เรื่องราวที่ถูกบันทึกเอาไว้เป็นดังนี้
เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เกาะรามรี (Ramree Island) เป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สอง แล้วก็เป็นช่วงสุดท้ายของสงคราม ทหารญี่ปุ่นหลายร้อยนายเสียชีวิตเนื่องจากการโจมตีของจระเข้น้ำเค็มที่เกาะรามรี ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่นอกชายฝั่งรัฐอาระกัน (Arakan State) ของพม่า ตัวเกาะมีคลองกว้างประมาณ 150 เมตร กั้นแยกออกมาจากแผ่นดินใหญ่ และมีพื้นที่เกาะประมาณ 1,350 ตารางกิโลเมตร
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาวางกำลังและยึดพื้นที่เกาะนี้เอาไว้ โดยมีทหารราว 1 พันนายอยู่ที่นั้น จากนั้นทหารอังกฤษก็เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีทหารญี่ปุ่น เพื่อหมายจะยึดเกาะรามรี โดยใช้กำลังตีโอบ 2 ปีก ระดมยิงเพื่อขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกจากเกาะ
ทหารญี่ปุ่นราว 1 พันนาย บนเกาะถูกโจมตีด้วยกำลังของอังกฤษ จึงตัดสินใจถอย ซึ่งทางเดียวที่จะหนีไปได้ คือลุยน้ำทะเล ซึ่งลึกประมาณหน้าอก และต้องเดินผ่านป่าชายเลน เพื่อนำกำลังไปสมทบกับกลุ่มอื่น ทหารญี่ปุ่นตัดสินใจหนีลงน้ำเข้าป่าที่เต็มไปด้วยต้นโกงกาง
ในคืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 เป็นคืนที่โลกต้องจดจำ ทหารญีปุ่นเกือบ 1 พันนาย ที่ไม่คุ้นกับภูมิประเทศบริเวณนั้นมาก่อน ขณะเข้าไปในป่าชายเลน พวกเขาต้องเจอเข้ากับฝูงยุงจำนวนมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถถอยหลังกลับไปได้ ทำได้เพียงต้องทนอยู่หรือเดินหน้าต่อไป
ทหารอังกฤษได้ติดตามไปอย่างช้าๆ แต่พวกเขาก็ไม่ได้รีบ เพราะรู้ดีว่าข้างหน้ามีอะไร มันคือกับดักแห่งความตายตามธรรมชาติ พวกมันเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันดุร้ายและมีพลังกัดมากที่สุดเช่นกัน และในบริเวณที่ทหารญีปุ่นกำลังมุ่งไป เป็นหนองน้ำที่เป็นบ้านของฝูงจรเข้น้ำเค็ม
ถึงแม้ทหารญี่ปุ่นจะรู้ดีว่า จระเข้น้ำเค็มมีชื่อเสียงในการกินมนุษย์ แต่พวกเขาก็ต้องเข้าไปในหนองน้ำป่าโกงกางอยู่ดี จระเข้ปรากฏตัวเมื่อทหารญี่ปุ่นลึกเข้าไปในหนองน้ำ ที่แย่ไปกว่านั้นคือจระเข้น้ำเค็มในนั้น ออกหากินเวลากลางคืน และจับเหยื่อในที่มืดได้ดี
ทหารอังกฤษหลายคนกล่าวว่า จระเข้ล่าเหยื่อที่เป็นทหารญี่ปุ่นในหนองน้ำ และการบอกเล่าต่อไปนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์ตรงที่สุด และมาจาก บรูซ เอส.ไรท์ (Bruce S. Wright) นักธรรมชาติวิทยา ซึ่งในตอนนั้นเขาอยู่ในการรบที่เกาะรามรีและเขียนบันทึกเรื่องราวนี้ไว้
“คืนนั้น วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 เป็นคืนที่น่ากลัวที่สุดที่สมาชิกในทีม ML [motor Launch] เคยประสบมา จระเข้ที่กำลังตืนตัวจากการสู้รบ และกลิ่นเลือดรวมตัวกัน ท่ามกลางป่าโกงกาง พวกมันนอนอยู่เหนือผิวน้ำและเฝ้ามองอาหารมื้อต่อไป เมื่อกระแสน้ำลดลงจระเข้ได้เคลื่อนตัวเข้ามาทับคนที่ตาย บาดเจ็บ หรือแม้จะไม่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งพวกเขาติดอยู่ในโคลน …
เสียงปืนไรเฟิลที่กระจัดกระจายในหนองน้ำสีดำ มันเต็มไปด้วยเสียงกรีดร้องของผู้บาดเจ็บที่แหลกละเอียดอยู่ในขากรรไกรของสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ เสียงจระเข้ที่หมุนวนอย่างน่ากลัว มันเหมือนเสียงสะท้อนของนรกที่แทบไม่เคยมีใครได้ยิน จนรุ่งเช้านกแร้งก็มาเพื่อทำความสะอาดสิ่งที่จระเข้ทิ้งไว้”
ตามรายงาน จากกองกำลัง 1,000 นายที่เข้าไปในหนองน้ำบนเกาะรามรี มีเพียง 520 นายที่รอดชีวิต โดยเหตุการณ์นี้ หนังสือกินเนสส์บุ๊คยกให้เป็น “โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดจากจระเข้”
แล้วมันเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องที่เขียนโดยผู้ชนะ?
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า จระเข้น้ำเค็มกินมนุษย์แน่นอน และในสมัยนั้นพวกมันก็มีเยอะจริงๆ ที่สำคัญอาจมีขนาดที่ยาวเกิน 5 เมตรอยู่มากมายและบางตัวอาจยาวได้ถึง 7 เมตร ด้วยอาวุธปืนในสมัยนั้นไม่สามารถฆ่าจระเข้ขนาดใหญ่ได้ง่ายๆ
ในปี พ.ศ. 2558 เพียงปีเดียว มีการโจมตีจากจระเข้ 180 ครั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีผู้เสียชีวิต 79 ราย แต่เป็นไปได้อย่างไร ที่ทหารญีปุ่นหลายร้อยนาย ถูกจระเข้น้ำเค็มกินทั้งเป็นในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์?
นักประวัติศาสตร์ แฟรงค์ แมคลินน์ (Frank McLynn) ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือของเขา แล้วสรุปว่าการสังหารหมู่โดยจระเข้ที่เกาะรามรี “ละเมิดหลักการทางประวัติศาสตร์ทุกข้อที่สามารถตรวจสอบได้” และยังขัดต่อตรรกะทางนิเวศวิทยาอีกด้วย “ถ้าจระเข้นับพัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ ก่อนหน้านี้สัตว์ประหลาดหิวโหยเหล่านี้รอดชีวิตมาได้อย่างไร และพวกมันสามารถอยู่รอดในภายหลังได้อย่างไร?”
หากลองคิดดูดีๆ ถ้าทหารญี่ปุ่นกว่า 500 นาย ไม่ถูกจระเข้กินตามที่ไรท์รายงาน แล้วพวกเขาตายได้อย่างไร? ก่อนอื่นญี่ปุ่นไม่ได้สูญเสียทหารกว่า 500 นายไปที่รามรี เพราะจากการสืบสวน 2 ครั้ง ครั้งแรกทำโดย National Geographic ในชื่อ “Nazi World War Weird” และอีกครั้งโดย สตีเว่น แพลต (Steven Platt) นักสัตววิทยา
ทหารญี่ปุ่นประมาณ 500 นายจากทั้งหมด 1,000 นาย สามารถหลบหนีออกจากหนองน้ำป่าชายเลนได้ ข้อมูลนี้ถูกพบในจดหมายเหตุของกองทัพญี่ปุ่น ทำให้ทราบว่าการต่อสู้เกิดขึ้นนานกว่าหนึ่งเดือน มันไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน
ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 500 นายบนเกาะรามรี ซึ่งแท้จริงแล้วพวกเขาหนีไปได้ และมีเพียงไม่กี่คนที่ตกเป็นเหยื่อของจระเข้ ตามคำบอกเล่าของชาวท้องถิ่น ที่มีชีวิตอยู่ระหว่างการสู้รบที่รามรี รวมถึงบางคนที่ถูกเกณฑ์โดยทหารญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตในน้ำเกิดจากภาวะขาดน้ำอาหารและโรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมรวมถึงยุง
ส่วนเสียงที่น่าสะพรึงกลัวที่หน่วยลาดตระเวนทางเรือของอังกฤษได้ยินในคืนนั้นอะไร? แน่นอนว่าอาจมีคำตอบสำหรับสิ่งนั้นเช่นกัน ตามบันทึกของกองทัพอังกฤษที่เข้าถึงได้จากการสืบสวนของ National Geographic ได้ระบุว่า ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ค้นพบ “ความพยายามที่สิ้นหวัง” ของทหารญี่ปุ่นหลายร้อยนายในการว่ายน้ำข้ามร่องน้ำที่แยกเกาะรามรีออกจากแผ่นดินใหญ่ของพม่า
ตามรายงานอย่างไม่เป็นทางการของอังกฤษ ซึ่งอ้างอิงจาก National Geographic “ประมาณว่ามีชาวญี่ปุ่นอย่างน้อย 100 นายเสียชีวิตหรือจมน้ำในคืนนั้น และอาจมีมากถึง 200 ซึ่งเป็นการประมาณการแบบอนุรักษ์นิยม … แน่นอนความตายนี้ทำให้เกิดเสียงที่ว่า และยังพอจะสรุปได้ว่า นี่น่าจะเป็นการสังหารหมู่ที่เกาะรามรี ซึ่งเป็นการกระทำโดยทหารมนุษย์ มากกว่าที่จะเป็นฝีมือของนักล่าที่กระหายเลือดอย่างจระเข้
แล้วจระเข้อยู่ในที่เกิดเหตุจริงหรือไม่?
แม้ว่าการบาดเจ็บล้มตายของทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เกาะรามรีจะเป็นฝีมือมนุษย์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องราวของจระเข้ เพราะเมื่อทีมของ สตีเว่น แพลต (Steven Platt) ได้สัมภาษณ์ชาวบ้านในท้องถิ่น พวกเขากล่าวว่าทหารญี่ปุ่น 10 – 15 นาย อาจถูกโจมตีและสังหารโดยจระเข้ ขณะที่พวกเขาพยายามข้ามร่องน้ำ
ผู้บัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรอีกคนรายงานว่า ทหารญี่ปุ่นที่หลบหนีและตกเป็นเหยื่อของการลาดตระเวนทางเรือและฉลาม ในขณะที่พยายามไปให้ถึงแผ่นดินใหญ่ ดังนั้นจึงมีหลักฐานว่า มีทหารบางคน ถูกสังหารโดยจระเข้ขนาดใหญ่ที่แฝงตัวอยู่ในน้ำจริง และความจริงจระเข้ส่วนใหญ่เข้ามาในที่เกิดเหตุเพื่อเก็บซาก
และเพราะแบบนี้ “โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดจากจระเข้” จึงไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด เพราะจระเข้เหล่านี้เป็นเหมือนตัวประกอบเท่านั้น ที่สำคัญ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ทางกินเนสส์บุ๊ค ได้แก้ไขรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามหลักฐานใหม่ของ National Geographic จนนำไปสู่การนำบันทึกทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องจระเข้และเกาะรามรีออกจากกินเนสส์บุ๊ค นี่จึงเป็นหลักฐานที่หนักแน่นขึ้นว่า มันเป็นเรื่องที่ถูกแต่งโดยผู้ชนะ
เมล็ดกาแฟคั่ว ติดบ้าน คอฟฟี่ “หอม ชัด หนัก แน่น นาน”
Facebook : https://www.facebook.com/TitBaanCoffeeขอเชิญทุกท่านเข้าร่วม “ชุมชนกาแฟ”
กลุ่มสังคมผู้ชื่นชอบพูดคุย แลกเปลี่ยน เรื่องกาแฟ : https://www.facebook.com/groups/chumchoncoffee