อะไรคือ? ปลาหนวดพราหมณ์ไทย 7 เส้น 14 เส้น และ 28 เส้น

ถ้าพูดถึงปลาหนวดพราหมณ์ หลายคนน่าจะรู้จัก โดยเฉพาะสายตกปลา แต่ก็มีหลายคนที่ไม่เคยเห็นมันเช่นกัน เพราะปลาชนิดนี้หาค่อนข้างยากแล้ว มันเป็นปลาที่รสชาติดี สวยงาม แต่มันเป็นปลาที่เลี้ยงได้ยาก เพราะมันไม่ค่อยอดทนต่อการเปลี่ยนแปลง หรือก็คือมันเป็นปลาที่พร้อมที่จะตายตลอดเวลา เมื่อเอามันขึ้นมาจากน้ำ หรือแม้แต่ย้ายมันไปลงถัง ...และต่อไปนี้จะเป็นเรื่องราวของ ปลาหนวดพราหมณ์ 3 ชนิด ที่พบได้ในประเทศไทย

ปลาหนวดพราหมณ์ คือ ปลากุเลา หรือไม่?

Advertisements

หากนับในระดับ “สกุล” คำตอบคือ “ไม่” จากประสบการณ์ตกปลาของผม เคยพูดคุยกับหลายๆ คน มีคนมากกว่าครึ่ง ที่คิดว่า ปลาหนวดพราหมณ์ ก็คือ ปลากุเลานั้นล่ะ พวกเขาจึงคิดว่ามันก็คงจะอร่อยใกล้ๆ กันนั้นล่ะ แต่ผมว่าปลากุเลา! อร่อยกว่า โดยเฉพาะเมื่อมันกลายเป็นปลาเค็ม แต่! ทั้ง ปลาหนวดพราหมณ์ และ ปลากุเลา ก็ถือว่าอยู่วงศ์เดียวกัน ซึ่งก็คือ “วงศ์ปลากุเลา” หรือ โพลินีมีเด (Polynemidae)

ในขณะที่ “ปลากุเลา” อยู่ในสกุล เอลิวเธอโรเนมา (Eleutheronema) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด แต่จะมีเพียง 1 ชนิด ที่เข้ามาหากินในเขตน้ำจืดและกร่อยของไทย ซึ่งก็คือ ปลากุเลาสี่หนวด (Eleutheronema tetradactylum)

ปลากุเลาสี่หนวด (Eleutheronema tetradactylum)

ส่วน “ปลาหนวดพราหมณ์” อยู่ในสกุล โพลีนีมัส (Polynemus) โดยปลาในสกุลนี้มีอยู่ 8 ชนิด แต่จะพบได้ในไทย 3 ชนิด และจากบันทึกที่เกี่ยวกับปลาหนวดพราหมณ์ ในหนังสือ The fresh-water fishes of Siam, or Thailand ได้ระบุว่า ปลาชนิดนี้มีจำนวนมาก

โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน ทุกๆ วันจะพบปลาหนวดพราหมณ์นับหมื่นนับแสนถูกจับ ขึ้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา …นี่แสดงให้เห็นว่า ในอดีตปลาหนวดพราหมณ์มีเยอะจริงๆ แต่มาตอนนี้มันกลายเป็นหนึ่งในปลาที่หายากและบางชนิดมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์อีกด้วย

ความจริงปลาหนวดพราหมณ์ไม่มีหนวด!

ปลาหนวดพราหมณ์ จริงๆ แล้วไม่มีหนวดสักเส้น ที่เห็นเป็นเส้นยาวๆ ที่เราเข้าใจว่าเป็นหนวดของปลา ที่จริงมันเป็นครีบอกที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการนำร่อง ใช้สำหรับคลำทางและหาอาหาร เนื่องจากปลาชนิดนี้มีสายตาไม่ดีเอามากๆ นั้นเอง

โดยก้านครีบ ที่เข้าใจว่าเป็นหนวด ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของปลาชนิดนี้ เมื่อว่ายน้ำปลาจะกางก้านครีบของมันไปในทิศทางต่างๆ เป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าของปลาหนวดพราหมณ์ มันสวยงามและแปลกตา

ปลาหนวดพราหมณ์

โดยปกติปลาชนิดนี้มีคนรู้จักน้อย เพราะพบได้ค่อนข้างยากในธรรมชาติ พวกมันไม่ค่อยทนทานต่อสภาพน้ำที่มีคุณภาพตํ่า พูดง่ายๆ คือถ้าน้ำไม่ดีปลาชนิดนี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่ระยะหลังปลาชนิดนี้เริ่มได้รับความสนใจจากคนเลี้ยงปลาสวยงามมากขึ้น และกรมประมงเองก็สามารถเพาะพันธุ์ได้อีกด้วย จึงช่วยให้พวกมันสามารถเพิ่มประชากรได้บ้าง …แต่ถึงอย่างงั้นมันก็เป็นปลาที่ตายง่ายอยู่ดี

ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 7 เส้น คืออะไร?

ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 7 เส้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ โพลีนีมัส พาราไดซ์ยูส (Polynemus paradiseus) เป็นปลาน้ำกร่อยที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ เป็นชนิดที่หาได้ยากที่สุดในปลาหนวดพราหมณ์ที่พบในไทย

ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีลำตัวสีเหลืองทอง ซึ่งต่างจากปลาหนวดพราหมณ์ชนิดอื่น ส่วนหัวค่อนข้างเล็ก ตามีขนาดเล็กอยู่เกือบสุดปลายส่วนหัวและมีเยื่อไขมันคลุม ปากกว้างมีฟันซี่เล็กละเอียดบนขากรรไกร ลำตัวแบนข้าง มีครีบอก 7 เส้น เส้นยาวที่สุดอาจยาวกว่า 2 เท่า ของลำตัว

เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ใหญ่สุดอาจถึง 20 เซนติเมตร ชอบอยู่เป็นฝูง บางครั้งหากินด้วยการหงายท้องล่าเหยื่อ ในไทยพบในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันถือเป็นปลาหายากของไทยและตายง่าย

ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น คืออะไร?

Advertisements

ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น ชื่อวิทยาศาสตร์ โพลีนีมัส อะควิโลนาริส (Polynemus aquilonaris) มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาหนวดพราหมณ์หนวด 7 เส้น เพียงแต่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่า หัวมีขนาดสั้นกว่า สีพื้นลำตัวคล้ำกว่า และมีจุดดำอยู่บริเวณเหนือครีบอก

เป็นปลาที่มีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร พบใหญ่สุด 30 เซนติเมตร ครีบอกที่เป็นเส้นยาวพบข้างละ 7 เส้น รวมกันเป็น 14 เส้น จึงเป็นที่มาของชื่อ พบในบริเวณที่เป็นน้ำจืดมากกว่าปลาหนวดพราหมณ์หนวด 7 เส้น จึงสามารถเลี้ยงให้รอดได้ง่ายกว่า

ในปี พ.ศ. 2548 สถานีประมงจังหวัดพิษณุโลก สามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ โดยรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรีดไข่และน้ำเชื้อ ก่อนจะนำมาอนุบาลจนกระทั้งฟักเป็นตัว ด้วยเหตุนี้ ปลาชนิดนี้จึงมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 28 เส้น คืออะไร?

ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 28 เส้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ โพลีนีมัส มัลติฟิลิส (Polynemus multifilis) ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร ลักษณะเด่นคือ จะมีก้านครีบยาวฝั่งละ 14 เส้น รวมเป็น 28 เส้น แต่อาจพบฝั่งละ 13 หรือ 15 และการนับแต่ละข้างก็อาจจะไม่สมมาตรกัน

ตามข้อมูลระบุว่า เป็นปลาหนวดพราหมณ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในวงการปลาสวยงาม โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ แน่นอนปลาและพ่อแม่พันธุ์ ถูกรวบรวมมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งแหล่งจับหลักก็อยู่ในไทย …ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 28 เส้น เป็นปลาที่ชอบหากินอยู่ตามหน้าดิน โดยเฉพาะบริเวณพื้นทรายหรือดิน พบในแม่น้ำเจ้าพระยาและบริเวณปากแม่น้ำสะแกกรัง

ปลาหนวดพราหมณ์

สรุปได้ว่า ทั้ง 7 เส้น 14 เส้น และ 28 เส้น สามารถอาศัยได้ทั้งน้ำกร่อยและน้ำจืด โดย 7 เส้นจะอยู่ในน้ำกร่อยเป็นหลัก ส่วน 14 เส้น และ 28 เส้น จะอยู่น้ำจืดเป็นหลัก … 7 เส้นหายากที่สุด แต่ก็ไม่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม อาจเพราะเลี้ยงยากด้วย สุดท้ายหากตกปลาชนิดนี้ได้ในธรรมชาติ และไม่คิดจะเอามันไปทำอะไร ก็ขอให้รีบปล่อยมันกลับอย่างรวดเร็ว อย่าไปขังมันไว้ดูเล่น เพื่อต่อไปอนาคตเราจะเจอพวกมันมากขึ้น

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements