36 อันดับปลาช่อน หายากที่สุดในโลก

หลังจากจัดอันดับปลาในไทยไปแล้ว 2 - 3 รายการ รอบนี้ขอจับเอาปลาช่อนมาจัดบ้าง แต่ไม่เอาแค่ที่พบในไทย เพราะปลาช่อนไทยมีแค่ 8 ชนิดเอง เลยขอจัดปลาช่อนในสกุลชานทั้งโลกไปเลย แล้วก็เป็นอย่างที่เห็น ปลาช่อนในสกุลนี้เท่าที่สามารถยืนยันได้ในตอนนี้ ก็มีมากถึง 36 ชนิด ..ต่อไปเรามาดู อันดับ ปลาช่อน 36 ชนิดที่หายากที่สุดในโลกกันเลยดีกว่า

อันดับที่ 36.ปลาช่อน (Channa striata)

Advertisements

ปลาช่อน หรือ ปลาช่อนนา คือปลาช่อนที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก เรื่องราวความน่ากลัวของปลาช่อนตายยากและเดินไปตามพื้นได้ ทั้งหมดเริ่มต้นจากปลาช่อนชนิดนี้ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ปากกว้างฟันแหลม ลำตัวสีคล้ำ มีลายเส้นทแยงสีคล้ำจางๆ ตลอดลำตัว 6-7 เส้น ส่วนท้องมีสีขาว

ปลาช่อน
ปลาช่อน (Channa striata)

ในธรรมชาติสามารถพบปลาช่อนชนิดนี้ได้ทั่วประเทศไทย ต่างประเทศพบใน เอเชียใต้, พม่า และ อินโดนีเซีย และอาจพบได้อีกหลายประเทศในฐานะสัตว์ต่างถิ่น จัดเป็นปลาที่อดทนมากๆ พบในน้ำจืดแทบทุกแหล่งน้ำ แม้แต่น้ำกร่อยก็อาจเจอได้ มีชีวิตอยู่ได้นานมากแม้จะมีน้ำเพียงเล็กน้อย อยู่ได้นานนับเดือนหากมีน้ำถึงครึ่งตัวปลา สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

อันดับที่ 35.ปลาช่อนเหนือ (Channa Argus)

ปลาช่อนเหนือ (Northern Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดใหญ่ที่ยาวได้ถึง 90 เซนติเมตร มีนิสัยดุร้าย กินอาหารไม่เลือก ปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี เป็นปลาที่พบกระจายพันธุ์ในซีกโลกเหนือ และเอเชียตะวันออก เช่นใน รัสเซีย, คาบสมุทรเกาหลี จีน และ ญุีปุ่น ปัจจุบันพบได้มากมายในรัฐฟลอริดา สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาช่อนเหนือ (Channa Argus)

อันดับที่ 34.ปลาช่อนมาคูลาต้า (Channa maculata)

ปลาช่อนมาคูลาต้า (Blotched snakehead) จัดเป็นปลาช่อนขนาดกลาง ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร มีรูปร่างและลายคล้ายปลาช่อนเหนือ ที่มีขนาดใหญ่และก้าวร้าวกว่า แต่จุดแตกต่างคือมาคูลาต้าจะมีทรงที่ป้อมกว่าและลายจะสว่างกว่า ปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาถิ่นของประเทศจีน แต่ก็พบได้ในเกาหลี เวียดนาม ไต้หวัน จัดเป็นสัตว์รุกรานที่พบได้มากในอเมริกา สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาช่อนมาคูลาต้า (Channa maculata)
Advertisements

อันดับที่ 33.ปลาช่อนด่าง (Channa punctata)

Advertisements

ปลาช่อนด่าง (Spotted Snakehead) ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ทนทาน อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่หลากหลาย เช่น หนองน้ำ สระน้ำ คลอง และในน้ำกร่อยก็อยู่ได้อย่างสบาย

ปลาช่อนด่าง (Channa punctata)

เป็นปลาช่อนที่มีถิ่นอาศัยกว้างใหญ่มาก พบในอนุทวีปอินเดียและพื้นที่ใกล้เคียงตั้งแต่อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ พม่าและทิเบต เป็นปลาช่อนที่ค่อนโชคดี เนื่องจากถิ่นอาศัยส่วนใหญ่ห่างไกลความเจริญ ภัยคุกคามที่สำคัญต่อสายพันธุ์จึงน้อย แต่ก็ยากที่จะสำรวจ สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

อันดับที่ 32.ปลาชะโด (Channa micropeltes)

ปลาชะโด เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลปลาช่อน อาจยาวได้ถึง 150 เซนติเมตร ในไทยไม่นิยมนำมาประกอบอาหาร แต่เป็นที่นิยมในเกมกีฬาตกปลาเป็นอย่างมาก เป็นปลาที่มีชื่อเสียงมากในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นปลาที่ดุดันตกสนุก และเพราะความดุดัน ตัวใหญ่ สีสวย จึงทำให้ในบางประเทศนิยมนำปลาชะโดไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยข้อดีของปลาชะโดอย่างหนึ่งคือ พวกมันไม่ค่อยจะตีกันเอง แม้จะถูกเลี้ยงรวมกันหลายตัวก็ตาม

ปลาชะโด (Channa micropeltes)
Advertisements

ปลาชะโดเป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำเกือบทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ คลอง แม่น้ำ และยังพบได้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย, อินโดนีเชีย ตอนใต้ของจีน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นปลานักล่าที่อยู่ระดับบนของห่วงโซ่อาหาร เป็นปลาที่สามารถไล่ล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

อันดับที่ 31.ปลากะสง (Channa lucius)

ปลากระสง เมื่อเทียบกับปลาช่อนนาแล้ว ถือว่าพบได้ยากกว่ามาก และแม้จะบอกว่าพบเจอได้ทั่วไปในแหล่งน้ำของไทย แต่ก็ไม่ใช่ปลาที่พบได้ง่ายๆ ปลากระสง จะยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ในปลาขนาดใหญ่จะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลและลายสีดำ หรือ สีน้ำตาลเทาทั่วตัว ที่ข้างแก้มมีแต้มสีคล้ำใหญ่ดูคล้ายดวงตา มีแถบสีคล้ำตามแนวยาว พาดตั้งแต่หน้าลูกตาไปถึงกลางลำตัวบนตัวมีลายประดำด่าง

ปลากะสง (Channa lucius)

เป็นปลาที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ใน กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร ชอบอยู่บริเวณน้ำนิ่ง มักจะปะปนอยู่กับปลาช่อนชนิดอื่น และเพราะเป็นปลาที่มีลายสวยแบบดิบๆ จึงถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอีกด้วย สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

อันดับที่ 30.ปลากั้งอินเดีย (Channa Gachua)

Advertisements

ปลากั้งอินเดีย มีรูปร่างและขนาดคล้ายกับปลากั้งบ้านเรา และมักเอาข้อมูลไปรวมกันเป็นปลาชนิดเดียวกันด้วย แต่ปลากั้งอินเดีย จะมีลำตัวที่ป้อมสั้นกว่า มีจำนวนเกล็ดที่ใต้ขากรรไกรล่างทั้งสองข้างเกล็ดเดียว มีขอบใต้ดวงตาสีแดง สีสันบนลำตัวนั้นมีหลากหลายเช่นเดียวกับปลากั้ง พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยพบที่อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ไปจนถึงตอนใต้ของประเทศจีน สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลากั้งอินเดีย (Channa Gachua)

อันดับที่ 29.ปลากั้ง (Channa limbata)

ปลากั้ง หรือ ปลาก้าง จัดเป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย สมัยก่อนปลากั้งเป็นปลาที่ขึ้นชื่อในเรื่องความหาง่าย พบได้ทั่วประเทศและในแหล่งน้ำแทบทุกแห่ง เป็นปลาที่ตะกละมากๆ หากคุณโยนเหยื่อลงไป ปลากั้งจะเป็นปลาตัวแรกที่เข้ามากินเหยื่อ

ปลากั้ง (Channa limbata)
Advertisements

แต่มาถึงยุคนี้ ปลากั้งถือเป็นปลาที่หายากขึ้น ซึ่งจะพบได้เฉพาะในแหล่งน้ำที่สะอาด ซึ่งปกติจะเจอในป่า หรือ ใกล้ป่า แอ้งน้ำ ลำธาร แม่น้ำสาขาย่อยขนาดเล็ก หรือบริเวณที่น้ำสะอาดรอบๆ ภูเขา เป็นปลาช่อนเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถอยู่บริเวณแก่งน้ำที่มีกระแสน้ำแรงจัดได้ สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

อันดับที่ 28.ปลาช่อนงูเห่า (Channa aurolineata)

ปลาช่อนงูเห่า เป็นปลาที่มีลักษณะต่างกันตามแหล่งอาศัย และยังมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยในแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ในช่วงแรกๆ จะให้ปลาช่อนงูเห่าที่พบในไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชานนา มารูเลียส (Channa marulius) และยังรวมเอา ปลาก๊วน หรือ ปลาช่อนงูเห่าแม่น้ำโขง และ ปลาช่อนงูเห่าอินเดียเข้าไปด้วย

แต่หากอ้างอิงจากข้อมูลในหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ด.ร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้ให้ปลาช่อนงูเห่าที่พบใน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่กลอง สาละวิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชานนา ออโรไลน์อตา (Channa aurolineata) ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นชนิดเดียวกับที่รุกรานอยู่ในฟลอริดา …ด้วยเหตุนี้มันจึงมาเยอะมากๆ ในฟลอริดา

ปลาช่อนงูเห่า (Channa aurolineata)

สำหรับปลาช่อนงูเห่าชนิดนี้ มีความยาวประมาณ 80 เซนติเมตร มีลำตัวกลมยาวกว่าปลาช่อนนาอย่างเห็นได้ชัด ในปลาขนาดเล็กลำตัวจะมีสีน้ำตาลและมีแถบสีดำอยู่ที่ด้านข้าง มีจุดขนาดใหญ่อยู่ที่โคนหางซึ่งจะเรียกว่า “ดอกจัน” แต่จุดจะจางลงเรื่อยๆ ตามอายุของปลา ในปลาขนาดกลางท้องจะเป็นสีเหลือง มีจุดประสีขาวบริเวณครีบ ในปลาขนาดใหญ่ท้องจะเป็นสีดำ

ประชากรปลาช่อนงูเห่าที่พบในแม่น้ำสาละวิน จะมีลายบนตัวมากกว่าประชากรที่พบในแม่น้ำแม่กลองและเจ้าพระยา …ส่วนปลาช่อนงูเห่าที่พบในเขื่อนจะเหมือนกับที่พบในเจ้าพระยา …สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

อันดับที่ 27.ปลาช่อนข้าหลวง (Channa maruloides)

ปลาช่อนข้าหลวง หรือ ปลาช่อนทอง เป็นปลาช่อนราคาแพงและสวยที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับปลาช่อนงูเห่า แต่รูปร่างจะป้อมสั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด มีความยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร เมื่อยังเป็นลูกปลาตัวเล็กๆ ลำตัวจะมีสีน้ำตาลและมีแถบสีส้มอยู่ที่ข้างลำตัว ในปลาโตเต็มวัยท้องจะมีสีเหลือง มีแถบลายเฉียง ซึ่งประกอบไปด้วยเกล็ดสีดำและเทา

ปลาช่อนข้าหลวง (Channa maruloides)

ในประเทศไทยพบปลาช่อนชนิดนี้ เฉพาะภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบได้ในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ปลาที่พบที่เขื่อนรัชชประภาของไทย จะมีสีเหลืองที่สดสวยกว่าปลาช่อนข้าหลวง ที่พบได้มากในประเทศเพื่อนบ้าน สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

อันดับที่ 26.ปลาช่อนพะนอ (Channa panaw)

ปลาช่อนพะนอ (Panaw Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่ได้รับการอธิบายใหม่ในปี พ.ศ. 2541 เป็นปลาที่มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร แม้ว่าปลาช่อนชนิดนี้จะมีสีสันไม่สดใส แต่ก็เหมาะสำหรับเลี้ยงในตู้ เนื่องจากมีนิสัยค่อนข้างรักสงบ เป็นปลาที่พบในแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสะโตง ประเทศพม่า สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาช่อนพะนอ (Channa panaw)

อันดับที่ 25.ปลาก๊วน (Channa auroflammea)

ปลาก๊วน หรือ ปลาช่อนงูเห่าแม่น้ำโขง ยาวได้ประมาณ 80 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับปลาช่อนงูเห่า ชานนา ออโรลิเนทัส (Channa aurolineatus) และ ปลาช่อนงูเห่า ชานนา มารูเลียส (Channa marulius) แต่จะต่างกันตรงที่ส่วนท้องจะเป็นสีเหลืองจนโตเต็มวัย พบกระจายพันธุ์ เฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขง

ปลาก๊วน (Channa auroflammea)

ปลาก๊วนพบได้ยากมากในไทย แต่อาจจะหาได้ง่ายกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน มักถูกจับส่งขายเป็นปลาสวยงาม แต่ราคาก็ค่อนข้างแพง สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

อันดับที่ 24.ปลาช่อนครีบดำ (Channa melanoptera)

ปลาช่อนครีบดำ (Blackfinned Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดใหญ่ที่ยาวได้ถึง 65 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2398 ในแม่น้ำกาปูวัส (Kapuas River) เป็นปลาที่ดูคล้ายปลาช่อนข้าหลวง แต่ปลาช่อนครีบดำจะไม่มีดอกหรือเกล็ดสีขาว แต่หากเป็นตัวที่มีเกล็ดสีขาวจะมองเห็นเป็นจุดสีขาวเล็กน้อย สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลาช่อนครีบดำ (Channa melanoptera)

อันดับที่ 23.ปลาช่อนพม่า (Channa burmanica)

ปลาช่อนพม่า (Burmese Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก ที่มีสีใกล้เคียงกับปลากั้งที่พบในไทยหรือที่พบในอินเดีย มีถิ่นกำเนิดทางตอนเหนือของประเทศพม่า พบเฉพาะที่ต้นน้ำของแม่น้ำอิรวดีทางตอนเหนือของพม่า เป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักน้อย และยังไม่ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ในสภาพกักขัง สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลาช่อนพม่า (Channa burmanica)

อันดับที่ 22.ปลาช่อนอินเล (Channa harcourtbutleri)

ปลาช่อนอินเล (Inle Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 16 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนเฉพาะถิ่นของทะเลสาบอินเลในพม่า แม้ปลาชนิดนี้จะเป็นที่รู้จักในหมู่นักเลี้ยง แต่ก็ไม่มีข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับปลาชนิดนี้มากนัก สถานะปัจจุบัน = ใกล้ถูกคุกคาม (NT)

ปลาช่อนอินเล (Channa harcourtbutleri)

อันดับที่ 21.ปลาช่อนออรัม (Channa aurantipectoralis)

ปลาช่อนออรัม เป็นหนึ่งในปลาช่อนชนิดใหม่ ที่เพิ่งระบุตัวได้ในปี พ.ศ.2559 เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่คล้ายกับปลากั้งที่พบในไทย ถูกพบครั้งแรกในระบบระบายน้ำของแม่น้ำคันภุลี รัฐมิโซรัม ประเทศอินเดีย เป็นปลาที่มีสีสดโดยเฉพาะครีบอกจะเป็นสีส้ม สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลาช่อนออรัม (Channa aurantipectoralis)

อันดับที่ 20.ปลาช่อนออแรนติ (Channa aurantimaculata)

ปลาช่อนออแรนติ (Orange-spotted snakehead) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาช่อนบาร์กา (C. barca) แต่มีหัวโตและแบนกว่า เป็นปลาช่อนที่สวยมาก พบในแม่น้ำรามบุตรา ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร ทางตอนเหนือรัฐอัสสัม และรัฐอรุณาจัล ประเทศอินเดีย ในอดีตเป็นปลาที่หายากมากๆ แต่ในตอนนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ในตู้ได้แล้ว แต่ในธรรมชาติก็หายากมากๆ อยู่ดี

ปลาช่อนออแรนติ (Channa aurantimaculata)

ปลาช่อนออแรนติในธรรมชาติ จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ ที่เป็นป่าดิบชื้นและมีอุณหภูมิสูงในช่วงฤดูร้อน มันเป็นปลาที่สามารถขุดโพรงตามโคนรากไม้ได้ลึกถึง 2 เมตร ทั้งนี้ก็เพื่อหนีความแห้งแล้ง และความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว ก่อนจะกลับขึ้นมาหากินอีกครั้งและสืบพันธุ์ในช่วงฤดูฝน สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

อันดับที่ 19.ปลาช่อนปาร์ดาลิส (Channa pardalis)

ปลาช่อนปาร์ดาลิส เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 14 เชนติเมตร เป็นปลาที่เพิ่งได้รับการอธิบายไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยก่อนหน้านั้นมันเป็นที่รู้จักในชื่อ Channa sp. “True Blue” (Channa True Blue) พบในคาซีฮิลส์ (Khasi Hills) รัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย เป็นปลาช่อนที่ยังไม่ได้รับการอนุกรมวิธานอย่างถูกต้อง สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลาช่อนปาร์ดาลิส (Channa pardalis)

อันดับที่ 18.ปลาช่อนเอเชียติกา (Channa Asiatica)

ปลาช่อนเอเชียติกา (Chinese snakehead) จัดเป็นปลาช่อนที่สวยมาก ยาวได้ประมาณ 35 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ได้รับความนิยมในตลาดปลาสวยงาม และอาจมีการผสมในแหล่งเพาะเลี้ยง เป็นปลาช่อนที่พบได้ยากในธรรมชาติ พบกระจายพันธุ์ในแถบตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสวิ๋น ในมณฑลกวางสี และกวางตุ้ง ในประเทศจีน สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาช่อนเอเชียติกา (Channa Asiatica)

อันดับที่ 17.ปลาช่อนสจวร์ต (Channa Stewartii)

ปลาช่อนสจวร์ต (Stewart’s snakehead) ยาวได้ประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่มีสีสันสวยงาม จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอยู่บ้าง พบในลุ่มน้ำพรหมบุตรในอินเดียและบังกลาเทศ แถบตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยในอินเดียและเนปาล สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาช่อนสจวร์ต (Channa Stewartii)

อันดับที่ 16.ปลาช่อนพัลชรา (Channa Pulchra)

ปลาช่อนพัลชรา (Burmese peacock snakehead) เป็นปลาช่อนที่สวยงามมากอีกชนิดหนึ่ง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ไม่ค่อยดุร้ายหรือก้าวร้าว พบในต้นน้ำของรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ถูกอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานพร้อมๆ กับปลาช่อนออนาติพินนิส (C.ornatipinnis) ซึ่งพบในพม่าและมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลาช่อนพัลชรา (Channa Pulchra)

อันดับที่ 15.ปลาช่อนดำ (Channa melasoma)

ปลาช่อนดำ ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร มีรูปร่างเหมือนปลาช่อนนา แต่ลำตัวผอมเพรียวกว่า หัวโต ตาสีดำ และแม้จะชื่อว่าปลาช่อนดำ แต่ก็ไม่เสมอไปที่มันจะตัวสีดำเหมือนชื่อ เพราะสีลำตัวค่อนข้างแปรปรวน ตั้งแต่สีน้ำตาลซีดจนถึงน้ำตาลเข้ม จุดสังเกตุสำคัญของปลาช่อนชนิดนี้ที่ทำให้แยกออกจากปลาช่อนนาอีกอย่างคือ ที่ขอบของครีบจะเป็นสีขาว

ปลาช่อนดำ (Channa melasoma)

ปลาช่อนดำเป็นปลาที่ก้าวร้าว พบได้น้อยมากในประเทศไทย เพราะจะพบได้เฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และแม่น้ำโกลก เท่านั้น ในต่างประเทศพบได้ที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

อันดับที่ 14.ปลาช่อนบารัม (Channa baramensis)

ปลาช่อนบารัม (Baram snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 22 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ถูกคิดว่าเป็นปลาช่อนดำ (C.melasoma) มาเป็นเวลานาน แต่ถึงอย่างงั้นการแยกพวกมันออกมาด้วยการมองนั้นก็ยาก แต่ยังสามารถแยกได้เมื่อปลาช่อนบารัมที่โตเต็มวัย จะมีจุดสีดำจำนวนมากตลอดลำตัว ในขณะที่ปลาช่อนดำนั้นไม่มี และปลาช่อนดำก็มีสีขาวที่ขอบครีบด้วย พบอาศัยบนเกาะบอร์เนียว รัฐซาราวักและทางตะวันตกของรัฐซาบาห์ในมาเลเซีย สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาช่อนบารัม (Channa baramensis)

อันดับที่ 13.ปลาช่อนออนาติ (Channa Ornatipinnis)

ปลาช่อนออนาติ เป็นปลาช่อนสวยงามอีกชนิดที่พบได้ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า มันมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร โดยปลาช่อนชนิดนี้ มีจุดสีดำขนาดใหญ่ประมาณ 10 – 20 จุด ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาช่อนพัลชรา แต่ปลาช่อนพัลชราจะมีจุดที่เล็กกว่ามาก สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลาช่อนออนาติ (Channa Ornatipinnis)

อันดับที่ 12.ปลาช่อนแอนดริว (Channa Andrao)

ปลาช่อนแอนดริว เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร ในอดีตปลาช่อนชนิดนี้ มักจะถูกพบปะปนไปกับปลาช่อนเจ็ดสี (C.bleheri) ในฐานะของปลาสวยงามเสมอ พบในบึงเลฟรากูรี่ ประเทศอินเดียเท่านั้น สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาช่อนแอนดริว (Channa Andrao)

อันดับที่ 11.ปลาช่อนออเรียนตาลิส (Channa Orientalis)

ปลาช่อนออเรียนตาลิส (Ceylon snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กจำพวกปลาช่อนแคระ ยาวได้ประมาณ 25 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับปลากั้ง (C.limbata) ที่พบในไทย หรือปลากั้งอินเดีย (C.gachua) เป็นปลาช่อนที่พบเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น สถานะปัจจุบัน = มีความเสี่ยง (VU)

ปลาช่อนออเรียนตาลิส (Channa Orientalis)

อันดับที่ 10.ปลาช่อนอริสโตนี (Channa aristonei)

ปลาช่อนอริสโตนี เป็นปลาช่อนที่เพิ่งได้รับการอธิบายเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2563 มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายกับปลากั้งที่พบในไทย แต่สีของปลาช่อนชนิดนี้จะเป็นสีฟ้าสดใสตลอดลำตัว หรืออาจได้เจอสีเขียวอมฟ้า

ปลาช่อนอริสโตนี (Channa aristonei)

พบครั้งแรกในรัฐเมฆาลัย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อาศัยในแหล่งน้ำไหลเอื่อย ซึ่งคล้ายกับปลากั้งและชอบอยู่ในน้ำอุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส เป็นปลาที่ชอบแอบอยู่ตามแก่งหิน ก้อนหิน มันจะมีสีสวยเป็นพิเศษ หากอยู่น้ำเย็น เริ่มมีการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามแล้ว สถานะปัจจุบันคือ = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

อันดับที่ 9.ปลาช่อนจุดอินโด (Channa Pleurophthalma)

ปลาช่อนจุดอินโด (Ocellated Snakehead) มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เมื่อปลาโตหัวจะแหลม แต่ส่วนลำตัวกลับป้อมคล้ายปลาชะโดบ้านเรา มีลักษณะเด่น คือ มีจุดสีดำที่ล้อมด้วยวงสีส้มกลมคล้ายดวงตาขนาดใหญ่ พบกระจายพันธุ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา และยังพบในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบอร์เนียว สถานะปัจจุบันคือ = ใกล้ถูกคุกคาม (NT)

ปลาช่อนจุดอินโด (Channa Pleurophthalma)

อันดับที่ 8.ปลาช่อนจุดน้ำเงิน (Channa Cyanospilos)

ปลาช่อนจุดน้ำเงิน (Bluespotted Snakehead) มีขนาดประมาณ 22 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนหายากที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาช่อนดำ มีถิ่นกำเนิดที่เกาะสุมาตรา และอาจพบได้ในในคาบสมุทรมาเลเซียและบอร์เนียว ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งที่มีสีแดงดำและเต็มไปด้วยใบไม้แห้ง สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลาช่อนจุดน้ำเงิน (Channa Cyanospilos)

อันดับที่ 7.ปลาช่อนบานคาน (Channa Bankanensis)

ปลาช่อนบานคาน (Bangka snakehead) ยาวได้ประมาณ 25 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับปลากระสง แต่ส่วนหัวไม่เรียวแหลมเหมือนปลากระสง และรูปทรงลำตัวค่อนข้างกลมและเป็นทรงกระบอกมากกว่า เป็นปลาที่อาศัยในป่าพรุที่มีค่า pH ไม่เกิน 4

ปลาช่อนบานคาน (Channa Bankanensis)

พบกระจายพันธุ์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะกาลีมันตัน และเกาะบังกาในอินโดนีเซีย สถานะปัจจุบัน = ใกล้ถูกคุกคาม (NT)

อันดับที่ 6.ปลาช่อนเชล (Channa amphibeus)

ปลาช่อนเชล (Chel snakehead) เป็นปลาช่อนที่มีความสวยงามเช่นเดียวกับปลาช่อนบาร์กา (C.Barca) แต่มันมีขนาดเพียง 25 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเล็กกว่ามาก แต่ถึงอย่างงั้นปลาช่อนชนิดนี้ก็เป็นหนึ่งในปลาช่อนที่หายากที่สุดในโลก พบเฉพาะในแม่น้ำเชล ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร และจะอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิค่อนข้างอุ่น ประมาณ 22-28 องศาเซลเซียส สถานะปัจจุบัน = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาช่อนเชล (Channa amphibeus)

อันดับที่ 5.ปลาช่อนสายรุ้ง (Channa Bleheri)

ปลาช่อนสายรุ้ง (Rainbow snakehead) จัดเป็นปลาช่อนขนาดเล็กเช่นเดียวกับปลากั้ง ยาวได้ไม่เกิน 20 เซนติเมตร ได้ชื่อว่าเป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด เป็นปลาช่อนที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย สถานะปัจจุบัน = ใกล้ถูกคุกคาม (NT)

ปลาช่อนสายรุ้ง (Channa Bleheri)

อันดับที่ 4.ปลาชะโดอินเดีย (Channa Diplogramma)

ปลาชะโดอินเดีย (Malabar snakehead) มีลักษณะคล้ายกับปลาชะโดที่พบในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์รวมทั้งไทย มันถูกพบครั้งแรกและอนุกรมวิธานโดย ฟรานซิส เดย์ นักมีนวิทยาชาวอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2408

ตัวอย่างแรกเก็บได้จากปากแม่น้ำโคชิน และถูกเข้าใจมาตลอดว่าเป็นชนิดเดียวกับปลาชะโด ทำให้ชื่อนี้กลายเป็นชื่อพ้องของปลาชะโดมาโดยตลอด จนในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการศึกษาใหม่ จึงพบว่าแท้จริงเป็นชนิดใหม่

ปลาชะโดอินเดีย (Channa Diplogramma)

ปลาชะโดอินเดียเมื่อเทียบกับปลาชะโดที่พบในไทย จะมีลักษณะส่วนหัวและจะงอยปากด้านบนที่ลาดยาวกว่า เมื่อเทียบขนาดของส่วนหัวโดยวัดจากปลายปากไปยังช่องเปิดเหงือกและเทียบกับความยาวลำตัวจะพบว่า ปลาชะโดอินเดียจะมีส่วนหัวยาวกว่าปลาชะโดเล็กน้อย และมีรูปร่างที่ป้อมสั้นกว่า โดยปลาชะโดอินเดีย จะยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร ซึ่งเล็กกว่าปลาชะโดมาก แต่ปลาชะโดอินเดีย จะมีพัฒนาการของลวดลายและเจริญเติบโตเร็วกว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีพฤติกรรมที่ดุร้ายก้าวร้าวกว่าเล็กน้อย

ปลาชะโดอินเดียจัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ที่พบได้เฉพาะภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของคาบสมุทรอินเดียเท่านั้น จัดเป็นปลาที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์จากการแพร่กระจายพันธุ์ที่จำกัด และการคุกคามของมนุษย์ สถานะปัจจุบัน = มีความเสี่ยง (VU)

อันดับที่ 3.ปลาช่อนน็อกซ์ (Channa nox)

ปลาช่อนน็อกซ์ (Night Snakehead) เป็นปลาช่อนที่ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จากรายงานระบุว่า มีตัวอย่างปลาเพียง 7 ตัว ซึ่งเก็บมาจาก มณฑลกวางสี ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยปลาช่อนน็อกซ์นั้นต่างจากปลาช่อนในสกุลเดียวกันทั้งหมด ตรงที่ไม่มีครีบเชิงกราน (Pelvic fins) และมีหัวที่เล็ก ลำตัวยาวกลม เป็นปลาช่อนที่มีสีน้ำตาลจนถึงสีดำ มีจุดสีขาวกระจายอยู่ทั่ว มีแถบสีดำยื่นยาวถึงแค่ครึ่งบนของลำตัว แต่ก็มีบางตัวที่มีแถบยื่นยาวลงถึงครึ่งล่างของลำตัว มีจุดสีดำขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่ที่โคนหาง จัดเป็นปลาช่อนชนิดที่พบได้ยากมากในธรรมชาติ แต่ก็เริ่มมีให้เห็นในตลาดปลาสวยงาม สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลาช่อนน็อกซ์ (Channa nox)

อันดับที่ 2.ปลาช่อนบาร์กา (Channa barca)

ปลาช่อนบาร์กา ยาวได้ประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามจนได้รับฉายา “จักรพรรดิปลาช่อน” เป็นปลาที่มีสันสันหลากหลาย มีสีเขียวและเหลืองประกอบกับจุดสีดำและแดงกระจายทั่วบริเวณส่วนหัว ลำตัว และครีบ ส่วนหัวมีขนาดโตและปากกว้างมาก พบได้ในแม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำคงคาในรัฐอัสสัม และรัฐเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย และบางส่วนของบังกลาเทศเท่านั้น!

ปลาช่อนบาร์กา (Channa barca)

ปลาช่อนบาร์กา จัดไว้เป็นหนึ่งในปลาช่อนที่หายากที่สุดในโลก จึงทำให้เป็นปลาสวยงามที่มีราคาแพงมากที่สุดชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยเป็นปลาที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายเพียงแค่ไม่กี่ตัว สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

อันดับที่ 1.ปลาช่อนนิงบิน (Channa ninhbinhensis)

ปลาช่อนนิงบิน เป็นปลาช่อนที่แทบจะไม่มีคำอธิบายอะไรเกี่ยวกับมัน เท่าที่รู้คือเป็นปลาช่อนที่ยาวได้ถึง 28 เซนติเมตร หากมองจากตัวอย่างจะพบว่าเป็นปลาที่มีสีส้มสดที่ปลายครีบและหาง และมีรูปร่างคล้ายปลากั้งแต่ตัวใหญ่กว่า เป็นปลาที่พบในเวียดนาม จังหวัดนิญบิ่ญ

ปลาช่อนนิงบิน (Channa ninhbinhensis)

ในตอนนี้ปลาช่อนชนิดนี้ เกือบจะเป็นปลาช่อนที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เนื่องจากไม่มีภาพถ่ายขณะมีชีวิตและมีภาพของตัวอย่างที่ตายแล้วเพียงภาพเดียว มันจึงกลายเป็นปลาช่อนชนิดที่หายากที่สุดในโลก สถานะปัจจุบัน = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements