9 ข้อเท็จจริงของ ‘ปลาเนื้ออ่อน’ ตัวใหญ่ที่สุดในโลก

แม้ 10 อันดับแรกของปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เกือบทุกชนิดจะอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ แน่นอนว่าปลาบึกก็เช่นกัน แต่ดูเหมือนจะมีเพียงปลาเวลส์ที่ได้ชื่อว่าเป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จะยังดูห่างไกลจากคำว่าใกล้สูญพันธุ์ พวกมันเป็นปลาทนทาน ในถิ่นของมันจะไม่มีศัตรูที่สามารถต่อกรกับมันได้ ยกเว้นพวกมันเองและมนุษย์อย่างพวกเรา ..เดี๋ยวมาดู 9 ข้อเท็จจริงของปลาเวลส์กัน

ปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่สุด

ข้อที่ 1 – ปลาเวลส์คืออะไร?

Advertisements

ปลาเวลส์ (Wels catfish / Silurus glanis) หรือที่พวกเราชอบเรียกกันว่า “ปลาดุกเวลส์” เพราะมันดูคล้ายปลาดุกตัวใหญ่ แต่ความจริงแล้วมันก็ไม่ใช่ปลาดุกซะทีเดียว แต่เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน Siluridae (/ไซ-เลอร์-อิ-ดี้/) ซึ่งปลาในวงศ์นี้ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในไทยคือ ปลาเค้าขาวและปลาเค้าดำ และมีหลายชนิดที่ถือเป็นปลาเนื้อดีราคาแพง เช่น ปลาแดง ปลาน้ำเงิน …แต่ปลาทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้อยู่ในสกุลเดียวกับปลาเวลส์

ปลาเวลส์ (Wels catfish) / Silurus glanis

เพราะสกุลของปลาเวลส์คือ Silurus (/ไซ-เลอร์-อัส/) ปลาในสกุลนี้มักมีขนาดใหญ่ พบกระจายพันธุ์ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียตะวันออก ในโลกนี้มีปลาในสกุลนี้อยู่อย่างน้อย 20 ชนิด ชนิดที่เป็นที่รู้จักก็คงเป็น

ปลาดุกยักษ์ทะเลสาบบิวะ (Giant Lake Biwa catfish) มันเป็นปลาที่หน้าตาคล้ายปลาเวลส์ แต่จะยาวเต็มที่ได้แค่เมตรกว่าๆ และยังดูผอมบางด้วย ถือเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบได้ในทะเลสาบบิวะ และปลาดุกชนิดนี้ก็เกี่ยวข้องกับตำนานแผ่นดินไหวของญีปุ่นอีกด้วย

ปลาดุกยักษ์ทะเลสาบบิวะ (Giant Lake Biwa catfish) / Silurus biwaensis

ข้อที่ 2 – เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ปลาเวลส์คือปลาที่อยู่ในรายชื่อ 1 ใน 10 ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แม้ปลาเค้าดำและปลาเค้าขาว จะมีขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถเทียบเรื่องขนาดกับปลาเวลส์ได้เลย นั้นเพราะปลาเวลส์ยาวได้เกิน 1.5 เมตรแบบไม่ต้องลุ้น ในขณะที่ปลาเค้าขาวขนาด 1.5 เมตรถือเป็นขนาดที่หายาก

ในสถิติโลกของ IGFA “ปลาเวลส์” ขนาดใหญ่ที่สุดที่บันทึกอย่างถูกต้อง ยาว 2.4 เมตร หนัก 135 กิโลกรัม จับได้ในเดือนมีนาคม ปี 2010 ขณะที่ “ปลาบึก” ยาว 2 เมตร หนัก 118 กิโลกรัม ถูกจับได้ในเดือนพฤศจิกายน 2010 แต่มันก็ไม่ใช่ปลาบึกธรรมชาติ เพราะถูกตกได้ในบ่อตกปลาของรีสอร์ท จังหวัดกระบี่ แน่นอนว่า ในสถิติรายการอื่นปลาทั้งสองจะใหญ่กว่านี้ เพราะ IGFA จะนับเฉพาะที่จับได้จากเบ็ดตกปลาเท่านั้น

ข้อที่ 3 – หายนะที่มาพร้อมปลาเวลส์

ย้อนไปในปี 1974 นักตกปลาชาวเยอรมันผู้ชื่นชอบการตกปลา พวกเขานำเอาปลาเวลส์หลายร้อยตัวไปปล่อยในแม่น้ำเอโบร ประเทศสเปน จากนั้นนักตกปลาในพื้นที่อื่นก็ทำตาม โดยพวกเขานำเอาปลาพวกนี้ไปปล่อยในแหล่งน้ำของประเทศตัวเอง โดยหวังว่าจะมีปลาเกมตัวใหญ่ๆ ให้ได้สนุกกัน

และมันก็เหมือนกับเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดอื่น ปลาพวกนี้ถูกนำเข้ามาโดยคน มันเป็นปลาที่มีจุดแข็งมากมาย ทั้งตัวใหญ่มาก เป็นปลากินเนื้อ อยู่ได้ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ อายุยืน และแม้มันจะโตเต็มที่ได้ช้า และวางไข่ปีละ 1 ครั้ง

แต่ปลาเวลส์ตัวเมียที่โตเต็มวัยก็ผลิตไข่ได้หลายแสนฟอง แถมปลาตัวผู้ยังมีพฤติกรรมปกป้องลูกๆ ของมันอย่างดุร้ายอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ พวกมันจึงมีโอกาสรอดชีวิตที่สูงมาก

สุดท้ายปลาเวลส์จึงกลายเป็นหายนะของปลาสายพันธุ์ท้องถิ่น โดยในเคสของฝรั่งเศสปลาพวกนี้จะไปดักรอปลาแซลมอล ในอุโมงปลาของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ! แล้วมันจะกินปลาแซลมอลมากให้ได้ที่สุดเท่าที่มันทำได้

ข้อที่ 4 – ปลาเวลส์ขนาดใหญ่ อยู่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

Advertisements

พอพูดถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล มีปลาเวลส์ตัวใหญ่มากๆ อาศัยอยู่บริเวณบ่อน้ำเย็นของไฟฟ้า หลายคนอาจจินตนาการไปว่า ปลาตัวนั้นได้กลายพันธุ์ไปซะแล้ว แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น สาเหตุที่แท้จริงคือ เพราะพวกมันมีโอกาสเติบโตโดยปราศจากการรบกวนจากมนุษย์ และแม้จะมีการแผ่รังสี แต่ดูเหมือนปลาที่นั้นจะมีสุขภาพดีและเจริญรุ่งเรือง

ภาพของปลาเวลส์และฝูงปลาที่อาศัยอยู่บริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล จะเห็นว่ามันมีอาหารให้กินมากมาย
Advertisements

ข้อที่ 5 – อีกไม่กี่ปีจะไม่เหลือปลาแซลมอนอพยพ

ปลาเวลส์ที่ถือเป็นปลาต่างถิ่นในยุโรปตะวันตก เดิมพวกมันสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศไม่มากนัก แต่ในช่วงหลังพวกมันไม่ได้กินแค่ปลาขนาดเล็ก หรือเศษอาหารอีกต่อไป พวกมันเริ่มไล่ล่าปลาชนิดอื่นอย่างจริงจัง และดูเหมือนปลาที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือฝูงปลาแซลมอน ที่กว่าครึ่งต้องพบจุดจบในท้องของปลาเวลส์พวกนี้

โดยนักวิจัยพบว่า นอกจากปัญหามลภาวะที่เกิดจากการสร้างเขื่อน และการจับปลาที่มากเกินไป ปลาเวลส์พวกนี้ก็เป็นปัญหาเช่นกัน โดยพวกเขาคิดว่าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกราว 10 ปีข้างหน้า ปลาท้องถิ่นจะถูกปลาเวลส์กินจนหมดสิ้น

แน่นอนว่าปลาแซลมอนที่จำเป็นต้องว่ายน้ำผ่านหน้าพวกมัน ก็ต้องพบกับการสูญเสียที่มากขึ้นทุกปี นั้นเพราะปลาเวลส์ไม่เคยมีน้อยลง พวกมันมีแต่จะเพิ่มขึ้น

ข้อที่ 6 – ปลาเวลส์มีพฤติกรรมล่านก

ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นที่แม่น้ำทรานส์ ที่อยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ที่มุมหนึ่งของแม่น้ำจะมีเกาะขนาดเล็กตั้งอยู่ ตรงนั้นจะมีฝูงนกพิราบบินลงมาเพื่อกินน้ำ ซึ่งทุกอย่างก็ดูปกติดี และมันก็เป็นแบบนี้มาหลายร้อยปีแล้ว จนถึงวันที่ปลาเวลส์มาถึง

ปลาเวลส์ ได้เปลี่ยนเกาะแห่งนี้ ให้กลายเป็นพื้นที่การล่าที่ดุเดือดของพวกมัน ปลาเวลส์ที่ผิดปกติฝูงนี้เลือกที่จะล่านกที่อยู่ใกล้น้ำ แทนที่จะล่าปลาที่อยู่น้ำ พวกมันมีพฤติกรรมคล้ายกับวาฬเพชรฆาต ที่จะพุ่งตัวเข้าหาชายหาดเพื่อจับและลากเหยื่อลงในน้ำ

มันเป็นเหตุการณ์ที่ดูพิลึก แต่ดูเหมือนปลาเวลส์พวกนี้จะชอบกินนกพิราบ พวกมันจะคอยสลับกันพุ่งขึ้นจากน้ำ พร้อมกับงับนกพิราบที่โชคร้ายตัวหนึ่ง ก่อนมันจะกระเสือกกระสนกลับลงไปในน้ำพร้อมนกที่อยู่ในปากของมัน ..และวงจรนี้ก็จะวนไปเรื่อยๆ

ข้อที่ 7 – มีปลาเนื้ออ่อนที่มีขนาดใกล้เคียงกับปลาเวลส์ในไทยหรือไม่?

Advertisements

คำตอบคือไม่มี ..แต่ในไทยจะมีปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ 3 ชนิด มันคือ ปลาเค้าขาว ที่ยาวได้ถึง 2 เมตร แต่ขนาดทั่วไปคือ 80 เซนติเมตร อีกสองชนิดคือ ปลาเค้าดำ ที่อาศัยอยู่ตั้งแต่ภาคกลางจนถึงภาคเหนือของไทย ชนิดนี้จะตัวเล็กกว่าปลาเค้าขาว แถมยังใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย

อีกชนิดคือ ปลาเกรตทาปาห์ (Great Tapah) มันเป็นปลาเค้าดำที่อาศัยอยู่ ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยลงไป และจะพบมากในมาเลเซีย เป็นชนิดที่ใหญ่กว่าปลาเค้าขาวบ้านเราซะอีก ถ้าเป็นชนิดนี้อาจใกล้เคียงกับปลาเวลส์ได้

ตัวในภาพคือ ปลาเกรตทาปาห์ (Great Tapah) – Wallagonia leerii / หากเป็นเค้าดำจะชื่อ (Black Sheatfish) – Wallagonia micropogon

คุณสามารถสังเกตุความแตกต่างระหว่าง เค้าดำ กับ เกรตทาปาห์ ตรงที่ เกรตทาปาห์ จะคล้ายกับเค้าขาวมากกว่า มันมีลายยาวสีขาวเหลืองสองถึงสามเส้นพาดไปตามยาวของลำตัวที่เป็นสีดำ ส่วนเค้าดำก็มีลายเช่นกันแต่จะไม่ชัดเจนและตัวก็ป้อมสั้นกว่า

ข้อที่ 8 – เป็นไปได้หรือไม่ที่จะพบปลาเวลส์ในธรรมชาติของไทย

คำตอบคือเป็นไปได้ แต่ยากมาก และถึงจะมีการเลี้ยงและหลุดออกมา พื้นที่ของพวกมันก็อยู่ได้แค่บนดอย เพราะพวกมันเป็นปลาน้ำเย็น หากลงมาบริเวณพื้นราบของไทย มันจะต้องตายเนื่องจากความร้อน จึงค่อนข้างน่าผิดหวัง สำหรับนักตกปลาที่อยากตกปลาชนิดนี้

ข้อที่ 9 – ปลาเวลส์อันตรายต่อมนุษย์หรือไม่?

โดยธรรมชาติแล้วปลาชนิดนี้ไม่ทำร้ายมนุษย์ แต่ด้วยขนาดของมัน และวิธีการกินด้วยการกลืน บางทีมันก็เข้าใจผิดคิดว่ามนุษย์เป็นเหยื่อได้เช่นกัน ซึ่งเคยมีกรณีของชาวประมงชาวออสเตรีย ถูกปลาเวลส์โจมตีในทะเลสาบแห่งหนึ่ง แต่โชคดีที่เขารอดมาได้ แต่ยังไงซะปลาชนิดนี้ก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์

มาถึงท้ายเรื่องขอสรุปเรื่องนี้ซะหน่อย …สำหรับปลาเวลส์ที่ถือว่าเป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันเป็นปลาที่ชอบน้ำเย็นมาก และยังยาวได้ถึง 3 เมตร แต่โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1.5 – 2 เมตร ในขณะที่ปลาน้ำเนื้ออ่อนของไทยที่ใกล้เคียงปลาเวลส์ก็คงเป็นปลาเค้าขาว และปลาเค้าดำ แต่ถึงอย่างนั้น มันก็มีขนาดที่ห่างไกลกันอยู่ดี

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements