6 อันดับ ปลาน้ำจืดธรรมชาติ ที่ถูกจับมากที่สุดในไทย

สำหรับเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผมมโนขึ้นมานะครับ แต่เป็นสถิติที่จัดทำโดยกรมประมง มันเป็นสถิติของปี พ.ศ. 2565 หรือก็คือเมื่อปีที่ผ่านมานั้นเอง โดยสถิตินี้นับเฉพาะปลาน้ำจืดที่ถูกจับได้ในธรรมชาติของประเทศไทยเท่านั้น ...ว่าแล้วก็มาดูกันเลยดีกว่า

อันดับ 6 – ปลาสวาย (Pangasianodon hypophthalmus)

Advertisements

แม้ว่าปลาสวายจะเป็นปลาที่พบได้มากมายในธรรมชาติในตอนนี้ แต่สถานะที่แท้จริงของปลาชนิดนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากปลาส่วนใหญ่เป็นปลาปล่อย แต่ถึงอย่างงั้นก็ยังนับว่ามันอยู่ในธรรมชาติ สำหรับปริมาณการจับปลาสวายอยู่ที่ประมาณ 3,239 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.06 ของปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับ มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 51 บาท ต่อกิโลกรัม

ปลาสวาย (Pangasianodon hypophthalmus)

อันดับ 5 -ปลาดุก (Clarias macrocephalus)

สำหรับปลาดุก ตามรายงานระบุตัวไปที่ปลาดุกนา หรือ ปลาดุกอุย ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 6 ปลาดุกน้ำจืดที่เป็นปลาท้องถิ่นของไทย โดยปริมาณการจับอยู่ที่ประมาณ 4,455 ตัน คิดเป็นร้อยละ 4.21 ของปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับ โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 40 บาท ต่อกิโลกรัม

ปลาดุก (Clarias macrocephalus)

อันดับ 4 – ปลาช่อน (Channa striata)

ปลาช่อนจะคล้ายกับปลานิลตรงที่ปลาส่วนใหญ่ที่เข้ามาสู่ตลาดจะเป็นปลาเลี้ยง แต่ถึงอย่างงั้นปลาช่อนในธรรมชาติก็ถูกจับมามากเช่นกัน ลองคิดแบบขำๆ นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอมนับพันนับหมื่นคน ที่ตกปลาช่อนได้ทุกวัน โดยปริมาณการจับอยู่ที่ประมาณ 6,068 ตัน คิดเป็นร้อยละ 5.74 ของปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับ โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 88 บาท ต่อกิโลกรัม

อันดับ 3 – ปลาสร้อยขาว (Henicorhynchus siamensis)

Advertisements

ปลาสร้อยขาวเป็นปลาที่คล้ายกับปลาตะเพียน และมักจะรวมกันเป็นฝูงที่ใหญ่มาก ด้วยเหตุนี้จึงถูกจับมากเช่นเดียวกัน โดยปริมาณการจับอยู่ที่ประมาณ 9,849 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9.31 ของปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับ โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 37 บาท ต่อกิโลกรัม

ปลาสร้อยขาว (Henicorhynchus siamensis)
Advertisements

อันดับ 2 – ปลานิล (Oreochromis niloticus)

แม้ปลานิลจะไม่ใช่ปลาท้องถิ่นไทย แต่มันกลับเป็นปลาที่ถูกจับได้จากธรรมชาติมากที่สุดเป็นอันดับสอง สิ่งนี้แสดงให้เห็นปลานิลมีอยู่ในธรรมชาติมากมายจริงๆ โดยปริมาณการจับอยู่ที่ประมาณ 17,218 ตัน คิดเป็นร้อยละ 16.28 ของปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับ โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 57 บาท ต่อกิโลกรัม

ปลานิล (Oreochromis niloticus)

อันดับ 1 – ปลาตะเพียน (Barbonymus gonionotus)

ในข้อมูลไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นปลาตะเพียนชนิดไหน แต่น่าจะหมายถึงปลาตะเพียนขาวและทอง โดยปลาตะเพียนทั้งสองถือเป็นปลาประจำถิ่นของไทย และแม้ในตลาดจะพบวางขายน้อยกว่าปลานิลอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็เป็นปลาที่ถูกจับมากที่สุด โดยปริมาณการจับอยู่ที่ประมาณ 20,257 ตัน คิดเป็นร้อยละ 19.16 ของปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับ โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 52 บาท ต่อกิโลกรัม

ปลาตะเพียน (Barbonymus gonionotus)
Advertisements

อันดับพิเศษ – ปลาอื่น ร้อยละ 38.91

Advertisements

นอกจากปลาที่พูดถึงไปทั้ง 6 ชนิดแล้ว ยังมีปลาชนิดอื่นๆ ที่กินส่วนแบ่งอยู่พอสมควร อย่างเช่น ปลากดเหลือง 1,901 ตัน ปลายี่สกเทศ 2,799 ตัน ในขณะที่ปลายี่สกไทย จับได้เพียง 389 ตัน และยังมีปลาอื่นๆ อีกมากกว่า 20 ชนิด และยังมี กุ้งกร้ามกราม ที่ถูกจับปีละประมาณ 1,194 ตัน เป็นต้น

ส่วนแหล่งที่มาของสัตว์น้ำส่วนใหญ่จะมาจาก บึง หนอง และอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน ร้อยละ 33 , แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย ร้อยละ 39 , อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ร้อยละ 25 , คลองชลประทาน ร้อยละ 0.86 และ บ่อล่อ 1.02

เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เราจับปลาได้น้อยลงหรือไม่?

แน่นอนว่าน้อยลง แม้ข้อมูลทางสถิติแบบปีต่อปี จะดูไม่ได้ลดลงมาก แต่หากลองย้อนกลับไปดูหลายปีหน่อยจะพบว่า ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้นั้นน้อยลงมาก อย่างเช่น น้ำหนักรวมสัตว์น้ำที่จับได้ในปี พ.ศ. 2565 จะอยู่ที่ 105,734 ตัน ส่วนปี พ.ศ. 2564 จะอยู่ที่ 112,604 ตัน และหากย้อนไปดูหลายปีหน่อย อย่างในปี พ.ศ. 2556 จะอยู่ที่ 210,293 ตัน …ด้วยสถิตินี้ ทำให้เห็นว่าในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา เราจับปลาได้น้อยครึ่งนึงเลยทีเดียว และนี่ก็แสดงให้เห็นว่า ปลาในธรรมชาตินั้นลดลงไปมากจริงๆ

ส่วนจังหวัดที่เป็นแชมป์จับสัตว์น้ำได้มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ จังหวัด อุบลราชธานี 5,256 ตัน จังหวัดนครราชสีมา  5,163 ตัน จังหวัดร้อยเอ็ด 4,113 ตัน จังหวัดบึงกาฬ 3,902 ตัน จังหวัดขอนแก่น 3,635 ตัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือภาคที่จับสัตว์น้ำได้มากที่สุด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52 ของทั้งประเทศ

สรุป! ก็เป็นอย่างที่เห็น ปลาตะเพียนยังคงเป็นแชมป์ ความจริงเป็นปลาที่เป็นแชมป์ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ในขณะที่ปลานิลตามมาติดๆ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ปลาท้องถิ่นแต่อย่างใด ซึ่งก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน เพราะมันแสดงให้เห็นว่ามีปลานิลมากจริงๆ ในธรรมชาติ และยิ่งในตอนนี้พวกมันก็มากขึ้นไปอีก หากมองในมุมของการอนุรักษ์ คงต้องบอกว่า มันเป็นภัยพิบัติของสัตว์น้ำท้องถิ่นเลยก็ว่าได้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements