ปลากระสูบ 4 ชนิด ที่พบได้ในแหล่งน้ำประเทศไทย

เชื่อว่ามีคนจำนวนมากรวมทั้งผมด้วยจะรู้จักปลากระสูบอยู่ 2 ชนิด นั้นคือ กระสูบจุด และ กระสูบขีด ปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในปลาเกมที่นักตกปลาไทยตกได้มากที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่าแหล่งน้ำจืดไทยยังมีปลากระสูบแปลกๆ อีก 2 ชนิด เดี๋ยวผมจะมาเล่าเรื่องราวของปลากระสูบพวกนี้ให้ฟัง

ปลากระสูบ

ปลากระสูบคืออะไร?

Advertisements

ปลากระสูบหรือปลาสูด มีชื่อสกุลว่า Hampala (แฮม-พา-ลา) จัดเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียนเพียงกลุ่มเดียวที่เป็นนักล่าเต็มตัว พวกมันเป็นนักล่าที่ว่องไวเป็นอย่างมาก เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาดเล็ก กุ้ง หรืออาจกินแมลงน้ำด้วย และด้วยความที่ไม่ใช่ปลาฟันคม มันจะฮุบกลืนเหยือเข้าไปทั้งตัว หากเหยื่อตัวใหญ่เกินไปมันจะติดคอตาย

สำหรับปลากระสูบทุกชนิดที่พบในประเทศไทย จะมีรูปร่างที่คล้ายกัน โดยเฉพาะบริเวณหางจะเป็นแผ่นสีแดงจะตัดตรงขอบบนและล่างด้วยสีดำ และสิ่งที่ต่างกันของพวกมันแบบที่เห็นได้อย่างชัดเจน ลายบนลำตัว จึงทำให้จำแนกชนิดได้ไม่ยากนัก แต่เพราะบางทีลายก็หายไปจึงอาจสร้างความสับสนได้เช่นกัน

ปลากระสูบขีด

ปลากระสูบเป็นปลาที่แข็งแรง ว่ายน้ำเร็ว แต่ความจริงเป็นปลาที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ ทั้งแหล่งอาศัยที่หลากหลาย เช่น อาจพบได้ในคลองบางแหล่ง ในเขื่อน หรือในแหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำแรงๆ ในน้ำตก ในลำธารที่ลึกแค่หน้าแข้งก็อาจพบพวกมันได้ บางทีอาจพบในบ่อน้ำเลยก็เป็นได้ แถมยังอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำตื้นจนถึงลึกมากๆ แต่ถึงอย่างงั้นพวกมันก็ต้องการน้ำที่สะอาดพอสมควร

นอกจากนี้พวกมันยังดูเหมือนเป็นปลาที่ชอบรวมฝูง ซึ่งอาจรวมกันหลายร้อยตัว หรืออาจเป็นฝูงเล็กๆ 2 – 3 ตัว หรืออาจอยู่แบบโดดเดี่ยว ทั้งนี้นักตกปลามักคิดว่าปลากระสูบที่อยู่ตัวเดียว จะเป็นกระสูบตัวใหญ่ แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะกระสูบตัวเล็กก็อยู่ตัวเดียวได้ มันขึ้นอยู่กับแหล่งอาศัยด้วย

และในวงการตกปลาอาจเรียกกระสูบตัวโตๆ ที่อยู่ตัวเดียวหรือฝูงเล็กๆ ว่ากระสูบโทน …ประมาณว่าขอให้ตัวใหญ่ก็เรียกว่ากระสูบโทนได้หมดนั้นละ อยากจะเรียกยังไงก็เรียกไปเหอ

หากถามว่าชนิดที่พบได้มากที่สุดในไทยคือชนิดไหน? ผมคิดว่าน่าจะเป็น “กระสูบขีด” โดยส่วนตัว 90% ของปลากระสูบที่ผมตกได้จะเป็นกระสูบขีด ส่วนปลากระสูบจุดแทบไม่เคยได้ กับอีก 2 ชนิดยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยได้สักตัว

ชนิดที่ 1 – ปลากระสูบขีด – Hampala macrolepidota

ปลากระสูบขีด (Hampala barb) ยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร หรืออาจยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร จัดเป็นปลากระสูบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และยังเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดอีกด้วย ลูกปลากระสูบขีด จะมี 4 ขีด ซึ่งจะพาดผ่านดวงตา หลังเหงือก กลางลำตัวและโคนหาง จนเมื่อโตขึ้นขีดเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปจนเหลือเพียงขีดที่ลำตัว และเมื่อตัวใหญ่มากปลาบางตัวจะไม่มีขีดเหลืออยู่เลย โดยเฉพาะกับปลากระสูบขีดที่พบในภาคใต้

จากคำอธิบายในหนังสือปลาน้ำจืดไทยของ ดร.นนท์ ผาณิตวงศ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับปลากระสูบขีดว่า เป็นนักล่าที่น่าเกรงขามที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นปลาที่มีทั้งความเร็วและความฉลาม มันสามารถอาศัยร่วมกับผู้คนได้ดี

โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนเล่นน้ำเยอะๆ อย่างที่ลำน้ำแม่วงก์ บริเวณแก่งลานนกยูง จังหวัดกำแพงเพชร จะพบปลากระสูบขีดว่ายคลอเคลียอยู่ในบริเวณที่คนเล่นน้ำ ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะหวังให้คนเหยียบหินให้พลิกไปมา จะได้กินกุ้งหรือปลาที่แอบอยู่ใต้หินได้ง่าย

โดยปกติแล้ว ปลากระสูบขีดที่อาศัยอยู่ในลำธารหรือในแหล่งน้ำที่ไหลค่อนข้างแรง พวกมันจะชอบอยู่ตัวเดียวหรืออาจเป็นฝูงเล็กๆ แต่ในกรณีน้ำนิ่ง เช่นในทะลสาบ อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ปลาพวกนี้มักจะรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ซึ่งอาจมีหลายร้อยตัวหรือนับพันตัวเลยก็ได้ เมื่อพวกมันขึ้นสู่ผิวน้ำ จะสังเกตเห็นได้จากระยะไกล เพราะจะเหมือนน้ำเดือดเป็นระยะทางยาว

ด้วยความที่ปลากระสูบขีด สามารถพบได้เกือบทุกแหล่งน้ำในประเทศไทย จึงทำให้เป็นหนึ่งในปลาเกมยอดนิยมมากที่สุดในไทย อาจจะพอๆ กับปลาช่อนเลยด้วยซ้ำ ในเรื่องเอามากินถือว่าไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก เนื่องจากเป็นปลาที่มีก้างเยอะมาก

ชนิดที่ 2 – ปลากระสูบจุด – Hampala dispar

สำหรับปลากระสูบจุด (Spotted hampala barb) ถือว่าพบได้ยากกว่าปลากระสูบขีดพอสมควร เนื่องจากพบได้ในบางพื้นที่เท่านั้น โดยหลักๆ จะพบได้ที่ลุ่มแม่น้ำโขงหรือจังหวัดทางภาคอีสาน และอาจพบได้ทางตอนล่างของลุ่มน้ำแม่กลอง ส่วนตัวอย่างแรกที่ได้รับการอธิบายก็มาจากแม่น้ำมูล

ปลากระสูบจุด มีรูปร่างคล้ายปลากระสูบทั่วไป แต่เมื่อเทียบกับกระสูบขีดแล้ว กระสูบจุดจะมีลำตัวและส่วนหัวที่ป้อมสั้นกว่าและยังมีจุดสีดำขนาดใหญ่กลางลำตัว เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร

ชนิดที่ 3 – ปลากระสูบสาละวิน – Hampala salweenensis

Advertisements

ปลากระสูบสาละวิน เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นปลาที่ถูกอธิบายจากตัวอย่างที่พบในแม่น้ำแม่สุรินทร์ ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำปาย ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นปลาที่พบได้เฉพาะในลุ่มแม่น้ำสาละวินฝั่งไทยและพม่า แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดกาญจนบุรี และอาจพบได้ในแม่น้ำสุริยะ

ปลากระสูบสาละวิน / cr.ดร.นนท์ ผาณิตวงศ์

สำหรับปลากระสูบสาละวิน จะมีรูปร่างใกล้เคียงกับปลากระสูบจุด มีรูปร่างป้อมสั้น และหัวค่อนข้างโตกว่าเมื่อเทียบกับกระสูบขีด จุดเด่นที่ทำให้ต่างไปอย่างชัดเจนคือ ปลากระสูบสาละวินจะมีแถบสีดำกลางลำตัว บริเวณโคนหาง และแถวๆ เหงือก ปลากระสูบสาละวินมีชื่อเรียกอื่นเช่น ปลากระสูบสามขีด ซึ่งถือว่าตรงกับลักษณะของปลาชนิดนี้

ชนิดที่ 4 – ปลากระสูบหลังดำ – Hampala sp.Black-backed

ปลากระสูบหลังดำ เป็นปลากระสูบหายากที่สุดชนิดหนึ่งในไทย และแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ก็แทบจะไม่มีเช่นกัน ซึ่งผมจะอธิบายจากที่ ดร.นนท์ ผาณิตวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือปลาน้ำจืดไทย

ปลากระสูบหลังดำมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีลักษณะใกล้เคียงกับปลากระสูบขีด แต่จำนวนเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัวจะมีน้อยกว่า ลายบริเวณหลังเป็นสีดำมีฐานกว้างและสั้นลักษณะคล้ายอ้านม้า ไม่เป็นขีดยาวเหมือนปลากระสูบขีด นอกจากนี้ยังมีลายแนวนอนจางๆ ตามแนวเส้นข้างลำตัว ซึ่งไม่พบในปลากระสูบชนิดอื่นในประเทศไทย

ปลากระสูบหลังดำ / cr.Weerachart Rimsakul

หากปลากระสูบหลังดำมีขนาดใหญ่ ลายบริเวณหลังมักจะจางจนหายไป จนกลายเป็นปลากระสูบสีเงิน ในส่วนหางสีแดงและขอบสีดำจะไม่สดเท่ากับปลากระสูบขีด ในกรณีที่เอาไปเลี้ยง ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็จะกลายเป็นปลากระสูบสีเงิน และหางก็เกือบใสด้วย

เป็นปลาที่พบตามแม่น้ำสายเล็กๆ ทางภาคใต้ ในเขตจังหวัดที่มีแม่น้ำไหลลงฝั่งทะลอันดามัน เช่น ระนอง กระบี่และพังงา และสำหรับกระสูบหลังดำ อาจยังไม่ได้รับการอธิบายในอนุกรมวิทาน

จากทั้ง 4 ชนิด ก็พอที่จะสรุปได้ว่า ปลากระสูบขีดคือชนิดที่ตัวใหญ่และพบได้มากที่สุดในไทย ส่วนกระสูบจุดก็มีพอประมาณ แต่ผมเองก็ไม่ค่อยจะตกมันได้เท่าไร ยิ่งปลากระสูบสาละวินและกระสูบหลังดำ ที่พบได้เฉพาะในบางแหล่งน้ำยิ่งไม่เคย แต่ผมว่าใครที่อยู่ทางภาคใต้ หรือแถวแม่น้ำสาระวินก็คงจะเคยจับปลาพวกนี้ได้เช่นกัน …ส่วนจะจับได้ง่ายหรือมากแค่ไหนก็มาเล่าให้ฟังกันหน่อยนะครับ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements