26 ปลาต่างถิ่น ที่พบในธรรมชาติของไทย

ปลาต่างถิ่น 26 ชนิด ที่กำลังจะพูดถึงนี้ ไม่ใช่ทั้งหมดที่เข้ามารุกรานไทย มันเป็นเพียงชนิดเด่นๆ เท่านั้น ทีแรกว่าจะใส่ระดับภัยพิบัติลงไปด้วย แต่เพราะข้อมูลบางชนิดน้อยไปหน่อย เลยไม่เอาดีกว่า และหากดูเรื่องนี้จนจบ ถ้าคิดว่ายังขาดปลาชนิดไหน ก็คอมเมนท์บอกกันได้นะครับ ...เอาล่ะมารู้จักปลาทั้ง 26 ชนิดกัน

1. ปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

Advertisements

ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เดิมพวกมันอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงชายฝั่งทะเล เป็นปลาที่ทนต่อความเค็มสูง และยังอาศัยในน้ำจืดหรือแม่น้ำได้ด้วย

การมาถึงไทยของปลาหมอสีคางดำ เริ่มมาจาก บริษัท CPF ในช่วงปี พ.ศ. 2549 พวกเขาได้รับอนุญาติจากกรมประมงให้นำเข้าปลาชนิดนี้เข้าไทยได้ จนในปี พ.ศ. 2553 บริษัทได้แจ้งว่า “ปลาเริ่มตายเเละทำลายซากหมดเเล้ว” และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรุกราน

ปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron)

ข่าวการระบาดของปลาหมอสีคางดำเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าหน่วยงานจะทุ่มงบนับล้านเพื่อรับซื้อปลาหมอสีคางดำ หรือจะเป็นการใช้สารเคมีเพื่อลดจำนวนปลาก็ไม่เป็นผล เพราะมันขยายพันธุ์ได้ดีกว่าปลานิลซะอีก และที่สำคัญคนไทยไม่นิยมกินปลาหมอสีคางดำ

2. ปลาซัคเกอร์ (Hypostomus plecostomus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

แรกเริ่มปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาโดยกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม พวกเขาได้มีการนำเข้าปลาซัคเกอร์ มาจากประเทศบราซิล “โดยมีเจตนาเลี้ยงเพื่อให้พวกมันทำความสะอาดตู้ปลา” ซึ่งปีที่นำเข้ามาคือ ปี พ.ศ. 2520 แต่อาจมีการนำเข้ามาก่อนโดยไม่มีการบันทึกไว้

โดยปลาในวงศ์นี้มีมากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่มีปัญหามากที่สุดคือ ปลาซัคเกอร์ธรรมดา เนื่องจากมันตัวใหญ่และทนทานมาก พวกมันอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก แม้ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำเกินกว่าที่ปลาส่วนใหญ่จะอยู่ได้ แม้แต่ในคลองน้ำเสียของประเทศไทย ก็แทบจะไม่ทำให้มันมีปัญหาในการก่อตั้งอาณานิคมเลยด้วยซ้ำ

ปลาซัคเกอร์ (Hypostomus plecostomus)

ปลาซัคเกอร์จะทำลายหรือกินไข่ปลาและลูกปลาที่มีขนาดเล็ก จนเป็นเหตุให้ปลาท้องถิ่นหลายชนิดในประเทศไทย มีประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วปลาในประเทศไทยหลายชนิด มักจะวางไข่ติดตามรากไม้หรือก้อนหิน แต่ปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่กินซากพืชซากสัตว์ หรือตะไคร่น้ำที่ติดตามวัสดุต่างๆ ดังนั้นไข่ปลาที่ติดอยู่จึงถูกกินไปด้วย

3. ปลาพีค๊อกแบส (Cichla monoculus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

พีค็อกแบสอาจเป็นปลาชนิดแรกๆ ในไทย ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อกีฬาตกปลา โดยจุดเริ่มต้นเป็นบ่อตกปลาที่ราชบุรี ซึ่งเป็นเรื่องเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ครั้งนั้นปลายังอยู่ในบ่อและมีจำนวนที่น้อย หลังจากนั้นไม่นาน ปลาชนิดนี้ก็ถูกนำเข้ามาโดยนักตกปลาชาวไต้หวัน เขาได้นำมันมาปล่อยที่อ่างเก็บน้ำพุหวาย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีปลาชนิดนี้อาศัยอยู่จำนวนมาก

จากวันนั้นพีค็อกแบสชุดแรกๆ เริ่มแพร่ขยายพันธุ์จนเต็มไปหมด มันอยู่ตามอ่างเก็บบางแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม และแหล่งน้ำเล็กๆ ใกล้เคียง แต่ยังโชคดีที่พวกมันไม่ขยายจนน่ากลัว เนื่องจากขยายพันธุ์ได้ค่อนข้างช้า ประกอบกับมีเนื้อที่ดี ชาวบ้านจึงตกและจับกินบางส่วน สุดท้ายจึงมีมากในบางพื้นที่เท่านั้น

4. ปลาหมอมายัน (Cichlasoma urophthalmus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

Advertisements

ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid) จัดเป็นปลาหมอสีที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร และอาจใหญ่ได้ถึง 30 เซนติเมตร เป็นปลาที่ทนทานอย่างเหลือเชื่อ อยู่ได้แม้ออกซิเจนต่ำ เป็นนักล่าที่เก่ง มีนิสัยดุร้ายหวงถิ่น

ปลาหมอมายัน (Cichlasoma urophthalmus)
Advertisements

ปลาหมอมายันเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง พบประวัติการรุกรานในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยจับได้ที่คลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางขุนเทียน และมีการจับได้โดยชาวประมงในปี 2549 โดยใช้ลอบ ข่าย และเบ็ดตกปลา จัดเป็นปลาที่มีอันตรายต่อระบบนิเวศไทยอย่างมาก แต่ยังไม่เท่าปลาหมอสีคางดำในตอนนี้

5. ปลาหมอบัตเตอร์ (Heterotilapia buttikoferi) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia) เป็นปลาหมอสีที่มีขนาดใหญ่ มีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก มันตัวใหญ่กว่าปลาหมอสีคางดำ และปลาหมอมายัน แต่โชคยังดีที่มันอร่อยกว่า ถ้าจับได้แนะนำให้เก็บไปกินซะ

ปลาหมอบัตเตอร์ (Heterotilapia buttikoferi)

เป็นปลาหมอที่มีหน้าตาคล้ายปลานิลที่สุด ในประเทศไทยปลาหมอบัตเตอร์ จัดเป็นปลาหมอสีที่มีราคาถูก จึงมีคนนำพวกมันไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งที่มีมากมาย ในบางเขื่อนโดยเฉพาะในเขื่อนศรีนครินทร์ คุณจะตกปลาหมอบัตเตอร์ ได้มากกว่าปลานิลซะอีก และมันก็ตัวใหญ่มากด้วย

6. ปลาเรนโบว์เทราต์ (Oncorhynchus mykiss) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาเรนโบว์เทราต์ หรือ ปลาเทราต์สายรุ้ง (Rainbow trout) เป็น 1 ใน 100 สายพันธุ์รุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก และปลาชนิดนี้ก็พบได้แล้วในประเทศไทย โดยมันถูกนำมาทดลองเลี้ยงโดยโครงการหลวง บริเวณสถานีเพาะเลี้ยงใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2541

ปลาเรนโบว์เทราต์ (Oncorhynchus mykiss)
Advertisements

จากการสำรวจมีการพบลูกปลาหลุดออกมาจากบ่อเลี้ยง นอกจากนี้ยังเคยมีการตกปลาขนาดใหญ่ได้บริเวณท้ายน้ำลงมา ซึ่งถือว่าอันตรายต่อปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบนดอย แม้จำนวนปลาที่หลุดออกมาจะไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับปลาท้องถิ่นที่ถือว่าเป็นปลาต้นน้ำ

7. ปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

Advertisements

ปลาหมอเทศ (Mozambique tilapia) ก็เป็นอีกชนิดที่คล้ายปลานิลมากๆ แต่จะมีรูปร่างที่เล็กกว่า เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดของปลาหมอเทศและปลานิลคือ ปากของปลาหมอเทศจะยาวกว่า และไม่มีแถบหรือลายบนครีบแต่มีปื้นสีจางบนแก้มของปลาตัวผู้

ปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus)

ปลาหมอเทศมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา แถวๆ แอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ และถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 โดยนำมาจากปีนัง เพื่อส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพ แต่มีความนิยมน้อยกว่าปลานิล เนื่องจากเนื้อค่อนข้างแข็งและมีขนาดตัวเล็ก จนในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการนำเอาปลาหมอเทศไปผสมข้ามสายกับปลานิล จนเกิดเป็น “ปลานิลแดง”

8. ปลาเฉา (Ctenopharyngodon idella) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาเฉา เฉาฮื้อ (Grass Carp) ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร แต่โดยเฉลี่ยจะยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร มีรูปร่างยาวทรงกระบอก ส่วนหัวเล็กและกลมมน ในช่องคอมีฟันที่แข็งแรง และไม่มีหนวด

ปลาเฉา (Ctenopharyngodon idella)

ตามบันทึก ในปี พ.ศ. 2465 ปลาเฉาถูกนำเข้ามาในประเทศไทย ทางเรือสำเภาโดยชาวจีนผ่านทางฮ่องกง จากนั้นก็ถูกนำเข้ามาเลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ประกอบอาหาร ต่อมากรมประมงได้ทดลองเพาะขยายพันธุ์ด้วยการฉีดฮอร์โมนจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2509 จึงได้มีการขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ในประเทศได้สำเร็จจนถึงปัจจุบัน โดยที่ปลาจะไม่สามารถไข่เองตามธรรมชาติแต่จะเกิดจากการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นเท่านั้น

9. ปลาลิ่น (Hypophthalmichthys molitrix) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาลิ่น หรือ ปลาเกล็ดเงิน (Silver Carp) มีขนาดประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่เคยพบใหญ่สุด 100 เซนติเมตร เป็นปลาที่ชาวจีนนิยมบริโภคเพราะมีรสชาติดี แม้ว่าจะมีก้างเยอะก็ตาม

ปลาลิ่น (Hypophthalmichthys molitrix)
Advertisements

ปลาลิ่นถูกนำเข้ามาในประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ. 2465 – 2475 โดยถูกนำเข้ามาพร้อมกับชาวจีนทางเรือสำเภา ต่อมากรมประมงและคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการทดลองผสมเทียมขึ้นจนประสบความสำเร็จ

10. ปลาซ่ง (Hypophthalmichthys nobilis) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาซ่ง ปลาซ่งฮื้อ หรือ ปลาหัวโต (Bighead carp) ขนาดทั่วไปคือ 60 เซนติเมตร แต่ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยจับและบันทึกเอาไว้คือ 146 เซนติเมตร โดยปลาซ่งเป็นปลาที่มีลักษณะเดียวกับปลาลิ่น ทั้งมีขนาดและถิ่นกำเนิดในแหล่งเดียวกัน แต่ทว่าปลาซ่งจะมีส่วนหัวที่โตกว่าปลาลิ่น และส่วนท้องมนกลมไม่เป็นสันแคบเหมือนปลาลิ่น

ปลาซ่ง (Hypophthalmichthys nobilis)

ตามบันทึกปลาซ่งถูกนำเข้าประเทศไทยในช่วงเดียวกับปลาลิ่น หรือช่วงปี พ.ศ. 2465-2475 โดยเรือสำเภาชาวจีนจากเมืองซัวเถา ต่อมากรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการฉีดฮอร์โมนและผสมเทียม ซึ่งปลาในธรรมชาติจะไม่วางไข่เองเช่นกัน

11. ปลาหลีอื้อ (Cyprinus carpio) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาหลีอื้อ หรือ ปลาไน หรือ ปลาคาร์ปธรรมดา (common carp) เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียน เชื่อว่าเป็นปลาที่มนุษย์เลี้ยงเป็นชนิดแรกของโลกเพื่อเป็นอาหาร โดยเลี้ยงในประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว เป็นปลาพื้นเมืองของประเทศจีนตะวันตกและภูมิภาคยุโรปตะวันออก

ปลาหลีอื้อ (Cyprinus carpio)

ในประเทศไทยถูกนำเข้ามาโดยชาวจีนที่เดินทางมาทางเรือ เพื่อเป็นอาหาร และได้ถูกเลี้ยงครั้งแรกในพื้นที่แถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อยในธรรมชาติของไทย

12. ปลายี่สกเทศ (Labeo rohita) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลายี่สกเทศชื่อเดิมปลาโรหู้ เป็นปลาพื้นเมืองของประเทศอินเดีย ในอดีตมีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำลำธารของรัฐเบงกอลและรัฐออริสา

ปลายี่สกเทศในบ้านเราก็ถูกนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2511 จำนวน 19 ตัว และ ในปี พ.ศ. 2512 จำนวน 250 ตัว ทั้งนี้กว่ายี่สกไทยจะประสบผลสำเร็จในการผสมเทียม ก็เป็นปี พ.ศ. 2517 และต้องรอจนถึงปี พ.ศ. 2533 จึงจะถึงจุดที่สามารถขยายพันธุ์ได้มากพอที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ปลายี่สกเทศ (Labeo rohita)

ในขณะที่ยี่สกเทศถูกปล่อยไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 มาถึงตรงนี้ยี่สกเทศเข้ามาแทนที่ปลายี่สกไทย จนหลายคนคิดว่ามันเป็นปลาพื้นเมืองของไทยไปแล้ว

13. ปลาเปคูแดง และ เปคูดำ / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ตามบันทึกระบุว่า ปลาเปคูเข้ามาในไทยโดยกรมประมงเมื่อปี พ.ศ 2539 เพื่อนำมาส่งเสริมให้เป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่ เพราะคิดว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว และเมื่อนำไปปรุงอาหารรสชาติก็ดี คาดว่าจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300-400 บาท แต่แล้วมันก็ไม่เป็นไปดังหวังแม้แต่นิดเดียว เพราะราคาขายจริงไม่ถึง 50 บาทด้วยซ้ำ

สำหรับประเทศไทยในตอนนี้มี เปคูอยู่ 2 ชนิด หนึ่งคือ เปคูแดง ซึ่งถือว่ามีมากที่สุด มันยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร อีกชนิดคือ เปคูดำ ตัวนี้จะใหญ่กว่าอ้วนกว่า ยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร และทั้งสองก็มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำโอริโนโคซึ่งเป็นแม่น้ำสาขา เป็นปลาที่กินเก่ง กินทุกอย่าง มันจึงน่ากลัว

14. ปลาหางนกยูง (Poecilia reticulata) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

ปลาหางยูงถูกนำมาเลี้ยงในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่มีบันทึกวิธีการนำเข้าหรือใครเป็นผู้นำปลาชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย โดยปลาหางนกยูงถูกมองว่าเป็นปลาสวยงามตั้งแต่แรก และในสมัยนั้นจะเรียกปลาหางนกยูงว่า “ปลาเจ็ดสี” ซึ่งเรียกตามลักษณะที่แท้จริงของปลาชนิดนี้ และคนสมัยนั้นก็จำได้ง่าย

ปลาหางนกยูง (Poecilia reticulata)

ปลาหางนกยูง มีความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร มีจุดเด่นอยู่ที่ครีบหางที่มีขนาดใหญ่ โดยปลาตัวผู้และตัวเมียจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ตัวผู้จะมีลำตัวขนาดเล็กกว่ามาก แต่จะมีสีสันและครีบที่สวยงามกว่ามากเช่นกัน ในขณะที่ตัวเมียใหญ่กว่า ในเรื่องสีสันและครีบก็มีความสวยงามก็น้อยกว่า

แต่เดิมแล้วจะพบปลาหางนกยูงได้ในทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ พวกมันจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดจนถึงน้ำกร่อยที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ เป็นปลาที่อยู่กันเป็นฝูง และหากินบริเวณผิวน้ำโดยกินทั้งพืชและสัตว์น้ำ รวมถึงแมลงหรือตัวอ่อนแมลงขนาดเล็ก

15. ปลาในสกุลปลามอลลี่ / ปลาเซลฟิน (Poecilia) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

ปลาในสกุลปลามอลลี่หรือปลาสอดและปลาเซลฟิน มีอยู่มากมายหลายชนิด พวกมันเป็นปลาขนาดเล็กและค่อนข้างสวยงาม มีขนาด 4 – 10 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือและกลาง พบตามปากแม่น้ำและเขตน้ำกร่อยในเขตฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ไม่มีหลักฐานถึงช่วงเวลาการมาถึงประเทศไทยของปลาชนิดนี้ แต่คาดว่าน่าจะหลังปลาหางนกยุง เป็นปลาที่สามารถเติบโตและขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมักพบตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย พบมากในแหล่งน้ำกร่อยปากแม่น้ำและในนากุ้ง เป็นปลาที่สร้างปัญหาให้กับปลาท้องถิ่นไทยที่มีขนาดใกล้เคียงกันอย่างปลาข้าวสาร เป็นเหตุให้มีจำนวนลดน้อยลง

16. ปลานิล (Oreochromis niloticus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

ปลานิลถือเป็นปลาต่างถิ่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ความจริงมันเป็นปลาเพียงไม่กี่ชนิดที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทยได้อย่างแท้จริง แต่เพราะมีปลานิลอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมหาศาล มันก็ทำให้ปลาท้องถิ่นไทยจำนวนมหาศาลต้องหายไปเช่นกัน

โดยถิ่นเดิมของปลานิลคือลุ่มแม่น้ำไนล์ทางตอนเหนือและกลางของทวีปแอฟริกา แต่ปลาชนิดนี้ถูกส่งมาโดย จักรพรรดิอากิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งปลานิล จำนวน 50 ตัว ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ปี พ.ศ. 2508 จากนั้นก็มีการทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ จนในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”

โดยปลานิลจะยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร มีลำตัวสีเงินอมฟ้าออกเทา มีลายที่ไม่ชัดเจน 6 – 7 แถบ ครีบต่างๆ โดยเฉพาะหางจะมีสีชมพู ทั้งนี้ปลานิลในปัจุบันแตกต่างจากเดิมไปมาก เนื่องจากมีการพัฒนาสายพันธุ์ออกไปมาก ทั้งโตเร็วขึ้น เนื้อเยอะขึ้น หัวเล็กลง มีเนื้อออกสีชมพูแลดูน่ากิน เป็นหนึ่งในปลาที่คนไทยนิยมกินมากที่สุด

17. ปลาดุกรัสเซีย (Clarias gariepinus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

ปลาดุกรัสเซีย บ้านเกิดไม่ได้มาจากรัสเซียที่เป็นเมืองหนาว แต่มันเป็นปลาพื้นเมืองของทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นเมืองร้อน แต่มันกลับถูกเรียกปลาดุกรัสเซียอย่างติดปาก ปลาดุกชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่ อาจหนักได้ถึง 10 กิโลกรัม

ปลาดุกรัสเซีย (Clarias gariepinus)

เป็นปลาดุกมีลักษณะลำตัวเรียวยาว หัวใหญ่และแบน กะโหลกเป็นตุ่มๆ ไม่เรียบ กระดูกท้ายทอยมีลักษณะเป็นหยัก 3 หยัก ตัวมีสีเทาไม่มีจุดประตามลำตัว เมื่อโตขึ้นจะปรากฏลายคล้ายหินอ่อน มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก ต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมได้ดี ราคาถูกกว่าปลาดุกบิ๊กอุย …เป็นปลาที่ชอบถูกเอาไปปล่อยทำบุญจนสร้างปัญหามากมายให้กับแหล่งน้ำ

18. ปลาดุกบิ๊กอุย (Clarias gariepinus x Clarias macrocephalus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

ปลาดุกบิ๊กอุย เป็นปลาดุกลูกผสมระหว่าง พ่อพันธุ์ปลาดุกรัสเซีย กับแม่พันธุ์ปลาดุกอุย ซึ่งเป็นปลาพื้นเมืองของไทย มีลักษณะภายนอกคล้ายปลาดุกอุยแต่เนื้อสู้ไม่ได้ จุดสังเกต คือ กะโหลกท้ายทอยจะแหลมเป็นหยักเช่นเดียวกับปลาดุกรัสเซีย เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทนทานต่อโรคเช่นเดียวกับปลาดุกรัสเซีย แต่มีเนื้อคล้ายปลาดุกอุย คือ เนื้อออกสีเหลือง นุ่ม รสชาติพอใช่ได้ เป็นปลาที่ชอบเอาไปทำปลาดุกย่างแทนปลาดุกอุยที่แพงกว่า

ปลาดุกบิ๊กอุย (Clarias gariepinus x Clarias macrocephalus)

19. ปลาเรดเทล (Phractocephalus hemioliopterus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาเรดเทล (Redtail catfish) เป็นปลาที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลากดคังของไทย แม้พวกมันจะต่างกันหลายจุดก็ตาม โดยปลาเรดเทลถือเป็นปลากดที่มีขนาดใหญ่และสวยชนิดหนึ่ง พวกมันอยู่ในวงศ์ปลากดอเมริกาใต้ หรือก็คือในวงศ์เดียวกับปลาพิไรบ้า

ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีรูปร่างส่วนหัวแบนกว้างและใหญ่ ปากมีขนาดใหญ่ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดง ปลายหางและครีบหลังมีสีแดงจัด อันเป็นที่มาของชื่อ เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1.5 เมตร และเพราะหัวโตมาก น้ำหนัก 1 ใน 4 ของตัวปลา จะเป็นน้ำหนักของหัว

ปลาเรดเทล (Phractocephalus hemioliopterus)

ในประเทศไทย ปลาชนิดนี้ยังนิยมนำมากินแทนปลากดคัง เนื่องจากปลาเรดเทลเลี้ยงง่ายและยังเติบโตได้เร็วกว่า อีกทั้งยังมีรสชาติที่ดีพอได้ นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เลี้ยงรวมในตู้ของปลานักล่าเขตร้อน และยังมีการผสมข้ามสายกับปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Pseudoplatystoma fasciatum) จนทำให้เกิดลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา

20. ปลาอัลลิเกเตอร์ (Atractosteus spatula) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาอัลลิเกเตอร์ (Alligator gar) หรือที่คนไทยชอบเรียกว่าปลาปากจระเข้ เป็นปลาน้ำจืดกินเนื้อขนาดใหญ่ โดยปลาอัลลิเกเตอร์ มีจุดเด่นที่ส่วนปากคล้ายกับจระเข้ รูปร่างกลมยาว ตากลมสีดำ บริเวณลำตัวจรดหางคล้ายปลา เป็นปลาที่มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 180 เซนติเมตร ตัวใหญ่ที่สุดแบบที่ไม่ได้รับการบันทึกที่ถูกต้องคือ 420 เซนติเมตร แต่ตัวที่มีบันทึกอย่างถูกต้องคือ 300 เซนติเมตร

ปลาอัลลิเกเตอร์ (Atractosteus spatula)

จัดเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดต่างๆ เช่น แม่น้ำหรือทะเลสาบ มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐฟลอริดา และหลุยส์เซียนา ในประเทศไทย ปลาชนิดนี้พบได้ในธรรมชาติ แต่ก็ไม่บ่อยนัก แต่ด้วยความที่เป็นปลาขนาดใหญ่จึงเป็นอันตรายต่อปลาท้องถิ่นอย่างมาก

21. ปลากระโห้เทศ (Catla catla) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลากระโห้อินเดีย หรือ ปลากระโห้เทศ (Calta) จัดเป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียน มีรูปร่างคล้ายกับปลากระโห้ที่เป็นพบในประเทศไทยมากที่สุด แต่ปลากระโห้เทศจะมีสีลำตัวที่อ่อนกว่าและมีหนวด 1 คู่ เหนือริมฝีปาก เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1.8 เมตร ซึ่งเล็กกว่ากระโห้ไทย มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น รัฐอัสสัมในอินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ จนถึงพม่า

ปลากระโห้เทศ (Catla catla)

ปลากระโห้ชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในไทยในช่วงเวลาเดียวกับนวลจันทร์เทศและยี่สกเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นปลาเศรษฐกิจ แต่หลังจากที่พยายามอยู่นาน ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปลากระโห้เทศเลี้ยงยาก และยังโตช้า สุดท้ายจึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก คงเหลือแต่เลี้ยงเพื่อเป็นปลาแปลก ปลาสวยงาม แน่นอนว่าพบพวกมันได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และมักทำให้สับสนว่าเป็นปลากระโห้ไทย

22. ปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Pseudoplatystoma fasciatum) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Tiger shovelnose) เป็นน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์ปลากดอเมริกาใต้ เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1.3 เมตร มีลำตัวเรียวยาว ส่วนหัวแบน ปากยื่นออกมาคล้ายเสียม มีหนวด 3 คู่ มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลเทา ลายสีดำคาดขวางลำตัว คล้ายลายของเสือโคร่งอันเป็นที่มาของชื่อ

ปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Pseudoplatystoma fasciatum)

ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในลุ่มน้ำแอมะซอน ในทวีปอเมริกาใต้ ในไทยจะนิยมเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลาไทเกอร์” จัดเป็นปลาที่ขี้อายแต่ก็ก้าวร้าวเช่นกัน ชอบกินปลาชนิดอื่นเป็นอาหาร หากต้องการเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น ควรเลี้ยงในพื้นที่ขนาดใหญ่ และยังเป็นปลาที่มักเอาไปผสมเทียมกับปลาชนิดอื่น จนได้เป็นปลาสายพันธุ์แปลกๆ ออกมา …แน่นอนว่าอาจพบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยได้

23. ปลาอะราไพม่า (Arapaima gigas) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลาอะราไพม่า (Arapaima) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “ปลาช่อนอะแมซอน” เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์อะราไพม่า (Arapaimidae) โดยปลาในวงศ์นี้จะมี 6 ชนิด แน่นอนว่าชนิดที่คนไทยรู้จักมากที่สุดก็คือ “อะราไพม่า กิกะ – Arapaima gigas” มันเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ชาวพื้นเมืองจะเรียกมันว่า ปีรารูกู (Pirarucu)

โดยปลาอะราไพม่าชนิดนี้ มีลักษณะคล้ายปลาช่อน แต่ตัวใหญ่กว่ามาก มันไม่มีหนวดซึ่งแตกต่างจากอะราไพม่าชนิดอื่นที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน จัดเป็นปลาที่มีอัตราการเติบโตที่เร็วมาก ภายในเวลาเพียง 1-2 ปี สามารถเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นถึง 3-5 เท่าได้ และปลาที่ยาวที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 4.5 เมตร หนักกว่า 400 กิโลกรัม

ปลาอะราไพม่า (Arapaima gigas)

การมาถึงไทยของปลาชนิดนี้ ตามที่มีการบันทึกไว้ ปลาถูกนำเข้ามาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 (1986) และมันก็ได้รับความนิยมอย่างมากในปีต่อมา จนทุกวันยังพบพวกได้มากมายในไทย โดยปลาเกือบทั้งหมดจะอยู่ในบ่อดิน – บ่อปูน หรือไม่ก็ตู้ปลาขนาดใหญ่มาก และมีการจับได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่หลายครั้ง เป็นปลาที่คนไทยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และมันก็เป็นปลาเกมราคาแพงที่นักตกปลาอยากตกเช่นกัน

24. ปลาหางไหม้อินโด (Balantiocheilos melanopterus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่แน่ชัด

ปลาหางไหม้อินโด เป็นปลาอีกชนิดที่คนไทยคิดว่าเป็นปลาท้องถิ่นของไทย แต่ความจริงมันถูกนำเข้ามาแทนที่ปลาหางไหม้ไทย ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยปลาหางไม้อินโดมีลำตัวออกสีเงิน ครีบทั้งหมดจะเป็นครีบใสและมีขอบสีดำ ปลาพวกนี้เราจะเห็นได้ตามร้านขายปลาสวยงาม พวกมันเลี้ยงง่ายและราคาถูก

และก็เป็นดังชื่อ ปลาหางไหม้อินโดถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโด นิยมเลี้ยงในตู้ปลาแม่น้ำจึงมีการปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยมากเช่นกัน เป็นปลาที่เริ่มหาได้ยากแม้ในถิ่นกำเนิดของมัน

25. ปลากินยุง (Gambusia affinis) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้

ปลากินยุง (Mosquitofish) มีลักษณะคล้ายปลาหางนกยูง แต่ปลากินยุงมีขนาดที่ใหญ่กว่า ปากแหลมกว่าและปลายปากจะเชิดขึ้นด้านบน ปลากินยุงเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่ทวีปอเมริกาเหนือ มีพฤติกรรมเหมือนปลาหางนกยูง ในประเทศไทยพบในห้วย, หนอง, คลอง, บึง หรือในที่ ๆ ที่แหล่งน้ำไม่สะอาด มีออกซิเจนต่ำ

ปลากินยุง (Gambusia affinis)

26. ปลานวลจันทร์เทศ (Cirrhinus cirrhosus) / ขยายพันธุ์ในธรรมชาติไม่ได้

ปลานวลจันทร์เทศ เป็นปลาที่ยาว 50 – 60 เซนติเมตร อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายปลานวลจันทร์ ที่พบได้ในประเทศไทย

ปลานวลจันทร์เทศเป็นปลาพื้นเมืองของทางเหนือของภูมิภาคเอเชียใต้ พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำคงคา, แม่น้ำสินธุจรดถึงแม่น้ำอิรวดีของพม่า ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2523 จำนวน 100 ตัว โดยอธิบดีกรมประมงในขณะนั้น พบได้ทั่วไปในแห่งน้ำจืดของไทย แต่ก็ไม่มากนัก

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements