เรื่องผิดพลาดเล็กน้อย ที่น้าๆ นักตกปลาอาจจะมองข้ามเพราะคิดว่ามันคงไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก ก็อาจจะมีผลทำให้ปลาหลุดปลาขาดหรือพลาดโอกาสได้รับรางวัลในการแข่งขันไปเลยก็ได้
ดังนั้นทางที่ดีเราควรจะให้ความระมัดระวังและป้องกันเอาไว้ก่อน โดยจะต้องยอมเสียเวลาอีกสักนิด ด้วยการให้ความสนใจเอาใจใส่ในรายละเอียดต่างๆ ที่ดูคล้ายจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย
ซึ่งจริงๆแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตกปลา ที่ไม่มีมือโปรคนไหนจะละเลยหลงลืมเรื่องเหล่านี้ไปได้เลย
หากน้าๆอยากรู้เรื่อง เกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้จ๋อยเมื่อตกปลามีอะไรบ้างไปดูกันเลยได้ที่
-
-
- 1. สายจะต้องเรียงตัวอย่างเรียบร้อยในสปูนตลอดเวลา
- 2. ตรวจเช็คปมเงื่อนและจุดต่อต่างๆ ของสายและเหยื่อ อยู่เสมอ
- 3. ต้องขยันหมั่นตรวจสอบตัวเบ็ด
- 4. ตั้งเบรกให้เหมาะสมก่อนตก
- 5. ตรวจเช็คความสึกกร่อนบนสายเบ็ดและสายลีดเดอร์
- 6. จัดวางอุปกรณ์ประกอบทุกชิ้นให้อยู่ในตำแหน่งพร้อมใช้งาน
- 7. เตรียมอุปกรณ์ตกปลาน้อยไปหน่อย
- 8. ดึงสายออกจากปลายคันอย่างระวัง
-
1. สายจะต้องเรียงตัวอย่างเรียบร้อยในสปูนตลอดเวลา
มีอยู่เพียง 2 โอกาสเท่านั้นที่เราต้องทำการหมุนเก็บสายเบ็ดให้เข้าไปเรียงตัวอยู่ในสปูน โอกาสแรกคือ ในขณะที่เราทำการสู้ปลาด้วยการดึงปั๊มอัดปลาพร้อมกับหมุนเก็บสายเข้าสปูน และโอกาสที่สองก็เมื่อเราทำการกรอสายใหม่เข้าไปบรรจุอยู่ในสปูน
ซึ่งนักตกปลาส่วนมากต่างก็รู้จักถึงวิธีการ “เกลี่ยสาย” ขณะทำการเย่อกับปลาด้วยรอกเบทคาสติ้งและทรอลลิ่งกันดีอยู่แล้ว เพราะถ้าเราไม่ใช้นิ้วช่วยเกลี่ยสาย (ในกรณีของรอกที่ไม่มี “ตัวเกลี่ยสาย”) ให้เข้ามาเรียงตัวจากซ้ายไปขวาๆ
สายเบ็ดที่ถูกเก็บเข้ามาตรงๆ จะกองพูนกันอยู่ตรงบริเวณกลางสปูนนูนสูงขึ้นไปเบียดติดกับคานที่อยู่เหนือสปูน ซึ่งกรณีเช่นนี้ตามปกติมักจะเกิดขึ้นเมื่อสามารถดึงปลาเข้ามาอยู่ใกล้ตลิ่งหรือข้างเรือ และเก็บสายเข้ามาได้มากแล้ว
แต่ในท่ามกลางบรรยากาศของการต่อสู้ที่ดุเดือด หลายคนมักจะลืมคำนึงถึงเรื่องการเกลี่ยสายซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพึงกระทำอยู่ตลอดเวลาในขณะทำการสู้กับปลา
พอปลาเปิดฉากรอบสองกระชากสายออกไปอย่างแรง ก็ทำให้ต้องแสดงหน้าจ๋อยขึ้นมาในทันทีมีเสียงขาดฟืดอยู่ตรงสายเบ็ดที่เบียดติดอยู่ที่คาน
แต่ถึงแม้จะมีตัวเกลี่ยสาย ก็มีโอกาสมากมายที่สายจะไม่เข้าไปอยู่ในสปูนอย่างเรียบร้อย ถึงแม้จะเป็นการเก็บสายกลับมาเฉยๆ ก็ตาม ด้วยเหตุนี้อาจจะต้องคอยดูและใช้นิ้วมือช่วยบ้าง เพื่อให้การตกปลามีความผิดพลาดน้อยลง
2. ตรวจเช็คปมเงื่อนและจุดต่อต่างๆ ของสายและเหยื่อ อยู่เสมอ
แม้จะทำการผูกเงื่อนด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และทำการตรวจเช็คด้วยสายตาที่มองดูเผินๆ เหมือนกับว่าเงื่อนรูปนั้นเรียบร้อยแน่นหนาดีแล้ว แต่วิธีการตรวจเช็คที่ดีที่สุดคือเราจะต้องออกแรงดึง หลังผูกเงื่อนเสร็จทุกครั้ง
เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีอะไรผิดพลาดหากถูกปลากระชากดึงจริงๆ และถ้าเกิดมีความรู้สึกระแวงสงสัยในปมเงื่อนที่ผูก ก็ควรที่จะตัดทิ้งแล้วทำการผูกใหม่ไปเลยจะดีกว่า
หมั่นตรวจเช็คหาร่องรอยความเสียหายตรงบริเวณต่างๆ ทั้งสายและรอยต่อต่างๆ บนสายอยู่เสมอ แม้จะไม่เกิดการต่อสู้ขึ้นก็ตาม เพราะมีอยู่บ่อยครั้งที่สาย ไปโดนอะไรบางอย่างใต้น้ำ หรือกริ๊บหลุดโดยที่เราไม่รู้ตัว จนเมื่อปลากินก็สายไปซะแล้ว
3. ต้องขยันหมั่นตรวจสอบตัวเบ็ด
ในสมัยก่อน ถ้าตัวเบ็ดไม่คม ก็จะมีการลับตัวเบ็ดกัน แต่สมัยนี้ไม่ค่อยจะได้เห็นแล้ว เท่าที่ตกปลา รู้สึกตัวเบ็ดไม่หัก ก็ง้างก่อนจะไม่คม
นักตกปลาที่ดี ไม่ความใช้ตัวเบ็ดที่เกิดความเหนื่อยล้า หรือถ้าง้างแล้ว ยังเอามาดัดกลับ บอกได้เลยว่า โอกาสไม่ได้ตัวปลาจะสูงมาก หากตัวเบ็ดง้าง ควรรีบเปลี่ยนดีกว่า
4. ตั้งเบรกให้เหมาะสมก่อนตก
ตีเหยื่อปลอม น้าต้องตั้งเบรกให้เหมาะสมตั้งแต่แรก ไม่ควรปล่อยเบรกหวาน รอปลากินจึงค่อยปรับขึ้น ตามความเห็นของผมคือ
การตั้งน้ำหนักเบรกราวๆ 70 – 80% ที่คิดว่าสายจะรับได้ ไม่ใช่คิดตามกำลังเบรกรอก ถามว่าเอาอะไรวัด บอกเลยว่าไม่มี ใช้สัญชาตญาณ ดึงออกๆ สายไม่ขาดเป็น OK
มีโอกาสสูงมากหากตั้งกำลังเบรกต่ำไว้ก่อน จะอดได้ปลา วิธีของผมคือ เบรกหนักปานกลางถึงมาก แล้วลดลงเมื่อควบคุมปลาได้แล้ว แน่นอนหากยังไม่สามารถควบคุมได้ การเพิ่มกำลังเบรกอีก ค่อยๆ เพิ่มจนถึงจุดที่คิดว่าสุดแล้ว เมื่อถึงตรงนี้ก็วัดใจกันแล้ว
5. ตรวจเช็คความสึกกร่อนบนสายเบ็ดและสายลีดเดอร์
สามารถตรวจหาสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นกับสายได้อย่างง่ายๆ โดยในทุกครั้งที่กรอเก็บสายหรือดึงสายออกจากสปูน ให้ใช้นิ้วมือหนีบคืบสายบริเวณหน้าสปูนเอาไว้
สายเอ็นที่อยู่ในสภาพปกติไม่มีรอยแตกรอยสึก จะรีดผ่านนิ้วมืออย่างช้าๆ โดยไม่รู้สึกถึงอาการสะดุดแต่ถ้ารู้สึกสะดุดเพียงเล็กน้อยเราก็จะต้องตัดสายส่วนนั้นทิ้งไปเลย แม้จะยาวเพียงใดก็อย่างไปเสียเสียดายมัน
รอยแหว่งและรอยสึกรอยถลอก ที่เกิดขึ้นบนสายเบ็ดและสายลีดเดอร์บางครั้งอาจจะมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุที่เรามองไม่เห็นไมว่าจะเป็นการฉวยเบ็ดจากเจ้าตัวปริศนาที่เราไม่ทันสังเกตเห็นอาการใดๆ เลย
ตัวเหยื่อปลอมที่สะบัดพลิกตัวมาโดนสายเบ็ดเศษขยะที่อยู่ใต้น้ำ หรือแม้แต่สายที่พาดทับเสียดสีกันอยู่ โดยเฉพาะในกรณีหลังนี่ถือได้ว่าเป็นอันตราย เพราะสายเบ็ดสายเล็กๆ จะสามารถเฉือนตัดสายลีดเดอร์โลหะให้ขาดไปได้อย่างสบายๆ
6. จัดวางอุปกรณ์ประกอบทุกชิ้นให้อยู่ในตำแหน่งพร้อมใช้งาน
ในช่วงขณะของการต่อสู้ที่เป็นไปอย่างดุเดือด นักตกปลาไม่มีเวลาที่จะมามัวสงสัยอยู่ว่า อุปกรณ์ที่ต้องการใช้นั้นมันซ่อนอยู่ที่ไหน ทั้งตะขอเกี่ยวปลา บังเหียนสู้ปลา คีมปลดเบ็ด ทุกอย่างต้องมีตำแหน่งวางที่แน่นอนและพร้อมที่จะหยิบใช้งานทันที
ที่สำคัญคือไม่ใช่ตัวคุณคนเดียวเท่านั้นที่รู้ เพื่อนที่ร่วมทริปทุกคนบนเรือก็ต้องรู้ตำแหน่งของมันด้วย
7. เตรียมอุปกรณ์ตกปลาน้อยไปหน่อย
ถ้าตกปลาใกล้บ้าน ตกตามคลอง บ่อน้ำ การที่จะเอาเหยื่อไป 1 – 2 ตัว คงไม่เป็นไร แต่เมื่อต้องไป บ่อตกปลาที่เสียเงิน ตกกลับบ้าน หรือแม้แต่ไปเขื่อน ให้จำคำนี้ไว้เลย “เอาไปเหลือแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แต่ไม่ได้เอามา”
เมื่อเห็นนักตกปลาคนอื่นได้ปลาเยอะแยะด้วยเหยื่อที่เรามี แต่ดันไม่เอามา เพียงเพราะขี้เกียจเอามาเยอะ ผมเจอมาเยอะ สุดท้ายคอตกกลับบ้าน ฉะนั้นเอาไปเยอะๆ เลยดีที่สุด
8. ดึงสายออกจากปลายคันอย่างระวัง
นึกภาพเวลาเราเริ่มตกปลา จะมีบางช่วงที่จะดึงสายออกจากคัน โดยตำแหน่งการดึงอยู่ที่ปลายคันเบ็ด มีนักตกปลาจำนวนมาก ที่คันหักพับลงมาอย่างง่ายดายด้วยการกระทำนี้
ทางแก้คือ อย่าตั้งคันแล้วดึงสายลงมา ให้วางคันในตำแหน่งเอียงๆ แล้วดึงสายออกตรงๆ จะดีกว่า ถ้าไม่อยากให้เกิดเรื่องเศร้า
สรุป: รู้แล้วไม่จ๋อยแน่นอน
เป็นไงกันบ้างครับ กับ 8 ข้อ ที่ควรรู้ รู้ไว้ก่อนจะสาย ถ้าทำตาม 8 ข้อดี ยังไงก็ตกได้ไม่มีพลาดแน่ๆ ขอให้น้าๆ ตกปลากันอย่างมีความสุขนะครับ
ถ้าใครอยากรู้ว่า ตกปลาแบบมือโปรทำอย่างไร ไปต่มดูกันต่อได้ที่ ตกปลา ยังไงให้ได้แบบมือโปร