รอก อุปกรณ์สำคัญอันดับต้นๆ ที่นักตกปลาต้องเลือกใช้ ซึ่งในปัจจุบัน รอกถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกล มีทั้งความสวยงามและความทนทาน โดยก่อนตัดสินใจซื้อ น้าๆ ต้องเลือกแนวทางก่อนว่าจะตกปลาแบบไหน ระหว่างการเลือกแบบเบทคาสติ้ง หรือสปินเนอร์เบท ไปดูกันว่า รอกที่ดีควรเลือกแบบไหน และทั้ง 2 แบบแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
รอก ตกปลา นักตกปลามือใหม่ควรรู้อะไรบ้าง คลิก
- ความแตกต่างระหว่างรอกเบทคาสติ้งกับสปินนิ่งเบท
- ควรเลือกรอกแบบไหนดี
- ขนาดของรอกตกปลา
- ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรอกตกปลา
- การทำความสะอาดรอกหลังใช้งาน
ความแตกต่างระหว่าง รอก เบทคาสติ้งกับสปินนิ่งเบท
รอก ตกปลา ที่เบาที่สุดเท่าที่ผมเคยใช้ก็เป็น “Aldebaran” ที่มีน้ำหนักเพียง 135 กรัม ส่วนน้ำหนักเฉลี่ยของรอกตกปลาเบทจะเบากว่า รอกตกปลาสปินนิ่ง นะครับ หากเทียบขีดจำกัดการใช้งาน ส่วนความคล่องตัวบอกตรงๆ แล้วแต่ความถนัดนะครับ
รอกที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก็มีเยอะมากๆ อาจจะมากกว่า 20 ยี่ห้อเลย แต่จะมียี่ห้อคู่แข่งหลักๆ คือรอกตกปลา DAIWA กับ รอกตกปลา SHIMANO ส่วนอะไรดีกว่าตัดสินใจกันเอาเองนะครับ เพราะทั้ง 2 ยี่ห้อนี้มีแฟนที่เหนียวแน่นอยู่ เป็นเรื่องของความถูกใจส่วนตัวล้วนๆ
ควรเลือกรอกแบบไหนดี
- เบา : เทคโนโลยีสมัยใหม่ พยายามใช้วัสดุที่เบา โดยรอกตกปลาตีเหยื่อปลอมดีหน่อยส่วนใหญ่จะหนักไม่เกิน 300g
- ขนาดเล็ก : เล็กที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้ได้รอกน้ำหนักเบา แต่ยิ่งเล็ก ก็ยิ่งตกปลาขนาดใหญ่ได้ยาก
ขนาดของรอกตกปลา
ตรงนี้ขอพูดขนาดโดยใช้มาตรฐานเบอร์ของ SHIMANO นะครับ เพราะถ้าเทียบเบอร์หลายยี่ห้อตัวผมจะงงซะเอง และน้าๆ อาจจะงงตามได้ และบทความนี้เขียนขึ้นเพื่อนักตกปลาตีเหยื่อปลอมมือใหม่ด้วยแล้วยิ่งไม่อยากให้งง
ขนาดของรอกที่นักตกปลาเลือกใช้จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับความชอบ หรือรสนิยมในการตกปลา เพราะมีบางคนไม่ว่าจะตกอะไรก็ใช้เล็กๆ ไว้ก่อน อย่างใช้รอกเบทคาสติ้งเบอร์ 50 สาย PE 0.5 – 1.5 เอาไปเที่ยวทั่วไทยก็มี
แต่บางคนก็ใหญ่ไว้ก่อนก็มี แบบจะตกอะไรก็เบอร์ 200 สาย PE 4 ไปเลยก็เยอะ แต่ถ้าจะให้แนะนำเหมาะๆ สำหรับมือใหม่ก็คือ
- ตีเหยื่อน้ำหนักต่ำกว่า 5 กรัม ยังไงรอกสปินนิ่ง เบอร์ 1000 – 2000 ก็กินขาด จะถูกหรือแพงก็ชนะเบทเสมอ
- สปินเบอร์ 1000, 2000, C3000 เป็นเบอร์ยอดนิยมที่ใช้ตีเหยื่อปลอมน้ำจืด
- C3000 ถือเป็นขนาดรอกเที่ยวทั่วไทยได้เลย ใช้ตกได้เล็กยันใหญ่ ตกปลาขังจนถึงปลาเขื่อน แต่สายยังไงก็ไม่ควรเกิน PE2 ไม่งั้นตีไม่ค่อยไกล แต่ถ้าไม่สนใจกับระยะมากนักก็ใส่ PE3 ไปเลยก็ได้ครับ
- รอกเบทเบอร์ 50, 100 (เบอร์รอกทรงกลม) เป็นเบอร์ยอดนิยมในการตีเหยื่อปลอมขนาดเล็กหรือทั่วไป
- รอกทรงหยดน้ำมัก จะสร้างมารุ่นละเบอร์ ต่างกันแค่ซ้ายกับขวา และมักจะสร้างให้มีขนาดและกำลังพอๆ กับเบอร์ 100 ของรอกทรงกลม
- รอกเบทเบอร์ 100 ถือเป็นขนาดเที่ยวทั่วไทย สามารถตีเหยื่อขนาด 7 กรัมขึ้นไปจึงจะตีได้ไกล แต่ต่ำกว่า 3 กรัม ตีสู้สปินไม่ได้และสายใส่ได้ทั้ง PE2 หรือ จะ PE3 ก็ได้
ไปทำความใจเกี่ยวกับเบอร์รอกแบบละเอียดยิบได้ที่ ลับสุดยอดเบอร์และรหัสรอก Shimano ที่คุณอาจยังไม่รู้
ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ รอกตกปลา
- รอกตกปลา Daiwa จะหาอะไหล่ได้ยากหน่อย แต่ของแต่งรอกเยอะมาก (ปัจจุบันหาง่ายกว่าแต่ก่อนแล้ว)
- รอกตกปลา Shimano จะหาอะไหล่ได้ง่ายหน่อย แต่ของแต่งรอกน้อยกว่า
- ระบบเบรคของ Shimano จะเป็นระบบที่เรียบง่าย แต่ถึงแม้ราคารอกจะไม่แรง แต่เบรคก็ค่อนข้างเชื่อใจได้
- ระบบเบรคของ Daiwa ส่วนใหญ่จะมีจำนวนชิ้นส่วนมากกว่า ความเห็นส่วนตัวเท่าที่ใช้รอกตกปลาDaiwa จนถึงราคากลาง เบรคเดิมยังเชื่อใจไม่ค่อยได้ แต่ของแต่งเบรคหาง่าย
- สีของรอก Daiwa ผุง่ายกว่าของ Shimano นิดหน่อย โดยเฉพาะรอกเบทคาสติ้งจะเห็นได้อย่างชัดเจน
- รอกตกปลาสปินนิ่งที่ราคาถูก มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับสายตีเกลียวบ่อยๆ
- รอกเบทราคาไม่ถึง 3,000 ไม่มีทางตีเหยื่อเบาสู้รอกสปินนิ่งได้ ถ้าเล่นรอกราคาไม่แพงมาก แนะนำใช้สปินดีกว่า
- รอกเบทสามารถใส่สายได้ใหญ่กว่าสปินนิ่ง (ปกติถ้าจะตีใกล้สปินนิ่งถึงจะเบอร์ใหญ่ก็ใส่ไม่เกิน PE2 ในขณะที่เบทใส่ PE4 ได้)
- รอกเบทเหมาะกับเหยื่อขนาดใหญ่มากกว่าสปินนิ่ง จากเหตุผลข้อ 8
การทำความสะอาดรอกหลังใช้งาน
เรื่องล้างรอกเป็นเรื่องที่นักตกปลาถามกันเข้ามาเยอะ แต่จะไม่ขอเล่าถึงการล้างใหญ่นะครับ เพราะล้างใหญ่มันเปิดหมดอยู่แล้ว ขอเล่าจากประสบการณ์ล้างทั่วๆ ไปดีกว่า
รอกสปินนิ่งควรล้างบ่อยแค่ไหน
ถ้าไม่ได้ตกงานหนัก หรือเอาไปโดนน้ำเค็ม เป็นปีไม่ต้องล้างใหญ่ ผมทำแค่ฉีดน้ำใส่ตัวรอกให้ทั่ว ถ้าไม่ได้ไปตกในเร็วๆ นี้ ก็เอาสายออกมาจากสปูน หยอดน้ำมันบ้าง และจะล้างใหญ่เมื่อมีเสียงผิดปกติ หรือสัมผัสแปลกออกไป
รอกเบทคาสติ้งควรล้างบ่อยแค่ไหน
รอกเบทต่างจากรอกสปินตรงที่รอกสปินนิ่งเกือบจะเป็นระบบปิด ยากที่น้ำจะเข้าไปในบอดี้ได้ หากไม่แช่น้ำนาน ในขณะที่เบทน้ำเข้าง่ายกว่า เนื่องจากระบบเก็บสายสปูนจะอยู่กลางรอก มีการดึงน้ำเข้าทั้งจากสาย รอกแทบจะเปียกตลอด
การล้างใหญ่จะบ่อยหน่อยประมาณ 3 – 4 ทริปต่อครั้ง ถ้าโดนน้ำเค็มมา ควรจะล้างเลย ถ้าล้างเบาๆ ก็ผ้าชุบน้ำเช็ดให้ทั่ว หยอดน้ำมันตามจุดลูกปืนเป็นใช้ได้
สรุป: รอกตกปลาเลือกไม่ยากแต่ควรดูแลให้เป็น
เป็นไงกันบ้างครับ กับเรื่องรอกสำหรับมือใหม่ สำหรับน้าๆ รุ่นเก๋าก็สามารถนำไปประยุกต์ดัดแปลงได้ หากเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับน้าๆ นักตกปลา หวังว่าน้าๆ จะมีรอกดีๆ ตกปลากันอย่างสนุกนะครับ
เลือกรอกตกปลากันได้แล้ว ไปดูกันต่อว่า จะใช้รอบของรอกเท่าไหร่ให้เหมาะกับเหยื่อตกปลาที่ใช้ พื้นฐานตกปลา รอบของรอก ช้าเร็วแค่ไหน ถึงจะเหมาะกับเหยื่อที่ใช้