ปลาหางนกยูงคืออะไร?
ปลาหางนกยูง (Guppy) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก พวกมันอยู่ในวงศ์ปลาสอด (Poeciliidae) ในต่างประเทศอาจเรียกพวกมันว่า “ปลาสายรุ่ง (rainbow fish)” เป็นปลาในเขตร้อนที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก และยังเป็นสายพันธุ์ปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอีกด้วย
ปลาหางนกยูง มีความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร มีจุดเด่นอยู่ที่ครีบหางที่มีขนาดใหญ่ โดยปลาตัวผู้และตัวเมียจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ตัวผู้จะมีลำตัวขนาดเล็กกว่ามาก แต่จะมีสีสันและครีบที่สวยงามกว่ามากเช่นกัน ในขณะที่ตัวเมียใหญ่กว่า ในเรื่องสีสันและครีบก็มีความสวยงามก็น้อยกว่า
แต่เดิมแล้วจะพบปลาหางนกยูงได้ในทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ พวกมันจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดจนถึงน้ำกร่อยที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ เป็นปลาที่อยู่กันเป็นฝูง และหากินบริเวณผิวน้ำโดยกินทั้งพืชและสัตว์น้ำ รวมถึงแมลงหรือตัวอ่อนแมลงขนาดเล็กด้วย
การมาถึงของปลาหางนกยูงในประเทศไทย?
ปลาหางยูงที่อยู่กับคนไทยมาหลายชั่วอายุคน ถูกนำมาเลี้ยงในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่มีบันทึกวิธีการนำเข้าหรือใครเป็นผู้นำปลาชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย แต่ปลาหางนกยูงก็ถูกมองว่าเป็นปลาสวยงามตั้งแต่แรก และในสมัยนั้นจะเรียกปลาหางนกยูงว่าปลาเจ็ดสี ซึ่งเรียกตามลักษณะของปลาที่จะทำให้คนสมัยนั้นจำได้ง่าย
และเนื่องจากพวกมันเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ค่อนข้างทนทาน พวกมันไม่จำเป็นต้องใช้ปั้มลมเพื่อเติมออกออกซิเจนในน้ำเหมือนปลาส่วนใหญ่ จึงมักถูกนำไปเลี้ยงในอ่างบัวและเลี้ยงครั้งละหลายสิบตัว แน่นอนว่า หากสภาพการเป็นอยู่ไม่แย่จริงๆ พวกมันจะสามารถออกลูกออกหลานเพิ่มได้อย่างรวดเร็ว
จนวันเวลาผ่านไป ปลาหางนกยูงเริ่มมีจำนวนมาก และถูกปล่อยลงสู่ธรรมชาติ จนพวกมันแพร่กระจายไปทั่ว และปลาหางนกยูงป่าก็กำเนิดขึ้นในไทย ปลาพวกนี้สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้คนสามารถช้อนปลาหางนกยูงเพื่อนำไปเลี้ยงได้ฟรีๆ แน่นอนว่าปลาที่อยู่ในธรรมชาติมีตัวที่สวยงามน้อย จนพวกมันไม่มีราคาแต่อย่างใด
จนในยุคสมัยนี้ แม้ปลาหางนกยูงที่มีมากมาย จนดูเหมือนพวกมันจะสามารถอยู่ได้ทุกที่ แต่จริงๆ แล้ว ปลาหางนกยูงพวกนี้ ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการถมที่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ทิ้งขยะและยังมีน้ำเสียที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำ จนปลาหางนกยุงป่าสายพันธุ์ดังเดิมเกือบจะสูญพันธุ์
โดยสายพันธุ์ดังเดิม ตามที่มีคนเล่ามา มันจะมีลักษณะเด่นตรงที่มีจุดสีกลมๆ คล้ายดวงตา เรียงตามข้างลำตัวไปจนถึงถึงหางประมาณ 3 – 4 จุด ยิ่งจุดเรียงตัวสวยก็ยิ่งเป็นปลาที่สวยและหายาก ส่วนหางจะสั้นไม่สวยเหมือนปลาหางนกยูงเลี้ยง
ปัจจุบันปลาหางนกยูงได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ ให้มีสีสันและลวดลายรวมทั้งขนาดลำตัวให้แตกต่าง หรือสวยงามไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติเยอะมาก โดยมีชื่อเรียกหลายสายพันธุ์ เช่น ทักซิโด้, กร๊าซ, คอบร้า, โมเสก , หางดาบ, นีออน เป็นต้น
ในฐานะปลารุกราน ปลาหางนกยูงมีประโยชน์มากกว่าโทษ
แม้ปลาหางนกยูงจะเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ และพวกมันก็หลุดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ จนสุดท้ายก็มีนับล้านตัวในประเทศไทย แต่พวกมันกลับไม่ได้แย่เหมือนพวกปลาซัคเกอร์แต่อย่างใด
เนื่องจากปลาชนิดนี้สามารถอยู่ในแหล่งน้ำขังตื้นๆ ตามทางระบายน้ำได้ พวกมันจะกินลูกน้ำและช่วยลดประชากรยุงในพื้นที่ได้ แน่นอนว่าแม้แต่กระทรวงสาธารณสุข ยังเคยรณรงค์ให้คนไทย เลี้ยงปลาหางนกยูงไว้ในภาชนะที่ใส่น้ำในบ้าน เพื่อให้พวกมันกินลูกน้ำและยุง ซึ่งช่วยป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดจากยุงได้ นอกจากนี้พวกมันยังช่วยเลี้ยงดูสัตว์นักล่าหลายชนิด เช่น ปลาและนกที่มีขนาดใหญ่พอที่จะกินพวกมัน
แม้มันจะมีประโยชน์ตามที่กล่าวมา แต่มีงานวิจัยได้ระบุว่า ปลาหางนกยูงมีพฤติกรรมกินไข่ปลาพื้นเมืองเช่นกัน บางครั้งพวกมันก็กินกันเอง และยังกินลูกของตัวเองอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็สังเกตุพบได้น้อยในธรรมชาติ
สรุปก็คือปลาหางนกยูงไม่ถือเป็นปลาท้องถิ่นของประเทศไทย พวกมันเริ่มเข้ามาตั้งรกรากในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะปลาสวยงาม และจนถึงทุกวันนี้พวกมันก็ยังคงเป็นเช่นเดิม เพิ่มเติมคือความสวยที่หลากหลาย ในขณะที่ปลาหางนกยูงที่อยู่ในธรรมชาติ จะอยู่ในฐานะปลาที่พบได้มากมายในแหล่งน้ำหลายแห่ง พวกมันเป็นทั้งเหยื่อและนักล่าในเวลาเดียวกัน และจากนี้พวกมันก็จะอยู่ในไทยไปอีกนาน