12. ปลากระสูบ – Hampala dispar / Hampala macrolepidota
ปลากระสูบ (Hampala barb, Jungle perch) เป็น 1 ใน 10 ปลาน้ำจืดที่คนไทยนิยมตกเป็นเกมกีฬามากที่สุด โดยชนิดหลักๆ จะมีกระสูบจุด และ กระสูบขีด ทั้งสองถือเป็นปลากินเนื้อที่ค่อนข้างสะอาด เนื่องจากปลาชนิดนี้ชอบอยู่ในน้ำที่สะอาด พบได้มากตามเขื่อนตามลำธาร เป็นปลาที่ว่องไวมาก มีขนาดค่อนข้างใกล้เคียงกับปลานิล แต่ก็มีตัวใหญ่ๆ ระดับ 60 เซนติเมตรเหมือนกัน
ปกติปลากระสูบถือเป็นปลาที่คนไทยกินกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยม และเราก็แทบไม่ได้เห็นปลาชนิดนี้ในตลาดแถวบ้าน อาจเพราะก้างมันเยอะและคนบ้านเราก็มีปลาที่ดีกว่ากระสูบกินมากมาย …แม้แต่ผมที่ตกปลากระสูบได้บ่อยๆ ก็ไม่ค่อยได้กินเท่าไร แต่ถ้าถามว่ารสชาติเป็นยังไง ผมว่าก็อร่อยดีแม้จะย่างกินเฉยๆ
11. ปลาชะโด – Channa micropeltes
ปลาชะโด (giant snakehead) เป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี ในไทยมีการเพาะเลี้ยงในระดับฟาร์มและยังเป็นปลาเศรษฐกิจของไทย แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าปลาชะโดส่วนใหญ่ ถูกส่งไปต่างประเทศในรูปแบบเนื้อปลาแช่แข็งนับหมื่นตันต่อปี ในทางกลับกันคนไทยไม่นิยมกินปลาชะโด
แต่เห็นเคยมีข่าวว่าปลาชะโดที่เลี้ยงเพื่อส่งออก จะเป็นชนิดที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ ก็ไม่รู้ว่าขี้โม้หรือเปล่า ก็ยังเห็นเอาลูกปลาชะโดที่ช้อนเอาตามเขื่อนมาเลี้ยงกันอยู่
10. ปลายี่สกไทย – Probarbus jullieni
เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ปลายี่สก หรือ ปลายี่สกไทย (Seven-Stripped Carp) เคยเกือบจะสูญพันธุ์ไปจากโลก แต่พวกมันก็รอดมาได้อย่างหวุดหวิด นั้นเพราะกรมประมงสามารถผสมเทียมปลายี่สกไทยได้สำเร็จ แถมยังโชคดีมากพอที่สามารถเพิ่มจำนวนพวกมันได้อย่างรวดเร็ว แต่ในธรรมชาติ ปลาชนิดนี้ก็ใกล้สูญพันธุ์อยู่ดี
แต่หากจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนปลาชนิดนี้เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ผมเชื่อว่าสามารถทำได้ และแม้ปลายี่สกไทยอาจยาวได้เป็นเมตร แต่บอกได้เลยว่าปลาชนิดนี้เนื้อดีมาก หากจับตัวใหญ่มาขาย ก็คงต้องตัดแบ่งขายเหมือนปลาทูน่า
9. ปลาหมอช้างเหยียบ – Pristolepis fasciata
ปลาหมอช้างเหยียบ (Striped tiger leaffish) ถือเป็นปลาที่คนไทยนิยมกินพอสมควร แต่ก็ไม่ค่อยเห็นในตลาดเท่าที่ควร ปลาชนิดนี้มีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 10 เซนติเมตร จริงๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นปลาจาน แต่ถ้าวางไว้ 2 – 3 ตัวในจาน ก็ถือว่ากำลังดี
ปลาหมอช้างเหยียบ มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ แต่ก็มีน้อยบ้านที่เลือกซื้อมากิน แต่หากไม่มีปลานิล คิดว่าปลาชนิดนี้ถือเป็นตัวเลือกที่ดีแน่นอน ทอดกรอบราดพริกน่าจะดี แต่คงเอาไปยัดข่าตะไคร่เสียบไม้ย่างขายตามข้างทางไม่ไหว ตัวเล็กไปนิด
8. ปลากระโห้ – Catlocarpio siamensis
แม้ตอนนี้ปลากระโห้ (Siamese Giant Carp) จะเป็นปลาที่ “เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์” และยังเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นั้นหมายความว่าปลาชนิดนี้ยาวได้ถึง 1 เมตรสบายๆ และแม้ปลาชนิดนี้จะมีน้อยมากในธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในบ่อปลาจะน้อย นั้นเพราะปลากระโห้สามารถผสมเทียมได้นานแล้ว …จึงไม่ต้องกังวลมากนัก หากจำเป็นต้องเอาเข้าสู่ตลาดจำนวนมากขึ้น แต่เพราะตัวใหญ่มาก จึงอาจต้องแล่เป็นเนื้อเพื่อแบ่งขาย
7. ปลาแรด – Osphronemus goramy
ความจริงปลาแรด (Giant gourami) เป็นปลาที่มีบันทึกและข้อสันนิษฐาน ที่ว่ามันไม่ใช่ปลาในประเทศไทยตั้งแต่แรก โดยบันทึกนี้ก็เขียนโดย ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (Hugh McCormick Smith) นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำในสมัยนั้น แต่เรื่องนี้ก็ช่างเหอ เพราะยังไงคนไทยก็กินปลาแรดมานานมากๆ แล้ว
จริงๆ ปลาแรดเป็นปลาเนื้อดีและอร่อยมาก เป็นปลาที่ตัวใหญ่กำลังดี แต่ก็เป็นปลาที่พบในตลาดค่อนข้างน้อย อาจเพราะเรื่องราคา และคนเลือกกินปลานิลมากกว่า หากจำเป็นต้องเลี้ยงปลาแรดในระดับฟาร์มที่ใหญ่ขึ้น ผมเชื่อว่าทำได้แน่นอน
6. ปลากาดำ – Labeo chrysophekadion
ปลากา หรือ ปลากาดำ (Black Shark) เป็นปลาที่มีขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่หากคุณคิดจะเอามาย่างทั้งตัว แต่ถ้าเอาไปแปรรูปทำอย่างอื่น บอกเลยว่าเป็นปลาที่เนื้อดี
แม้ปลาชนิดนี้จะชอบอาศัยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ในตอนนี้ก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในบ่อเลี้ยงแล้ว แถมยังทำได้ไม่ยากมากด้วย .. จึงเป็นปลาตัวเต็งที่จะนำเข้าสู่ตลาดให้มากขึ้น
5. ดุกอุย – Clarias macrocephalus
ปลาดุกอุย หรือ ปลาดุกนา (Broadhead catfish) หลายคนอาจคิดว่ามีอยู่ในตลาดมากมายอยู่แล้ว แต่มันไม่ใช่เป็นอย่างที่ทุกคนคิด เพราะในตลาดปลาดุกส่วนใหญ่ไม่ใช่ปลาดุกอุย แต่เป็น “ปลาดุกบิ๊กอุย big Broadhead catfish” หากไม่มีปลานอกเข้าไทยเลย ก็จะไม่มีปลาดุกบิ๊กอุย จากนั้นปลาดุกอุยก็จะกลับมาสู่ตลาด แล้วเราก็จะได้เอาไปเสียบไม้ย่าง กินปลาเนื้อสีเหลือง กลิ่นหอมกรุ่น
4. ปลาสวาย – Pangasianodon hypophthalmus
ปลาสวาย (Striped Catfish) เป็นปลาที่พบได้มากมายในไทย และในตลาดก็พบเห็นได้ แต่คนไทยไม่ค่อยนิยมกินกัน ส่วนใหญ่จะได้กินเนื้อปลาสวายที่แปรรูปมาแล้ว หรืออาจได้กินในชื่ออื่นโดยไม่รู้ว่าจริงๆ ก็คือปลาสวาย ไม่ค่อยมีคนเดินไปตลาดแล้วซื้อปลาสวายสดมาเสียบไม้ย่าง หรือต้มกิน
แต่หากไม่มีปลานอกเข้าไทยเลย ปลาสวายก็ต้องถูกหมายหัวอย่างแน่นอน เพราะปลาชนิดนี้มีข้อดีมากมาย ทั้งกินได้หลายขนาด เนื้อเยอะ รสชาติพอไหว ราคาก็ไม่แพง และยังมีการเลี้ยงในระดับฟาร์มอีกด้วย
3. บู่ทราย – Oxyeleotris marmorata
ปลาบู่ (Marble Goby) ที่กำลังพูดถึงก็นั้นละตัวเดียวกับในละครปลาบู่ทอง จริงๆ แล้วปลาบู่ชนิดนี้เป็นปลาที่เนื้อดีมาก ราคาแพง แต่ก็หากินได้ยากในตลาดแถวบ้าน
ความได้เปรียบของปลาบู่ทราย นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังมีขนาดตัวพอดีจาน หรือประมาณ 30 เซนติเมตร ผมเองไม่แน่ใจว่ามีการเพาะเลี้ยงในระดับฟาร์มหรือยัง แต่บอกเลยว่าปลาชนิดนี้ทนทานพอๆ กับปลาช่อน จึงไม่ควรจะเลี้ยงยาก หากจำเป็นต้องเลี้ยงส่งขายจำนวนมากในตลาด ก็คงเป็นไปได้
2. ปลาตะเพียน – Barbonymus gonionotus
โดยปกติปลาตะเพียน (Common Silver Barb) ถือเป็นปลาที่พบได้มากตามแหล่งน้ำทั่วไทย และหากไม่มีปลานิล ผมคิดว่าปลาตะเพียนจะเยอะขึ้นมาก แน่นอนว่าตามบ่อก็มีเพียบ คนไทยกินปลาชนิดนี้มานานแล้ว เพียงแต่ไม่มากเท่าที่ควร อาจเพราะมีก้างที่เยอะ
ข้อดีของปลาชนิดนี้คือ ราคาไม่แพง และเป็นปลาขนาดพอดีจาน แต่ไม่เหมาะเอาไปเสียบไม้ย่างเหมือนปลานิล วิธีกินปลาตะเพียนที่ผมเคยกินก็ประมาณ บั้งถี่ๆๆๆ แล้วเอาไปทอดกินมันทั้งก้างนั้นละ หรือไม่ก็ต้มจนก้างนิ้มกันไปเลย
1. ปลาบึก – Pangasianodon gigas
ปลาบึก (Mekong Giant Catfish) เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันโตเร็วและตัวใหญ่กว่าปลากระโห้ ในธรรมชาติปลาชนิดนี้ก็อยู่ในสถานะสัตว์ที่เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ …ปลาบึก 99% ในธรรมชาติตอนนี้ เกิดจากการผสมเทียม และก็ไม่ใช่ปลาบึกแท้ด้วย
การนำปลาบึกเข้าสู่ตลาดให้มากขึ้น ถือว่าเป็นไปได้ เพราะปลาบึกในตอนนี้เพาะเลี้ยงได้ง่ายขึ้นมาก และส่วนใหญ่พวกมันก็เป็นปลาบึกลูกผสมด้วย โตเร็วเหมือนสวายแต่ตัวใหญ่เกือบเท่าปลาบึกแท้ เรื่องเนื้อต้องเยอะแน่นอน