เสือตอ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Siamese tiger fish ในไทยตอนนี้ที่เลี้ยงๆ กันส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้าน นั้นเพราะในไทยไม่มีอีกแล้ว ที่สำคัญ เสือตอเป็นปลาที่เพาะพันธ์ุได้ยากมาก โดยเฉพาะเสือตอ ลายใหญ่ มันเพาะพันธุ์ในฟาร์มได้ยากซะจนหลายสิบปีมานี้ ยังไม่รู้เลยจริงๆ แล้วมีฟาร์มที่เพราะได้หรือยัง
เมื่อหลายสิบปีก่อน (ราวๆ 50 ปี+)
ปลาเสือตอ ในไทยจะพบได้ตามแหล่งน้ำไทย โดยเฉพาะบึงบอระเพ็ดจะมีมากเป็นพิเศษ และมันก็เป็นปลาที่มักจะถูกจับมาทำเป็นอาหาร และถูกขายไปต่างประเทศด้วย โดยตลาดใหญ่ที่สุดคือประเทศญีปุ่น ในสมัยนั้นเสือตอ ลายใหญ่ ลายเล็ก จะไม่แยกกัน ขายมั่วๆ ไป ตกตัวละ 40 – 50 บาท
เวลาผ่านไปอีกหน่อย นักสะสมชาวญีปุ่นนิยมปลาเสือตอลายใหญ่ มากกว่า มันจึงมีราคาสูงถึง 1,000 บาทขึ้นไป และหากตัวสวยๆ ที่ส่งไปญีปุ่น มันมีราคาสูงถึง 10,000 บาท
และถึงแม้จะเป็น 40 – 50 ปีก่อน ปลาเสือตอลายใหญ่ มันก็เป็นปลาที่หายากมากอยู่ดี ในสมัยที่ยังไม่กฎหมายควบคุม ชาวบ้านจับกันอย่างมันมือ โดนไม่สนใจฤดูกาล ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สุดท้ายปลาเสือตอก็สูญพันธุ์ไปตลอดกาล
ในช่วงปี 2528
ได้มีการค้นพบแหล่งน้ำที่มีปลาเสือตอจำนวนมาก นั้นคือแม่น้ำโขงตอนล่างตั้งแต่เขมร-เวียดนาม ซึ่งมักจะเรียกว่า เสือตออินโด เสือตอที่พบ คือ ลายใหญ่, ลายเล็ก และลายคู่ แน่นอนว่า ลายเล็กมีมากที่สุด และมันเป็นครั้งแรกที่นักสะสมปลา ได้พบกับเสือตอลายคู่
โดยเสือตอลายคู่ เกิดจากการผ่าเหล่าของเสือตอลายใหญ่ โดยเสือตอลายคู่จะมีลาย 2 ข้างเท่ากัน มันไม่ใช่ปลาที่มีลายเสีย หรือ ลายใหญ่ข้าง ลายคู่ข้าง ด้วยความหายาก และความใหญ่ของมัน เจ้าเสือตอลายคู่จึงมีราคาแพงกว่าลายใหญ่ ..วันเวลาผ่านไป นับวันปลาเสือตอ ไม่ว่าจะลายไหน ก็หายากขึ้นทุกที แต่ถึงงั้น ปลาเสือตอสายพันธ์ุไทย จะมีราคาแพงที่สุด
ประมาณปี พ.ศ. 2534
มีการพบปลาเสือตอที่ตายแล้ว ปะปนมากับปลาที่จำหน่ายเพื่อเป็นอาหารจากฝั่งเขมร ผ่านเขตเสียมราฐ สู่เขตศรีโสภณ และปอยเปต ก่อนมาที่ฝั่งไทย ที่อรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ตอนนั้นพ่อค้าแม่ค้าที่ไปรับซื้อปลาสดและปลาแห้งจากเขมรไม่ได้สนใจอะไรกับปลาเสือตอ
นั้นเพราะเข้าใจว่าจะเป็นปลาลายเล็กที่เจอได้แถบแม่น้ำโขงในไทย แต่ต้องประหลาดใจกับขนาดปลาที่มีขนาดถึง 2- 3 กิโล ที่ไม่น่าจะเป็นเสือตอลายเล็ก จนข่าวแพร่ไปถึงหูพ่อค้าปลาสวยงามของไทยและต่างประเทศจนไปพิสูจน์ซากปลาเสือตอที่ ต้องตกใจว่าเป็นปลาเสือตอลายใหญ่จริงๆ
ปลาเสือตอในเขมร ภาษาเขมร เรียกว่า ตริยคา ( ตริย แปลว่า ปลา , คา แปลว่า เสือ ) โดยแหล่งที่พบมากคือ ทะเลสาป ( Tonle Sap ) เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณาเขตของทะเลสาบ อยู่ทางตอนกลางของเขมร เยื้องไปทางตะวันตก ตอนเหนือของกรุงพนมเปญ ขนาดของทะเลสาบจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล โดยจะมีขนาดใหญ่สุดช่วงหน้าน้ำเพราะเป็นที่กักเก็บน้ำฝนจำนวนมหาศาลจาก แม่น้ำ คลองสาขายย่อย จำนวนนับร้อยสาย ไหลมารวมกันก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์
ปลาเสือตอที่ทะเลสาปแห่งนั้น ก็มีสภาพคล้ายๆ บึงบอระเพ็ด มันเป็นที่รู้จักมานับร้อยปี และถูกจับมาเป็นอาหาร และไม่ค่อยได้รับความสนใจจากชาวบ้านเท่าไร นั้นเพราะมันไม่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ หลังจากนั้นก็มีการพบเสือตอที่ประเทศเวียดนามอีกด้วย ซึ่งในตอนนั้นมันมีจำนวนมาก
จำนวนปลาที่หาได้มากขึ้น ราคาจึงตก
จึงทำให้คนไทยในเวลานั้นได้มีโอกาสเป็นเจ้าของปลาเสือตอลายใหญ่ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมเกือบ 10 เท่าและมีการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากขึ้น จนทำให้ชาวญี่ปุ่นที่รับซื้อปลาถึงกับตกใจกับจำนวนปลาที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ทำให้เกิดความสับสนกับปลาที่มีนั้นเป็นปลาเสือตอแท้ๆ จากไทยหรือเปล่า เพราะชาวญี่ปุ่นยึดติดกับปลาเสือตอจากไทยมากกว่า
นั้นเพราะมันเป็นปลาหายาก มีพื้นเหลือง หรือ ส้ม เส้นคาดลำตัวปลาต้องมี 6 เส้นนับจากเส้นแรกที่บริเวณตาของปลา เท่ากันทั้ง 2 ข้างของตัวปลา โดยปลาจากเขมรและเวียดนาม กว่าครึ่งของปลาเสือตอลายใหญ่จะมี 7เส้นคาดลำตัว โดยจะแตกเป็น 2 เส้นที่บริเวณข้อหาง ทำให้ญี่ปุ่นสับสนกับปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำอื่น
ดังนั้นพ่อค้าปลาสวยงามไทย จึงต้องคัดแยกปลาเสือตอเพื่อส่งออก ต้องมีลาย 6 ขีดคาดลำตัวเท่ากันทั้ง 2 ด้าน ตามสายพันธุ์เสือตอลายใหญ่ที่พบในไทย จึงเป็นที่ยอมรับและหลักในการเลือกซื้อปลาของนักสะสมปลาเสือตอ โดยแท้จริงแล้วปลาเสือตอ 7 ขีดที่จับได้ในแหล่งเดียวกันก็เป็นสายพันธุ์เดียวกันและมีความสวยงามไม่แพ้กันเลย ราคาเสือตอลายใหญ่ 7 ขีดจึงถูกกว่า 6 ขีด ซะงั้น
ปลาเสือตอได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดญีปุ่น หากเป็นปลาขนาดใหญ่ มันจะมีราคามากกว่า 1 ล้านเยน หรือก็คือหลายแสนบาทไทย ส่วนตัวเล็กๆ ก็ราคาพอซื้อกันได้ครับ สามารถเหตุที่ตัวใหญ่แพงมาก นั้นเพราะปลาเสือตอเป็นปลาที่เลี้ยงยากมาก มันจะกินเฉพาะ “เหยื่อที่มีชีวิตเท่านั้น” หรือก็คือเหยื่อที่ขยับได้ มีนักสะสมปลาพยายามเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นไปได้ยากมากๆ และยังไม่เป็นผลดีอีกด้วย
การขยายพันธ์ุ..?
ในไทย ไม่มีเสือตอตามธรรมชาติอย่างแท้จริง และจนถึงตอนนี้ปี 2020 ข่าวการขยายพันธ์ุปลาเสือตอสำเร็จ แบบชัดเจนยังไม่มี ว่ากันว่าถึงแม้จะขยายพันธุ์ได้ลูกปลามา แต่ก็ยากที่จะอนุบาลลูกปลาให้เกิน 1cm ด้วยเหตุนี่ เสือตอไทย จึงต่างจากปลาสายพันธ์ุอื่นที่แม้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว อย่างเช่นยีสกไทย กะโห้ไทย ทางกรมปะมงก็ยังสามารถขยายพันธ์ุเพื่อนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำได้ทุกๆ ปี
วิธีดูลายปลาเสือตอ ดูจากคลิป
วิธีดูปลาเสือตอ (เบื้องต้น)
ปลาเสือตอที่มาจากแต่ละแหล่งกำเนิดจะมีลักษณะเฉพาะของมัน และเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับสีและลาย เราก็จะได้ วิธีดูปลาเสือตอ (เบื้องต้น) ครบทุกชนิดและทุกลายนั่นเอง
1. แหล่งกำเนิดและถิ่นฐานของปลาเสือตอ
ปลาเสือตอ และญาติพี่น้องของมันทั้งหมดจัดอยู่ในวงศ์ ปลาเสือตอ (Datnioididae) โดยแหล่งกำเนิดหลักๆ มี 3 แหล่ง
1.1 : แหล่งแรกคือปาปัวนิวกีนี ในประเทศอินโดนิเชีย ดังนั้นชื่อของมันก็คือ “ปลาเสือตอปาปัวนิวกีนี” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Datnioides campbelli ปลาชนิดนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนักเนื่องจากความสวยงามสู้ ปลาเสือตอเขมรและปลาเสือตออินโดนีเชียไม่ได้
1.2 : แหล่งที่สองคือประเทศอินโดนีเชีย หรือที่เรียกกันว่า “ปลาเสือตออินโด” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Datnioides microlepis ซึ่งเป็นปลาชนิดที่มีขายกันทั่วไปในประเทศไทยทุกวันนี้ ปลาเสือตอจากอินโดนีเชียมีทั้งแบบที่เป็นลายใหญ่และลายคู่ แต่ในทางวิทยาศาสตร์จะจำแนกชนิดด้วยแหล่งที่มาของปลาเสือตอเท่านั้น โดยไม่มีการจำแนกชนิดตามลายของมันแต่อย่างใด ดังนั้นปลาเสือตอทั้งลายใหญ่และลายคู่จากอินโดจะใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นชื่อเดียวกัน
1.3 : แหล่งสุดท้ายคือ ในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม ปลาลายใหญ่และลายคู่จากแหล่งนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่เหมือนกันว่า Datnioides pulcher แต่ในวงการปลาเสือตอประเทศไทยจะเรียกปลาจากแหล่งนี้ว่า “ปลาเสือตอเขมร” เนื่องจากปลาที่ขายกันอยู่นั้นมาจากเขมร
นอกจากนี้..บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในไทย ยังค้นพบ “ปลาเสือตอลายเล็ก” อีกด้วย ในทางวิทยาศาตร์ก็แยกมันออกมาเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งโดยให้ชื่อว่า Datnioides undecimradiatus ในปัจจุบันมีการจับมาขายกันเป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่ายินดีว่ากรมประมงสามารถเพาะพันธ์ุปลาเสือตอลายเล็กได้แล้ว
2. สีและลายของปลาเสือตอ
ในการเลือกซื้อปลาเสือตอ หลังจากดูความสมบูรณ์ แข็งแรงของปลาเช่น รูปร่างปกติ หลังไม่หัก ปากไม่เบี้ยว ครีบอยู่ครบ ตาไม่บอด สิ่งที่เราจะดูต่อไปก็คือ…สีและลาย
สี..เอาที่ชอบเลยครับว่าชอบโทนไหน อย่าให้ดำเป็นพอ เพราะหากดำมากๆ แล้ว สีอาจจะไม่สว่างเป็นเหลืองลายดำให้เห็นเลย หรือบางตัวจะเปลี่ยนสีตามอารมณ์ เดี๋ยวดำ เดี๋ยวเหลือง แบบนี้เค้าเรียก “สีไม่นิ่ง” ดังนั้นเวลาเลือกดูตัวที่สีไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และสีควรจะสว่างตลอดเวลาโดยไม่ต้องใช้ปลาอื่นมาไล่สี
“สำหรับลาย สิ่งแรกที่ต้องดูก่อนเสมอคือ ลายทั้งสองด้านของลำตัวเหมือนกันหรือไม่?
ลายของปลาเสือตอต้องมีจำนวน ความกว้างของแถบ รูปทรง สี และตำแหน่ง เหมือนกันทั้งสองด้าน”
ถ้าไม่เท่าเช่น ลายคู่ด้านหนึ่ง ลายใหญ่อีกด้าน (ใหญ่ข้างคู่) หรือ ใหญ่ด้าน อีกด้านเป็นลายตัววี (ใหญ่ข้างวี) หรือ คู่ด้าน อีกด้านเป็นวี (คู่ข้างวี) รวมถึงลายสองข้างเป็นแบบเดียวกันแต่ ลายไม่เหมือนกัน เช่น ลายคู่ ทั้งสองด้าน แต่ขนาดและตำแหน่งของแถบสองด้านไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้คือ “ลายเสีย” หรือ ” ลายผสม” ที่คนไม่นิยมเล่นกัน เป็นปลาที่เค้าคัดทิ้งแล้วนำมาขายในราคาถูก
ปลาเสือตอลายใหญ่
ปลาเสือตอลายใหญ่ คือลายที่เป็นที่หายากที่สุด เป็นที่ต้องการมากที่สุด และราคาสูงที่สุดในบรรดาวงศ์ปลาเสือตอทั้งหมด แต่ปลาเสือตอลายใหญ่จากไทย เขมร และเวียดนาม (เรียกรวมๆ ว่า ปลาเสือตอลายใหญ่เขมร) ถือว่าเป็นสุดยอดของปลาเสือตอ ทั้งสวยที่สุด หายากที่สุด และแพงที่สุด
ปลาเสือตอลายใหญ่เขมร
- ชือภาษาอังกฤษ : Siamese Tigerfish
- ชื่อย่อ : ST
- ลักษณะทั่วไป : มีรูปร่างแบนข้าง ปากยาวสามารถยืดได้ ครีบก้นเล็กมีก้านครีบแข็ง 3 ชิ้น ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมีเงี่ยง 13 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน ส่วนหัวมีลักษณะค่อนข้างชัน เกล็ดเป็นแบบสาก
- สีและลาย : พื้นลำตัวสีเหลืองแวววาวเหมือนทอง บางตัวจะออกสีน้ำตาล มีแถบสีดำคาดในแนวเฉียงเหมือนกับลายเสือรวม 6 แถบ หรือ 7 แถบ โดยเส้นที่ 3 และ 4 จะมีขนาดใหญ่กว่าเส้นอื่น
- ราคา : นิ้วละประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป (ปกติปลาที่เข้ามาขายจะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 6-7 นิ้ว)
- จุดสังเกตุ :
-ลายบนลำตัวมี 6 และ 7 แถบ (แต่ส่วนใหญ่เป็น 6 แถบ) ดังนั้นถ้ามี 6 แถบ มันคือเสือตอลายใหญ่จากเขมรแน่นอน (เพราะปลาเสือตอลายใหญ่จากอินโดนีเซียมักมีลายบนลำตัว 7 แถบ)
-ถ้าลายที่ 4 และที่ 5 เชื่อมต่อกัน (ดูภาพที่ 2 ตัวซ้ายบน) มักเป็นเสือตอลายใหญ่จากเขมร
-ถ้าดั้งหัก มักเป็นเสือตอลายใหญ่จากเขมร (ดูภาพที่ 3 ประกอบ) ขณะที่ปลาจากอินโดนีเซียบริเวณหัวจะมีลักษณะความชันค่อนข้างน้อย
-สีจะเข้มและสวยกว่าปลาอินโด
ปลาเสือตอลายใหญ่อินโด
- ชือภาษาอังกฤษ : Indo Tigerfish
- ชื่อย่อ : IT
- ลักษณะทั่วไป : ลักษณะค่อนข้างคล้ายปลาเสือตอเขมร แต่ลำตัวจะมีขนาดแคบกว่าและส่วนหัวจะไม่ชันเท่าปลาเสือตอเขมร
- สีและลาย : ลำตัวสีเหลืองอ่อนคล้ายสีของกล้วย ลายสีดำจะมี 7 แถบเสมอ
- ราคา : นิ้วละประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป (ขนาดที่ขายมีตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป)
- จุดสังเกตุ :
– สีเหลืองคล้ายกล้วยหอม สีอาจจะเปลี่ยนตามอารมณ์หรือสิ่งแวดล้อม (หรือที่เรียกกันว่า “สีไม่นิ่ง”)
– ลายบนลำตัวมี 7 แถบเสมอ
– ส่วนหัวค่อนข้างลาดเอียง ไม่ชันเหมือนปลาเสือตอเขมร
– ลำตัวจะแคบกว่าปลาเสือตอเขมร
-จากภาพที่ 2 จะเห็นได้ว่าปลาอินโด แถบที่ 4 ด้านบนมักจะกว้างกว่าด้านล่าง (ทำให้เส้นแถบดูไม่เป็นเส้นตรง)
ปลาเสือตอลายคู่
ปลาเสือตอลายคู่คือชนิดที่มีขายมากที่สุดในท้องตลาดขณะนี้ ซึ่งเป็นปลาเสือตอลายคู่จากอินโดนีเชีย ส่วนลายคู่เขมรนั้น นานๆ จะมีให้เห็นกันซักตัวหนึ่งเพราะปลาเสือตอเขมรส่วนใหญ่จะเป็นลายใหญ่ จากภาพที่ 3 ด้านล่างจะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างปลาสือตอลายใหญ่และลายคู่ จะเป็นดังนี้…
จากภาพที่ 3 ปลาเสือตอลายใหญ่ (2 ตัวซ้าย) จะมีแถบที่ 3 เป็นแถบใหญ่แถบเดียวไม่ว่าจะเป็นปลาแบบ 6 ขีดหรือ 7 ขีดก็ตาม ถ้าเราเอาแถบที่ 3 ของปลาเสือตอลายใหญ่มาแบ่งเป็น 2 แถบแบบที่แคบกว่า ก็จะกลายเป็นแถบที่ 3 และแถบที่ 4 ในปลาเสือตอลายคู่นั่นเอง ดังนั้นผมว่าน่าจะเรียกว่า ลายเดี่ยวกับลายคู่ มากกว่านะ
ปลาเสือตอลายคู่เขมร
- ชือภาษาอังกฤษ : Siamese Tigerfish
- ชื่อย่อ : ST
- ลักษณะทั่วไป : เหมือนปลาเสือตอเขมรลายใหญ่
- สีและลาย : เหมือนปลาเสือตอเขมรลายใหญ่ ในภาพที่ 3 สังเกตุความแตกต่างของลายใหญ่ 7 ขีดกับลายคู่ 7 ขีดได้จากแถบที่ 3 ของลายใหญ่ตัวล่างซ้าย กับ แถบที่ 3 และ 4 ของลายคู่ตัวขวามือ
- ราคา : นิ้วละประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป (ปกติปลาที่เข้ามาขายจะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 6-7 นิ้ว)
- จุดสังเกตุ :
-ลายบนลำตัวมี 7 แถบเสมอ
-ถ้าลายที่ 5 และที่ 6 เชื่อมต่อกัน (ดูภาพที่ 4 ตัวซ้าย) มักเป็นเสือตอลายใหญ่จากเขมร
-ขอบของแถบสีดำจะเปรอะ ไม่เรียบ คมเท่าปลาอินโด
ปลาเสือตอลายคู่อินโด
- ชือภาษาอังกฤษ : Indo Tigerfish
- ชื่อย่อ : IT
- ลักษณะทั่วไป : เหมือนปลาเสือตอลายใหญ่จากอินโด แถบที่ 3 แบ่งเป็น 2 แถบย่อยทำให้รวมมีทั้งหมด 8 แถบ
- สีและลาย : ลำตัวสีเหลืองอ่อนคล้ายสีของกล้วย ลายสีดำจะมี 8 แถบเสมอ
- ราคา : นิ้วละประมาณ 500 บาทขึ้นไป (ขนาดที่ขายมีตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป)
- จุดสังเกตุ :
-ลายบนลำตัวปลาเสือตออินโดลายคู่จะมี 8 แถบเสมอ ส่วนปลาเสือตอลายใหญ่อินโดจะมี 7 แถบเสมอ
-สีเหลืองอ่อนคล้ายกล้วยหอม สีอาจจะเปลี่ยนตามอารมณ์และสิ่งแวดล้อม (หรือที่เรียกกันว่า “สีไม่นิ่ง”)
-ขอบลายสีดำจะเรียบและคมกว่าปลาเสือตอเขมร
-ระหว่างลายที่ 4-5 และ 5-6 มักจะมีลอนด่าง หรือ มีเขม่าสีเข้ม (ดูภาพที่ 5)
ปลาเสือตอลายเล็ก
ปลาเสือตอลายเล็กกำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากราคายังค่อนข้างถูก สีสวย และ หาได้ง่ายในลุ่มแม่น้ำโขง และแม่น้ำหลายสายบริเวณภาคอีสาน นอกรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ปลาเสือตอลายเล็กได้แล้วด้วย
- ชือภาษาอังกฤษ : Northern Thai Tigerfish
- ชื่อย่อ : NTT
- ลักษณะทั่วไป : เสือตอลายเล็กส่วนใหญ่ จะมีลำตัวที่ผอมเรียวยาวเมื่อเทียบกับลายใหญ่และลายคู่ ส่วนสันด้านหน้าจะค่อนข้างลาด ไม่ตั้งชันมาก เกล็ดจะมีขนาดใหญ่กว่าลายใหญ่และลายคู่
- สีและลาย : แถบสีดำบนลำตัวมี 6 แถบ ทั้ง 6 แถบมีความกว้างเท่าๆ กัน แต่จะมีขนาดบางกว่าเสือตอลายใหญ่และลายคู่ ลำตัวมีสีเหลืองสวยงาม ไม่มีปัญหาเรื่องตัวดำและสีไม่นิ่ง (ดูภาพที่ 6 ตัวล่าง)
- ราคา : นิ้วละประมาณ 100 บาทขึ้นไป (ขนาดที่ขายมีตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป)
- จุดสังเกตุ :
-ลายบนลำตัวมี 6 แถบและขนาดเท่าๆ กันทั้ง 6 แถบ
-แถบที่ 5 จะแยกไม่ติดกัน
-เกล็ดหยาบและใหญ่
ปลาเสือตอปาปัวนิวกีนี
ปลาเสือตอชนิดนี้ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนานแล้วด้วยราคาที่สูงมาก แต่ไม่เป็นที่นิยม ราคาจึงลดต่ำลงมาเรื่อยๆ
- ชื่อภาษาอังกฤษ : New Guinea Tiger Fish
- ชื่อย่อ : NGT
- ลักษณะทั่วไป : มีรูปร่างคล้ายกับปลาเสือตอจากอินโดนีเชียแต่ยาวกว่า เกล็ดมีขนาดใหญ่และหยาบ เมื่อยังเล็กสีเหลืองที่ลำตัวจะเหลืองสดใสมาก
- สีและลาย : ลำตัวมีสีเหลือง ลายบนลำตัวมี 8 แถบ แถบลายสีดำจะดูเปรอะ เลอะเทอะ
- ราคา : นิ้วละ 500 บาทขึ้นไป
- จุดสังเกตุ : สีของลายดูเปรอะ ไม่เป็นระเบียบ ไม่เรียบคม ไม่สวยเท่าปลาเสือตอลายใหญ่ ลายคู่และลายเล็ก
ปลากะพงลาย
ปลากะพงลายอยู่ในตระกูลปลาเสือตอ จึงมีส่วนคล้ายปลาเสือตออยู่ไม่น้อย หากคนหัดเลี้ยงปลาเสือตอใหม่ๆ ที่ยังดูปลาเสือตอไม่ชำนาญอาจแยกแยะไม่ออก และ ถูกหลอกว่าเป็นเสือตอได้ได้
- ชื่อภาษาอังกฤษ : Silver Tiger Fish และ American Tiger Fish
- ชื่อย่อ : AT
- ลักษณะทั่วไป : มีรูปร่างคล้ายกับปลาเสือตอชนิดอื่นๆ ในวงศ์นี้ แต่มีช่วงปากและรูปทรงลำตัวที่เรียวยาวและแหลมกว่าปลาเสือตอ
- สีและลาย : เกล็ดเป็นแบบละเอียด ลำตัวมีสีขาวเหลือบเงินแวววาว ลายแถบสีดำบนลำตัวมีขนาดเรียวเล็ก
- จุดสังเกตุ : วิธีดูปลากะพงลายแบบง่ายๆ คือ ให้ดูที่ลายแถบสุดท้ายบนหาง ถ้าลายจะขาดออกจากกัน ดูเป็นจุด 2 จุดดังในวงกลมสีแดง มันคือ.. ปลากะพงลายแน่นอนครับ!
เอาล่ะก็จบซะทีสำหรับเรื่องของปลาเสือต่อ ที่เอามาตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงวิธีดูกันเลย เรียกว่ายาวๆ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าวิธีดูที่ว่านี้เป็นพื้นฐานเท่านั้น และราคาก็เช่นกัน มันมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ