เกี่ยวกับนกชนหิน
นกชนหิน (Helmeted hornbill) ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinoplax vigil เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือก พบในประเทศไทย มาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Rhinoplax
นกชนหิน จัดเป็นนกเงือกชนิดหนึ่ง มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 45 ล้านปีมาแล้ว มีลักษณะเด่นกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ ตรงที่สันบนปากมีขนาดใหญ่และหนาเนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง นกชนหินมีจะงอยปากที่ยาวและมีขนหางพิเศษคู่หนึ่ง ซึ่งจะงอกยาวเลยขนหางเส้นอื่นๆ ออกไปมากถึง 50 เซนติเมตร มองเห็นได้เด่นชัด
นกตัวผู้มีขนาดลำตัวยาวจากปลายจะงอยปากถึงปลายขนหาง 127 เซนติเมตร ขนลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องสีขาว หางสีขาวมีแถบสีดำพาดขวาง และปลายปีกสีขาวเป็นแถบกว้างและไม่มีขนปกคลุมใต้ปีก จะงอยปากตอนโคน และบนสันสีแดงคล้ำ ตอนปลายสีเหลืองเรื่อๆ บริเวณลำคอที่ไม่ขนในนกตัวผู้จะมีสีแดงคล้ำ ส่วนนกตัวเมียจะมีสีฟ้าซีดหรือสีฟ้า แต่นกวัยอ่อนเพศผู้ ลำคอจะมีสีแดงเรื่อๆ และนกเพศเมียหนังส่วนนี้จะเป็นสีม่วง นอกจากนี้สันบนจะงอยปากจะมีขนาดเล็กกว่า และขนหางยังเจริญไม่เต็มที่ มีลักษณะสั้นกว่านกโตเต็มวัย
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของนกชนหินพบว่า การทำรังของนกชนิดนี้ไม่ง่ายเหมือนชนิดอื่น เนื่องจากจะพิถีพิถันในการเลือกทำรังอย่างมาก โดยรังต้องมีลักษณะพิเศษที่จะมีปุ่ม หรือมีชานชาลายื่นออกมาเพื่อให้นกเกาะเมื่อโผเข้ารัง ซึ่งโพรงลักษณะนี้ในธรรมชาติมีอยู่น้อย ไม่เหมือนนกเงือกชนิดอื่นที่ไม่พิถีพิถันในการเลือกรัง อีกทั้งวงจรชีวิตของนกชนหินยาวกว่าชนิดอื่น ๆ โดยถือว่ายาวที่สุดในบรรดานกเงือกเอเชีย
จากการวิจัยกว่า 30 ปี ของทีมงาน ศ.ดร.พิไล ได้ระบุว่า พบรังนกสะสมทั้งหมด จำนวน 22 รัง ที่มีนกเข้ามาใช้ซ้ำ ๆ ราว 40 คู่ แต่เกิดการเสียหายไป 19 รัง ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังและมีการซ่อมแซมเมื่อต้นรังหักนกเงือกก็ต้องหารังใหม่ เท่ากับปีนั้นแม่นกจะไม่ออกลูก ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมีนกชนหินในพื้นที่เทือกเขาบูโดฯ ประมาณ 100 ตัว หรืออาจไม่ถึง 100 ตัวดีนัก เพราะในระยะหลังแต่ละปีพบนกทำรังแค่ 1-2 คู่ และออกลูกเพียงตัวเดียว ส่วนพื้นที่อื่นนั้นไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด แต่นกชนหินสามารถพบได้ในพื้นที่ป่าดิบทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป
กระแสเรียกร้องให้ขึ้นบัญชีนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ศ.ดร.พิไล ให้ความเห็นว่า มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
- ข้อดี คือกฎหมายในการดูแลนกชนหินจะมีความเข้มข้นขึ้น แต่เมื่อมีกฎหมายแล้วต้องเข้มงวดในการบังคับใช้ด้วย ซึ่งกรณีตัวอย่างจากทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้ประโยชน์จากป่ามาก แต่ไม่มีการทำนุบำรุงทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างที่เป็นเช่นทุกวันนี้
- ข้อเสีย หากนกชนหินถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน เรื่องการทำวิจัยจะยุ่งยากขึ้น เพราะต้องมีการกำหนดเขตหวงห้าม ซึ่งอาจจะเป็นการปิดกั้นนักวิจัยจากภายนอก
ในขณะเดียวกันหากไม่มีการเฝ้าระวังนกชนิดนี้ก็อาจจะหายไปโดยธรรมชาติ เพราะไม่สามารถเจาะโพรงเองได้ และยังต้องเป็นโพรงลักษณะพิเศษอีกด้วย ดังนั้นการจัดอันดับให้เป็นสัตว์ป่าสงวน แต่ไม่มีการเฝ้าระวังที่ดี ในที่สุดนกก็จะค่อย ๆ ลดลง หรือหายไปโดยที่อาจไม่มีคนล่า แต่เพราะไม่มีที่ทำรัง
ในทางกลับกันการยกสถานะนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนยิ่งเป็นการเพิ่มค่าหัวหรือสร้างแรงจูงใจของนักล่ามากยิ่งขึ้นด้วยเพราะเป็นสัตว์ป่าสงวน ดังนั้นควรเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมศึกษาพัฒนาแนวทางในการอนุรักษ์นกชนหินอย่างเหมาะสมต่อไป