เปิดประวัติศาสตร์ ‘ปลาซัคเกอร์’ จากของมันต้องมีทุกตู้ปลา กลายเป็นหายนะในไทยได้อย่างไร

เมื่อนานมาแล้ว ในตอนที่ "ปลาซัคเกอร์" เข้ามาในประเทศไทยได้ไม่กี่ปี ปลาชนิดนี้ได้กลายเป็นปลาที่ต้องมีในทุกตู้ปลา ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ต่างก็ต้องซื้อมันกลับบ้าน อย่างน้อยก็ต้องมีหนึ่งตัว โดยเป้าหมายหลักคือ ให้มันช่วยกำจัดตะไคร่และเศษอาหาร แต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะปลาชนิดนี้โตเร็วและตัวใหญ่กว่าที่จินตนาการเอาไว้มาก มันใหญ่ซะจนไม่สามารถอยู่ในตู้ปลาได้ จนสุดท้ายเจ้าของไม่มีทางเลือก ก็เอามันไปปล่อยในคลอง จากนั้นแล้วยังไงต่อ? ก็ไปซื้อตัวใหม่มาใส่ไง และแล้ววัฎจักรก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนตอนนี้คลองบ้านเราก็เต็มไปด้วยปลาซัคเกอร์อย่างที่เห็นในทุกวันนี้

ปลาซัคเกอร์

ปลาซัคเกอร์ คืออะไร?

Advertisements

ในสมัยก่อนโน่น ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ผมไม่รู้จักหลอกว่าปลาซัคเกอร์คืออะไร รู้แต่ว่ามันคือ “ปลาดูดกระจกหรือปลาเทศบาล” แล้วก็ไม่รู้เป็นบ้าอะไร พอไปซื้อปลาตัวใหม่ทีไร ก็ต้องซื้อปลาซัคเกอร์กลับมาทุกที ก็เพราะพอมันตัวใหญ่ไม่เข้ากลับตู้ ก็จะเอามันไปปล่อยทิ้งตลอดนั้นเอง

จริงๆ แล้วปลาซัคเกอร์ก็มีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้มากในไทยจะเป็น ปลาซัคเกอร์ธรรมดา (Common sucker) ชื่อวิทยาศาสตร์ Hypostomus plecostomus ซึ่งจะอยู่ในวงศ์ปลาซัคเกอร์ Loricariidae (/ลอ-ริ-คา-ริ-ดี/) ที่มีประมาณ 700 ชนิด และเพราะมันมีเยอะจัด จึงมีการตั้งชื่อรหัสทางการค้าเพิ่มขึ้นมา โดยจะมีตัวอักษร L ซึ่งเป็นชื่อย่อของวงศ์ นำหน้าหมายเลข เช่น L-46 เป็นต้น

L-46 / ปลาซัคเกอร์ม้าลาย / Zebra Pleco

แต่อย่าเพิ่งคิดว่าปลาซัคเกอร์ทุกชนิดจะราคาถูกนะครับ ความจริงปลาชนิดนี้หลายชนิดราคาแพงเอาเรื่อง อย่างเช่น ชนิดที่เรียกว่า Blue Phantom (L-128) ตัวนี้ราคาขายในอเมริกาประมาณ 130 usd ราคาในไทยก็แพงเอาเรื่อง หรือจะเป็น Gypsy King Tiger (L-66) ราคาประมาณ 140 usd และอีกตัวที่แพงเลยทีเดียว มันคือ Zebra Altimira (L-46) ตัวนี้ 100usd ขึ้นไป …ราคาทั้งหมดที่กล่าวมาก็ขึ้นกลับขนาดและคุณภาพของปลาด้วย อาจแพงหรือถูกกว่า

L-128 Blue Phantom Pleco
L-66 Gypsy King Tiger Pleco
Advertisements

สำหรับปลาซัคเกอร์ธรรมดา ถือเป็นปลาที่ทนทานอย่างมาก มันมีเกาะแข็งๆ ทั่วตัว เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 2 ฟุต มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ แต่ก็เป็นปลาที่ไประบาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

แล้วปลาพวกนี้เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร?

แรกเริ่มปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาโดยกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม พวกเขาได้มีการนำเข้าปลาซัคเกอร์ มาจากประเทศบราซิล “โดยมีเจตนาเลี้ยงเพื่อให้พวกมันทำความสะอาดตู้ปลา” ซึ่งปีที่นำเข้ามาคือ พ.ศ. 2520

ในตอนแรกถ้าเป็นคนเลี้ยงทั่วไป การซื้อปลาซัคเกอร์มาใส่ตู้ มันเป็นอะไรที่ไม่ต้องคิดไรมาก เพราะร้านขายปลาสวยงามจะมีปลาพวกนี่ขายในราคาที่ไม่แพง แถมตัวมันก็เล็กดูน่ารักดีด้วย อาจจะยาวแค่ 2 นิ้วด้วยซ้ำ แต่หารู้ไม่ว่าเจ้าปลาปีศาจพวกนี่โตได้ถึง 2 ฟุต มันทรงพลังแถมร้ายกว่าที่คิด

เพราะในบางครั้งพฤติกรรมของปลาซัคเกอร์จะแปลกๆ อย่างเช่น ถ้าหากกินไม่อิ่มอาหารไม่พอ ก็จะก้าวร้าว ไล่ดูดเมือกของปลาอื่นจนถึงตายได้ สุดท้ายคนเลี้ยงก็ต้องเอาไปปล่อยทิ้งตามแหล่งน้ำธรรมชาติจนกลายเป็น “ปลามหาภัยของแหล่งน้ำธรรมชาติ”

แถมปลาชนิดนี้ก็เป็นปลาเพียงไม่กี่ชนิด ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่กิน แม้ปลาซัคเกอร์ตอนเล็กๆ อาจจะดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่เมื่อมันโตขึ้น มันไม่มีความสวยงาม ออกจะดูน่ากลัวเลยด้วยซ้ำ แน่นอนว่ามันไม่น่ากินสักนิด โดยเฉพาะในช่วงแรกของการระบาด …ไม่มีใครกล้ากินมันจริงๆ … แต่สมัยนี้มีคนกินแล้วนะ วิธีง่ายๆ เลยคือย่างกิน

แล้วปลาซัคเกอร์น่ากลัวยังไง?

ปลาชัคเกอร์เป็นปลาที่ทั้งถึกทนทาน พวกมันจะทำลายหรือกินไข่ปลาและลูกปลาที่มีขนาดเล็ก จนเป็นเหตุให้ปลาท้องถิ่นหลายชนิดของประเทศไทยอย่างเช่น ปลาตะเพียน ปลาสวาย มีประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว

โดยธรรมชาติแล้วปลาส่วนใหญ่ มักจะวางไข่ติดตามรากไม้หรือก้อนหิน แต่ปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่กินซากพืชซากสัตว์ หรือตะไคร่น้ำที่ติดตามวัสดุต่างๆ บริเวณท้องน้ำ ดังนั้นไข่ปลาที่ติดอยู่จึงถูกกินไปด้วย

นอกจากนี้ปลาซัคเกอร์ยังขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว พวกมันมีลูกได้ครั้งละหลายร้อยตัว โดยใช้วิธีขุดโพรงดินเพื่อวางไข่ และเฝ้าระวังให้ลูกฟักออกมาอย่างอดทน ด้วยเหตุนี้ลูกๆ ของมันจึงมีโอกาสรอดที่สูงมาก

หากถามว่า ถ้าเรากินปลาซัคเกอร์กันเยอะๆ พวกมันจะมีน้อยลงหรือไม่? เอาเป็นว่าถ้าคนไทย 10% กินปลาซัคเกอร์ อาทิตย์ละตัว ผมว่ามันก็คงจะลดลงนั้นละ แต่ผมว่าตอนนี้มีคนไทยเพียงเล็กน้อยที่กินปลาชนิดนี้ แถมพวกมันยังถูกเหล่าผู้ใจบุญ ปล่อยลงน้ำทุกวัน

หากลองมาคิดดูเล่นๆ วัดในไทยที่มีท่าน้ำ ผมให้ขั้นต่ำเลย 1 พันวัด ถ้าทุกวันมีคนปล่อยปลาซัคเกอร์วัดละ 100 ตัว ก็เท่ากลับว่า มีปลาซัคเกอร์ที่แข็งแรงถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติวันละ 1 แสนตัว ปีละมากกว่า 36 ล้านตัว และต่อให้พวกมันตายไปครึ่ง ก็ยังเหลือ 18 ล้านตัว ซึ่งก็เยอะอยู่ดี …แบบนี้ก็คงจะลดลงไปได้หลอกนะ แต่เอาจริงๆ ผมว่าปลาซัคเกอร์เยอะอย่างทุกวันนี้ ก็เพราะมีสายบุญช่วยส่งเสริมนะ

ตัวผมเองเคยเข้าร่วมกองกำลังกำจัดซัคเกอร์อยู่เหมือนกัน มันเป็นช่วงที่บึงสำราญโดนปลาซัคเกอร์รุกรานอย่างรุนแรง เรียกว่าโคตรเยอะ และแต่ละตัวก็ตัวเท่าแขน ในตอนนั้นบึงได้ตั้งค่าหัวปลาซัคเกอร์เอาไว้ตัวละ 5 บาท ถ้าตกได้ให้เอามาทิ้งในถัง ช่วงนั้นผมตกได้วันละ 20 – 30 ตัว ปลาถูกโยนลงถังวันละหลายร้อยตัว ทำแบบนี้อยู่ประมาณ 1 เดือน ปลาซัคเกอร์ก็ซาลง เป็นอันเสร็จภารกิจ

มาถึงท้ายเรื่องคงต้องขอสรุปกันเล็กน้อย …สำหรับปลาซัคเกอร์ในประเทศไทย ยังถือว่าระบาดอยู่ แม้จะดูน้อยลงไปบ้าง หรืออาจเพราะพวกเราชินชาก็ไม่รู้ แต่ก็มีคนเริ่มกินปลาชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิธีนี้อาจทำให้ปลาพวกนี้ลดลงไปบ้าง และสำหรับคนที่จับปลาชนิดนี้ได้ หากไม่คิดจะเก็บไว้ อย่างได้สงสาร ให้โยนมันลงถังขยะหรือโยนไว้บนพื้นแถวนั้นไปเลยคือดีที่สุด และสำหรับสายบุญ ก็อย่าปล่อยปลาซัคเกอร์เลยครับ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements