ปลาช่อนเชล คืออะไร?
เมื่อปีก่อนผมเคยพูดถึงปลาช่อนเชลเอาไว้ใน ปลาช่อน 42 ชนิด แต่ก็มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น! และปลาช่อนเชล (Chel snakehead) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ ชานนา แอมฟิเบียส (Channa amphibeus) ก็ได้ชื่อว่าเป็นปลาช่อนหายากที่สุดในโลก แถมยังมีความงามเทียบเท่าปลาช่อนบาร์ก้า ที่ได้ชื่อว่า สวยงามและแพงที่สุดอีกด้วย ..แม้ความจริง ภาพของปลาช่อนเชลจะมีให้เห็นเพียงไม่กี่ภาพก็ตาม!
โดยปลาช่อนเชล ถูกอธิบายเมื่อปี พ.ศ. 2388 หรือก็คือเมื่อ 180 ปี ก่อน! มันเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบได้เฉพาะในแม่น้ำเชล ทางตอนเหนือของรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย และตัวอย่างสุดท้ายที่เก็บได้ก็เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2461 -2476 จากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบอีกเลย และแม้ในรายงานของ IUCN จะระบุว่า ไม่น่ากังวัล! แต่ก็เป็นเพราะว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปลาชนิดนี้มากกว่า จนในปี พ.ศ. 2567 ก็ได้มีการเก็บตัวอย่างปลาช่อนที่ไม่รู้จักมาได้ 3 ตัว และในปี พ.ศ. 2568 ก็มีการประกาศว่า มันคือปลาช่อนเชลที่หายไปนานหลายสิบปีอย่างแน่นอน! ซึ่งอ้างอิงจาก ซูแท็กซ่า (Zootaxa) ฉบับที่ 5583 ลงวันที่ 31 มกราคม ปี พ.ศ. 2568
ตามรายงานระบุว่า ตัวอย่างใหม่นี้! ถือเป็นตัวอย่างแรกของปลาช่อนเซลแบบสด พร้อมข้อมูลแรกของไบโอเมตริกและพันธุกรรมของปลาชนิดนี้
มาถึงตรงนี้ จากข้อมูลเก่าที่ผมเคยหามาได้ ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า มันเป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่มีสีแดงสด ยาวอย่างมากก็ 25 เซนติเมตร! สิ่งเดียวที่ระบุตรงกันก็คือ! มันเป็นปลาช่อนที่พบได้เฉพาะในแม่น้ำเชล! และจากภาพที่แสดงให้เห็น เมื่อปลาโตเต็มที่ มันมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับปลาช่อนบาร์กามาก
จากภาพนี้เป็นตัวภาพเก่าของปลาช่อนเชล ซึ่งภาพ (A) ถูกวาดขึ้นในปี พ.ศ. 2383 และถูกระบุไว้ในชื่อ โอฟิโอเซฟาลัส บาร์กา (Ophiocephalus barca) ภาพ (B) แสดงภาพวาดของปลาช่อนที่ลงสี และระบุชนิด ชานนา แอมฟิเบียส (Channa amphibeus) ด้วยภาพนี้ จึงทำให้เข้าใจกันว่า ปลาช่อนเชลจะต้องมีสีแดงส้ม ภาพ (C) เป็นภาพถ่ายขาวดำของปลาช่อนเชล
สรุป! ส่งท้ายเกี่ยวกับปลาช่อนเชลซะหน่อย! ก็เป็นอย่างที่เห็น ข้อมูลมีน้อย และดูจะต่างจากข้อมูลเก่าที่เคยมีอยู่มาก ทั้งปลามันใหญ่กว่าที่คิดไว้มาก จากที่เคยคิดว่า จะยาว 25 เซนติเมตร กลายเป็นยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร แต่ยังไงซะ คงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป