เรื่องราวของ ‘ปลาแวมไพร์’ สายพันธุ์ที่เปลี่ยนปลาเทราต์เป็นชีสสวิส

ปลาแวมไพร์ที่พูดถึงเป็นชื่อเล่นของ "ปลาแลมป์เพรย์ทะเล (Sea lamprey)" ที่น่ากลัว มันเคยระบาดอย่างหนักอยู่ในเกรตเลกส์ (Great Lakes) ซึ่งเป็นกลุ่มทะเลสาบ 5 แห่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย "เกรตเลกส์" มีน้ำจืดอยู่มากถึง 20% ของน้ำจืดทั่วโลก และเรื่องนี้จะมาเล่าเป็นเรื่องของ "ปลาแลมป์เพรย์ทะเล" ปลาตัวร้ายที่เกือบทำให้ปลาเทราต์ในเกรตเลกส์ต้องสูญพันธุ์

ปลาแลมป์เพรย์ทะเล ที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 125 เซนติเมตร น้ำหนักได้ถึง 2.5 กิโลกรัม นับเป็นปลาแลมป์เพรย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลำตัวยาวคล้ายปลาไหล ลำตัวเรียบลื่นไม่มีเกล็ด

มีลักษณะเด่นคือ ปากเป็นวงกลมไม่มีขากรรไกรหรือกราม ภายในปากเต็มไปด้วยฟันคมขนาดเล็กจำนวนมาก เรียงเป็นแถวไปตามวงกลมของปาก ภายในปากมีอวัยวะพิเศษคล้ายท่อ ใช้สำหรับดูดเลือดหรือเนื้อของเหยื่อที่กลายเป็นของเหลวจากนั้นมันจึงจะกินเข้าไป

ปลาแลมป์เพรย์ทะเล เข้ามาในเกรตเลกส์ได้ยังไง?

Advertisements

เรื่องมันเริ่มต้นในช่วงปี 1800 ในทะเลสาบออนแทริโอ (Lake Ontario) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ทะเลสาบของเกรตเลกส์ ปลาแลมป์เพรย์ได้เข้ามาถึงทะเลสาบโดยผ่านทางคลองและแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งพวกมันจำใจต้องหยุดอยู่แค่ทะเลสาบออนแทริโอ เนื่องจากถูกน้ำตกไนแองการ่าขัดขวางอยู่

แต่แล้วในช่วงปี 1900 พวกเขาได้แก้ไขคลองเวลแลนด์ ทำให้เรือสามารถแล่นรอบน้ำตกไนแองการ่าได้ และมันเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะการรุกรานใหญ่ของ “ปลาแลมป์เพรย์ทะเล”

หลังจากที่ไม่มีอะไรหยุดปลาแลมป์เพรย์ทะเลได้แล้ว พวกมันจึงเข้าสู่ทะเลสาบตอนบน และเมื่อมีพื้นที่อาศัยมากขึ้น มีอาหารมากขึ้น มันจึงตั้งถิ่นฐานและวางไข่มากขึ้น และประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

Advertisements

ปลาแลมป์เพรย์ทะเลมีความทนทานและขยายพันธุ์ได้เร็วมาก (เช่นเดียวกับสายพันธุ์รุกรานอื่นๆ) มันมีวงจรชีวิตที่แปลกประหลาด ปลาตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ 40,000-67,000 ฟอง และพวกมันวางไข่ในเกือบทุกลำธารและแม่น้ำที่ไหลลงสู่เกรตเลกส์ สำหรับพวกมันแทบไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย

เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่าแอมโมโคเอต (ammocoetes) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายหนอนไร้ดวงตา มันจะขุดโพรงลงไปในตะกอนใต้น้ำ ทำให้ผู้ล่าไม่สามารถหาพวกมันเจอได้ แอมโมโคเอตจะอยู่แบบนี้เป็นเวลาหลายปี กินสาหร่ายและย่อยสลายสสาร จนกว่าพวกมันจะตัวใหญ่พอที่จะแปลงร่างเป็นนักล่าดูดที่พวกเราเกลียดชัง …นี่เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พวกมันมีจำนวนมาก

กว่ามนุษย์จะมีว่าถูกปลาแลมป์เพรย์ทะเลทำลายระบบนิเวศ ก็ตอนที่พวกเขารู้สึกว่าจับ “ปลาเทราต์” ได้น้อยลง ปลาเทราต์ที่เคยเป็นนักล่าที่ยอดเยี่ยม กลับกลายเป็นเหยื่อของปลาแลมป์เพรย์ทะเล พวกมันเปลี่ยนปลาเทราต์ให้เป็น “ชีสสวิส”

ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 การจับปลาเทราท์ในทะเลสาบเกรตเลกส์ลดลงเหลือน้อยกว่า 200,000 กิโลกรัมต่อปี จากเดิม 8 ล้านกิโลกรัมต่อปีในปี 1920 ..ปลาแลมป์เพรย์ทะเลมีจำนวนมากซะจนไม่มีอาหารกิน สุดท้ายพวกมันจำนวนมากต้องอดตาย โดยแต่ละปีมีปลาแลมป์เพรย์ทะเลหลายล้านตัวลอยขึ้นมาติดชายหาด

แคนาดาและสหรัฐต้องช่วยกัน!

ในปี 1950 แคนาดาและสหรัฐ ได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาปลาแลมป์เพรย์ทะเล โดยโครงการตอนนั้นมีมูลค่าถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พวกเขาใช้งบเพื่อวิจัยวิธีการควบคุมประชากรปลาแลมป์เพรย์

Advertisements

โดยวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ควบคุมประชากรปลาแลมป์เพรย์ทะเล ถือเป็นแผนระยะยาวที่ทำมาจนถึงทุกวันนี้ มันเป็นการสร้างเขื่อนที่เป็นอุปสรรคหยุดปลาตัวเต็มวัยลงไปวางไข่ในแม่น้ำลำธาร แล้วยังใช้วิธีการดักจับ และยังปล่อยสารพิษลงไปที่บริเวณพื้นทะเลสาบเพื่อฆ่าตัวอ่อน (พวกเขาอ้างว่าสารพิษไม่มีอันตรายต่อสัตว์น้ำอื่น)

จนในตอนนี้แคนาดาและสหรัฐ สามารถควบคุมประชากรของปลาแลมป์เพรย์ทะเลได้ แต่ยังไงซะพวกมันก็พร้อมที่จะกลับมาได้ตลอดเวลาหากหยุดควบคุมพวกมัน แต่ต้องบอกว่าปลาแลมป์เพรย์ทะเลไม่ใช่สัตว์น้ำที่รุกรานชนิดเดียวในเกรตเลกส์ ตอนนี้มีหอยม้าลาย หอยแมลงภู่ ที่ดุเดือดไม่แพ้กัน และยังมีปลาจีนที่มาเคาะประตูของเกรตเลกส์แล้ว

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements