สายพันธุ์ที่หายไป ‘ช้างแคระ’ ตัวเท่าวัว? เคยมีสายพันธุ์ไทยจริงหรือไม่?

เชื่อว่าหลายคนไม่รู้ว่าช้างแคระคืออะไร และยิ่งไม่เคยรู้ว่าในไทยก็เคยมีช้างแคระอาศัยอยู่ด้วย แต่เพราะพวกมันมีน้อยซะจนแม้แต่นักวิชาการด้านสัตว์ป่า ก็มีข้อมูลของพวกมันน้อยมากเช่นกัน และเพื่อให้ได้รู้จักช้างชนิดนี้ ผมจึงได้รวบรวมเรื่องของพวกมันมาให้ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า "ช้างแคระ" มันเป็นเหมือนสัตว์ในตำนาน ที่มีเรื่องราวที่จริงและไม่จริงผสมปนเปกันไป จึงขอให้ใช้วิจารณาญาณรับชม และภาพที่อยู่ในเรื่องทั้งหมด ไม่มีภาพช้างแคระประเทศไทยนะครับ ... คลิปท้ายเรื่อง

ช้างแคระเป็นช้างเอเซียพันธุ์เล็ก มันมีขนาดตัวที่เตี้ยหรือก็คือตัวเล็กกว่าช้างป่าทั่วไป ว่ากันว่ามันตัวโตกว่าควายป่าเล็กน้อย และช้างชนิดนี้มีชื่อเรียกอยู่หลายอย่างเช่น ช้างค่อม หรือ ช้างแกลบ จัดเป็นสัตว์ป่าหายากชนิดหนึ่ง

พวกมันเป็นช้างที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา หรืออาจพบในป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่นั้นก็นานมากแล้ว ปัจจุบันไม่เคยพบช้างชนิด จึงเข้าใจว่าช้างแคระน่าจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยนานมากกว่า 70 ปี

ลักษณะและเรื่องราวของช้างแคระไทย

Advertisements

ช้างแคระในไทยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและเป็นสัตว์ที่หายาก ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยยังขาดผู้ที่สนใจในศึกษาช้างแคระอย่างจริงจัง จึงทำให้ไม่มีนักวิชาการเคยจับตัวช้างหรือเก็บตัวอย่างของมันมาศึกษาเลย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ความรู้ที่เกี่ยวกับช้างแคระไทยเกือบจะไม่มีอยู่เลย มันจึงเป็นเพียงการประมวลผลจากคำบอกเล่าและตามข้อความที่เขียนไว้ในบันทึกต่างๆ เท่านั้น

จากเรื่องราวของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย เคยเดินทางไปสำรวจบริเวณทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา เมื่อหลายสิบปีก่อน จนได้พบช้างแคระที่ “คลองนางเรียม” ท่านได้กล่าวถึงช้างเอาไว้ว่า “เป็นช้างค่อนข้างเล็กไปสักหน่อย แต่ยังโตกว่าควายบ้านมากไม่ใช่เล็กอย่างควายบ้าน หรือเล็กกว่าควายบ้านอย่างที่ใครๆ เขาชอบนำมาเล่าสู่กันฟัง”

เรื่องจาก “ลุงกลับ” ชาวบ้านที่ระโนด ซึ่งเคยพบเห็นช้างแคระมาก่อน เล่าให้ฟังตรงกันว่า “ช้างแคระเป็นช้างขนาดเล็กที่มีลักษณะเหมือนช้างป่าทั่วไป แต่ก็ยังตัวใหญ่กว่าควาย”

เรื่องจากนาย “นิวัฒ ใฝขาว” อดีตพรานป่าแห่งเทือกเขาโต๊ะเทพ ได้เล่าจากประสบการณ์ที่ได้พบกับช้างแคระมาแล้วถึง 6 ครั้ง “ครั้งแรกที่เห็นก็นึกว่าเป็นลูกช้าง ตัวมันเล็กคล้ายๆ วัว พุงมันป่องๆ มีงายาวประมาณ 1 ฟุต”

เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช้างแคระมีใบหูค่อนข้างเล็ก หูมีขนสีแดง มีเสียงร้อง กิ๊กๆ ไม่ร้องเหมือนช้างป่าขนาดใหญ่ มีนิสัยดุร้ายและยังไม่กลัวคน หากเจอคนมันจะวิ่งไล่ทันที แต่วิ่งซิกแซกไม่เป็น มันชอบอาศัยอยู่ตามป่าอ้อ ป่าแขมและตามชายป่า หากินรวมกันเป็นฝูงเหมือนช้าป่าทั่วไป

ขนาดของช้างแคระจากที่นายแพทย์บุญส่ง ได้ฟังจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน “ช้างแคระมีขนาดความสูงราวๆ 6 ฟุต หรือ 6 ฟุตเศษเล็กน้อย” ซึ่งตรงกับข้อมูลจากรายงานความก้าวหน้าของโครงการติดตามศึกษา “ช้างแคระ” ป่าต้นน้ำเทพาของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ว่า “ช้างแคระมีขนาดความสูงประมาณ 170 เซนติเมตร

อย่างไรก็ตามเคยมีรายงานข่าวการพบช้างแคระซึ่งอยู่ในหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ฉบับวันที่ 5,6,16 มิถุนายน 2506 โดยพาดหัวข่าวว่า “พบช้างแคระสูง 90 เซนติเมตร ชาวบ้านล่ามากินต่างหมู นายกสั่งห้ามด่วน”

ช้างแคระบอร์เนียว ที่พบได้เฉพาะบนเกาะบอร์เนียวเท่านั้น เชื่อว่าเป็นช้างที่อาจคล้ายช้างแคระไทยมากที่สุด แต่ตอนนี้พวกมันก็ใกล้สูญพันธุ์

ในด้านการนำเอาช้างแคระมาใช้งาน เคยมีคนมีพยายามจับมาเลี้ยงและฝึกเพื่อใช้งาน แต่ใช้อะไรไม่ค่อยได้ เพราะเป็นช้างขนาดเล็กมาก กำลังน้อยและยังตายง่าย ว่ากันว่าโอกาสรอดเพียง 10% เท่านั้น

“รายงานสุดท้ายที่พบช้างแคระฝูงสุดท้ายในไทยคือบริเวณป่าไร่เหนือ ครอบคลุมพื้นที่ของกิ่งอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา และอำเภคสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งตรงกับปี 2538” หลังจากรายงานนี้ได้มีการจัดตั้งทีมค้นหา แต่ก็ยังไม่สามารถพบตัวจริง ได้รับแค่คำบอกเล่าจากชาวบ้านเท่านั้น ..แต่ก็ยังถือเป็นข่าวดี เพราะพวกมันอาจหลงเหลืออยู่จริงๆ

มีบางรายงานเชื่อว่าจริงๆ แล้วช้างแคระไทยเป็นชนิดเดียวกับ “ช้างบอร์เนียว (Borneo elephant)” ซึ่งเป็นช้างขนาดเล็ก มันมีขนาดประมาณ 8 ฟุต อาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียว และพบในไทยเช่นกัน และในตอนนี้พวกมันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ คาดว่าจะเหลืออยู่น้อยกว่า 1,500 ตัว ทั้งหมดอาศัยอยู่ในป่าแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียวเท่านั้น

และหากดูตามข้อมูล พอจะสรุปได้ว่า ในไทยเคยมีช้างแคระอาศัยอยู่จริง และมันก็สูญพันธุ์ไปก่อนที่จะได้รับการศึกษาจากนักวิจัยซะอีก เราไม่มีแม้แต่ภาพถ่ายของพวกมันเลยด้วยซ้ำ!

และจากคำบอกเล่า ช้างแคระมีขนาดประมาณ 170 เซนติเมตร มีงายาวประมาณ 1 ฟุต มีใบหูค่อนข้างเล็ก หูมีขนสีแดง มีเสียงร้อง กิ๊กๆ และมีนิสัยดุร้าย จึงทำให้ชาวบ้านระแวกนั้นล่าพวกมันจนสูญพันธุ์ และก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นชนิดเดียวกับช้างบอร์เนียวหรือไม่

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
แหล่งที่มาอ.สมชาย เลี้ยงพรพรรณ