เกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ คืออะไร?
ก่อนจะไปเรื่องนก ผมขอเล่าเรื่องของเกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ก่อน โดยเกาะแห่งนี้มีชื่อว่า อินอัคเซส’ ซะเบิล ไอ-แล็นด (Inaccessible Island) หรือ หากแปลตรงๆ เลยก็คือ เกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟ มีขนาดประมาณ 14 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก
พื้นที่ของเกาะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รกร้าง และไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ โดยเฉพาะกับมนุษย์ เป็นเกาะที่ถูกพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1656 ส่วนต้นกำเนิดที่แท้จริงของชื่อเกาะยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีทฤษฎีหนึ่งเล่าว่า มีเรือดัตช์ผ่านมาพบเกาะ แต่เพราะลูกเรือไม่สามารถเข้าไปถึงด้านในของเกาะได้ พวกเขาจึงตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้” …และต้องบอกว่าชื่อนี้เหมาะสมแล้ว
ต่อมาในปี ค.ศ. 1803 กะลาสีเรือสหรัฐ ได้ขึ้นฝั่งบนเกาะแห่งนี้ แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปถึงข้างในได้ จนในปี ค.ศ. 1871 สองพี่น้องที่เดินทางมาจากเยอรมัน คิดจะอาศัยอยู่บนเกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ตลอดไป และพวกเขาก็อดทนอยู่ได้นานถึง 2 ปี แต่เนื่องจากขาดแคลนอาหารอย่างหนัก พวกเขาจึงดีใจมาก ที่ได้รับความช่วยเหลือจากเรือที่ผ่านมา
ต่อมาเรือ HMS Challenger ซึ่งเป็นเรือสำรวจของกองทัพอังกฤษ ก็เดินทางมาที่เกาะ โดยเรือลำนี้เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังมากมาย แน่นอนว่าเป้าหมายการมาคือ เพื่อตรวจสอบพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่บนเกาะ แต่ก็ทำได้เพียงภายนอกเท่านั้น
จนในปี ค.ศ. 1922 นักธรรมชาติวิทยา ฮิวเบิร์ต วิลกินส์ (Hubert Wilkins) ได้เดินทางมาที่เกาะ จนได้พบเข้ากับนกตัวหนึ่ง ต่อมามันถูกตั้งชื่อว่า นกฟินช์ของวิลกินส์ (Nesospiza wilkinsi) ในตอนนี้สถานะของนกชนิดนี้คือ ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ
ในปี ค.ศ. 1938 คณะสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของนอร์เวย์ ได้ใช้เวลาสามสัปดาห์บนเกาะนี้ หลังจากที่พยายามอยู่นาน ในที่สุดพวกเขาก็เข้าไปถึงที่ราบสูง จนสามารถจัดหมวดหมู่พืช นก และสัตว์ต่างๆ ได้มากขึ้น …หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1962 จนถึง 1976 ก็มีความพยายามในการสำรวจอยู่หลายครั้ง แต่ก็เหมือนเดิม เพราะไม่เคยมีใคร เข้าไปถึงด้านในของเกาะได้
สำหรับพืชและสัตว์บนเกาะ เท่าที่รู้ในตอนนี้คือ ไม่พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ผีเสื้อ พบเพียงพืชพื้นเมือง 64 ชนิด รวมถึงไม้ดอก 20 ชนิด และเฟิร์น 17 ชนิด นอกจากนี้ยังพบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอีก 48 ชนิด
ส่วนสัตว์ที่มีชื่อเสียงที่สุดบนเกาะก็คือ นกอัญชันที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ (inaccessible island Rail) มันเป็นนกเฉพาะถิ่นที่พบได้บนเกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เท่านั้น
นกที่บินไม่ได้ มาถึงเกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ได้อย่างไร?
นกอัญชันที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ (Inaccessible Island rail) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ลาเตรัลลัส โรเจอร์ซี (Laterallus rogersi) เป็นนกบินไม่ได้ ที่ตัวเล็กที่สุดในโลก มันมีขนาด 13 – 15 เซนติเมตร ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมีย เป็นนกที่มีขนสีน้ำตาล ปากและเท้าสีดำ เมื่อโตเต็มวัยตาจะเป็นสีแดง มันเป็นนกประจำถิ่นที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะ ตั้งแต่ชายหาดไปจนถึงที่ราบสูงตอนกลาง พวกมันจะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กหลายชนิดและยังกินพืชบางชนิดด้วย
นักวิจัยคนแรกที่อธิบายถึงนกชนิดนี้คือ เพอร์ซี โลว์ (Percy Lowe) เขาได้อธิบายถึงนกชนิดนี้เมื่อปี ค.ศ. 1923 โดยที่เขาไม่เคยเดินทางมาที่เกาะเลย มันเป็นการอธิบายจากตัวอย่างนกที่ได้รับมาจากคนอื่น ในตอนนั้นเขาไม่สามารถเชื่อมโยงกับสายพันธุ์ใดๆ ที่มีอยู่ได้
เขาจึงได้จัดให้นกชนิดนี้อยู่ในสกุลใหม่ที่ชื่อว่า แอตแลนติเซีย (Atlantisia) และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แอตแลนติเซีย โรเจอร์ซี (Atlantisia rogersi) และในมุมมองของเขาในตอนนั้น นกชนิดนี้มาถึงเกาะที่ห่างไกลด้วยการเดินข้ามสะพานดินที่ตอนนี้จมอยู่ใต้มหาสมุทร
ผ่านมาเกือบหนึ่งศตวรรษ ทฤษฎีเชิงธรณีวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด จากรายงานที่ตีพิมพ์ใน sciencedirect ได้ให้หลักฐานทางพันธุกรรมที่แตกต่างของนกชนิดนี้
นักวิจัยได้ทราบว่า ญาติใกล้ชิดของนกอัญชันที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็คือนกอัญชันปีกจุด (Laterallus spiloptera) ซึ่งอาศัยอยู่ในอุรุกวัยและอาร์เจนตินา นกทั้งสองชนิดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนกอัญชันดำ (Laterallus jamaicensis) ที่พบได้ในอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ
สำหรับหัวข้อสำคัญอย่างหนึ่งของการค้นพบนี้คือ บรรพบุรุษร่วมกันของนกเหล่านี้ “สามารถบินได้” มันหมายความว่า “นกอัญชันที่ไม่สามารถเข้าถึงได้” ไม่ได้เดินข้ามสะพานดินมา พวกมันบินมาอยู่บนเกาะ และใช้ชีวิตอยู่บนเกาะจนถึงทุกวันนี้
และเพราะเกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่มีสัตว์นักล่าที่อยู่บนดินเลย หรือแม้แต่บนฟ้าก็อาจมีเพียงชนิดเดียวด้วยซ้ำ เมื่อวันเวลาผ่านไป! พวกมันก็สูญเสียความสามารถในการบิน ประกอบกับอาหารบนเกาะที่น้อย สุดท้ายพวกมันจึงกลายเป็นนกบินไม่ได้และมีขนาดเล็กที่สุดในโลก
และเพื่อการอธิบายสายพันธุ์ที่ถูกต้อง นกอัญชันที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงถูกย้ายไปอยู่ในสกุล ลาเตรัลลัส และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ลาเตรัลลัส โรเจอร์ซี (Laterallus rogersi)
สุดท้าย! จากการสำรวจที่ไม่สามารถทำได้บ่อยนัก พบว่านกอัญชันที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ อาศัยอยู่เกือบทั่วเกาะ และพบในทุกระดับความสูง พบหนาแน่นที่สุดบริเวณทุ่งหญ้าทัสซ็อคผสมเฟิร์น (Tussock grass) โดยมีนก 10-15 ตัวต่อ 10,000 ตารางเมตร
และเพราะพวกมันเป็นนกที่อยู่อย่างปลอดภัยมาโดยตลอด จึงทำให้วิธีหาอาหารของนกชนิดนี้เป็นแบบเร่งรีบ และเพราะแบบนี้นักวิจัยก็เป็นกังวลในเรื่องที่นกชนิดนี้ พบได้บนเกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้! ประชากรของพวกมันจึงเปาะบาง ซึ่งมีจำกัดเพียงไม่กี่พันตัว และมันจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ทันที หากมีนักล่าอย่างหนูขึ้นมาบนเกาะเพียงไม่กี่ตัว
ด้วยเหตุนี้ IUCN จึงจัดให้นกอัญชันที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ อยู่ในสถานะ เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ (VU) และตัวเกาะก็ถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้มงวด บวกเข้ากับเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก การที่คุณจะได้ไปยืนบนแห่งนี้แม้เพียงบริเวณชายหาดเล็กๆ ก็เป็นเรื่องยาก