“ทะเลสาบไนออส (Lake Nyos) มีความกว้างกว่า 206 ตารางกิโลเมตร ความลึกสูงสุดที่ 208 เมตร ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ของแคเมอรูนซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 315 กม. (196 ไมล์) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของยาอุนเดซึ่งเป็นเมืองหลวง”
ทะเลสาบไนออสที่แปลกประหลาด
“ทะเลสาบไนออส (Lake Nyos) มีพื้นที่ประมาณ 206 ตารางกิโลเมตร ความลึกอยู่ที่ 208 เมตร ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคเมอรูน อยู่ห่างออกไปประมาณ 315 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของยาอุนเดซึ่งเป็นเมืองหลวง”
ทะเลสาบไนออส ที่เหมือนเป็นทะเลสาบทั่วๆ ไป แต่มันกลับเป็นหนึ่งในทะเลสาบ “ระเบิดได้” ที่มีเพียงไม่กี่แห่งในโลก ด้วยความลึกและชั้นน้ำที่พิเศษของทะเลสาบแห่งนี้ ได้เก็บสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ไม่ละลายในน้ำเอาไว้จำนวนมหาศาล ก่อนการประทุครั้งนี้ นักวิจัยเคยคาดว่าทะเลสาบไนออสได้กดระเบิดลูกใหญ่ที่ประกอบไปด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และอื่นๆ เอาไว้ถึงพันล้านตัน
โดยปกติแล้ว สิ่งเหล่าจะไม่เป็นอันตราย หากไม่ถูกรบกวนที่รุนแรงพอ แต่หากแรงพอมันก็จะเกิดการปะทุขึ้นมาที่ผิวน้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวนมากจะลอยขึ้นสู่อากาศ จากนั้นจะตกลงพื้นอย่างรวดเร็ว และมันจะแทนที่อากาศทั้งหมด จากนั้นสิ่งมีชีวิตที่ต้องใช้อ๊อกซิเจนจะตายโดยไม่รู้ตัว
หากมีคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพียง 5% ก็ทำให้เทียนไขและเครื่องยนต์ดับ หากถึง 10% สิ่งมีชีวิตที่ต้องใช้อ๊อกซิเจนจะโคม่าและตายในที่สุด แต่หากเกิน 30% จะตายทันที ..และการปะทุของทะเลสาบไนออสนั้นเกิน 30% ไปไกลมาก
ความตายอย่างเงียบๆ จากทะเลสาบไนออส
เรื่องราวเกิดขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ 2529 หรือก่อนหน้า 1 – 2 วัน? สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ไม่มีใครรู้เลย จนกระทั้งมีคนเดินทางไปในหมู่บ้านใกล้ทะเลสาบไนออส จนพวกเขาพบกับซากสิ่งมีชีวิต นก วัว สัตว์เลี้ยง รวมถึงชาวบ้านทั้งหมดได้เสียชีวิต หมู่บ้านแห่งนี้เงียบเกือบจะไม่มีแม้แต่เสียงของแมลง
หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็เดินทางมาตรวจสอบ ชาวบ้านทุกคนที่เสียชีวิตไม่มีบาดแผล ไม่มีเลือดออก ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ .. มันเหมือนอยู่ๆ ก็ตายไปเฉยๆ …พวกเขาไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับที่แห่งนี้
จากการสืบสวนโดยผู้เชียวชาญจึงทราบว่า มันเป็นการปะทุอย่างฉับพันที่ส่งคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1 – 3 แสนตัน และในบางพื้นที่ 1.6 ล้านตัน ขึ้นสู่ท้องฟ้า ก๊าซพวกนี้มองไม่เห็น
และด้วยความที่เป็นก๊าซชนิดนี้หนักกว่าอากาศ มันจึงตกลงสู่พื้นดิน มันแทนที่อากาศทั้งหมด จนทำให้คนและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในรัศมี 25 กิโลเมตร ตายเกือบจะทันที …จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,746 คน และปศุสัตว์ 3,500 ตัว ยังไม่นับสัตว์ชนิดอื่นๆ
ในขั้นต้นนักธรณีวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่ามันเริ่มต้นจากดินถล่ม แต่บางคนเชื่อว่าเพราะเกิดภูเขาไฟขนาดเล็กระเบิด ซึ่งเกิดขึ้นที่พื้นของทะเลสาบ ส่วนความเป็นไปได้ประการที่สามคือ น้ำฝนที่เย็นลงที่ด้านหนึ่งของทะเลสาบ ทำให้เกิดการพลิกชั้นน้ำขึ้น นอกจากนี้ยังมีคนเชื่อว่าเป็นเพราะแผ่นดินไหวขนาดเล็ก แต่ก็ไม่มีรายงานการพบแรงสั่นสะเทือนใดๆ ในช่วงเช้าของการประทุ สมมติฐานนี้จึงไม่น่าเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แท้ได้ในเวลาอันสั้น
ข้อสรุปจากการสอบสวนที่ใช้เวลานาน
ตามรายงานของสมิธโซเนียน (Smithsonian) พวกเขาได้พบกับผู้รอดชีวิตที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งในตอนนั้นเขาอยู่บนที่สูง เขาได้เล่าว่า การระเบิดเริ่มต้นด้วยเสียงดังก้องหลังจากนั้นไม่นาน สเปรย์ฟองสบู่ก็พุ่งขึ้นไปในอากาศหลายร้อยฟุต มีลมกระโชกแรงพัดผ่านบ้านเรือนในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ทะเลสาบ ก๊าซดังกล่าวทำให้ผู้คนจำนวนมากล้มลง สัตว์ป่าและปศุสัตว์ทั้งหมดก็เช่นกัน จากนั้นก็มีเมฆสีขาวขนาดมหึมาก็ก่อตัวขึ้นเหนือน้ำ
น่าเสียดายที่หายนะไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมฆหนาทึบตกลงไปในหุบเขา และเคลื่อนตัวไปยังถิ่นฐานที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่เกิดการปะทุ 25 กิโลเมตร ทำให้สิ่งมีชีวิตขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เฉพาะผู้ที่อยู่บนที่สูงเท่านั้นที่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ได้
จากการตรวจสอบโดยนักวิจัยจากทั่วโลก พวกเขาเปิดเผยว่าทะเลสาบไนออส และปากปล่องภูเขาไฟอีกแห่ง ในบริเวณใกล้เคียงนั้นผิดปกติ เพราะมีชั้นที่อุดมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการรั่วไหลลงไปในน้ำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้เรายังทราบอีกว่า บริเวณทะเลสาบยังเป็นที่ตั้งของปล่องภูเขาไฟเล็กๆ อีก 43 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้มีศักยภาพที่จะปลดปล่อยก๊าซพิษในปริมาณที่ถึงตายได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทะเลสาบไนออส ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มันเคยเกิดขึ้นที่ทะเลสาบโมโนอุน (Lake Monoun) ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ 2527 การปะทุที่ทะเลสาบส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 37 คน
ทะเลสาบที่กดระเบิดลูกใหญ่ที่สุดในโลกคือที่ไหน?
แม้ทะเลสาบไนออสจะน่ากลัว แต่ทะเลสาบคีวู (Lake Kivu) น่ากลัวกว่ามาก เพราะทะเลสาบแห่งนี้กดระเบิดขนาด 55 พันล้านตันเอาไว้ มันจึงเป็นทะเลสาบอันตรายที่สุดในทะเลสาบในชั้น Killer Lake และในแอฟริกาก็มีทะเลสาบคล้ายๆ แบบนี้ 5 แห่ง 3 แห่งถือว่าอันตรายมาก และความจริงทะเลสาบคีวูแห่งนี้ไม่เคยระเบิด แต่อีก 2 แห่งเคยมาแล้ว
น้ำของทะเลสาบคีวู ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน อย่างน้อย 55 พันล้านตัน และก๊าซเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิจัยเกิดความกังวล เพราะหากทะเลสาบคีวูเกิดปะทุขึ้น มันจะทำให้ผู้คนนับล้านต้องตายอย่างไม่รู้ตัว และแม้จะเป็นทะเลสาบในพื้นที่ชนบท แต่ก็มีผู้คนราวๆ 2 ล้านคนอาศัยอยู่ ด้วยเหตุนี้ทะเลสาบแห่งนี้จึงมีฉายาว่า “ทะเลสาบนักฆ่า” แม้มันจะไม่เคยระเบิดหรือปะทุขึ้นก็ตาม
ความอันตรายสุดขีดที่กลายเป็นพลังไฟฟ้า 30% สำหรับแอฟริกาตะวันออก
30% ต่อปี ไม่ใช่ประเทศเดียว แต่เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออกทั้งหมด เรื่องมันเริ่มจากที่ว่า “ทะเลสาบคีวู” มีก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล แต่ในความอันตรายสุดขีด ก็ยังมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง
เมื่อนักลงทุนพบว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้จากทะเลสาบแห่งนี้ได้อย่างง่ายดาย พวกเขาไม่ต้องใช้ความพยายามที่เจาะลงดินหรือหาตำแหน่งที่มีก๊าซเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของทะเลสาบก็มีก๊าซทั้งนั้น แถมยังอาจช่วยลดความอันตรายของมันไปได้บ้าง
จนในปี พ.ศ. 2558 บริษัทสัญชาติอเมริกันก็ได้เปิดตัวโครงการร่วมทุน เพื่อผลิตไฟฟ้าในทะเลสาบคีวู ในขั้นแรกพวกเขาใช้โรงไฟฟ้าลอยน้ำที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยการดูดเอาก๊าซที่อยู่ใต้น้ำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก และพวกเขาก็กำลังขยายกำลังผลิตจาก 26 เป็น 100 เมกะวัตต์
จากประมาณการ หากมีโรงไฟฟ้าลอยน้ำขนาด 100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง อาจต้องใช้เวลาหลายร้อยปี กว่าก๊าซมีเทนในทะเลสาบลดลงจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่! ก๊าซพวกนี้ก็เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติเช่นกัน …มันเป็นเหมือนพรที่มอบทรัพยากรสำหรับผลิตไฟฟ้าให้กับพื้นที่แถบนี้ แม้อเมริกาจะเข้ามาขอแบ่งก็ตาม