดปกติ ที่อาจทำให้เกิดการรวมของโครงสร้างที่แตกต่างกันของวัสดุในเนื้อดิน
- ชนิดที่ 3 : แคลซิคฟูลกูไรต์ เป็นฟูลกูไรต์ชนิดที่มักไม่ได้ประกอบด้วยแร่เลอชาเตอลิเออไรต์ มักมีผิวละเอียดและมันเงาแบบแก้วจากองค์ประกอบของแคลไซต์และตะกอนที่อยู่ร่วมกัน รูปร่างของประเภทนี้มักจะมีรูแคบๆหลายจุดร่วมกันมาที่รูตรงแกนกลาง และรูปลักษณ์อาจไม่คงที่ ขึ้นกับลักษณะพื้นที่ที่ฟ้าผ่าลงมา
- ชนิดที่ 4 : ฟูลกูไรต์ชนิดหิน มีลักษณะเป็นเหมือนเปลือกเป็นเนื้อหินที่เปลี่ยนแปลงจากสายฟ้าและเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์น้อย แต่จะมีเครือข่ายของอุโมงค์ภายในเนื้อหิน(มักจะเคลือบผิวในอุโมงค์ด้วยองค์ประกอบของซิลิกา หรือแร่โลหะออกไซด์) โดยลักษณะของประเภทนี้จะเคลือบด้วยเศษหินหรือเศษตะกอนน้อยมาก
- ชนิดที่ 5 : ฟูลกูไรต์แบบหยดน้ำ(Droplet Fulgurites) ซึ่งแสดงรูปลักษณ์ที่เกิดจากการดีดออกมาจากแรงของสายฟ้า เช่น ทรงกลม, หยดกระเซ็น รวมถึงจานบิน
สุดท้าย แม้ฟูลกูไรต์จะมีชื่อเท่ๆ ว่า “ผลึกสายฟ้า” แต่มันไม่ได้มีพลังพิเศษอะไร โดยประโยชน์หลักๆ ของฟูลกูไรต์ดูเหมือนจะมี 2 อย่างคือ หนึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของสภาวะแวดล้อมทางอากาศของพื้นที่ ใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความถี่ของฟ้าผ่าในพื้นที่นั้นๆ และสองเป็นตัวบอกถึงลักษณะของพื้นที่และข้อมูลทางธรณีวิทยา