พื้นฐานตกปลาด้วยเท็กซัสริก กับแมวบ้าตกปลา

ก็เพราะว่าชอบตกปลาด้วยเทคนิค เท็กซัสริก (Texas Rig) ก็เลยมีบทความเรื่องนี้บ่อยหน่อย แต่ต้องบอกว่า เทคนิคพวกนี้มีเยอะแยะไปหมด โดยเรื่องนี้ผมทำออกมาเป็นคลิป เป็นส่วนการแนะนำตกปลาคร่าวๆ ก่อน โดยไม่ได้ลงรายละเอียดพื้นฐานมาก ถ้าอยากดูพื้นฐานสุดๆ สามารถคลิกอ่าน “วิธีตกปลาด้วยเท็กซัสริกฉบับชาวบ้าน” ส่วนในคลิปนี้เป็นการเริ่มต้นตกปลาด้วยเท็กซัสริก ตี วิธีดูหมายเล็กๆ น้อยๆ การลาก ส่วนตกวัด ส่งสายคงต้องขอให้สังเกตดูจากการตก

ตกปลาช่อน มีเทคนิคมากมายที่จะสามารถตกมันได้ ไม่ว่าจะเป็นกบยาง กบกระโดด กระดี่เหล็ก และเหยื่ออื่นๆ อีกมากมาย แต่เทคนิคที่ถือเป็นศิลปะ เทคนิคที่ต้องใช้จินตนาการ ประสาทสัมผัส ในระดับที่สูง มีเพียงไม่กี่เทคนิคเท่านั้น และหนึ่งในนั้นคือ เท็กซัสริก (Texas rig)

ตกปลาช่อน ทำไมถึงต้อง เท็กซัสริก

Advertisements

วิธีการเข้าสายเกี่ยวเหยื่อยางมีมากมายหลายวิธีเหลือเกิน องค์ประกอบหลักคือ ชนิดเหยื่อที่ใช้ กับวิธีการสร้างแอ็คชั่น บางวิธีใช้กับการจอดเรือคร่อมบริเวณที่ปลาอยู่แล้วหย่อนเหยื่อลงไปสร้างแอ็คชั่นอยู่กับที่

บางวิธีใช้สำหรับบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล แต่สำหรับการตกปลาช่อนบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีตีส่งเหยื่อออกไปจากริมฝั่งแล้วลากกลับเข้ามา ดูเหมือนการเข้าสายแบบเท็กซัสริก (TEXAS RIG) จะค่อนข้างเหมาะสมและได้ผลดีเป็นที่คุ้นเคยกับนักตกปลาช่อน ที่สำคัญมันทำได้ไม่ยาก อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบก็หาได้ทั่วไป สุดท้ายก็คือตัวนักตกปลากับปลา

ตกปลาช่อน


ปัญหาที่พบในการใช้เหยื่อปลอม ตกปลาช่อน บ้านเราคือ

1. อุปสรรคต่างๆ ในแหล่งน้ำ เหยื่อปลอมประเภทที่พวงเบ็ด หรือคมเบ็ดโชว์ตัว ทำตัวเป็นเทศบาลเก็บกวาดทุกอย่างที่ก้นบ่อขึ้นมาดูเล่น ตั้งใจตกปลาช่อน แต่ตีไปไม่กี่สิบไม้ ถุงพลาสติก หญ้า สาหร่าย พืชใต้น้ำอื่น ๆ กองพะเนินอยู่ข้างตัวแทนปลา ได้แต่จุ๊ยปาก จิ๊กจั๊ก ๆ บ่นพึมพำ ปลดขยะเสร็จตีไปใหม่ เบ็ดสะบัดมาเกี่ยวสายเข้าให้อีกลากยังไงเหยื่อก็ไม่ออกแอ็คชั่น เซ็งอะดิ

2. ปลาช่อน บ่อนี้ทำไมมันรู้มากจัง เปลี่ยนสารพัดเหยื่อ กระดี่ก็แล้ว ปลายางก็แล้ว ปลั๊กดำตื้นก็แล้ว ไม่เอาเลย เวลากัดโดนนิดเดียวก็โดดถลุยเหยื่อทิ้งกันเห็นๆ มันช่างหยามน้ำหน้ากันชัด ๆ

3. หมายที่เข้าวันนี้มันรกจริง ๆ ผักบุ้ง ผักตบ ใบบัว เต็มไปหมด มีช่องเปิดให้เห็นน้ำนิดเดียว ปลาช่อนก็ดันขึ้นจิบให้เห็นถี่ยิบ จะส่งเหยื่ออะไรเข้าไปดีเนี่ย กลัวจะลากกลับมาทั้งกอ

ตกปลาช่อน ด้วยเท็กซัสริก ดียังไง..?

กล่าวถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของความเป็น เท็กซัสริก อยู่ 2 ประการ คือ

  1. เวลาเกี่ยวเหยื่อยางต้องซ่อนคมเบ็ด
  2. Worm Weight (ตะกั่วที่ออกแบบสำหรับเหยื่อยาง มีหลุมอยู่ด้านท้ายให้ครอบไปบนหัวเหยื่อยาง) เวลาใช้งาน จะอยู่ติดหรือครอบไปบนหัวเหยื่อยาง

เพื่ออะไร ? ไม่มีอะไรซับซ้อน…

Advertisements
  1. น้ำหนักของตะกั่วช่วยให้ส่งเหยื่อไปได้ไกล และตรงเป้าหมายมากขึ้น
  2. ประเด็นสำคัญ ด้วยรูปทรงของตะกั่ว Worm Weight ทำให้เหยื่อยางเดินผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในแหล่งน้ำไปได้อย่างสะดวกถึง

สารพัดริก (RIG) หลาย ๆ รูปแบบ มีการเกี่ยวเหยื่อแบบซ่อนคมเบ็ด
เบ็ดจะไม่ไปเกี่ยวอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนปลาจะเข้ากัด

แต่ริกแบบ เท็กซัส เวลาลากหรือกระตุก (Jerk) ตะกั่วจะอยู่ที่หัวเหยื่อยาง ช่วยในการ แหวก มุด ลอด ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

แล้วทำไมไม่ใส่อุปกรณ์ที่ล็อคให้ตะกั่วติดกับหัวเหยื่อไปเลย
เช่น ไลน์สต๊อปเปอร์ ? ..ตามใจเลย เลือกใช้ตามสะดวก


ใส่ลูกปัดทำไม ?

Advertisements
  1. ป้องกันปมเงื่อนมุดเข้าไปติดคาอยู่ในตะกั่ว จะทำให้เหยื่อไม่เป็นอิสระ ออกแอ็คชั่นไม่เต็มที่ เวลาตวัดตะกั่วอาจยังอยู่ในปากปลาด้วย ทำให้เบ็ด Hook เข้าปากปลายากขึ้น ตามทฤษฎีเวลาตวัด ตะกั่วควรวิ่งตามสายออกจากปากปลาไป
  2. ป้องกันปมเงื่อนช้ำ ลดโอกาสสายขาดบริเวณปมเงื่อน
  3. ลูกปัดบางชนิด เวลากระทบกับตะกั่วจะเกิดเสียง เรียกความสนใจจากปลา

ไม่ใส่ได้ไหม.? ..ได้เช่นกัน ตามอัธยาศัยครับ

 

ตกปลาช่อน เท็กซัสริก

ปลาช่อน กับ เท็กซัสริก เมืองไทย

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนเอาเทคนิคอย่าง เท็กซัสริก มาใช้ตกปลาช่อนในไทยเป็นคนแรกๆ ย้อนไปสักหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีนักตกปลาหลายคนเริ่มใช้เหยื่อยางแบบจริงจัง ๆ และสมัยนั้นรูปแบบของเหยื่อยางส่วนใหญ่จะเลียนแบบตัวหนอน กับไส้เดือน

ก็เลยเรียกนักตกปลาผู้นิยมเหยื่อเหล่านั้นว่า “โปรฯ หนอนยาง”

นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอมทั่วไป มักถูกถ่ายทอดกันมาว่า ตีส่งเหยื่อออกไปแล้ว เวลากรอสายกลับ ให้ชี้ปลายคันลงน้ำ เพื่อให้เหยื่อออกแอ็คชั่นเต็มที่ (ยกเว้นเหยื่อบางประเภทต้องใช้ปลายคันช่วย) และเวลาปลากัด จะได้ตวัดเซ็ทฮุคได้ทันที

แต่เมื่อได้มีโอกาสเห็นโปรฯ หนอนยางตกปลาช่อน เล่นเอายืนงง เขาทำอะไรของเขา ตีเหยื่อออกไปแล้วยกปลายคันขึ้นสูง แล้วมีการกระตุก ๆ ยึก ๆ เป็นภาพที่ดูแปลกตามาก

แต่ที่ตาเปิด เห็นแสงสว่างขึ้นมา ก็คือ “ไอ้การประกอบเหยื่อแบบนี้มันลุยไปได้ทุกที่จริงๆ ไม่ติด ไม่เกี่ยว อุปสรรคใดๆ เลย”

บางเหลี่ยมบางมุมที่เราคาดว่ามีปลาช่อนซุ่มอยู่ แต่ดูแล้วมันรกเหลือใจ เขาก็ยังส่งเหยื่อเข้าไปได้อย่างหน้าตาเฉย เหยื่อตกน้ำแล้วทิ้งไว้สักพัก ไล่สายตึงแล้วเริ่มขยับปลายคันเบา ๆ ตึ้ก !!! ฟองฟ่อด……

ต่อเมื่อผมมาเริ่มใช้เหยื่อยางตกปลาช่อนด้วยสไตล์เท็กซัสริก ผ่านไปประมาณสัก 10 ทริป ภาพแปลกตา ก็กลายเป็นภาพชินตาไปได้

นิยามส่วนตัวที่ว่า การตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง คือการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก แต่เพลิน” เกิดขึ้น มันคือการใส่อะไรที่มากมายลงไป “ตรงกลาง” ระหว่าง “ตีเหยื่อออกไป…….ลากปลาขึ้นมา”

นี่คือการถ่ายทอดประสบการณ์ของผม
กับการตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยางเผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน

1. ริกแบบเท็กซัส ค่อนข้างเป็นที่นิยมในบ้านเรา เพราะการประกอบ เข้าสาย เกี่ยวเหยื่อ ทำได้ง่าย ดูตัวอย่างครั้งเดียวก็เข้าใจ

2. เหยื่อยาง ที่ใช้กับ เท็กซัสริก นักตกปลามักจะเลือกเหยื่อที่ถูกออกแบบมาให้เกิดแอ็คชั่นได้ง่ายๆ ด้วยตัวมันเอง ซึ่งมักจะให้ความมั่นใจแก่นักตกปลามากกว่าเหยื่อที่มีรูปทรงที่ดูแล้วมองไม่ออกว่าจะทำยังไงให้มันดูเหมือนมีชีวิตและเป็นที่สนใจของปลา

3. นักตกปลา ด้วยเหยื่อปลอมบ้านเรา เคยชินกับการตีเหยื่อออกไป แล้วก็ลากกลับเข้ามา เหยื่อแต่ละประเภทก็ออกแอ็คชั่นต่างกันไป แต่พอมาลองใช้เหยื่อยางก็ยังติดการลากกลับมา ให้เหยื่อว่ายน้ำ ที่จริงการสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อมีมากมายมหาศาลจนแทบหาข้อยุติไม่ได้ “จินตนาการ” จึงเป็นข้อสรุป ก็คือ ลองไปเลยครับ ลองหลาย ๆ วิธี หลาย ๆ รูปแบบ ปลาไม่กัดก็เปลี่ยนวิธี เปลี่ยนเหยื่อ ปลากัดก็จดจำไว้ สำคัญคือ “อย่าเบื่อ อย่าท้อ” ใช้เหยื่อยางผมบอกได้เลย ถ้าไม่อดทนก็แทบโยนคันทิ้ง ทั้งที่รู้ว่าปลาเต็มบ่อ แต่บทพ่อจะไม่กัดขึ้นมา ใครจะทำไมฃ

แนวทางสำหรับเท็กซัสริก มีวิธีอยู่ไม่มาก

1. ส่งเหยื่อไปตรงจุดที่คิดว่ามีปลา โดยส่งเหยื่อให้ต่ำ ๆ เรียดผิวน้ำหน่อย ถ้ามีลักษณะเป็นตลิ่ง ก็ส่งขึ้นขอบตลิ่งไปเลย กระตุกเบา ๆ พอเหยื่อตกน้ำ หยุดก่อน ถ้ามีปลาตรงนั้น ส่วนใหญ่จะกัดทันที แต่ถ้าไม่มีปลากัด พอวงคลื่นน้ำหายไป ค่อย ๆ กรอสายตึง เจิร์คเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วหยุด ถ้าปลาว่ายตามเสียงเหยื่อตกน้ำมา มักจะกัดจังหวะนี้

2. เหยื่อที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง ลากมากกว่าเจิร์ค ลากช้าแค่ไหน ? ช้าสุดขีดเท่าที่รู้สึกได้ว่าหนอนมันกระดึ๊บ ๆ มากับพื้น เหยื่อพวกนี้หางสั้น เวลาลากมาลำตัวจะสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ปลารู้สึกได้ ขูดกับดินมาเลยแต่หางจะโบกแบบระริก ๆ มา ถ้ารู้สึกว่าหนืด ๆ คือพื้นใต้น้ำเป็นโคลนเหลวเกินไป ก็เจิร์คให้โดดบ้างก็จะดี

3. ปลาไม่กัดเหยื่อยางที่อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ปลากัดเพราะคิดว่าเจ้านี่มีชีวิต เป็นอาหาร กัดเพราะว่าเจ้านี่มันดูกะปลกกะเปลี้ย ร่อแร่ ๆ กัดเพราะว่า เจ้านี่ละเมิดอธิปไตย ล้ำถิ่น ปล่อยให้ผ่านหน้าไปเฉย ๆ ได้ไง เอาซะหน่อย

4. เหยื่อประเภท Grub ที่หางยาวกว่าลำตัว ไส้เดือนยาง พวกนี้แอ็คชั่นอยู่ที่หาง เจิร์คเข้าไปครับ เจิร์คโดด ปล่อยตก ลดคันเก็บสายพอตึง เจิร์คอีก เจิร์คเร็วแค่ไหน ? ตามใจพระเดชพระคุณครับ แต่อย่าให้เร็วขนาดโดดสามทีเหยื่อกลับถึงตัวต้องตีใหม่

5. บนใบบัว ตีลงไปเลย ลากเหยื่อให้ตกลงร่องระหว่างใบเบา ๆ ฟรีสปูล ส่งสายไปหน่อย ทำไงต่อ ? อ๋อ ปู่เราเรียกว่า “หยก” จับที่สายหน้ารอก กระตุกขึ้น ปล่อยลง ระวังให้ดีละกันครับ ถ้า “ปั๊บ” !! เข้าให้ก็อย่าส่งนาน วัดหนักๆ แล้วรีบเอามันออกมาในชัยภูมิที่เราได้เปรียบกว่า อ้อ หมายใบบัวนี่ จิ้งจกยางเป็นพระเอกครับ และ Weightless หรือไร้ตะกั่วจะเวิร์คมาก กลัวตีไม่ออกก็พันตะกั่วฟิวส์ที่ท้องเบ็ดไปซะหน่อย หรือจะใช้เบ็ดที่หุ้มตะกั่วสำเร็จรูปเลยก็ได้ครับ

จังหวะได้เสีย (ที่จะได้ลุ้น)
– เหยื่อตกน้ำใหม่ ๆ
– กำลังลากหรือเจิร์คเพลิน ๆ
– ระยะ 5 เมตร ตรงหน้าเรานี่ล่ะ

สเต็ปที่ใช้ได้ดีกับเท็กซัสริก

นอกจากตีเหยื่อไปที่ไหน เหยื่อแบบนี้ใช้ยังไงแล้ว ยังมีการสร้างจังหวะ หรือสเต็ปให้กับเหยื่ออีกด้วย โดยปกติแล้ว ปลาช่อน จะเลือกกัดเหยื่อในจังหวะที่ต่างกัน ในการตกแต่ละครั้ง จะต้องหาให้เจอ

ลากและหยุด (walk & wait)

วิธีนี้ใช้ดีกับเหยื่อยางที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ เหยื่อไม่มีหางตัวอ้วน ๆ เหยื่อหางสั้น ๆ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง เหยื่อที่หัวโต ๆ หัวตัด เหยื่อพวกนี้จะสร้างฟองอากาศ ความสั่นสะเทือน ขุดดินให้ฟุ้ง จากการลาก เวลาลากให้ลากช้า ๆ ลากประมาณ 1 หลา แล้วหยุดรอ แต่ถ้าจับความรู้สึกได้ว่า ลากแล้วเกิดความหนืดขึ้นมาก ๆ แสดงว่าเหยื่อมุดเลน ให้กระตุกเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วเริ่มลากต่อ

กระตุกโดดแล้วปล่อยตก (jerk & drop)

วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเหยื่อยางที่มีหางงอทั่วไป เช่น Grub ไส้เดือนยาง ให้กระดกปลายคันเป็นจังหวะช้า ๆ แล้วหยุด เหยื่อจะถูกกระตุกขึ้น แล้วหัวทิ่มลงตามน้ำหนักตะกั่ว หางจะโบกสร้างคลื่นและความสั่นสะเทือน ตามประสบการณ์ ปลามักจะกัดเมื่อเหยื่อตกลงถึงหน้าดิน คือ พอเริ่มจะกระดกคันครั้งต่อไป พบว่าสายหนักแล้ว ดังนั้น พยายามไล่สายให้เกือบตึงเสมอก่อนกระดกคันแต่ละครั้ง

กระตุกแบบถี่ ๆ ( jerk )

วิธีนี้ใช้กับเหยื่อยางประเภท กบยาง (Toad, Frog) (ไม่ใช่กบยางผิวน้ำ เช่น scum frog) และหนอนสองหาง ให้ลดปลายคันลงต่ำออกด้านข้างตัว กระตุกเบา ๆ และถี่ เหยื่อจะออกแอ็คชั่นในลักษณะกบว่ายน้ำมาเรี่ย ๆ หน้าดิน วิธีนี้เหยื่อจะกลับถึงตัวค่อนข้างเร็ว และปลามักจะชาร์จเหยื่อด้วยความรุนแรง

 

ตกปลาช่อน เท็กซัสริก


จินตนาการตาม แล้วอ่านเรื่องช่วงนี้

มีวิธีการเจิร์คที่ส่วนตัวชอบใช้คือ กระตุกสองครั้ง คือ ครั้งแรกกระตุกขึ้นเบา ๆ แล้วกระตุกครั้งที่สองทันทีโดยให้แรงขึ้น แล้วลดคันลงทันที วิธีนี้ตะกั่วจะวิ่งรูดขึ้นมาตามสายระยะหนึ่งแล้วตกลงก่อนเหยื่อเหยื่อจะตกลงช้าๆ ตามลงมา ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า และเมื่อเหยื่อตกถึงพื้นจะตกในตำแหน่งห่างกว่าตะกั่ว ลอยตัวขึ้นนิด ๆ ถ้ามีปลากัด จะกัดได้เต็มที่ คือการประยุกต์จากการเข้าสายหน้าแบบ Carolina Rig มาใช้ อธิบายให้เห็นภาพลำบาก

เมื่อปลากัดเหยื่อ จะรู้สึกสะดุด และมีฟองอากาศให้เห็น การสะดุดจะเบาหรือแรง มีฟองอากาศมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ สายหย่อนหรือตึงอยู่ ความลึกของน้ำ ขนาดของปลา และความสามารถของคันเบ็ดและสาย

เมื่อปลากัดแล้ว ถ้าน้ำตื้น ๆ จะเห็นพรายฟองขึ้นล้อมสาย ต้องรีบลดคันลง ฟรีสปูล สาวสายออกมากส่งให้ปลา สัก 2 เมตร (ทั้งหมดทำด้วยความรวดเร็วพร้อม ๆ กัน ให้เคยชิน) เพื่อลดความระแวงของปลาในการพาเหยื่อไป ถ้าปลาสมัครใจว่ายน้ำพาเหยื่อไป สายจะเริ่มเดินออก อันนี้จะง่ายหน่อย สบายเรา ดูทิศทางการว่ายน้ำของปลาให้ชัดเจน

ปัญหาที่พบ และเป็นเสน่ห์ในการชิงไหวชิงพริบกับปลา คือ ปลากัดแล้วไม่เดิน (ไม่ว่ายน้ำไป กัดแล้วนิ่งเฉย) ทำให้ไม่กล้าตวัดเพราะไม่แน่ใจว่าปลากลืนเหยื่อแล้ว หรือกำหนดทิศทางการตวัดไม่ได้ จึงต้องมีวิธีการ “เตือนปลา” โดย

สาวสายออกจากรอกมาถือไว้ กระตุกสายเบา ๆ หรือใช้ปลายคันกระดกสายเบา ๆ (ย้ำว่าเบา ๆ) หลอกปลาว่าเหยื่อกำลังดิ้น ปลาจะเริ่มออกว่ายน้ำพาเหยื่อไปขยอกกลืน ทำให้กำหนดทิศทางการตวัดได้ แต่บางพื้นที่ปลาอาจจะคายเหยื่อทันที ถ้าตกใจมาก ๆ ปลาจะกระโดดขึ้นสะบัดเหยื่อทิ้งกลางอากาศ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม แต่เสียดแทงหัวใจเราอย่างมาก

เมื่อมั่นใจว่าเหยื่อและเบ็ดอยู่ในปากปลาแล้ว สับแขนหมุนปลดฟรีสปูล ไล่เก็บสายให้ตึง หรือถ้าปลาลากอยู่ สายก็จะตึงเอง ตวัดสวนทิศทางปลาด้วยความเร็ว (ย้ำว่า สายต้องตึง สวนทิศทาง และด้วยความเร็วไม่ใช่ความแรง) ตวัดแล้วคาคันไว้ เพื่อให้แอ็คชั่นของคันช่วยย้ำคมเบ็ด

ลักษณะการตวัดเบ็ด ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ผมย้ำเพียง “สายตึง สวนปลา อย่ากระชาก” ถ้าเบ็ดที่ใช้คมเพียงพอ ด้วยรูปทรงของเบ็ดเกี่ยวเหยื่อยาง มันจะทะลุเหยื่อแล้วฮุคเข้าอวัยวะของปลาเองอย่างง่าย ๆ ผมเห็นหลายท่านที่ชำนาญ ตวัดเพียงแค่ข้อมือไม่ต้องเต็มวงแขน ถ้าสายตึง แม้จะใช้สายขนาดแรงดึงเพียง 4 – 6 ปอนด์ เบ็ดก็ยังติดปลาได้ดี สายก็ไม่ขาด ตวัดแล้วคาอย่างที่บอก แอ็คชั่นของคันจะย้ำคมเบ็ดให้เอง

สำหรับ “ ตกปลาช่อน ด้วยเท็กซัสริก ฉบับปั้นมือใหม่ให้โปร ” บอกเลยว่ายาวมาก ที่น้าอ่านกันตรงนี้ ที่ว่ายาว มันก็เป็นแค่เริ่มต้น และที่ไม่เขียนวิธีการประกอบเท็กซัสริก ก็สามารถอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่างครับ

วิธีใช้หนอนยางกับเท็กซัสริกฉบับชาวบ้าน คลิกเพื่ออ่าน

Advertisements