1. ปลาหมอสีคางดำ (นำเข้าเป็นอาหาร)
ถ้าพูดถึงปลาหมอสีคางดำ ผมว่ามันน่าจะเป็นสัตว์รุกรานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในไทย เพราะในบางพื้นที่มันมีเยอะสุดๆ บางคนบอกทำไมไม่กินมันล่ะ? คำตอบคือถ้าแค่กิน คุณไม่มีวันกินทันมันเกิดใหม่ เพราะต้องกินและจับขายจริงจัง แน่นอนตอนนี้ไม่มีใครรับซื้อ
การมาถึงไทยของปลาหมอสีคางดำเป็น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี พ.ศ. 2549 บริษัทได้รับอนุญาติจากกรมประมงให้นำเข้ามาในไทยได้ ซึ่งเป็นปลาที่มาจากสาธารณรัฐกานา จนในปี พ.ศ. 2553 บริษัทได้แจ้งว่า “ปลาเริ่มตายเเละทำลายซากหมดเเล้ว” และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรุกราน .. อ่านเพิ่มเติม
ในตอนนี้ปลาหมอสีคางดำ จัดเป็นปลาห้ามเลี้ยงเด็ดขาด บทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (ความจริงยังมีปลาหมอสีอีกหลายชนิด)
2. ปลาดูดกระจก (นำเข้าเพื่อเลี้ยงสวยงาม)
ปลาดูดกระจก หรือ ปลาซัคเกอร์ ต้องบอกว่ามันไม่ได้น่ากลัวเหมือนเมื่อหลายปีก่อนแล้ว เนื่องจากปลาชนิดนี้เริ่มถูกคนกิน จนในหลายพื้นที่เรียกว่าเกือบจะสูญพันธุ์ แต่ในบางพื้นที่มันก็ยังเยอะอยู่
โดยปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในฐานะปลาสวยงาม แต่ใครจะรู้ว่ามันจะโตได้ตัวใหญ่มาก จนเมื่อเลี้ยงอยู่สักพัก คนเลี้ยงก็มักจะปล่อยมันสู่แห่งน้ำธรรมชาติ สุดท้ายก็มีเต็มไปหมด
ตามประวัติ ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาโดย กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ได้มีการนำเข้า ปลาซัคเกอร์มาจากประเทศบราซิลเข้ามาในบ้านเรา “โดยเจตนาเลี้ยงเพื่อให้มัน ทำความสะอาดตู้ปลา” ปีที่นำมาคือปี พ.ศ. 2520 ก็ประมาณ 45 กว่าปีก่อน .. อ่านเพิ่มเติม
“สำหรับตอนนี้กรมประมงได้ประกาศให้เป็นปลาต้องห้ามสำหรับเลี้ยงและจำหน่าย (แต่ก็มีเลี้ยงและจำหน่ายอยู่ดี) และรณรงค์ให้นำไปปรุงเป็นอาหาร ในปัจจุบันมีผู้นำไปหลอกขายเป็นปลาปล่อยตามวัด โดยเรียกว่าปลาราหู” และในตอนนี้ก็มีเลี้ยงเพื่อส่งออกแล้วเช่นกัน
3. ปลาจาระเม็ดน้ำจืด (นำเข้าเพื่อเป็นอาหาร)
สำหรับปลาจาระเม็ดน้ำจืด หรือ ปลาคู้ หรือ ปลาเปคู้ (โปรตุเกส: Pacu) มีประวัติค่อนข้างน่าสนใจ เพราะมันถูกนำเข้ามาโดยกรมประมง ซึ่งเริ่มในปี พ.ศ 2539 เพราะคิดว่าจะสามารถนำมาเป็นอาหารได้
แน่นอนว่าได้ส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงเพื่อขาย แต่แล้วมันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะปลาชนิดนี้โตเร็วมาก ตัวใหญ่ แต่คนไทยไม่นิยมกินเลย ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นปลาที่ขายไม่ได้ในตลาด .. สรุปคือเลี้ยงเพื่อทิ้ง
จนถึงปี พ.ศ. 2565 ปลาจาระเม็ดน้ำจืด ก็ยังคงอยู่ที่ “ฟิชชิ่งเวิลด์” โดยมีการเปิดให้ตกเป็นช่วงๆ ด้วยเหตุนี้ปลาจาระเม็ดน้ำจืดจึงยังพบได้น้อยในธรรมชาติ .. อ่านเพิ่มเติม
4. หอยเชอรี่ (นำเข้าเพื่อเลี้ยงสวยงาม)
แรกเริ่มเดิมที “หอยเชอรี่” ถูกนำเข้ามาในฐานะหอยที่กำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลา ซึ่งเป็นช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2525 – 2526 หอยเชอรี่ถูกนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ จากนั้นปี พ.ศ. 2530 หอยเชอรี่ก็เริ่มมีคนเลี้ยงขยายพันธุ์เป็นสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการบริโภค
แต่ในช่วงเวลานั้น ตลาดไม่ยอมรับและคนไม่นิยมกิน เลยทำให้หอยขายไม่ได้ จนถึงปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหอยเชอรี่ก็ทำลายนาข้าวอย่างหนัก
หลังจากที่หอยได้ใจมานาน ซึ่งก็ผ่านมาหลายปี ในที่สุดคนไทยก็เริ่มรู้วิธีกินหอยเชอรี่ให้อร่อย มันได้ถูกควบคุมด้วยเมนูเด็ดของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น ก้อยหอยเชอรี่ ยำหอยเชอรี่ ยำสลัดตะไคร้หอยเชอรี่ และยังโดนถล่มโดย “นกปากห่าง” ที่ย้ายมาอยู่ไทย เพื่อกินหอยโดยเฉพาะ สรุปคือมันกลายเป็นอาหารราคาแพงไปแล้ว .. อ่านเพิ่มเติม
5. พีค็อกแบส (นำเข้าเพื่อกีฬาตกปลา)
พีค็อกแบส น่าจะเป็นปลาชนิดเดียวในไทยที่ถูกนำเข้ามาเพื่อการตกปลา โดยจุดเริ่มต้นเป็นบ่อตกปลาที่ราชบุรี ซึ่งเป็นเรื่องเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แต่ครั้งนั้นปลายังอยู่ในบ่อและมีจำนวนน้อย หลังจากนั้นไม่นาน (ไม่มีข้อมูลปีที่ยืนยันได้)
ปลาชนิดนี้ก็ถูกนำเข้ามาโดยนักตกปลาชาวไต้หวัน เขาได้นำมันมาปล่อยที่อ่างเก็บน้ำพุหวาย ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังมีปลาชนิดนี้อยู่ ..จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็หลายปี พีค็อกแบสชุดแรกๆ เริ่มแพร่ขยายพันธุ์จนเต็มไปหมด ใหม่ๆ ชาวบ้านก็ด่าหาว่าไอ้ลาย (พีค็อกแบสในชื่อไทย) มากินปลาเขาไปหมด
แต่แล้วก็สามารถจับขายได้ โดยพ่อค้าปลาสวยงามรับซื้อ แต่! ก็ไม่นาน เพราะพีค็อกแบสเยอะ สุดท้ายไม่มีราคา และมันก็เริ่มขยายไปอ่างเก็บน้ำอื่นๆ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม แต่ยังโชคดีที่พวกมันไม่ขยายหนักจนน่ากลัว เนื่องจากขยายพันธุ์ได้ช้ากว่าพวกปลาหมอสีคางดำ และชาวบ้านจับกิน สุดท้ายจึงมากมากในบางพื้นที่ .. อ่านเพิ่มเติม
เอาละก็จบแล้วสำหรับเรื่องนี้ คงต้องบอกว่า ประเทศไทยมีปัญหากับสัตว์รุกรานน้อยมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อาจเพราะคนไทยมีความสามารถในการกิน การปรุงอาหาร รวมทั้งกฎการจับสัตว์น้ำมีความเข้มงวดน้อย หากสัตว์พวกนี้ไม่แข็งแกร่งจริงๆ ก็ถูกควบคุมโดยการกินเสมอ ตัวอย่างเช่นตั๊กแตนที่เคยบินผ่านไทย จนชาวนาไทยกลัวกัน แต่สุดท้ายก็โดนจับกินหมด