ถ้าพูดถึง “หมาจิ้งจอก” หลายคนอาจคิดถึงหมาจิ้งจอกตัวส้มๆ แดงๆ ขนฟูๆ หากคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด เพราะหมาจิ้งจอกส่วนใหญ่จะเป็นอย่างงั้น แต่หมาจิ้งจอกในไทยจะถูกเรียกว่า “หมาจิ้งจอกสยาม” มันไม่ได้มีขนยาวสีแดงส้มแต่เป็นสีออกน้ำตาลและยังมีความคล้ายกับหมาในอีกด้วย เดี๋ยวมารู้จักพวกมันสักเล็กน้อย
หมาจิ้งจอกสยาม (Siamese jackal)
หมาจิ้งจอกสยาม ชื่อวิทยาศาสตร์ Canis aureus cruesemanni เป็นชนิดย่อยของหมาจิ้งจอกทอง เป็นหมาป่าที่พบได้ในประเทศไทย จัดเป็นหมาป่า 1 ใน 2 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทยนอกเหนือไปจากหมาใน
มีขนสีน้ำตาลปนเทา มีลายกระดำกระด่างเปรอะๆ ไม่ใช่สีพื้นแดงสนิมเหมือนกับอย่างขนของหมาใน นอกจากนั้นแล้วยังมีขนยาวปกคลุมรอบคอเป็นแผงใหญ่ ขนบริเวรนี้ปลายขนจะมีสีดำ ขนตามลำตัวจะมีลักษณะขนสองชั้นแผ่ชี้ปกคลุมตั้งแต่ท้ายทอยลงมาจนถึงกลางหลัง เรื่อยจนไปถึงโคนหางมีลักษณะคล้ายกับอานม้ามากกว่าขนที่กลางหลังของสุนัขไทยหลังอานซะอีก
หางของหมาจิ้งจอกสยามจะสั้นกว่าหางของหมาในและขนที่หางจะมีสีดำเพียงแค่ 1 ใน 3 ความสูงประมาณ 40 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 7-14 กิโลกรัมความยาวของลำตัววัดจากหัวหัวถึงปลายหางหางประมาณ 60–75 เซนติเมตร ..พบกระจายพันธุ์ในประเทศไทย, พม่า และภาคตะวันออกของอินเดีย
หมาใน (dhole, asiatic wild dog)
หมาใน, หมาป่าเอเชีย หรือ หมาแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuon alpinus ในวงศ์สุนัข (Canidae) เป็นหมาป่าที่มีขนาดใหญ่กว่าหมาจิ้งจอก จมูกสั้น ใบหูกลมมีขนาดใหญ่ ขนตามลำตัวค่อนข้างสั้นมีสีน้ำตาลแดง สีขนบริเวณท้องจะอ่อนกว่าบริเวณหลัง หางยาวเป็นพวง ปลายหางมีสีเทาเข้มหรือดำ
แต่หมาในที่พบในประเทศไทยจะมีสีน้ำตาลแดงตลอดทั้งตัวไม่มีสีขาว หางสีดำฟูเป็นพวงยาว 40-45 เซนติเมตร หลังสีเข้ม หูกลมใหญ่ ขนในหูสีขาว ปากสั้น มีกรามและฟันแข็งแรงมาก มีฟันกรามล่างเพียงข้างละสองซี่ ต่างจากหมาประเภทอื่นที่มีฟันกรามล่างข้างละสามซี่ จำนวนฟันทั้งปากจึงมี 40 ซี่ ซึ่งหมาชนิดอื่นมี 42 ซี่
หมาในพบตั้งแต่เอเชียตะวันออก อินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงไปจนถึงเกาะชวา หมาในอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN) ไซเตสจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง”