ประวัติ ‘เป็ดก่า’ เป็ดหายากมากและพบได้ในไทย

พอดีมีคนมาถามหาเรื่องของ "เป็ดก่า" ซึ่งบอกตามตรงว่าผมเองก็เพิ่งเคยได้ยินชื่อแปลกๆ ของเป็นชนิดนี้เหมือนกัน ก็เลยเกิดความสนใจลองไปหาข้อมูลดู เลยได้รู้ว่ามันเป็นเป็นที่แปลกจริงๆ นั้นละ มันทั้งหายาก พบที่ไทย และยังมีนิสัยที่แปลกกว่าเป็ดส่วนใหญ่อีกด้วย ...เอาเป็นว่าผมจะมาเล่าเรื่องของเป็ดก่า เป็ดที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ และใครเห็นว่ามีโลโก้เยอะก็อย่าเบื่อนะครับ พอดีเรื่องที่ผมทำโดนขโมยไปใช้ที่อื่น

เป็ดก่า

เป็ดก่า คืออะไร?

Advertisements

จริงๆ สำหรับผม เป็ดก่า (White-winged duck) มันดูคล้ายห่าน จนบางทีถ้าไปเห็นในป่าอาจทำให้คิดว่า “ใครเอาห่านมาเลี้ยงในป่าฟ่ะ” อาจเพราะเป็นเป็ดตัวใหญ่ โดยชื่อสามัญภาษาอังกฤษของเป็ดก่า หากแปลเป็นไทยตรงๆ เลยก็คือ “เป็ดปีกขาว” แต่หากมองลักษณะทางกายภาพ แบบมันยืนอยู่เฉยๆ ปีกของมันก็ไม่ได้มีสีขาวมากขนาดนั้น

แต่ดูเหมือนตอนบินสีขาวจะเด่นชัด ทั้งนี้เป็ดก่า เป็นเป็ดบินได้ ที่อยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำ (Anatidae) และเป็นเป็ดเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Asarcornis (อาซาร์คอร์นิส) หรือจะเรียกสกุล “เป็ดก่า” ก็ได้เพราะยังไงก็มีมันเพียงชนิดเดียว

เป็ดก่าถือเป็นเป็ดขนาดใหญ่อันดับสองในวงศ์นกเป็ดน้ำ ซึ่งเป็นรองเพียง Steamer duck (สทีเมอะ ดั๊ก) ส่วนชื่อสามัญภาษาไทยของเป็ดสทีเมอะผมก็ไม่มั่นใจ หากเอาไปแปลภาษาไทยตรงๆ Steamer duck ก็จะกลายเป็น “เป็ดนึ่ง” ซึ่งคงไม่เหมาะ แต่ก็ช่างหัวเป็ดนึ่งไป เรามาพูดถึงเป็นก่าดีกว่า

ลักษณะเด่นของเป็ดก่าคือ หัวและลำคอตอนบนมีสีขาว มีจุดกระดำกระด่างสีดำกระจายอยู่ทั่ว โดยทั่วไปสีของลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลเหลือบเขียว มีขนเป็นปื้นขาวตรงหัวไหล่ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเป็ดชนิดนี้ นอกจากนี้ยังมีรูปร่างเทอะทะ ตัวใหญ่ ปีกกว้าง ขาสั้น แต่ถึงอย่างงั้นก็ยังบินเก่งจนน่าประหลาดใจ

เป็ดตัวผู้จะมีม่านตาสีสดใสเป็นสีเหลืองส้ม ในขณะที่ตัวเมียมีม่านตาสีน้ำตาลเข้ม จะงอยปากสีเหลืองเข้มหรือสีส้ม ตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์โคนปากจะพองโต และตัวผู้ก็มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย โดยตัวผู้จะหนักประมาณ 2.9 – 3.9 กิโลกรัม ในขณะที่ตัวเมียจะหนักประมาณ 1.9 – 3 กิโลกรัม และเมื่อกางปีกจะกว้างถึง 116 – 153 เซนติเมตร และเป็ดที่มีลำตัวยาวได้ประมาณ 66 – 81 เซนติเมตร ซึ่งตัวใหญ่มากๆ เมื่อคิดว่ามันเป็นเป็ด

เป็ดก่าถือเป็นเป็ดที่มีนิสัยแปลกประหลาดมากที่สุดในเป็ดวงศ์เดียวกัน เนื่องจากในธรรมชาติมันเป็นเป็ดที่หากินในเวลากลางคืนเท่านั้น และจะกลับมาที่พักในเวลารุ่งเช้า ซึ่งเป็ดทั่วไปเวลากลางคืนถือเป็นเวลานอนของพวกมัน อาหารของมันจะประกอบไปด้วย เมล็ดพืช พืชน้ำ ธัญพืช ข้าว หอยทาก ปลาขนาดเล็กและแมลง

Advertisements

และแม้มันจะชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่นิ่งหรือไหลช้า แต่มันก็ไม่ชอบที่โล่งเหมือนเป็ดทั่วไป เป็ดก่าจะอยู่ในป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง หรือป่าพรุ และมักจะทำรังบริเวณที่ราบสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร โดยวิธีการนอนของมันก็ไม่แน่นอน บางทีมันจะไม่นอนที่รังซึ่งเป็นโพรงไม้ บางทีก็เลือกที่จะจับกิ่งไม้สูงเพื่อใช้เป็นที่หลับนอน ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดสำหรับเป็ด

เป็ดก่าใกล้สูญพันธุ์แค่ไหน?

เป็ดก่ามีถิ่นกำเนิดใน ประเทศอินเดีย, บังกลาเทศ, เนปาล, พม่า, ไทย และในอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยถือเป็นสัตว์ในวงศ์นกเป็ดน้ำชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ตามบันทึก “เป็ดก่า” อาจสูญพันธุ์ไปแล้วจากหมู่เกาะชวา ซึ่งเคยมีเป็ดชนิดนี้จำนวนมาก ก็คงเหลือแค่ในบางพื้นที่ ซึ่งจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2545 ทั้งโลกเหลือไม่ถึง 800 ตัว และตอนนี้อาจจะเหลือน้อยลงไปอีก

โดยในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน มีเหลือไม่ถึง 100 ตัว และยังมีที่อยู่ในสวนสัตว์ เป็ดเชลย กับเป็ดในคลิปที่ชวนให้มาเลี้ยงแล้วบอกว่าเป็นเป็ดก่า ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันคือเป็ดอะไร? …ใครรู้ก็คอมเมนต์บอกกันหน่อยนะ

ส่วนเรื่องกิจกรรมปล่อยเป็ดก่าในไทยก็มีอยู่หลายครั้ง อย่างครั้งดังๆ ก็เป็น “ขบวนแรลลี่เป็ดก่า” ซึ่งปล่อยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ไม่มีการบันทึกจำนวนเป็ด แต่หลังจากปล่อยไม่กี่ปี ดูเหมือนเป็ดก่าจะหายไปจากพื้นที่แล้ว

ส่วนครั้งที่มีปล่อยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผ่านมาหลายปีก็มีรายงานการพบเป็ดก่าอยู่ไม่กี่ตัว และยังมีที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว ที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็ดก่าที่ปล่อยไปจะยังรอดอยู่หรือไม่? แต่ก็หวังว่าพวกมันจะอยู่กันอย่างสุขสบาย

Advertisements

นอกจากนี้ยังมีประชากรบางส่วนบนเกาะสุมาตรา ในอุทยานแห่งชาติประเทศอินเดีย บังคลาเทศและพม่า ส่วนเหตุที่ทำให้พวกมันลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพราะมันเป็นสัตว์ที่จับคู่ผสมพันธุ์แบบผัวเดียวเมียเดียว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ยืนยัน

หลังจากผสมพันธุ์มันจะวางไข่ 6 – 13 ฟอง และใช้เวลาดูแลไข่ประมาณ 35 วัน และที่ผ่านมาในหลายประเทศรวมทั้งในอังกฤษ มีความพยายามในการเพาะพันธุ์ในสภาพกักขัง แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก จึงยากมากที่จะเพิ่มจำนวนประชากรให้กับพวกมัน

และที่สำคัญในถิ่นที่อยู่ดังเดิมของพวกมันก็ถูกรุกรานโดยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนเส้นทางน้ำ การถูกล่า การถูกขโมยไข่และลูกเป็ด รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งหมดทำให้เป็ดก่ากลายเป็น “เป็ด” ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements