รู้จักกับ ‘หอยทากบก’ แห่งเทือกเขาตะนาวศรี

เทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim Ranges) เป็นพรมแดนสำคัญระหว่างไทยและเมียนมา มีลักษณะเป็นทิวเขาทอดตัวยาวจากเหนือลงใต้ มีความยาวกว่า 1,700 กิโลเมตร ประกอบด้วยยอดเขาสูงจำนวนมาก ทั้งยังมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์

ลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นในบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี คือ แนวเขาหินปูนที่กระจายตัวเป็นกลุ่มอยู่ตลอดความยาวของเทือกเขา ทําให้ระบบนิเวศในที่แห่งนี้มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้เทือกเขาตะนาวศรี ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นทั้งพืชและสัตว์จำนวนมาก รวมถึงกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนเขาหินปูนในบริเวณนี้

หอยทาก (aenigmatoconcha eunetis) พบบนเขาหินปูนบริเวณภาคกลางของประเทศไทย (A) เปลือกสีเทา (B) เปลือกสีเหลือง

หอยทากบกในระบบนิเวศป่าฝนเขตร้อนมีความโดดเด่นและมีความหลากหลายสูง ในประเทศไทยมีรายงานพบ 300-400 สปีชีส์ โดยประมาณ 60% อาศัยอยู่ตามเขาหินปูนหรือผืนป่าใกล้เคียง ซึ่งหอยทากบกวงศ์หอยขัดเปลือก (Ariophantidae) เป็นวงศ์หลักวงศ์หนึ่งที่มีการแพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย

มันเป็นหอยทากที่ทำหน้าเป็นผู้สลายแคลเซียมและส่งผ่านธาตุอาหารที่สำคัญนี้ต่อไปยังสัตว์กลุ่มอื่นๆ โดยหอยวงศ์นี้มีลักษณะสำคัญ คือ ส่วนของเนื้อเยื่อที่ ใช้ในการสร้างเปลือกมีรูปร่างเฉพาะตัว เปลือกเป็นทรงแบน มีขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่

คณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาความหลากหลายของหอยทากบก ที่อาศัยบนเขาหินปูนตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ในอุทยานแห่งชาติ 19 แห่ง ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ เบื้องต้นพบว่าในพื้นที่ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีและในประเทศไทย

พบหอยในวงศ์หอยขัดเปลือก 5-10 สกุล อย่างน้อย 30 สปีชีส์ รวมถึงพบหอยสปีชีส์ใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงชื่อวิทยาศาสตร์ เช่น หอยทากสยาม ซึ่งพบได้ทั่วไปตามบ้านเรือนและพื้นที่ธรรมชาติ แต่เดิมถูกจัดให้อยู่ในสกุล Cryptozona ซึ่งเป็นสกุลที่มีรายงานในประเทศอินเดีย

หอยนางดิ้น (cryptosemelus betarmon) พบที่ประจวบคีรีขันธ์ เป็นกลุ่มหอยที่ไม่มีเปลือก หรือเปลือกลดรูปลงไป

แต่จากการศึกษาในปัจจุบันด้วยสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการพบว่า แท้จริงแล้วหอยทากสยามควรจัดอยู่ในสกุลของหอยขัดเปลือก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarika siamensis นอกจากนี้ยังมีหอยทากกลุ่มที่พบเฉพาะบริเวณเขาหินปูนเท่านั้น คือ สกุล Aenigmatoconcha ซึ่งผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอพบว่า หอยสกุลนี้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม สอดคล้องกับการแพร่กระจายตามภูมิศาสตร์

หอยทากสยาม (Sarika siamensis) เปลือกสีน้ำตาลแดง
Advertisements

กลุ่มแรกพบตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ และกลุ่มที่สองพบกระจายบริเวณภาคกลางยาวไปจนถึงภาคใต้ ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นสปีชีส์ใหม่ คือ A. eunetis จากภาคกลาง นอกจากนี้ยังพบหอยทากบกกลุ่มที่ไม่มีเปลือกหรือเปลือกลดรูปลงไปที่เรียกว่า “slug หรือ semislug” ตามแนวเขาหินปูน

หอยทากสยาม (Sarika siamensis) เปลือกมีลายแถบ

เช่น หอยหางดิ้นสกุล Cryptosemmelus หรือ “dancing semistug” ซึ่งเป็นสปีชีส์ใหม่ C. betarmon พบกระจายตัวบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ดีข้อมูลของหอยทากบกกลุ่มหอยขัดเปลือกในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยทำให้ไม่ทราบความหลากหลายของสปีชีส์ที่แน่ชัด

ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ ด้านวิชาการทำให้ทราบความหลากหลายของกลุ่มหอยทากบก พบตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ด้านการจัดการพื้นที่ เป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้วางแผนอนุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ และสื่อความหมายทางธรรมชาติในพื้นที่อย่างเหมาะสม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช