ชนิดที่ 1 – ปลาหว้าหน้านอ (Bangana behri)
ปลาหว้าหน้านอ เป็นปลาน้ำจืดที่มีหน้าตาประหลาดมากที่สุดชนิดหนึ่งในไทย นั้นเพราะปลาชนิดนี้เกือบจะไม่เหมือนเดิมเมื่อมันโตเต็มวัย โดยเฉพาะในปลาตัวผู้จะมีโหนกและตุ่มเม็ดคล้ายสิวที่โดดเด่นมาก เด่นยิ่งปลาแรดซะอีก เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร
ปลาหว้าหน้านอในวัยเด็กจะไม่มีโหนก หรืออาจมีเพียงเล็กน้อย แถมยังมีลำตัวเรียวยาวคล้ายปลานวลจันทร์น้ำจืด เมื่อโตขึ้นมันจะเริ่มอ้วนและกว้างขึ้น จนมีลำตัวคล้ายยี่สกเทศ แต่ยังไงซะปลาชนิดนี้ก็มีรูปร่างและครีบที่สวยกว่า แถมยังมีหน้าตาที่โดดเด่นมากอีกด้วย
เป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำสายใหญ่ๆ ในประเทศ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำโขง, แม่น้ำสาละวิน ปัจจุบันพบได้ยากในธรรมชาติ แต่โชคดีที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว เป็นปลาเนื้อดี และใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ชนิดที่ 2 – ปลาช่อนเข็ม (Luciocephalus pilcher)
ปลาช่อนเข็ม (Giant pikehead) ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปลาช่อน แต่เพราะมีรูปร่างคล้ายก็เลยได้ชื่อนี้มา โดยปลาช่อนเข็มจะมีอยู่ 2 ชนิด และที่พบในไทยคือ “ลูซิโอเซฟาลัส พัลเชอร์ (Luciocephalus pulcher)” ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีกชนิดที่พบบนเกาะบอร์เนียว
โดยปลาช่อนเข็มในบ้านเราจะมีหัวและจะงอยปากแหลมยื่น จะงอยปากล่างยาวกว่าปากบน ตาโต เกล็ดใหญ่ ลำตัวมีสีน้ำตาลไหม้ มีขนาดความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นปลาที่หากินบริเวณผิวน้ำ โดยอาหารจะเป็นพวกแมลงน้ำขนาดเล็กและสัตว์น้ำขนาดเล็กต่างๆ
พบได้เฉพาะในถิ่นอาศัยแบบพรุดั้งเดิม ตั้งแต่ในป่าพรุโต๊ะแดงภาคใต้ตอนล่างของไทยไปจนถึงแหลมมลายู และแม้จะดูแปลกตา แต่หากต้องการเลี้ยงต้องคิดให้ดี เพราะปลาชนิดนี้เลี้ยงค่อนข้างยาก นอกจากจะเป็นปลาที่อาศัยในป่าพรุแล้ว ยังมีคนอธิบายว่าปลาชนิดนี้ไม่กินเหยื่อตายและยังมีนิสัยดุร้ายอีกด้วย
ชนิดที่ 3 – ปลากะแมะ (Chaca bankanensis)
ปลากะแมะ (Angler catfish) เป็นปลาน้ำจืดที่มีนิสัยคล้ายปลาตกเบ็ดที่พบในทะเลลึก ในประเทศไทยพบปลาชนิดนี้ได้ในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาสที่เดียวเท่านั้น
ปลากะแมะจะอาศัยอยู่ตามท้องน้ำ แปะตัวอยู่บนพื้น ใบไม้ หรืออาจฝั่งตัวเข้าไปเลย และด้วยความที่เป็นปลาที่ล่าเหยื่อเหมือนปลาตกเบ็ด มันจึงมีอุปกรณ์พิเศษนั้นคือหน้าตาที่ประหลาด ตัวแบน ปากใหญ่พิเศษที่มีแรงดูดมหาศาล และยังมีหนวดอีก 2 คู่ ที่ใช้หลอกเหยื่อ
มันจะใช้หนวดที่บางครั้งจะกระดิกให้เหมือนหนอน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหากินอย่างหนึ่งของปลาชนิดนี้ และเมื่อมีเหยื่อหลงกลว่ายเข้าใกล้ ก็จะถูกปากขนาดใหญ่ดูดเข้าไป ทั้งนี้ปลากะแมะจะยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาที่เลี้ยงได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องการสภาพแวดล้อมคล้ายป่าพรุ จึงต้องใช้ความพยายามมากหน่อยหากต้องการนำมาเลี้ยง
ชนิดที่ 4 – ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ (Doryichthys martensii)
สำหรับปลาจิ้มฟันจระเข้ หลักๆ ที่เจอแหล่งน้ำประเทศไทยน่าจะมีอยู่ 3 ชนิดคือ ปลาจิ้มฟันจระเข้, ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ และ ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ แต่ตัวที่จะพูดถึงคือปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธาร และเนื่องจากปลาในสกุลนี้ดูคล้ายม้าน้ำ พวกมันจึงซวย เพราะถูกจับไปทำยาจีนเหมือนกับม้าน้ำอีกด้วย
โดยปลาชนิดนี้มีลำตัวเป็นปล้อง มีหางยาวกว่าลำตัวมาก และมีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแดง มีจุดดำเล็กๆ ระหว่างปล้อง ครีบใส ครีบหางสีน้ำตาลและขอบสีจาง เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร พบอาศัยอยู่ตามลำธารหรือแม่น้ำในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทยไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ชนิดที่ 5 – ปลาเข็มงวง (Hemirhamphodon pogonognathus)
ปลาเข็มงวง หรือ ปลาเข็มช้าง (Forest halfbeak) เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาเข็ม ปลาในวงศ์นี้ทุกชนิดจะไม่สามารถขยับปากบนได้ เวลามันอ้าปากจะมีแค่ปากล่างเท่านั้นที่ถ่างออก ที่ปลายปากล่างของปลาเข็มงวงจะมีติ่งหนังยาวออกมาคล้ายงวงช้างห้อยลงมาด้านล่าง ใต้จงอยปากจะมีริ้วหนังเป็นสี ในปลาตัวผู้จะมีขนาดลำตัวและสัดส่วนของครีบใหญ่กว่าเพศเมีย และยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร
ในไทยปลาเข็มงวงจะอาศัยอยู่เฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดงเท่านั้น มันเป็นปลาที่ชอบว่ายอยู่ตามผิวน้ำและจะรวมเป็นกลุ่มเล็กๆ 10 – 30 ตัว เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาขนาดเล็กชนิดอื่นได้ เนื่องจากไม่ดุร้าย แต่ก็ไม่รู้เป็นอะไรพวกมันชอบงับกันเอง
ชนิดที่ 6 – ปลาหนวดพราหมณ์
ตามข้อมูลปลาหนวดพราหมณ์ที่พบได้ในประเทศไทยจะมีอยู่ 5 ชนิด นั้นคือ ปลาหนวดพราหมณ์เหนือ, ปลาหนวดพราหมณ์ตะวันออก, ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 7 เส้น , ปลาหนวดพราหมณ์ทอง และปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น แต่จะเอามาพูดถึงแต่ 7 เส้น และ 14 เส้น และจะยาวซะหน่อย
และแม้จะบอกว่าปลาหนวดพราหมณ์มีหนวด 7 หรือ 14 เส้น แต่จริงๆ แล้วพวกมันไม่มีหนวดเลย แต่เป็นครีบอกที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการนำร่อง ใช้สำหรับคลำทางและหาอาหาร เนื่องจากปลาชนิดนี้มีสายตาไม่ดีเอามากๆ นั้นเอง เมื่อว่ายน้ำปลาจะกางก้านครีบของมันไปในทิศทางต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าของปลาชนิดนี้
สำหรับปลาหนวดพราหมณ์หนวด 7 เส้น (Polynemus paradiseus) เป็นปลาน้ำกร่อยที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ ส่วนหัวมีขนาดเล็ก ตามีขนาดเล็กและมีเยื่อไขมันคลุม ปากกว้างมีฟันซี่เล็กละเอียดบนขากรรไกร ลำตัวแบนข้าง ครีบอกยาว ส่วนที่เป็นเส้นยาวจะมีความยาวมากกว่าลำตัวถึง 2 เท่า ลำตัวมีสีเงินวาวอมชมพูหรือสีเนื้อ หัวสีจางอมชมพูหรือสีเนื้อ ครีบสีจางด้านท้องสีจาง
เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 15 เซนติเมตร ชอบอยู่เป็นฝูง บางครั้งหากินด้วยการหงายท้องล่าเหยื่อ พบมากในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำโขงตอนล่าง …เป็นปลาที่เลี้ยงยากมาก
และสำหรับปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น หรือ ปลาหนวดพราหมณ์น้ำจืด (Polynemus multifilis) เป็นปลาที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาหนวดพราหมณ์หนวด 7 เส้น เพียงแต่ตัวจะใหญ่กว่า มีหัวสั้นกว่า สีพื้นลำตัวคล้ำกว่า และมีจุดดำอยู่บริเวณเหนือครีบอก
เป็นปลาที่มีครีบอกข้างละ 7 เส้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ พบในบริเวณที่เป็นน้ำจืดมากกว่าน้ำกร่อย จึงสามารถเลี้ยงให้รอดในตู้เลี้ยงมากกว่า ทั้งนี้ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น เป็นปลาที่สวยงามที่มีขนาดที่ใหญ่กว่าปลาหนวดพราหมณ์ 7 เส้น จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม แต่ถึงแม้จะบอกว่าเลี้ยงง่ายกว่า 7 เส้น แต่ก็เลี้ยงยากอยู่ดี มีอัตราการรอดที่น้อย และปลาก็มีราคาที่ค่อนข้างแพง
สำหรับประเทศไทย ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น กลายเป็นปลาหายาก เพราะปลาส่วนใหญ่ถูกจับมาจากธรรมชาติ ซึ่งมีจำนวนลดน้อยลงไปมาก จนในปี 2005 สถานีประมงจังหวัดพิษณุโลก ก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จ
สรุปแล้วทั้ง 7 เส้น และ 14 เส้น สามารถอาศัยได้ทั้งน้ำกร่อยและน้ำจืด โดยในธรรมชาติ 7 เส้นจะอยู่ในน้ำกร่อยเป็นหลัก ส่วน 14 เส้น จะอยู่น้ำจืดเป็นหลัก และ 14 เส้นก็ตัวใหญ่กว่าด้วย ปลาทั้ง 2 ชนิดนี้เหมือนกันมาก หากจับหรือตกได้อาจแยกไม่ออก และถ้าหากคุณตกมันได้ในธรรมชาติ และไม่คิดจะเอามันไปทำอะไร ให้รีบปล่อยมันอย่างรวดเร็ว เพราะปลาชนิดนี้ตายเร็วมาก เพื่อต่อไปอนาคตเราจะเจอพวกมันมากขึ้น