8 ปลาลิ้นหมา & ปลายอดม่วง ที่พบได้ในแหล่งน้ำจืดไทย

เมื่อไม่กี่วันก่อน เห็นมีข่าวชาวบ้านได้ไปเจอกับปลาลิ้นหมา แล้วไม่รู้ว่าเป็นตัวอะไร จนสุดท้ายก็เป็นข่าวคร่าวกันไป แต่ก็ไม่แปลกเท่าไร เพราะขนาดผมที่สนใจเรื่องปลา ก็ยังรู้เรื่องของปลาชนิดนี้น้อย แถมยังไม่เคยเห็นมันในธรรมชาติอีกต่างหาก วันนี้ก็เลยขอเอาเรื่องของปลาลิ้นหมาและปลายอดม่วงที่รูปร่างคล้ายๆ กัน มาพูดให้ฟังกันสักหน่อย โดยจะเน้นชนิดที่อาศัยในน้ำจืดและกร่อย ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยดีกว่า ...ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่ง หรือหากต้องการสมัครสมาชิกก็ทำได้เช่นกัน

ปลาลิ้นหมาในสกุล แบร็ค-อิ-รัส (Brachirus) 3 ชนิด

Advertisements

ปลาลิ้นหมาในสกุล แบร็ค-อิ-รัส (Brachirus) อยู่ในวงศ์ปลาลิ้นหมา ที่มีทั้งหมด 18 ชนิด แต่จะมีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น ที่พบได้ในประเทศไทย และอาศัยอยู่ในน้ำจืดจนถึงกร่อย ปลาพวกนี้จะอาศัยอยู่ตามพื้นที่เป็นทราย หรือบริเวณที่มีเศษซากพืชทับถมกันบางๆ มันจะฝังตัวในทรายหรือเศษซากและจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นเฉพาะดวงตา …จึงไม่แปลกที่ในธรรมชาติจะสังเกตุเห็นปลาพวกนี้ได้ยาก

ปลาลิ้นหมาเป็นปลาที่มีวิธีล่าเหยื่อด้วยการดักรอเหยื่ออย่างเงียบๆ เมื่อเหยื่อเข้ามาใกล้จึงโจมตี เป็นปลาไวต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ หากน้ำเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี มันจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำเป็นชนิดแรกๆ ด้วยเหตุนี้ ในสมัยก่อนชาวบ้านริมน้ำจะคอยสังเกตุปลาลิ้นหมา หากปลาชนิดนี้ลอยขึ้นมา แสดงว่าน้ำกำลังจะมีปัญหา เป็นปลาที่จับได้ด้วยการใช้เครื่องมือประมงที่ลากถึงหน้าดิน หรือจากการตกด้วยเบ็ด ต่อไปเป็นข้อมูลของปลาลิ้นหมาในสกุล แบร็ค-อิ-รัส ทั้ง 3 ชนิด

ชนิดที่ 1 – ปลาลิ้นหมาน้ำโขง (Brachirus harmandi)

ปลาลิ้นหมาน้ำโขง หรือ ปลาใบไม้ ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีลำตัวแบนและค่อนข้างกลม พื้นลำตัวมีสีน้ำตาล มีจุดกระขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่้วไป ส่วนขอบจะเป็นจุดที่ใหญ่กว่า แต่จุดจะเล็กกว่าปลาลิ้นหมาปากดำ พบอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นหลัก บริเวณหาดทราย เป็นปลาที่คนท้องถิ่นใช้กิน และมีขายอยู่ในตลาดปลาสวยงาม สถานะการอนุรักษ์ = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาลิ้นหมาน้ำโขง (Brachirus harmandi)

ชนิดที่ 2 – ปลาลิ้นหมา (Brachirus siamensis)

ปลาลิ้นหมา ยาวได้ประมาณ 15 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายปลาลิ้นหมาน้ำโขง แต่ลำตัวจะยาวกว่า พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาล มีจุดกระขนาดเล็กสลับกับลายแต้มสีดำกระจายอยู่ทั่้วไป เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง แต่จะพบได้ยากกว่าปลาลิ้นหมาน้ำโขง เป็นปลาที่พบในตลาดปลาสวยงาม สถานะการอนุรักษ์ = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาลิ้นหมา (Brachirus siamensis)

ชนิดที่ 3 – ปลาลิ้นควาย (Brachirus Panoides)

Advertisements

ปลาลิ้นควาย หรือ ปลาลิ้นหมาน้ำจืด ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำตัวยาวที่สุดในปลาลิ้นหมาสกุลเดียวกัน สีของลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลหม่นจนถึงดำ มีเส้นข้างตรงตลอดแนวลำตัว และมีแขนงสีดำตัดเป็นแนวดิ่ง 6-7 เส้น เป็นปลาที่พบในแม่น้ำตอนล่างใกล้กับปากแม่น้ำของทุกภาค โดยเฉพาะในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง จัดเป็นปลาที่หาได้ค่อนข้างยาก โชคยังดีที่ ทางสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาทได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้อยู่ สถานะการอนุรักษ์ = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาลิ้นควาย (Brachirus Panoides)
Advertisements

ปลาลิ้นหมาในสกุล อะคิรอยด์ (Achiroides) 2 ชนิด

สำหรับปลาลิ้นหมาในสกุลอะคิรอยด์ (Achiroides) อยู่ในวงศ์ปลาลิ้นหมา เป็นปลาที่พบในแหล่งน้ำจืดของไทย 2 ชนิด โดยมีคำอธิบายคล้ายๆ กับปลาตาเดียวในทะเล นั้นคือ เมื่อเริ่มต้นชีวิต มันจะมีตาอยู่สองฝั่งเหมือนกับปลาทั่วไป แต่เมื่อโตขึ้น ตาจากฝั่งซ้ายจะค่อยๆ ขยับจนข้ามมาอยู่ใกล้ตาฝั่งขวา และการใช้ชีวิต ปลาจะคว่ำฝั่งซ้ายเอาไว้ที่พื้น

ปลาในสกุลนี้มีลำตัวรูปไข่และมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสกุลอื่น นอกจากนี้ยังมีครีบหลัง หางและครีบก้นเชื่อมต่อกันรอบตัว มีครีบท้องที่เล็ก ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นทรายในน้ำจืดสนิท เป็นปลาที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ต่อไปเป็นข้อมูลของปลาลิ้นหมาในสกุล อะคิรอยด์ ทั้ง 2 ชนิด

ชนิดที่ 1 – ปลาลิ้นหมาภาคใต้ (Achiroides leucorhynchos)

ปลาลิ้นหมาภาคใต้ ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีลำตัวรูปไข่ พื้นลำตัวมีสีเหลืองอมน้ำตาล มีลายกระสีดำขนาดเล็กและใหญ่กระจายอยู่ทั่วตัว ครีบรอบตัวจะเป็นลายเส้นสีเข้ม และไม่มีจุดอยู่รอบๆ ซึ่งต่างจากปลาลิ้นหมาในสกุลแบร็ค-อิ-รัส เป็นปลาที่พบในแหล่งน้ำภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำที่ไหลลงฝั่งอ่าวไทย จัดเป็นปลาที่หาได้ยากในไทย สถานะการอนุรักษ์ = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาลิ้นหมาภาคใต้ (Achiroides leucorhynchos)

ชนิดที่ 2 – ปลาลิ้นหมาปากดำ (Achiroides melanorhynchus)

Advertisements

ปลาลิ้นหมาปากดำ ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร บริเวณปากจะมีแต้มสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อ เป็นปลาที่มีลำตัวรูปไข่ พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาล มีลายกระขนาดเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วตัว และมีจุดสีดำขนาดค่อนใหญ่อยู่บริเวณขอบรอบตัว เป็นปลาที่พบกระจายพันธุ์อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำทางตะวันออกของไทย จัดเป็นปลาที่หาได้ง่ายกว่าปลาลิ้นหมาภาคใต้ สถานะการอนุรักษ์ = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลาลิ้นหมาปากดำ (Achiroides melanorhynchus)
Advertisements

ปลายอดม่วงในสกุล ไซโนกลอสซัส (Cynoglossus) 3 ชนิด

ปลายอดม่วงไม่ได้อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาลิ้นหมา แต่เห็นว่าหน้าตาคล้ายกันเลยจับรวมเอาไว้ในเรื่องนี้ โดยปลาในสกุล ไซโนกลอสซัส (Cynoglossus) จัดอยู่ในวงศ์ปลายอดม่วง ซึ่งมีมากถึง 67 ชนิด แต่จะพบได้ในแหล่งน้ำจืดและกร่อยของไทยเพียง 3 ชนิด จุดสังเกตุความแตกต่างระหว่างปลาลิ้นหมาและปลายอดม่วงคือ ปลายอดม่วงจะดูเรียวยาวกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ในช่วงแรกของชีวิต ปลายอดม่วงจะมีตาอยู่ทั้งสองฝั่งเหมือนปลาทั่วไป แต่เมื่อโตขึ้นตาฝั่งขวาจะค่อยๆ ข้ามมาอยู่ฝั่งซ้าย แล้วปลาจะคว่ำฝั่งขวาลงกับพื้น เป็นปลาที่มีครีบหลัง หางและครีบก้นเชื่อมต่อกันรอบตัว ปลาเป็นจะงอย มักอาศัยอยู่บริเวณพื้นโครนหรือทราย กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ต่อไปเป็นข้อมูลของปลายอดม่วงในสกุล ไซโนกลอสซัส ทั้ง 3 ชนิด

ชนิดที่ 1 – ปลายอดม่วงเกล็ดถี่ (Cynoglossus microlepis)

ปลายอดม่วงเกล็ดถี่ ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร มีลำตัวยาวคล้ายใบมะม่วง โดยทั่วไปลำตัวจะมีสีน้ำตาลอ่อนอมแดงและไม่มีลวดลาย เกล็ดมีขนาดเล็กมาก ลำตัวด้านล่างมีสีขาว พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อาศัยในแหล่งน้ำที่จืดสนิท พบบริเวณพื้นที่เป็นทราย สถานะการอนุรักษ์ = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลายอดม่วงเกล็ดถี่ (Cynoglossus microlepis)

ชนิดที่ 2 – ปลายอดม่วงลายประ (Cynoglossus feldmanni)

ปลายอดม่วงลายประ ยาวได้ประมาณ 25 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายกับปลายอดม่วงเกล็ดถี่ แต่มีสีลำตัวมีสีเหลืองอ่อนหรือเขียวอ่อน มีลายเส้นสีดำคล้ายลายเสือพาดตามตัว พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชอบอาศัยในน้ำที่จืดสนิทและพื้นเป็นทราย สถานะการอนุรักษ์ = ความเสี่ยงต่ำ (LC)

ปลายอดม่วงลายประ (Cynoglossus feldmanni)

ชนิดที่ 3 – ปลายอดม่วงลายแถบ (Cynoglossus puncticeps)

ปลายอดม่วงลายแถบ ยาวได้ประมาณ 25 เซนติเมตร มีลำตัวป้อมกว่าปลายอดม่วงลายประ จนบางทีก็ถูกเรียกว่าปลาลิ้นหมา มีพื้นลำตัวสีน้ำตาล มีลายแถบเป็นเส้นหนาแบบสุ่มคล้ายลายเสือโคร่ง พบอาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่วยจนถึงเค็ม ตั้งแต่ภาคตะวันออกจนถึงภาคใต้ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ไม่ค่อบพบในเขตน้ำจืดสนิท เป็นปลาที่หาได้ยากที่สุดในปลาที่กล่าวถึงในเรื่องนี้ สถานะการอนุรักษ์ = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)

ปลายอดม่วงลายแถบ (Cynoglossus puncticeps)
Advertisements

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements