งานวิจัยเผยปริศนา ‘ปลาหุ้มเกราะจิ๋ว’ รอดจากปิรันยาได้อย่างไร?

บนโลกใบนี้มีปลาขนาดเล็กหลายชนิด ที่มีบางสิ่งที่มนุษย์อย่างพวกเราคาดไม่ถึง อย่างเช่น ปลาแพะสามแถบ (Corydoras trilineatus) ก็เป็นหนึ่งในนั้น และผมเชื่อว่าหลายคน ก็น่าจะเคยเห็นเห็นเจ้านี่ตามร้านขายปลาสวยงามกันมาบ้าง มันเป็นปลาที่แทบจะไม่พบเจอภาพถ่ายในธรรมชาติ อาจเป็นเพราะถิ่นกำเนิดของมันอยู่ในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนที่ขุ่นมัว และมันก็เป็นปลาขนาดเล็กที่ยาวได้อย่างมากก็ 6 เซนติเมตร จึงไม่แปลกที่จะมองเห็นได้ยาก แต่! ปริศนาที่น่าประหลาดใจของพวกมันคืออะไร? เดี๋ยวเรามาดูกัน ...ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่ง หรือหากต้องการสมัครสมาชิกก็ทำได้เช่นกัน

จุดเริ่มต้นการทดลอง

Advertisements

ทีมนักวิจัยในห้องแลปชีววิทยาที่แคลิฟอร์เนีย ได้จัดแสดงสิ่งที่น่าจะเป็นการจับคู่ของสัตว์น้ำ ที่อาจจะแปลกประหลาดที่สุด มุมหนึ่งคือ ปลาปิรันย่าแดง (Pygocentrus nattereri) ส่วนอีกมุมคือ ปลาแพะสามแถบ (Corydoras trilineatus) ที่มีขนาดตัวเพียง 2.5 เซนติเมตร

Corydoras trilineatus

แน่นอนว่าปลาปิรันย่าที่หิวโหย ย่อมไม่ปล่อยปลาตัวเล็กๆ ไปแน่นอน แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะจากการเฝ้าดู นักวิจัยพบว่า ปลาปิรันย่าต้อนปลาแพะที่น่าสงสารเข้ามุม ก่อนจะอ้าปากเพื่องับมันแต่ทว่าหลังพยายามถึง 10 ครั้ง ปิรันย่าก็ต้องยอมแพ้ แล้วปลาแพะก็เป็นอิสระเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับมันเลย …และนี่คือการทดลองที่ถูกเปิดเผยออกมา

ปลาแพะตัวเล็กๆ ใช้อะไรป้องกันตัว.?

“มันน่าอัศจรรย์มาก ยิ่งตอนที่ปลาตัวเล็กๆ ว่ายออกมาจากปากปิรันย่าจอมโหด มันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ดร. มิสตี้ เพ็ก-ทราน (Misty Paig-Tran) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย กล่าวพร้อมหัวเราะไปด้วย เหมือนมันออกจะรำคาญปิรันย่าด้วยซ้ำ แถมหลังจากนั้นปิรันย่าก็ไม่ยุ่งกับมันอีกเลย ประมาณว่าฉันไม่สนใจพวกแกแล้ว พวกแกไม่ใช่ของที่กินได้ ไปให้พ้น!

ปลาตัวเล็กๆ แบบนี้รอดจากเจ้าปิรันย่าจอมโหดได้อย่างไร? ทั้งที่ปลาหรือสัตว์ขนาดใหญ่กว่ามันหลายเท่า ยังต้องถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ และสำหรับความลับของปลาแพะก็คือเกล็ดและเงี่ยงของมัน ซึ่งมันดูเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ แต่! ต้องบอกเกล็ดของปลาแพะพวกนี้พิเศษมาก มันเบาแต่กลับทนแรงได้มหาศาล

มันมีเกล็ดที่ต่างจากปลาเกล็ดส่วนใหญ่ โดยปลาในสกุลปลาแพะหลายชนิด มีเกล็ดที่ซ่อนทับครอบคลุมร่างกายประมาณ 46% ของความลึกร่างกาย (body depth) เมื่อเทียบกับ 1-5% ของความลึกร่างกายสำหรับปลาเกล็ดอื่นๆ แต่ก็มีปลาบางชนิดที่มีมากกว่า 60% ซึ่งก็คือปลาช่อนแอมะซอน และเพราะแบบนี้ชาวพื้นเมืองในแอมะซอนจะต้องใช้หอกที่แข็งและคมมาก เพื่อที่จะเจาะให้ทะลุเกล็ดของปลาช่อนแอมะซอน

และสำหรับ % การซ่อนทับ ยิ่งตัวเลขต่ำ ก็ยิ่งมีความยืดหยุ่นต่ำ และปลาพวกนี้มักจะถูกอธิบายว่ามีเกล็ดที่แข็ง แต่ความจริงเกล็ดพวกนี้ไม่ทนแรงปะทะ ในทางกลับกันยิ่งเกล็ดมี % ซ่อนทับสูง ก็ยิ่งยืดหยุ่นและดูอ่อนลง แต่ก็ทนแรงปะทะสูง

นอกจากนี้ปลาแพะที่ใช้ในการทดลอง เกล็ดยังมีส่วนประกอบของแร่ธาตุที่สูงถึง 53% มันมากกว่าปลาหุ้มเกราะส่วนใหญ่ อย่างปลาที่เกล็ดแข็งมากๆ เช่น ปลาช่อนแอมะซอน (Arapaima gigas) ที่มีแร่ธาตุชั้นใน 39% ชั้นนอก 58% หรือ ปลาซักเกอร์กระโดงสูง (Pterygoplichthys pardalis) ก็มีแร่ธาตุชั้นใน 44% ชั้นนอก 50% แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่งานวิจัยนี้ไม่สามารถแยกชั้นภายในและภายนอกของเกล็ดปลาแพะได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กจนเกินไป

แต่เนื่องจากปริมาณแร่ธาตุที่ค่อนข้างสูง บ่งชี้ว่าเกล็ดนั้นแข็ง ซึ่งจะทนทานต่อการเสียรูป แต่ก็แตกหักได้ง่ายกว่าแร่ธาตุต่ำ …ถ้าให้เทียบกับวัสดุที่มีความแข็งอื่น อย่างเช่น เนื้อฟันของมนุษย์ มีปริมาณแร่ธาตุ 70% ในขณะที่ผิวเคลือบฟันจะอยู่ที่ 97% …นี่แสดงให้เห็นโครงสร้างเกล็ดของปลาแพะนั้นแข็งแกร่งและพิเศษจริงๆ

ปลาแพะที่เอาตัวรอดไปวันๆ

ปลาแพะสามแถบ (Three stripe Corydoras) ชื่อวิทยาศาสตร์ Corydoras trilineatus เป็นปลาในสกุลปลาแพะ หรือ คอรี่ดอเรส (Corydoras) บางทีมันก็ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาแพะเสือดาว (Corydoras leopardus) เนื่องจากมันมีความคล้ายกันมาก และแม้พวกมันจะมีเกราะที่แข็งแรง แต่มันกลับอยู่ในอันดับปลาหนัง หรือ อันดับ ซิ-ลู-ริ-ฟอร์-เมส (Siluriformes)

ปลาแพะสามแถบ มีโครงสร้างค่อนข้างแปลก เพราะมันอยู่อันดับปลาหนังแต่ดันมีเกล็ด เพียงแต่เกล็ดของพวกมันนั้นเล็กและถี่มาก โดยถิ่นกำเนิดของปลาแพะชนิดนี้คือในอเมริกาใต้ พบในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนตอนกลาง ในบราซิล โคลัมเบียและเปรู มันจะใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณพื้นน้ำที่ไม่ลึกมากนัก

ด้วยขนาดเพียง 3 – 6 เซนติเมตร ทำให้พวกมันสามารถถูกกินโดยนักล่าขนาดใหญ่ เช่น นากยักษ์หรือโลมาสีชมพู แต่กับปลาปิรันย่านั้นเกล็ดของมันช่วยให้พวกมันนั้นสามารถโต้ตอบได้

จากการทดสอบในที่เลี้ยงนั้น ปิรันย่าสามารถฉีกปลาอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันได้สบายๆ แต่กับปลาแพะตัวเล็กๆ นั้นต่างออกไป เพราะหลังจากมันพยายามงับถึง 10 ครั้ง สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้

นอกจากเกล็ดอันแข็งแกร่งแล้ว ครีบของปลาแพะก็แข็งมาก รวมถึงเงี่ยงใกล้เหงือกของมัน ที่จะทิ่มแทงใส่ผู้ล่าได้ ความจริงการที่ปิรันยาพยายามกัดให้ทะลุเกราะของปลาแพะนั้นยากมาก โดยเฉลี่ยแล้วถ้าปิรันย่าล่าปลาแพะ จะมีโอกาสเพียง 20% เท่านั้น ที่มันจะสามารถกัดจนทะลุเกราะได้ แต่ส่วนมากปิรันย่าจะยอมแพ้ไปก่อน และเมื่อปิรันย่าชะงัก ก็จะเป็นโอกาสที่ปลาแพะจะหนีไปซ่อนตัวได้ และถึงแม้ปลาแพะจะถูกนักล่าขนาดใหญ่กว่ามากกินได้ แต่การที่รอดจากปิรันย่าจอมโหดไปได้ ก็ช่วยต่อชีวิตให้พวกมันไปได้อีกวัน

ความพยายามลอกเลียนแบบปลาแพะ

Advertisements

เป็นเวลานับพันปีแล้ว ที่มนุษย์พยายามไขปริศนาว่าชุดเกราะของปลาทำงานอย่างไร? และที่ผ่านมามันก็ถูกใช้ในการออกแบบชุดเกราะ อย่างเช่น ชุดเกราะที่เป็นเกล็ดปลาที่ซ้อนทับกันของราชวงศ์ฮั่น ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความพยายามที่จะเลียนแบบธรรมชาติ

และในตอนนี้ นักวิจัยเองก็พยายามค้นคว้าว่าการที่มีเกล็ดแบบนี้ จะส่งผลอย่างไรสำหรับพวกมันในการวิวัฒนาการ รวมถึงการประยุกต์เพื่อนำมาพัฒนาวัสดุสำหรับทำเสื้อเกราะในอนาคต ซึ่งจะเน้นไปที่ความเบาแต่ทนทาน ซึ่งในตอนนี้ก็มีความพยายามจำลองวัสดุที่จะมาใช้ทำเสื้อเกราะ โดยอิงจากเกล็ดปลาแพะแล้วด้วย สุดท้ายในอนาคตเสื้อผ่านที่เราใส่กันอยู่ นอกจากจะใส่สบายแล้ว ยังอาจกันกระสุนได้ด้วย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements