“ผักตบชวา (Water hyacinth) เป็นพืชน้ำล้มลุกที่มีอายุหลายฤดู ทนทานอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ มีถิ่นกำเนิดในแถบลุ่มน้ำแอมะซอนอเมริกาใต้ มีดอก สีม่วงอ่อน คล้ายช่อดอกกล้วยไม้ และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำทั่วไป มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นดังนี้: ผักปอด, สวะ, ผักโรค, ผักตบชวา, ผักยะวา, ผักอีโยก, ผักป่อง”
เพราะสวยงาม จึงถูกนำเข้ามา?
ผักตบชวา ที่เห็นอยู่ในยุคนี้ดูไม่สวยเลยใช่หรือเปล่า? แต่รู้หรือไม่ว่ามันถูกนำเข้ามาในไทยเพราะมันเป็นพืชที่ “สวย” ถึงขนาดใช้ประดับบนร่างกายคน .. ตามบันทึก “ผักตบชวา ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2444”
เป็นสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพืชที่ถูกนำเข้ามาในฐานะไม้ประดับสวยงาม โดยขณะเสด็จประพาสหมู่เกาะอินเดียตะวันออกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 2439
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทอดพระเนตรเห็นนางกำนัล ตลอดจนเจ้านายฝ่ายในของสุลต่านเกาะชวาใช้ดอกของพืชชนิดนี้ทัดหู มีความสวยงามของสีม่วงอมฟ้าพร้อมกับมีดอกที่ใหญ่ จึงได้มีรับสั่งให้เก็บผักตบชวาจำนวน 3 เข่ง เพื่อนำมาปลูกไว้ในประเทศไทย พร้อมกับนำน้ำจากพื้นถิ่นกลับมาด้วยจำนวน 10 ปี๊บ เพื่อไม่ให้ผักตบชวาผิดน้ำ
ในตอนนั้ยผักตบชวาก็เพิ่งถูกนำเข้ามาในเกาะชวาจากเนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคม แรกเริ่มใส่อ่างดินเลี้ยงไว้หน้าสนามวังสระปทุม ผักตบชวาก็เจริญเติบโตงอกงามเป็นอย่างดี ถึงแม้จะใช้น้ำชนิดไหนก็เติบโตได้ดีจนออกดอกเพียงระยะเวลาแค่ 1 เดือน
จุดเริ่มต้นการระบาดของผักตกชวา
หลังจากเลี้ยงไม่นาน ผักตกชวาเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทรงพระราชทานหน่อให้เจ้านายพระองค์อื่นและบรรดาข้าราชบริพารนำไปปลูกด้วย เพียงแค่ 6 เดือน ผักตบชวาก็แพร่กระจายพันธุ์จนเต็มวังสระปทุม
เมื่อมีเยอะจนเกินไป ผักตบชวาจึงถูกปล่อยทิ้งไว้ที่คลองสามเสนหลังวัง พร้อมกับคลองอื่นๆ เช่น คลองเปรมประชากร, คลองผดุงกรุงเกษม
ในระยะแรกประชาชนชาวไทยก็ได้ใช้ดอกของผักตบชวามาทัดหูเพื่อความสวยงามบ้าง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เสื่อมความนิยมลง เหตุเพราะการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วนั่นเอง .. และนี่คือสุดเริ่มต้นของผักตกชวาที่แพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน
ปัจจุบันผักตกชวาเป็นพืชต่างถิ่นที่สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของไทยอย่างมาก มันขยายพันธุ์ได้เร็วจนหน้ากลัว เพียง 1 เดือน ผักตบชวา 1 ต้น อาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น และถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตายไป แต่เมล็ดของพวกมันสามารถมีชีวิตเพื่อรอคอยน้ำได้นานถึง 15 ปี”
เมื่อเมล็ดโดนน้ำมันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป จนกลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงในระดับประเทศ ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาจำนวนมาก และไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น อีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน เว้นแต่ประเทศในแถบยุโรปเท่านั้นที่ปลอดการรบกวน และบริเวณที่ถูกผักตบชวาคุกคามมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือทะเลสาบวิกตอเรีย
ความพยายามในการกำจัดผักตบชวา เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือในการกำจัด เช่น นำไปผลิตเป็นของใช้ อาหารสัตว์ ทำปุ๋ย ฯลฯ
และมีการนำแมลงมวนผักตบจากแหล่งกำเนิดที่ทวีปอเมริกาใต้ เข้ามาทดลองปล่อยในประเทศไทย เพื่อควบคุมจำนวนประชากรของผักตบชวา
แม้ผักตบชวาจะมีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนความจริงที่มันเป็นพืชที่ทำลายแหล่งน้ำ เนื่องจากพืชชนิดนี้หากมีจำนวนมาก จะทำให้น้ำในแหล่งน้ำโดยเฉพาะในแม่น้ำหยุดไหล หรือไหลไม่สะดวก จนเกิดการสะสมของเสียและน้ำเน่าตามมา อีกทั้งยังขัดขวางการเดินเรืออีกด้วย ..และนี่คือข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ของผักตบชวา