ประวัติการค้นพบ กิ้งกือมังกรสีชมพู
กิ้งกือมังกรสีชมพู (Shocking pink millipede) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Desmoxytes purpurosea (เดสโมไซเตส เพอร์พิวโรเซีย) ถูกค้นพบโดยนักสำรวจสมัครเล่น ซึ่งเป็นสมาชิกในชมรมคนรักกิ้งกือ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 มันถูกพบครั้งแรกบริเวณ หุบป่าตาด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี และจากรายงานล่าสุดก็ระบุว่า สามารถพบได้ที่ผืนป่าในจังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย
หลังจากค้นพบไม่นาน ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ก็นำตัวอย่างของกิ้งกือมาศึกษา ภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน โดยทำงานร่วมกับ เฮนริค อิงฮอฟ (Henrik Enghoff) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือ จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
พวกเขาพบว่า นี่เป็นกิ้งกือที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน และเป็นกิ้งกือชนิดใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย จึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เดสโมไซเตส เพอร์พิวโรเซีย (Desmoxytes purpurosea) จากนั้นก็ได้เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ซูแทกซา (Zootaxa) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550
จนกระทั่งวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 สถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration: IISE) มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพู เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากการค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกา และการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในสหรัฐฯ ซึ่งได้อันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
สำหรับสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “กิ้งกือมังกรสีชมพู” นักวิจัยอธิบายว่า เพราะมันอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร หรือ พาราดอกโซโซมาติดี (Paradoxosomatidae) ซึ่งมีนับพันชนิด และกิ้งกือชนิดนี้ก็มีสีชมพูสดใสแบบช็อคกิงพิงค์ (shocking pink) มันมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร
เพิ่มเติมเกี่ยวกับ กิ้งกือมังกรสีชมพู
กิ้งกือมังกรสีชมพู จะพบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุดมสมบูรณ์ และในตอนนี้พบได้ที่ “หุบป่าตาด” ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี กับอีกที่คือ ผืนป่าในจังหวัดกำแพงเพชร แต่ไม่มีรายงานเจาะจงว่าเป็นบริเวณไหน
กิ้งกือมังกรสีชมพูเมื่อโตเต็มวัย จะมีลำตัวยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีจำนวนปล้องราวๆ 20-40 ปล้อง และสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวได้ ซึ่งมันเพียงพอจะใช้ป้องกันตนเองจากศัตรูตามธรรมชาติ อย่างพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก …แต่ยังไม่มีการทดสอบว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่? …ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรลองกินกิ้งกือชนิดนี้
สำหรับกิ้งกือที่อยู่ในสกุลเดสโมไซเตส ในโลกนี้มีอยู่ประมาณ 18 ชนิด และมีถึง 12 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย แน่นอนว่า “กิ้งกือมังกรสีชมพู” ไม่ใช่ชนิดล่าสุดที่พบในไทย เนื่องจากมีกิ้งกือที่ชื่อว่า Desmoxytes golovatchi (เดสโมไซเตส โกโลวาชิ) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกิ้งกือมังกรสีชมพู แต่จะพบได้ที่จังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น ซึ่งกิ้งกือชนิดนี้ก็พบเมื่อปี พ.ศ. 2561 และกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม
น่าเสียดายที่ในตอนนี้ กิ้งกือที่อยู่ในสกุลเดียวกับกิ้งกือมังกรสีชมพู ยังได้รับการศึกษาที่น้อยอยู่ จึงมีข้อมูลค่อนข้างน้อย แต่สำหรับใครที่อยากเห็นกิ้งกือมังกรสีชมพู ก็สามารถเข้าชมได้ที่ “หุบป่าตาด” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน และก็ขึ้นอยู่กับความชุ่มชื้นของผืนป่าด้วย