ประวัติปลากระโห้ไทย ที่รอดจากการสูญพันธุ์ได้หวุดหวิด

หากบอกว่า! ในตอนนี้ “ปลากระโห้ไทย” อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ หลายคนอาจนึกขำ เพราะอาจจะเคยเห็น หรืออาจจะเคยตกได้ด้วยซ้ำ แต่ต้องบอกว่าปลาชนิดนี้เหลืออยู่น้อยมากๆ ในแห่งน้ำธรรมชาติ แถมส่วนใหญ่ก็เป็นปลาปล่อย ในขณะที่ตลาดปลาสวยงาม หรือตามฟิชชิ่งปาร์คยังถือว่าพบได้ง่ายหน่อย และนี่คือประวัติของปลากระโห้เท่าที่รู้ในตอนนี้

ปลากระโห้

ปลากระโห้ พี่ใหญ่สายพันธุ์ปปลาเกล็ดน้ำจืดไทย

Advertisements

ปลากระโห้ (Siamese giant carp) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล คาโลคาร์ปิโอ (Catlocarpio) เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดของเกล็ดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย โดยเฉลี่ยมักมีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนักเกิน 150 กิโลกรัม

ปลากระโห้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คาโลคาร์ปิโอ สยามเอ็นสิส (Catlocarpio siamensis) เป็นปลาที่มีลำตัวสั้นป้อม หัวโต ปากกว้าง มีเกล็ดสีม่วงเข้มจนถึงดำ ในอดีตเป็นปลาที่พบมากแม่น้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง และแม่น้ำแม่กลอง ชอบอยู่ตามวังน้ำลึก

ทั้งนี้ ดร. สมิท (Dr. Hugh M.Smith) บันทึกเอาไว้ว่า ปลากระโห้จะวางไข่ในบึงและทุ่งน้ำท่วม เมื่อมีขนาดใหญ่พอ มันจะว่ายออกไปหากินที่อื่น …น่าเสียดายที่ในตอนนี้ยากมากๆ ที่จะได้เห็นภาพแบบนี้ในธรรมชาติ

สำหรับบันทึกเกี่ยวกับประชากรของปลาชนิดในธรรมชาติของไทยไม่ค่อยชัดเจน แต่สำหรับในกัมพูชา ก็มีบันทึกอยู่บ้าง อาจเป็นเพราะเป็นปลาประจำชาติ โดยตามบันทึกระบุว่า จำนวนประชากรปลากระโห้ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี พ.ศ. 2507 จับได้ 200 ตัน จนในปี พ.ศ. 2523 จับได้เพียง 50 ตัว จากนั้นในปี พ.ศ. 2543 เหลือเพียง 10 ตัว

ที่น่าใจหายคือ ปลากระโห้ เคยถูกระบุว่า เป็นปลาสำคัญที่จับได้มากในน้ำตกคอนพะเพ็ง แต่จากการสำรวจระหว่างปี พ.ศ. 2536 – 2542 พบปลากระโห้ตัวเล็กๆ เพียง 1 ตัว ส่วนในแม่น้ำเจ้าพระยาถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

การเพาะพันธุ์ปลากระโห้!

อาจเป็นเพราะปลากระโห้เป็นปลาขนาดใหญ่ ในธรรมชาติมันต้องใช้เวลานาถึง 7 ปี จึงจะพร้อมผสมพันธุ์ ประกอบกับการว่ายทวนน้ำไปวางไข่ในทุ่งน้ำท่วม ก็ถูกเขื่อนมากมายขัดขว้าง จึงเป็นเหตุให้ปลากระโห้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าในตอนนั้น กรมประมงเองก็ไม่นิ่งนอนใจ ซึ่งกรมประมงก็พยายามผสมเทียมจากพ่อแม่พันธุ์ที่ได้มาจากบริเวณเขื่อนชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยา แต่พ่อแม่พันธุ์ก็ลดน้อยลงจนเกือบจะหาไม่ได้ จนในที่สุด รัชกาลที่ 9 ก็พระราชทานคำแนะนำให้กรมประมงลองใช้ปลากระโห้ ที่อยู่ในสระของสวนจิตรลดามาเพาะพันธุ์ เนื่องจากทรงจำได้ว่า ปลากระโห้ในสระน่าจะมีอายุ 50 – 60 ปี ซึ่งเป็นปลารุ่นเดียวกับที่ปล่อยในสวนสัตว์ดุสิตหรือเขาดิน

Advertisements

ซึ่งกรมประมงก็ทำตาม และหลังจากนั้นอีก 1 ปี หรือก็คือ ปี พ.ศ. 2528 กรมประมงก็ประสบความสำเร็จ จนสามารถผสมเทียมปลากระโห้จากสระของสวนจิตรลดา … และนี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มจำนวนปลากระโห้ในประเทศไทย

หลังจากนั้น 20 ปี หรือก็คือ ปีพ.ศ. 2548 เวียดนาม ก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลากระโห้เช่นกัน จนปี พ.ศ. 2553 ได้ปล่อยปลากระโห้จำนวน 50,000 ตัวลงในแม่น้ำสายหลักของเวียดนาม แต่! ก็พบว่ามีเพียงไม่กี่ตัวที่รอดจนมีน้ำหนักเกิน 1 กิโลกรัม … ด้วยเหตุนี้ปลากระโห้ในเวียดนามส่วนใหญ่จึงอยู่ในบ่อ ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ต่างอะไรจากไทยเท่าไร

และหากตัดกระโห้ต่างประเทศ คงต้องบอกว่าปลากระโห้ในไทย ที่พบในทุกวันนี้ไม่ว่าจะในธรรมชาติหรือในบ่อ ส่วนใหญ่เป็นปลาที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ด้วยการผสมเทียมในที่เลี้ยง ก่อนจะนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ หรือ แจกจ่ายให้กับผู้เพาะเลี้ยง ซึ่งในแต่ละปีละมีปลากระโห้ 200,000-1,000,000 ตัวถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำต่างๆ แต่ถึงอย่างงั้น โอกาสที่ลูกปลาเหล่านี้จะโตเต็มวัยในธรรมชาตินั้น มีโอกาสเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และถึงแม้ปลาชนิดจะเพิ่มประชากรด้วยผสมเทียม ซึ่งต้องค่อยปล่อยคืนสู่ธรรมชาติทุกๆ ปี แต่ก็ยังดีกว่าให้ปลาที่โดดเด่นชนิดนี้ต้องสูญพันธุ์ไปจริงๆ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements