ปลาดุกไม่แข็งแกร่งพอ นักวิจัยจึงดัดแปลงมันโดยใส่ยีนของอัลลิเกเตอร์

มีการเลี้ยงปลาดุกหลายล้านตัวในสหรัฐ และทุกปีก็จะมีปลาจำนวนมากต้องตายจากการติดเชื้อ ในทางทฤษฎีแล้ว การดัดแปลงพันธุกรรรมให้กับปลาเหล่านี้ ด้วยยีนที่แข็งแกร่งพอที่จะป้องกันพวกมันจากการติดเชื้อ จะช่วยลดความเสียหายให้กับเกษตรกร และยังจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงคิดจะใส่ยีนของอัลลิเกเตอร์เข้าไปในจีโนมของปลาดุก

กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออเบิร์น ได้ตีพิมพ์บทความนี้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยระบุรายละเอียดความพยายามในการดัดแปลงพันธุกรรมปลาดุกด้วยยีนที่เรียกว่า Cathelicidin ของอัลลิเกเตอร์

โดย Cathelicidin ที่พบในลำไส้เป็นเปปไทด์ต้านจุลชีพ ที่มีหน้าที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตต่อสู้กับโรคต่างๆ แล้วยีนที่เพิ่งเข้ามานี้ จะทำให้ปลาดุกมีความต้านทานต่อโรคสูงขึ้น นักวิจัยอ้างว่าเมื่อเทียบกับปลาดุกในธรรมชาติ จะเพิ่มอัตรารอดชีวิตสูงถึง 2 – 5 เท่า

และเนื่องจากนักวิจัยได้เพิ่ม Cathelicidin ลงในยีนสำหรับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ จึงลดความสามารถในการสืบพันธุ์ของปลาดุกลง ซึ่งพวกเขากล่าวว่าเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรมในปลาลูกผสมกับปลาดุกธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหวังว่าการตัดต่อยีนอัลลิเกเตอร์และปลาดุก จะใช้ควบคู่กับเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลาดุกชนิดอื่นๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มากขึ้น

ซึ่งในปี 2021 มีการผลิตปลาดุกมีชีวิตประมาณ 307 ล้านปอนด์ในสหรัฐอเมริกา โดยส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ ทั้งนี้คิดเป็นกว่า 50% ของความต้องการปลาที่เลี้ยงในฟาร์มของสหรัฐ …และเป็นที่รู้กันว่า ขั้นตอนการทำฟาร์มเลี้ยงปลานั้นใช้ทรัพยากรมาก โดยเฉพาะจะต้องเจอเข้ากับโรคระบาด ซึ่งการตายของปลาดุกจะเกิดจากโรคระบาดถึง 45%

แม้ว่าผู้บริโภคอาจไม่สบายใจกับแนวคิดที่ว่า ปลาดุกของพวกเขาได้แบ่งปันยีนกับอัลลิเกเตอร์ แต่นักวิจัยหลักของการศึกษานี้ก็บอกว่า เนื้อของปลาลูกผสมจะปลอดภัยอย่างสมบูรณ์

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements