ชนิดที่ 1 – ชานนา ราคินิกา (Channa rakhinica)
เป็นปลาช่อนที่ยาวประมาณ 11 เซนติเมตร อยู่ในกลุ่มปลาก้างหรือปลากั้ง (Channa gachua) ตามรายงานระบุว่า สามารถแยกออกจากปลากั้งชนิดอื่นๆ จากรูปแบบของสี รวมถึงแก้มที่ออกสีแดง มีแถบครีบอกสีน้ำตาลแดง ครีบหลังใหญ่มีรอยด้างสีดำกระจายอยู่ทั่วไป และมีจุดดำขนาดใหญ่ที่ท้ายครีบ ส่วนปลายสีส้มและสีขาว
และความจริงปลาชนิดนี้ มีการซื้อขายกันอยู่ในตลาดปลาสวยงามของพม่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยบางทีก็ถูกเข้าใจว่าเป็นปลาช่อนพัลชรา (Channa Pulchra) หรือบางทีก็ถูกเรียกว่ารัฐยะไข่ โยมา (Rakhine Yoma) ซึ่งเป็นชื่อถิ่นกำเนิดของปลาช่อนชนิดนี้
ชนิดที่ 2 – ชานนา รูโบรา (Channa rubora)
เป็นปลาช่อนที่ยาวได้ประมาณ 9 เซนติเมตร อยู่ในกลุ่มเดียวกับปลากั้ง มีความแตกต่างจากปลาในกลุ่มเดียวกันตรงที่ มีจุดสีดำจำนวนมากอยู่บนศีรษะและลำตัว โดยจุดจะมีขนาดเล็ก มีครีบหลังออกฟ้าใส ที่ปลายสีส้มชัดเจน ครีบออกฐานสีฟ้า ครีบหางสีเดียวกับพื้นลำตัว มีจุดสีฟ้าอ่อนและปลายเป็นสีส้มชัดเจน นอกจากนี้ บริเวณดวงตาจะมีสีส้มเปอะอยู่
เช่นเดียวกับ ชานนา ราคินิกา ปลาช่อนชนิดนี้ พบขายอยู่ในตลาดปลาสวยงามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และถูกเรียกว่า Channa sp. red fin
ชนิดที่ 3 – ชานนา ค็อกซี่เนีย (Channa coccinea)
เป็นปลาที่ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร อยู่ในกลุ่มปลากั้ง เมื่อเทียบกับปลาที่คล้ายกันแล้ว พบว่าปลาชนิดนี้มีลายเส้นเฉียงสีแดงส้ม ซึ่งคล้ายกับปลาช่อนพม่า (Channa burmanica) ที่พบในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน แต่ปลาช่อนพม่าจะออกส้มที่สดกว่า
สำหรับปลาชนิดนี้ พบว่ามีการซื้อขายในตลาดปลาสวยงามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ในชื่อ Channa sp. ignis
ชนิดที่ 4 – ชานนา ไพโรธาลมัส (Channa pyrophthalmus)
เป็นปลาที่ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร เป็นปลาอยู่ในกลุ่มปลากั้งและดูเหมือนปลากั้งที่พบในไทยมากที่สุด เป็นปลาที่มีลวดลายและสีบริเวณหัวเป็นสีส้มน้ำตาล บริเวณขอบดวงตามีสีส้ม ครีบออกสีส้มอ่อน ครีบหลังฐานออกสีฟ้าขอบดำปลายส้มและขอบขาว
สำหรับ ชานนา ไพโรธาลมัส ถูกพบว่ามีขายอยู่ในตลาดปลาสวยงามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยใช้ชื่อ Channa sp. ice & fire ต่อมาด้วยเพราะมีลักษณะที่แตกต่าง จึงมีการศึกษาเพิ่มเติม จนได้รับการประกาศว่าเป็นปลาช่อนชนิดใหม่ พร้อมๆ กับชนิดอื่นอีก 3 ชนิด!